file

อนุทิน ชาญวีรกูล กับโรดแมป 3 กระทรวงเศรษฐกิจ

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 50 | คอลัมน์ People

TRUST Magazine มีโอกาสไปร่วมงาน TISCO VIP Dinner Talk ครั้งล่าสุดที่บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้จัดขึ้น โดยมีแขกรับเชิญกิตติมศักดิ์ เซเลบคนดังที่ใครๆ ก็อยากรู้จักอย่างท่านรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คุณอนุทิน ชาญวีรกูล มาแสดงวิสัยทัศน์และให้ข้อมูลเชิงลึก ภายใต้หัวข้อ “Thailand’s Next Opportunities: โอกาสการลงทุนใหม่ ภายใต้โรดแมป 3 กระทรวงเศรษฐกิจ” การพูดคุยบนเวทีเพิ่มอรรถรสยิ่งขึ้น เมื่อเจ้าภาพของงาน คุณไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ อาสาเป็นพิธีกรพิเศษ ร่วมวงสนทนาด้วยตัวเอง และแน่นอนฉบับพิเศษในธีม Guide to Your Well-being เล่มนี้ของเราจึงไม่พลาดบทสนทนาวงนี้ด้วยประการทั้งปวง

ไม่เพียงเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คุณอนุทิน ยังดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ผู้ควบคุมดูแลกระทรวงคมนาคม และ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งล้วนแต่เป็น “กระทรวงเศรษฐกิจเกรดเอ” ที่มีหลากหลายแผนงานและแผนใช้จ่ายงบประมาณมูลค่ามหาศาล การอัดฉีดงบประมาณตามแผนงานของแต่ละกระทรวงเหล่านี้ จึงส่งผลต่อการขับเคลื่อนเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมทั้งสิ้น

อาทิ โครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานแผนลดความแออัดของสถานพยาบาลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ประชาชน การเตรียมความพร้อมสังคมไทยสู่สังคมสูงวัยนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ (Wellness and Medical Tourism) เป็นต้น ซึ่งท่านรองนายกฯ อนุทิน เชื่อว่า นโยบายและโครงการต่างๆ เหล่านี้จะเป็น “หัวรถจักร” สำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยภายใต้รัฐบาลชุดนี้

จากความสำคัญของทั้ง 3 กระทรวง ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของสังคมไทยในช่วง 2-3 เดือนแรกที่เข้ารับตำแหน่ง เราจึงเห็นภาพรองนายกฯ อนุทินกระตือรือร้นในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ ตามที่พรรคของท่านได้หาเสียงไว้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ท่านจะเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่ถูกจับตามากที่สุดคนหนึ่งในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดนี้

“ผมเองมีพื้นฐานมาจากการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งวิธีการทำงานแบบผู้ประกอบการก็มุ่งที่จะ Get things done คือทำให้ลุล่วง ให้งานเสร็จไปเป็นอย่างๆ ผมรู้เป้าหมาย รู้ว่าต้องทำอะไร ถ้าเป็นธุรกิจเขาก็วัดกันที่ “Bottom Line” ผมเป็นพรรคการเมืองที่เน้นภาคปฏิบัติ หรือ Operation ไม่ได้เน้น Politic ดังนั้น ผมก็เอาจุดแข็งของผมคือ Get the jobs done มาใช้ในการทำงานในฐานะรองนายกฯ และรัฐมนตรี” คุณอนุทิน กล่าว

จากฟันเฟืองเล็กๆ ไปจนถึงนโยบายระดับชาติ วันนี้ คุณอนุทิน ถือเป็น “หัวเรือใหญ่” ที่มีอำนาจเต็มที่ ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น จากการคุมบังเหียนของ 3 กระทรวงที่ได้ชื่อว่าเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจและสังคมไทย ซึ่งมีผลโดยตรงต่อความกินดีอยู่ดีของคนไทยทั้งประเทศ


โครงการสาธารณสุขต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ไม่เพียงงบประมาณเกือบ 3 แสนล้านบาท สำหรับการก่อสร้างโรงพยาบาลในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดการก่อสร้างและการจ้างงานในท้องถิ่น อันเป็นการกระจายรายได้ไปยังท้องถิ่นโดยตรง นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจไทยโดยทางอ้อมในหลายรูปแบบ เริ่มจากนโยบายที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากประชาชนไทย ได้แก่ นโยบายเสรีกัญชาเพื่อการแพทย์

file

“หลายคนเห็นว่าเป็นเรื่องตลก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัจจุบันมีหลายบ้านที่มีผู้ป่วยที่ใช้สารสกัดจากกัญชา เพียงแต่อาจจะได้มาแบบไม่ถูกกฎหมายและมีราคาแพงมาก ผมก็แค่หยิบจากใต้ดินขึ้นมาบนดิน ทำให้ถูกหลักการทางการแพทย์ เป็น Semi-medical และ Medical Grade ตามจุดประสงค์การใช้งาน โดยมีทั้งสารสกัด CBD (ย่อมาจากCannabidiol ซึ่งเป็นสารสกัดที่พบได้มากในกัญชง หรือ Hemp) ช่วยให้ผ่อนคลาย ช่วยเรื่องโรคอัลไซเมอร์ โรคไขข้อ โรคลมชัก ฯลฯ และสารสกัด THC (ย่อมาจาก Tetrahydrocannabinol ซึ่งเป็นสารที่พบมากในกัญชา หรือ Cannabis) ที่ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายดีขึ้น ซึ่งดีกว่ามอร์ฟีน”

คุณอนุทิน เล่าถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการศึกษา “กัญชาทางการแพทย์” ว่า กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างทดลองนำไปใช้รักษา โดยหากผลการทดลองเป็นไปด้วยดี ภายในสิ้นปีนี้ คาดว่าก็จะมีการนำ CBD และ THC เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งจะทำให้คนไทยที่ใช้บริการภาครัฐมีโอกาสเข้าถึงการรักษาด้วยยา 2 ตัวนี้ฟรี

“ในมิติเศรษฐกิจ ถ้าทำให้ถูกกฎหมายและส่งเสริมให้คนปลูกได้ จะสร้างรายได้ที่ดีอีกทางหนึ่งให้กับคนไทย จากราคาในตลาดที่ขายกันราว 50,000 - 70,000 บาท/กก. อาจจะเหลือ 500 - 700 บาท/กก. ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของคนไทยถูกลงด้วยแถมประสิทธิภาพการรักษาก็ดีกว่า ผมมองว่าคนไทยมีศักยภาพในการทำสารสกัดเข้มข้น (Extract) สามารถนำไปเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าอื่นได้อีกหลากหลาย เช่น เครื่องสำอาง ส่วนผสมของอาหาร ยาและอาหารเสริม น้ำมันบรรเทาอาการ ฯลฯ นอกจากนี้ กัญชายังมีสรรพคุณที่ดีในเรื่องเส้นใย ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่นได้ รู้อย่างนี้แล้ว เราจะปล่อยโอกาสทางเศรษฐกิจตรงนี้ไปหรือ”

อีกนโยบายสำคัญ ได้แก่ การลดความแออัดของสถานพยาบาล เพื่อให้การเข้าถึงบริการทางการแพทย์เป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ จากปัญหาที่ประชาชนในท้องถิ่นมักมองว่า “สุขศาลา” หรือ “สถานีอนามัย” ซึ่งเป็นสถานพยาบาลขั้นต้นที่อยู่ในชุมชน ไม่มีหมอหรือผู้เชี่ยวชาญการพยาบาล ดังนั้น ไม่ว่าจะป่วยเล็กน้อยแค่ไหน ทุกคนต่างก็เดินทางเข้าเมืองเพื่อไปพบแพทย์ตามโรงพยาบาลใหญ่ ทำให้โรงพยาบาลเกิดความแออัด

ซึ่งการแก้ไขปัญหานี้ คุณอนุทินมองว่าทำได้ด้วยนโยบาย “2 ยกระดับ” เริ่มจากการยกระดับสถานีอนามัยประจำหมู่บ้าน ซึ่งมีกว่า 9,000 แห่งทั่วประเทศ ขึ้นเป็น “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล” โดยเปิดรับตำแหน่งแพทย์ใหม่เพิ่ม และให้แพทย์ที่มีประสบการณ์สูงมีเวลาไปรักษาผู้ป่วยอาการหนักตามท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการรักษาโดยตรงหรือผ่านเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ขณะเดียวกันก็เร่งยกระดับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งมีมากกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ ให้เป็นผู้มีทักษะความรู้ และความสามารถ ในการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น เพื่อทำให้การรักษาเบื้องต้นในสถานพยาบาลท้องถิ่นทั่วประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น และประชาชนเกิดความมั่นใจมากขึ้น

อีกหนึ่งนโยบายที่ รมว.กระทรวงสาธารณสุขท่านนี้ มุ่งขับเคลื่อนควบคู่ไปกับการขยายการเข้าถึงการรักษาพยาบาล คือ การส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดีด้วยการออกกำลังกายและการให้ความรู้เกี่ยวกับการอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งท่านมองว่าเป็นแนวทางรับมือกับการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) ที่ดีที่สุด ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทย

“ถึงเราจะรักษาฟรี ถึงหมอไทยจะเก่ง ถึงเราจะมียาดี ถึงระบบสาธารณสุขเราจะไม่เป็นรองใคร แต่ยังไงการไม่เจ็บป่วย น่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการมากกว่า และจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะประเทศชาติมากที่สุด ฉะนั้นคงไม่มีอะไรดีไปกว่าการทำให้คนไทยแข็งแรง รู้จักดูแลสุขภาพ และป่วยน้อยลง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็มุ่งมั่นทำอยู่”

นี่จึงเป็นที่มาของการประกาศจุดยืนที่ชัดเจนของคุณอนุทิน ในฐานะเจ้ากระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้มีการแบนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และสารพิษร้ายแรง 3 สาร ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

file

ผลักดันนโยบาย Medical Hub ควบคู่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

“ระบบสาธารณสุขของไทยเราเป็นอันดับ 6 ของโลก” เป็นสิ่งหนึ่งที่คนไทยควรภาคภูมิใจ ท่านรองนายกฯ กล่าว “หมอของเรามีคุณภาพและมีความเก่งเฉพาะด้าน ทำยังไงให้เรามี Excellence Center ยกตัวอย่างโรงพยาบาลที่เก่งทางด้านกระดูก ก็ตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเกี่ยวกับโรคกระดูก ซึ่งผมมองว่าควรให้มีการทำเป็นโครงการ PPP (โครงการที่ให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐฯ) ประชาชนหรือเอกชนไทยที่มีทุนก็มาร่วมสร้างโรงพยาบาลแล้วแบ่งรายได้กัน เมื่อเรามี Excellence Center ทางการแพทย์ในหลากหลายด้านเราก็ส่งเสริมให้คนต่างชาติเข้ามารักษาและท่องเที่ยวในเมืองไทย ก็เปิดโอกาสในการสร้างเสริมรายได้ให้กับประเทศ”

file

เพื่อขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าว ล่าสุดท่านรองนายกฯ ได้เร่งผลักดันนโยบาย Medical Hub ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพในระดับนานาชาติ ควบคู่กับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้ให้ประเทศ โดยได้กำหนดว่าภายในปี 2563 ประเทศไทยต้องติดอันดับ 1 ใน 10 ของศูนย์กลางสุขภาพของโลก โดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในการดำเนินการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านบริการรักษาพยาบาล และบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพรวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย

รองนายกฯ อนุทิน มองว่า การท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ หรือกลุ่ม MICE เป็นอีกตลาดที่ควรส่งเสริมและมีนโยบายออกมากระตุ้นอย่างจริงจัง เพราะจะนำรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาลและเมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาคนี้ประเทศไทยเองก็มีศักยภาพที่ทำได้ดีกว่า

“องค์ประกอบหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการท่องเที่ยว คือ อาหาร นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคน ถ้าเราทำให้นักท่องเที่ยวซาบซึ้งดื่มด่ำกับรสชาติอาหารไทย กินของไทย ใช้ของไทยไม่ใช้และกินของนำเข้า อันนี้ก็จะทำให้เกิดกระแสเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจไทยได้หลายรอบ”

file

‘Thailand First’ ไทยทำ ไทยใช้

แม้คณะรัฐมนตรีจะเพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้เพียงไม่กี่เดือน แต่คุณอนุทินยอมรับว่ามีเสียงชาวบ้านบ่นกันเยอะว่าเศรษฐกิจไม่ดี

“ถ้าสรุปตามรายงาน ก็คือ ที่เศรษฐกิจไทยเป็นเช่นนี้ เพราะสภาพเศรษฐกิจโลกในภาพรวมไม่ดี ส่งออกหดตัว นำเข้ามากขึ้น นี่คือสรุปแบบราชการ แต่ถ้ามองให้ลึก ผมมองว่าสภาพเศรษฐกิจทุกวันนี้ หดตัวในระดับรากหญ้า แต่ระดับบนยังไปได้ เพียงแต่ปัญหาคือเม็ดเงินที่อัดฉีดจากรัฐบาลในโครงการต่างๆ ยังไม่สามารถกระจายออกไปได้ต่อ ด้วยหลายสาเหตุอย่างเช่น การประมูลงาน และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ถูกเลื่อนออกไป ฯลฯ”

อีกสาเหตุสำคัญที่ท่านรองนายกฯ อนุทิน มองว่าน่ากังวลยิ่ง นั่นคือ การที่โครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ของรัฐบาล มักมีบริษัทยักษ์ใหญ่ ต่างชาติประมูลได้ในราคาต่ำมาก แล้วไป Outsource บริษัทคนไทย จากนั้นกดราคาผู้รับเหมาไทยให้ต่ำลงไปอีก ทำให้ผู้รับเหมาไทยแทบไม่มีกำไร เป็นเหตุให้หลายโครงการล่าช้าจนต้องหยุดชะงัก

“แทนที่เม็ดเงินอัดฉีดจากภาครัฐฯ จะสร้าง Multiplier Effect ที่จะทำให้เศรษฐกิจหมุนต่อไปข้างหน้าได้อีก 7 รอบ แต่กลับต้องมาชะงัก เพราะมีแต่กำลังจ่ายออกไป แต่ไม่มีกำลังหมุนเวียนกลับเข้ามาใหม่ สิ่งที่ผมบอกท่านรัฐมนตรีคมนาคม คือ วันนี้ต้อง Thailand First เพราะคนไทยทำได้หมด วัสดุก็มาจากประเทศไทย ทำไมต้องไปง้อต่างชาติมากเกินไป แล้วถ้าจ้างบริษัทไทย ไทยทำ ไทยใช้ เงินก็หมุนอยู่ในประเทศ สร้างเศรษฐกิจเติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือถ้าต่างชาติได้งานไป เราก็ต้องกำหนดให้ต้องมีการว่าจ้างคนไทย ซื้อของไทย ให้คนไทยได้ประโยชน์กลับคืนมาด้วย

อีกนโยบายที่พยายามผลักดัน คือ จะไม่ให้บริษัทเดียวผูกขาดการรับงาน โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ จะต้องมีการกระจายงานออกมา งานส่วนไหนที่คนไทยทำได้ก็ให้ผู้ประกอบการไทยได้แข่งขันกันอย่างเป็นธรรม เพราะถ้ารัฐบาลไม่ช่วยปกป้องธุรกิจของคนไทย ประเทศไทยก็อยู่ได้แค่นี้”


ครม.เศรษฐกิจ – หลาย “หัวกะทิ” ย่อมดีกว่าหัวเดียว

ในขณะที่มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่เศรษฐกิจไทยวันนี้ยังดูไม่ค่อยดี ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการมีรัฐมนตรีเข้ามาดูแลจากหลายพรรคจะทำให้นโยบายเศรษฐกิจขาดความเป็นเอกภาพ (หรือไม่?) คุณอนุทินกลับมองตรงกันข้าม…

“ครม.เศรษฐกิจชุดนี้มีทั้งอาจารย์สมคิด ท่านจุรินทร์ ท่านสุริยะ ท่านเฉลิมชัย ท่านพิพัฒน์ ท่านพุทธิพงษ์ ท่านสนธิรัตน์ และผม โดยมีท่านนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าทีม ซึ่งท่านนายกฯ จะช่วยให้นโยบายต่างๆ มีเอกภาพและผลักดันให้เกิดการประสานงานกันได้โดยไม่สะดุด และ ด้วยโครงสร้างแบบนี้ บวกกับมันสมองระดับประเทศของทุกท่านเหล่านี้ ถ้ายังทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นไม่ได้ ก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว เพียงแต่ตอนนี้อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการขับเคลื่อนนโยบายของแต่ละกระทรวงเท่านั้น คงต้องขอเวลาทำงานก่อน”

file

ก่อนจบค่ำคืนพิเศษกับรองนายกฯ อนุทิน คุณไพบูลย์ ทิ้งท้ายด้วยคำถามเพื่อเรียกความมั่นใจให้กับนักลงทุนไทยว่า แนวนโยบายของ 3 กระทรวงเศรษฐกิจภายใต้บังเหียนของท่านจะไม่มีอันล้มพับไปก่อน อันเนื่องมาจากคะแนนเสียงปริ่มน้ำในสภาฯ

“คะแนนเสียงที่มีอยู่ ผมคิดว่าไม่ใช่ประเด็นที่จะทำให้รัฐบาลนี้มีอันเป็นไปในระยะเวลาอันรวดเร็ว รัฐบาลนี้จะอยู่ไม่ได้ก็ต่อเมื่อผ่านไป 1-2 ปีแล้ว ก็ยังแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้หรือเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างมโหฬาร ดังนั้น ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับวัตรปฏิบัติของรัฐบาลไม่ต้องห่วงเรื่องคะแนนเสียงเลย เพราะเอาจริงๆ แทบจะไม่เคยมีรัฐบาลไหนล้มเพราะฝ่ายค้าน ส่วนใหญ่ที่ล้มก็เพราะขัดขากันเองไม่สามัคคีกัน ซึ่งมาถึงวันนี้ ผมรู้สึกว่าทุกคนในรัฐบาลก็พยายามผลักดันทำงานกันอย่างเต็มที่” รองนายกฯ และ รมต. อนุทิน กล่าวทิ้งท้าย


อนุทิน ชาญวีรกูล

  • คุณอนุทิน เป็นทายาทของ คุณชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีต รมว.กระทรวงมหาดไทย ผู้เป็นเจ้าของบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่อย่าง บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น  (มหาชน) โดยท่านได้สืบทอดการบริหารงานบริษัทต่อจากคุณพ่อ ก่อนเข้าสู่วงการการเมืองตามรอยคุณพ่ออีกเช่นกัน

  • เริ่มเข้าสู่วงการการเมืองในปี พ.ศ. 2539 โดยรับตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต่อมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ปี 2547 และ 2548) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ปี 2547) ก่อนก้าวสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยในปี 2562

  • กิจกรรมที่ชื่นชอบ คือ การสวดมนต์ และขับเครื่องบิน เนื่องจากในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ธุรกิจครอบครัวชาญวีรกูลถูกผลกระทบไม่ต่างจากธุรกิจอื่น แต่สิ่งที่ทำให้ผ่านมาได้ คือ การมีสติ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการสวดมนต์เป็นประจำ จนปัจจุบันท่านสามารถสวดมนต์ได้ทุกบท ส่วนการขับเครื่องบินนั้น เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางในชีวิตประจำวัน และ ภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่นักบินจิตอาสาให้กับสภากาชาดไทยในการขับเครื่องบินส่วนตัว รับ-ส่งหัวใจและอวัยวะจากผู้บริจาคไปยังผู้ป่วยที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งได้ปฏิบัติภารกิจนี้มาเกือบ 30 ครั้ง ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี