file

จากอาณาจักรสมุนไพร สู่ร้านขายยาออนไลน์

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 51 | คอลัมน์ Wealth Manager Talk

ความรู้เรื่องชีววิทยาและเทคโนโลยีการแพทย์ มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในทุกยุคทุกสมัย นำโดยประเทศในโลกตะวันตกอย่าง ยุโรป อเมริกา ไปจนถึงฝั่งเอเชียอย่างญี่ปุ่น อินเดีย และจีน ที่เป็นแหล่งกำเนิดแพทย์แผนจีนโบราณอย่างการฝังเข็มและสมุนไพร ซึ่งพบว่าสมุนไพรที่เป็นที่นิยมนำไปเป็นส่วนผสมของยาในอดีตกว่า 2,200 ปีที่แล้วอย่างสาวเย่า พุทราจีน รากชะเอมเทศ นั้น ได้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมของยารักษามะเร็งในปัจจุบันที่มีชื่อว่า PHY906 ซึ่งถูกพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเยล

ปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ในจีนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขึ้น หลังจากมีการแปรรูปบริษัทจากรัฐวิสาหกิจมาเป็นเอกชน (Privatizing) ในปี ค.ศ.1990 อีกทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุ (Aging Society) ที่เปลี่ยนแปลงไปก็ส่งผลให้กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ของจีนมีมูลค่าตลาด (Market Cap) ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก นอกจากนี้ ในปัจจุบันกลุ่มบริษัทยา (Pharmaceuticals) ของจีนก็ยังได้ก้าวมาเป็นผู้เล่นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลกอีกด้วย และคาดว่าภายในปี ค.ศ. 2030 กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ของจีนจะมีมูลค่าตลาดแตะระดับ 2.4 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ จากความต้องการภายในประเทศที่สูงขึ้น ประกอบกับประชากรสูงอายุของจีนที่น่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของปัจจุบัน นั่นหมายความว่าประชากรจีนกว่า 324 ล้านคน จะมีอายุมากกว่า 60 ปี ซึ่งจะเห็นได้ว่าพัฒนาการของกลุ่มการแพทย์ของจีนยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการเติบโตเท่านั้น

สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีสัดส่วนการใช้จ่ายด้านการแพทย์ที่สูงกว่าประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ของอเมริกา คิดเป็น 17% ต่อ GDP  ประเทศในฝั่งยุโรปอย่างเยอรมนีและฝรั่งเศส คิดเป็น 11% ต่อ GDP  ในขณะที่จีนคิดเป็นเพียงกว่า 6% ต่อ GDP ถึงแม้จะยังน้อยหากเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว แต่การเติบโตของค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ของจีนคิดเป็นการเติบโตทบต้นถึง 20% ตลอด ระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมาสาเหตุส่วนหนึ่งนั้นมาจากการถ่ายโอนความมั่งคั่งจากรุ่นพ่อรุ่นแม่สู่รุ่นลูก ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ ทั้งยังเป็นกลุ่มคนที่มีความใส่ใจและมีข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น

file

อีกปัจจัยหนึ่ง คือการใช้จ่ายด้านการแพทย์จะมีความสัมพันธ์กับโรคที่ในอดีตไม่สามารถรักษา แต่ปัจจุบันสามารถหาทางรักษาหรือบรรเทาลงได้ เช่น โรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง แตก ตีบ ตัน,โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน นอกจากนี้คนรุ่นใหม่ต่างมีความต้องการคุณภาพในการรักษาที่ดีขึ้นและการบริการที่ออกแบบได้ตรงจุดและตอบสนองแต่ละบุคคลมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การรักษาระดับพันธุกรรม(Gene Therapy)

ถึงแม้อุตสาหกรรมการแพทย์จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลสามารถจัดเตรียมได้เพียงการประกันสุขภาพแบบถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) ซึ่งเป็นบริการทางการแพทย์ที่จะช่วยให้ประชาชนในประเทศได้รับการบริการทางการแพทย์ในเบื้องต้น ในขณะที่บริษัทเอกชนจะครอบคลุมการรักษาที่ใช้เทคโนโลยีที่มีราคาแพง แต่มีบริการและมีคุณภาพในการรักษาที่ดีกว่า ซึ่งข้อจำกัดของบริษัทเอกชนเหล่านี้คือมีสัดส่วนครอบคลุมประชากรจีนน้อยกว่า 10% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ China’ s Hokou System  ที่เกิดขึ้นเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นระบบที่จัดทำประวัติบุคคล อาทิ รายชื่อสถานที่เกิด สถานภาพสมรสเข้าไว้ในระบบกลาง ทำให้แรงงานในแต่ละจังหวัดหรือมณฑลไม่สามารถย้ายไปมาได้อย่างอิสระเช่นเดียวกับการเข้าถึงการแพทย์ ซึ่งแต่ละมณฑลจะมีคุณภาพการรักษาไม่เท่ากันประกอบกับการขาดบุคลากรทางการแพทย์

ปัจจุบันประชากรจีนเริ่มหันมาใช้จ่ายกับ บริการทางการแพทย์  รวมถึงให้ความสนใจประกันสุขภาพมากขึ้น เห็นได้ชัดจากประชาชนจีนมักจะเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีในทุกๆ ปี เพราะประชากรจีนยุคใหม่ได้มีความตระหนักถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพหากต้องการได้รับการรักษาที่ดี นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังมีนโยบายที่ช่วยยกระดับความครอบคลุมทางการแพทย์ไปยังเมืองชนบท ด้วยปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้คาดว่าการเติบโตของธุรกิจประกันสุขภาพในจีนจะมีรายได้จากเงินเอาประกันภัยแตะ 193,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2020

ทั้งนี้ บริษัทที่เป็นผู้นำตลาดด้านเทคโนโลยีอย่าง Alibaba ได้จัดตั้งบริษัทลูกที่ชื่อว่า  AliHealth สำหรับลงมาเป็นผู้เล่นในตลาดอุตสาหกรรมการแพทย์โดยเฉพาะ โดยบริษัทจะดำเนินการเกี่ยวกับการขายยาและบริการทางการแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ทั่วโลก ซึ่งยากว่า 70% จะได้รับมาจากโรงพยาบาลในจีน ทั้งยังมีแผนจับมือพัฒนาร่วมกันกับบริษัท Merck ในการใช้ AI เข้ามาจัดการระบบให้กับลูกค้ารวมถึง พัฒนา คิดค้น ต่อยอด และวิจัยตัวยา เพื่อให้การใช้ยามีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้บริษัทยายักษ์ใหญ่อย่าง Sinopharm ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้กับการแพทย์  เพื่อให้การทำงานภายในโรงพยาบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเป็นบริการ  Wedoctor ที่จะช่วยจัดการระบบโรงพยาบาล การกระจายเครื่องมือและการบำรุงรักษาอุปกรณ์การแพทย์  ซึ่งจะเห็นว่าหลายบริษัทที่เป็น Tech-health Company จะใช้ประโยชน์จาก AI ควบคู่ไปกับ Big Data เพื่อช่วยยกระดับกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ในประเทศจีนให้ดีขึ้น

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยนั้นจัดว่าเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีการเติบโตในระดับสูงมาโดยตลอด โดยโมเดลประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย (Universal Health Coverage) ได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นหนึ่งในระบบประกันสุขภาพแบบต้นทุนต่ำที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งครอบคลุมประชากรในประเทศกว่า 99.94%  และส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์เพิ่มขึ้นเป็น 4% ต่อ GDP  ในปี 2017 เทียบกับ 3.8% ต่อ GDP  ในปี 2002

ถึงแม้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะครอบคลุมกว่า 99% ของประชากรไทย แต่ปัญหาที่พบนั้นคล้ายคลึงกับประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศอื่น เช่น จีน ตามที่ได้กล่าวไปในเบื้องต้น โดยมีตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดคืออัตราครองเตียง (Bed Occupancy Rate) ในบางพื้นที่แตะระดับ 100% หรือในบางพื้นที่อย่างจังหวัดสตูลแตะระดับ 103% ซึ่งถือว่า การให้บริการทางการแพทย์ถึงแม้จะครอบคลุมแต่ยังไม่เพียงพอประกอบกับภาพรวมของแนวโน้มใหญ่ (Megatrends) ที่ไทยกำลังเผชิญเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ, การขยายตัวของชนชั้นกลาง ซึ่งประเมินว่าในปี ค.ศ. 2020 ชนชั้นกลางของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 41% จาก 36% ในปี ค.ศ. 2015

file

และการเข้าสู่สังคมเมืองอย่างเต็มรูปแบบจากการที่รัฐบาลดำเนินการวางโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เช่น ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงการยกระดับประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางการแพทย์ (Medical Hub) ในอาเซียนเพื่อยกระดับเทียบเคียงกับสิงคโปร์และอินเดีย จะเห็นได้ว่าความต้องการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพนั้นเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่คุณภาพและความรวดเร็วเติบโตไม่ทันกับความต้องการทำให้ประชากรไทยที่มีกำลังซื้อเลือกใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน ถึงแม้จะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่แพงกว่าก็ตาม

นอกจากนี้อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นสาเหตุหลักที่ประชากรไทยต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายในระดับที่สูง เนื่องจากพฤติกรรมที่ขาดความเอาใจใส่ต่อสุขภาพของประชากรไทย เช่น คนไทยบริโภคน้ำตาล มากกว่า 5 เท่าของปริมาณที่แนะนำต่อวัน หรือสัดส่วนประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีที่ดื่มแอลกอฮอล์  และสูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต สิ่งนี้เองจะนำไปสู่โรคที่ร้ายแรงที่คร่าชีวิตคนไทยอย่างโรคมะเร็ง, โรคหลอดเลือดในสมองตีบ แตก ตัน, โรคถุงลม โป่งพอง, โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน ซึ่งหากเป็นแล้วจะเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาในมูลค่าที่สูง (หลักแสนถึงหลักล้านบาท)

จากเหตุผลตามที่ได้กล่าวมาทั้งหมด คือการขาดแคลนทรัพยากรคุณภาพทางการแพทย์ที่เหมาะสม ขณะที่ความต้องการยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเด็นดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกันในหลายประเทศตั้งแต่ฝั่งตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาข้ามฝั่งมาเอเชียอย่างประเทศจีนและประเทศไทย ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์เติบโตในระดับตัวเลขสองหลัก (Double Digits) มาโดยตลอด พร้อมกับการเติบโตของค่าใช้จ่ายด้านประกันสุขภาพที่ประชากรในหลายๆ ประเทศรวมถึงประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของค่ารักษาพยาบาลที่เติบโตเร็วกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ทำให้ประชากรยุคใหม่เริ่มมองหาประกันสุขภาพที่ช่วยให้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ แต่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้โดยการโอนความเสี่ยงภัยไปยังบริษัทรับประกันภัย

ด้วยการเติบโตของอุตสาหกรรมการแพทย์ที่สูง จึงทำให้บริษัทในกลุ่มนี้มักจะมีอัตราการทำกำไรที่สูง สะท้อนผ่านราคาหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับการแพทย์นั้นเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดีล้วนแล้วแต่มีความต้องการอยู่ตลอด ทำให้หุ้นของกลุ่มบริษัทเหล่านี้มีลักษณะทั้งการเป็นหุ้นเติบโต (Growth Stocks) และหุ้นปลอดภัย (Defensive Stocks) ประกอบกับเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดดช่วยทำให้การบริหารจัดการการคิดค้นตัวยา การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ มีมากขึ้น หากเทียบกับในอดีต ตัวอย่างเช่น บริษัท Toshiba จากญี่ปุ่น สามารถคิดค้นเครื่องตรวจหามะเร็งจากเลือดเพียงหยดเดียวที่เรียกว่า Microrna Cancer Device ในวันที่ 25 พ.ย. 2019 ซึ่งบริษัทกล่าวว่ามีความแม่นยำกว่า 99% และใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง ราคาหุ้นของ Toshiba ปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 14% ในช่วงระยะเวลา 1 สัปดาห์หลังจากประกาศข่าว

การลงทุนในหุ้นของกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ (Healthcare) นั้นมักจะเป็นการลงทุนระยะยาว (Megatrends) แต่หากมีความต้องการลงทุนระยะสั้นก็สามารถทำได้ เนื่องจากความผันผวนในระยะสั้นของกลุ่มย่อย (Sub-sectors) อย่างHealth-tech หรือกลุ่ม Biotechs นั้นจะมีลักษณะคล้ายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีผสม มีความผันผวนของราคาที่สูงกว่ากลุ่มบริษัทยา (Pharmaceuticals) ทางฝั่งของ Valuation ของหุ้นกลุ่ม Healthcare พบว่าโดยปกติแล้วค่า P/E ของกลุ่ม Healthcare มักจะซื้อ-ขายกันได้ในระดับที่สูงกว่าดัชนี เนื่องจากหุ้นกลุ่มนี้มีความเป็นหุ้น เติบโตทำให้คนให้ค่าพรีเมียมมากกว่าดัชนี หากดูในอดีต เทียบระหว่างกลุ่ม US Healthcare กับ ดัชนีหุ้น S&P500 พบว่าหุ้นกลุ่ม Healthcare จะสามารถซื้อ-ขายบนค่า P/E ที่แพงกว่าดัชนี S&P500 ประมาณ 15%

file

นับจากการเลือกตั้งระหว่าง ประธานาธิบดี โดนัลด์  ทรัมป์  และคุณฮิลลารี คลินตัน ที่เสนอประเด็นเรื่องการลดราคายา หุ้นกลุ่ม Healthcare กลับมาทำผลตอบแทนได้น้อยกว่าตลาดจนถึงปัจจุบันค่า Forward P/E อ้างอิงจาก MSCI วันที่ 31 ตุลาคม 2019 ของกลุ่ม Healthcare อยู่ที่ 15.5 เท่าน้อยกว่า Forward P/E ของ S&P500 ที่ 17.62 เท่า ในขณะที่การเติบโตของหุ้นกลุ่ม Healthcare ยังทำได้ดี แต่คนกลับให้พรีเมียมน้อยลง จึงทำให้ในปี 2019 กลุ่ม Healthcare ยังเป็นกลุ่มที่ถือว่าให้ผลตอบแทนน้อยกว่าตลาด ซึ่งหากมองกันในระยะยาวนับจากอดีตแล้วถือว่าเป็นจังหวะที่น่าสนใจในการลงทุนข้ามไปยังกลุ่ม Healthcare ในจีนที่มีการเติบโตสูง ทั้งจากตลาดยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณจำพวกสมุนไพร พบว่า Forward P/E อยู่ในระดับ 23.12 เท่า เมื่อเทียบกับ MSCI China ที่มี Forward P/E เพียง 11.13 เท่า อ้างอิงจาก MSCI วันที่ 31 ตุลาคม 2019 เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีผนวกเข้ากับภูมิปัญญาดั้งเดิมเรื่องสมุนไพรไปจนถึงการขายยาผ่านช่องทางออนไลน์

จะเห็นได้ว่าในทุกยุคสมัยการลงทุนในหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและการแพทย์นั้น มักจะให้ผลตอบแทนที่ดีจากการเติบโตของบริษัทเหล่านี้ ถึงแม้ระหว่างทางจะมีความผันผวนตามตลาดตามสภาพเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน การที่หุ้นกลุ่มเหล่านี้มีการเติบโตที่สูงแต่แฝงไปด้วยความเป็นหุ้นปลอดภัย ทำให้เมื่อเวลาลงมักจะลงน้อยกว่าตลาด แต่เวลาขึ้นมักจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาด จะมีเพียงบางช่วงเวลาอย่างเช่น ช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2017 และปี 2019 ที่กลุ่ม Healthcare ในอเมริกาให้ผลตอบแทนที่แย่กว่าตลาด ซึ่งมองว่าเป็นจังหวะในการลงทุนที่น่าสนใจ เพราะค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพมักจะเพิ่มขึ้นในระยะยาว บริษัทเหล่านี้สามารถส่งผ่านต้นทุนมายังผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ และผู้บริโภคเหล่านี้กำลังมีสัดส่วนที่สูงขึ้นตามการขยายของสังคมเมือง

และสิ่งสุดท้ายถึงแม้การลงทุนในหุ้นกลุ่ม Healthcare จะน่าสนใจเพียงใดนั้น ต้องอย่าลืมว่า นักลงทุนยังต้องรับบริการทางการแพทย์ของบริษัทเหล่านั้น ซึ่งราคาค่าบริการมักจะเติบโตไปรวดเร็วกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจและค่าจ้าง การคัดเลือกประกันสุขภาพให้กับตนเองก็เป็นหนึ่งในการลงทุนที่คุ้มค่าและต้องอาศัยการคัดเลือกและเฟ้นหาไม่แพ้กับการหาหุ้นที่จะเข้าไปลงทุน