file

โรคทางใจ เป็นได้ หายได้ โทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 52 | คอลัมน์ Giving

ไม่ใช่เรื่องแปลก หากท่านกำลังมีความรู้สึกเช่นนี้ในท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติ

“ฉันติดเชื้อ COVID-19 แล้วหรือยังนะ”

“เสพข่าวแล้วเครียดจัง”

“อยู่แต่ในบ้าน จะไปไหนก็กังวล จิตตกไปหมดแล้ว”

ทางออกหนึ่งของคนที่ต้องการจะหลุดพ้นจากพันธนาการที่วนเวียนอยู่ในจิตใจเหล่านี้ คือการหาที่ระบายเพื่อปลดปล่อยความเครียดนี้ให้หมดไป แต่หากมองไม่เห็นใครสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ก็พร้อมที่จะคอยอยู่เคียงข้างจิตใจคุณ


คนไทยกับอาการป่วยทางใจ

“คนเรามีปัญหาสุขภาพจิตได้ไม่ใช่เรื่องแปลก มันก็เหมือนกับปัญหาสุขภาพกายเพียงแต่ปัญหาสุขภาพใจเป็นปัญหาที่มองไม่เห็น ความเจ็บปวดต่างๆ โชว์ได้แค่ในหัวใจแต่ไม่สามารถเปิดออกมาให้คนอื่นดูได้”

คุณธนกฤษ ลิขิตธรากุล นักจิตวิทยาคลินิกสายด่วนสุขภาพจิต 1323 กรมสุขภาพจิตสะท้อนถึงปัญหาสุขภาพใจที่เกิดขึ้นได้กับทุกๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่มนุษยชาติ เผชิญกับวิกฤตการณ์เดียวกันทั่วทั้งโลก นั่นคือการระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัส COVID-19 ถ้าจะดูข้อมูลเฉพาะในเดือนมีนาคม 2563 ที่เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณธนกฤษนั้น เขาบอกว่า COVID-19 เริ่มเป็นประเด็นร้อนแรง ที่มีผู้คนโทรศัพท์เข้ามาปรึกษาอย่างหนักที่สายด่วนสุขภาพจิตแห่งนี้

“ตอนนี้ COVID-19 เป็นปัญหาที่รุนแรงมาก เพราะทุกคนไม่เคยเจอมาก่อน ถือเป็นเรื่องใหม่ เพราะโรคนี้ติดต่อกันได้เร็ว แล้วยังทำให้คนเสียชีวิตได้ แถมการรักษาก็ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน จึงตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดความเครียดได้อย่างง่ายดาย จากการเสพข่าวสารที่อยู่รอบตัว ก็ทำให้ผู้คนเครียดตื่นกลัว และวิตกกังวลเหนือกว่าระดับปกติ”

ถ้าพักสมองจากประเด็นเรื่องโรคร้ายนี้ไปก่อน จะว่าไปปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทยเลย ถ้าจะดูจากจำนวนสายที่โทรเข้ามาพูดคุยกับสายด่วนสุขภาพจิต พบว่า มีประมาณ 10,000 สายต่อเดือน และถ้าสำรวจลึกเข้าไปถึงสาเหตุของการโทรเข้ามา จะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยด้านจิตเวชที่โทรเข้ามาพูดคุยเพื่อหาคนรับฟัง รองลงมาคือ เครียดจัดจนต้องหาทางระบายและต้องการจัดการกับความเครียด และอีกปัญหาที่ระยะหลังได้ยินบ่อยๆ ก็คือโรคซึมเศร้า นี่เฉพาะสายที่โทรติดเท่านั้น เพราะแม้ตอนนี้สายด่วนสุขภาพจิต 1323 จะเพิ่มจำนวนการรับเป็น 20 คู่สาย แต่นักจิตวิทยาหนุ่มก็ยอมรับว่าเบอร์นี้โทรติดยากและยังไม่เพียงพอต่อการปลดทุกข์ทางใจของคนไทย

file

สายด่วนเยียวยาจิตใจ

สายด่วนสุขภาพจิตถือเป็นช่องทางหนึ่งที่กรมสุขภาพจิตเปิดสายขึ้นมา เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตแบบฟรีๆ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยผู้ฟังแปลกหน้าปลายสายที่มาคลายปัญหาใจในช่วงวิกฤต คือนักจิตวิทยา ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 40-50 คน มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการปัญหาใจและผ่านการฝึกอบรมด้านการให้คำปรึกษามาเป็นอย่างดี เป็นมืออาชีพ โดยทุกเรื่องราวที่เดินทางมาตามสายจะถูกเก็บเป็นความลับ

“การพูดคุยอย่างไม่เห็นหน้า ทำให้คนต้นสายรู้สึกสบายใจที่จะเผยปัญหาส่วนตัว หน้าที่ของเราคือการตั้งใจรับฟังโดยไม่ตัดสินแต่ฟังเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ต้องทำตัวเป็น ‘กระจก’ สะท้อนปัญหา แต่ไม่ใช่คนตัดสินหรือแก้ปัญหา เพราะเราไม่ได้เป็นกูรู เราไม่ได้เหนือกว่าเขา ไม่ใช่ผู้รู้ที่จะได้ชี้นำทางให้เขา แต่เราจะเดินไปพร้อมๆ เขา ช่วยกันหาทางออกหรือถ้าปัญหานี้ไม่มีทางออก เราก็จะเยียวยาและฟื้นฟูจิตใจเขาด้วยกำลังใจจากเรา เพื่อให้เขาพร้อมที่จะยืนหยัด ยอมรับความเป็นจริงและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขต่อไป”


จัดการใจตนก่อนช่วยคนอื่น

คุณธนกฤษ เล่าต่อว่า จากประสบการณ์ตลอด 6 ปี ของการรับสายที่เข้ามาทางสายด่วนสุขภาพจิต ปัญหาที่พบบ่อยครั้ง คือปลายสายร้องไห้หนักมาก หรือมีอารมณ์รุนแรง จนไม่สามารถพูด หรือระบายออกมาให้เข้าใจได้ ซึ่งนักจิตวิทยาจะต้องมีเทคนิคเพื่อช่วยผ่อนคลายจิตใจคนโทร เช่น ชวนฝึกหายใจเพื่อปรับอารมณ์ให้เย็นลงก่อน พออารมณ์เย็นแล้ว สติก็จะมาและพร้อมที่จะพูดคุย นอกจากนี้ยังต้องจัดการให้ปลายสายคุยเข้าสู่ประเด็นเพื่อที่จะได้ง่าย ต่อการให้คำปรึกษาที่ตรงจุด ซึ่งปกติจะใช้เวลาให้คำปรึกษารายละประมาณ 15-20 นาที

“คนรอบตัวมักจะถามว่า ฟังเรื่องแบบนี้บ่อยๆ ไม่อินหรือเครียดตามไปด้วยเหรอ? เพราะหลายๆ คนเวลาได้ฟังเรื่องราวจากครอบครัว คนรัก หรือเพื่อน ก็มักเครียดตามไปด้วย สำหรับพวกเราแล้ว เรื่องการจัดการจิตใจตัวเองถือเป็นสิ่งสำคัญ เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานที่จะต้องทำให้ได้ เราเป็นแค่ส่วนหนึ่งของเรื่องราวก็จริง แต่เราไม่ใช่เจ้าของเรื่อง ไม่เช่นนั้นเราจะช่วยเหลือคนอื่นไม่ได้ หากวันไหนถ้าใจเราไม่พร้อม อารมณ์ไม่มั่นคงก็ไม่ควรทำหน้าที่ตรงนี้ เพราะมันจะส่งผลต่อเคสมากๆ อันนี้ถือเป็นเรื่องที่ซีเรียส เพราะเราต้องรับผิดชอบชีวิต รับผิดชอบการตัดสินใจของคน”

ในกรณีเคสที่ยาก สายด่วนสุขภาพจิตจะมีการทำ Case Conference หารือกันเพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน ส่วนมากจะเป็นปัญหาครอบครัวที่มีความสลับซับซ้อน ในการประชุมนี้จะมีจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์สูงเข้าร่วมด้วย ซึ่งช่วยทำให้คนทำงานมองเห็นทางออกของปัญหา และพร้อมนำไปปรับใช้ให้คำปรึกษาในอนาคตต่อไป

file

แก้ปัญหาจากต้นเหตุที่อยู่ลึกในใจ

คุณธนกฤษ ยกตัวอย่างการรับมือกับเคสต่างๆ ให้ฟัง เช่น กรณีจับประเด็นได้ว่า ผู้ที่โทรเข้ามามีอาการของโรคซึมเศร้า รู้สึกจิตใจย่ำแย่ ถึงขั้นคิดอยากจะฆ่าตัวตาย เพราะมองว่านี่คือทางออกของชีวิต เมื่อรับฟังปัญหาแล้ว เขาจะใช้ศิลปะในการพูดทำให้เจ้าของเรื่องสบายใจขึ้น ด้วยการแสดงความเข้าใจในสถานการณ์ และถามหาเหตุผลในการใช้ชีวิตอยู่ต่อ เช่น บางคนอยู่เพื่อความฝันของตัวเอง บางคนอยู่เพื่อบิดามารดา แล้วใช้เหตุผลนั้นเกี่ยวเขาขึ้นมาจากหลุมความเศร้า ทั้งนี้ ความเศร้าเป็นเรื่องของสารเคมีในสมองด้วย จึงอาจต้องแนะนำให้ผู้ใช้บริการเข้าพบจิตแพทย์อีกทางหนึ่ง

ในสถานที่ทำงานเองก็เช่นกัน หลายคนเจอปัญหาเจ้านายบ่น เพื่อนร่วมงานแย่ ชอบกลั่นแกล้งให้งานมากทำจนล้นมือ นักจิตวิทยามองว่ากรณีนี้อาจปรับมุมคิดใหม่ว่าแท้ที่จริง ปัญหาอาจอยู่ที่ตัวเขาที่เป็นคนไม่พูด ไม่กล้าปฏิเสธก็ได้ โดยจะแนะนำให้ฝึกการพูดสื่อสาร การปฏิเสธคนให้เป็น สุดท้ายแล้วหากไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ ก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ ด้วยการหันมาจัดการกับอารมณ์ของตนเองแทน

ส่วนเรื่องปัญหาปากท้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเงินหรือเรื่องหนี้สิน จะเน้นการให้กำลังใจเพื่อหนุนให้เจ้าของเรื่องมีพลัง พร้อมที่จะจัดการปัญหาด้วยตนเอง เนื่องจากสายด่วนสุขภาพจิตไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้น แต่เชี่ยวชาญเรื่องจิตใจเป็นสำคัญ

“บางครั้งหากเราขุดลึกลงไป อาจพบว่าปัญหาความเครียดที่แท้จริงอาจไม่ใช่การไม่มีเงิน หรือการมีหนี้สิน แต่บางคนเครียด เพราะมองตนเองว่าเป็นคนล้มเหลว นี่คือสิ่งที่กระทบจิตใจหรือตัวตนของเขา เราก็จะเข้ามาช่วยจัดการเรื่องภายในใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราเชี่ยวชาญ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ไม่มีสตางค์แล้วจะต้องเศร้าหรือจะต้องแย่ หรือคนรวยทุกคนก็ไม่ใช่ว่าจะมีความสุข เงินไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดของชีวิต”


ใจแข็งแรงเมื่อมองตามความเป็นจริง

เครื่องมือหนึ่งที่คุณธนกฤษแนะนำว่า สามารถใช้จัดการจิตใจได้ในทุกสถานการณ์ คือการมองทุกอย่างตามความเป็นจริง ซึ่งหากมองการระบาดของ COVID-19 ให้ดีๆ จะพบว่า มีทั้งข้อดี และข้อเสีย แน่นอนว่าโรคร้ายคร่าชีวิตของผู้คนมากมาย แต่ข้อดีที่เห็นได้ชัดคือการได้เห็นความสามัคคีของคนในชาติต่างๆ

file

การอุบัติของโรคยังทำให้เกิดการทำงานที่เรียกว่า Work from Home รวมทั้งการเรียงลำดับความสำคัญของงาน ขณะที่บางคนก็มีโอกาสได้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวมากขึ้นด้วยซ้ำ แถมโรคภัยยังกระตุ้นให้หลายคนเข้าหาและเรียนรู้เทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อที่จะได้ติดต่อสื่อสารกับผู้คนในช่วงเวลาที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)

“COVID-19 เป็นโรคน่ากลัว ผมเห็นด้วยแต่ในอีกมุมหนึ่งเราได้เรียนรู้อะไรจากตรงนี้บ้าง อย่ามองเพียงแค่ด้านเดียว คือข้อเสียซึ่งยอมรับว่ามันใหญ่จริงๆ แต่คนเป็นแล้วหายก็มีและมีทางป้องกัน มีข่าวว่ากำลังผลิตวัคซีน ทำให้เรามีความหวัง โรคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณคนเดียว มันเกิดกับทุกคนบนโลก เวลานี้มนุษย์เราต่างก็พยายามช่วยเหลือกันอยู่ทั้งโลก”


หวัดทางใจ รักษาหายได้

คุณธนกฤษ เผยว่า การให้คำปรึกษาแก่ผู้คนที่ทนทุกข์ทางใจ หาทางออกไม่ได้ ทำให้ชีวิตของนักจิตวิทยาคนหนึ่งมีคุณค่ามากขึ้น คุณค่าที่ไม่ใช่แค่การรับ แต่เกิดจากการให้เพื่อตอบแทนสังคม ซึ่งการได้ยินเสียงคนหัวเราะ หรือคิดได้ด้วยตัวเองหลังจากผ่านการพูดคุยกันสักพัก ถือเป็นความสุขและรางวัลของคนทำงานอย่างแท้จริง

“มันเหมือนกับเราเห็นต้นไม้ค่อยๆ เติบโตจากทีแรกที่ต้นอาจแคระแกร็น พอเราใส่ปุ๋ยให้นิดหนึ่ง ก็สามารถที่จะเติบโตขึ้นมาได้ ก็รู้สึกภูมิใจที่ทำให้ความทุกข์ของเขาลดลง และหากมองในเชิงสังคม คนที่เราช่วยก็อาจจะไปช่วยคนอื่นต่อได้อีก ใครที่มีปัญหาผมอยากให้โทรเข้ามาที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ปัญหาสุขภาพจิตก็เหมือนกับ ‘หวัดทางใจ’ มองไม่เห็น แต่มีอยู่จริง เราสามารถดูแลและทำให้หายได้หรือดีขึ้นได้ ฉะนั้น อย่ากลัวที่จะโทรมา และอย่าอายที่จะพบจิตแพทย์ หากไม่ไหวจริงๆ การพบแพทย์ถือเป็นทางออกที่ดี ทุกคนทุกฝ่ายมีความตั้งใจพร้อมที่จะดูแลคุณ”

3 ขั้นตอน ลดความเครียดในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด

  • สร้างวินัย เลือกเสพข่าวจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้สัก 1-2 แหล่งก็เพียงพอ แบ่งเวลาชม แบ่งเวลาพัก รู้เฉพาะเรื่องที่จำเป็นและสำคัญ ปล่อยวางเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุม ลดการใช้โซเชียลที่มีทั้งข่าวจริงและข่าวหลอก 
  • สำรวจใจ ฝึกสติ รู้เท่าทันความรู้สึกตัวเอง เช่น รู้ว่ากลัว กังวล ก็ให้มองเป็นก้อนความคิด ที่มาแล้วก็ผ่านไป ไม่เอาใจไปผูกกับมันเมื่อเรารู้ตัว เราก็จะสามารถจัดการกับอารมณ์ได้ดี ดังคำกล่าวที่ว่า If you can name it, you can tame it 
  • ดูแลกาย เปลี่ยนอิริยาบถ แบ่งเวลาหากิจกรรมอื่นทำบ้าง กิน พักผ่อน นอนหลับให้เพียงพอ เพื่อบำรุงสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง
file