บล.ทิสโก้ จับมือ “Jefferies” เสริมแกร่ง ยกระดับบริการเทียบชั้น “World Class”

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 55 | คอลัมน์ Exclusive

file

 

การผสานความร่วมมือกับพันธมิตรที่แข็งแกร่งและมีศักยภาพ นับเป็นอีกกลยุทธ์ที่จะช่วยรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกธุรกิจในยุคปัจจุบัน และยังเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ดังนั้น การประกาศเป็นพันธมิตร (Co-Brand Alliance) ระหว่าง “Jefferies” วาณิชธนกิจระดับโลก และ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือน ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา จึงถือเป็นการวางกลยุทธ์เพื่อเดินเกมรุกทางธุรกิจที่น่าจับตา นั่นก็เป็นเพราะการประสานความร่วมมือกันของทั้งสองบริษัท จะส่งเสริมให้เกิดการให้บริกาอย่างครบวงจรแก่ลูกค้าสถาบันระดับโลกระหว่างกันได้อย่างดีขึ้น

ไม่เพียงเท่านี้ ลูกค้าของทั้งสองบริษัท ยังมีโอกาสได้รับบริการบทวิเคราะห์และข้อมูลเชิงลึก ที่มีคุณภาพระดับสากลมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อลูกค้าของ บล.ทิสโก้ รวมถึงยังส่งผลดีต่อภาพรวมของตลาดทุนไทยในระยะยาวอีกด้วย

สำหรับจุดเริ่มต้นของดีลแห่งปีครั้งนี้ คุณไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ เล่าว่า เดิม บล.ทิสโก้ ได้จับมือกับพันธมิตรอย่าง Deutsche Bank เพื่อให้บริการลูกค้าสถาบันทั้งในและต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งหลังจากหมดสัญญาเพียงไม่นาน ก็มีบริษัทโบรกเกอร์ต่างชาติหลายราย รวมถึง Jefferies วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่รายหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างมากในสหรัฐฯ และยุโรป ติดต่อเข้ามาขอร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ บล.ทิสโก้

“เราใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี เพื่อเจรจาเงื่อนไขต่างๆ จนกระทั่งตกลงเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตร กับ Jefferies โดยเหตุผลสำคัญที่ Jefferies ตัดสินใจร่วมเป็นพันธมิตรกับ บล.ทิสโก้ เพราะเชื่อมั่นในประสบการณ์การให้บริการนักลงทุนสถาบันต่างประเทศที่ยาวนานกว่า 20 ปี ทำให้เรามีความเข้าใจความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้เป็นอย่างดี ประกอบกับการมีองค์ความรู้ที่รอบด้านและงานวิจัยที่มีคุณภาพ จึงเป็นหัวใจสำคัญที่สามารถตอบโจทย์การให้คำแนะนำการลงทุนแก่ลูกค้าสถาบันต่างประเทศของ Jefferies ได้ดี”

รู้จัก “Jefferies” โบรกเกอร์ Top 10 สหรัฐฯ

ใหญ่ในตลาดสหรัฐฯ ที่ดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนานจนขึ้นแท่น Top 10 ทั้งในแง่รายได้ และส่วนแบ่งทางการตลาดด้านมูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ดังนั้น เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาข้อเท็จจริง ที่ว่า “ตลาดหุ้นสหรัฐฯ” มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก จึงเป็นเรื่องที่ดูจะไม่เกินจริงเลย หากจะยกให้ Jefferies ขึ้นแท่นเป็นวาณิชธนกิจที่ติด 1 ใน Top 10 ของโลก

file

ด้านฐานลูกค้าของ Jefferies พบว่าที่ผ่านมามุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้ลงทุนสถาบันต่างประเทศขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ได้เริ่มขยายธุรกิจเข้ามาในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น พร้อมเปิดรับบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจากสถาบันการเงินชั้นนำระดับโลกที่ทำงานอยู่ในภูมิภาคเอเชียเข้ามาเสริมศักยภาพการทำงานของทีมอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับการให้บริการลูกค้าในวงกว้างขึ้น ตามที่ตั้งเป้าหมายในอนาคตว่าจะก้าวสู่การเป็นผู้นำของโบรกเกอร์ในเอเชีย

ดังนั้น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา Jefferies จึงถือเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่มีนโยบายเชิงรุกอย่างมากในการทำธุรกิจ เห็นได้จากผลประกอบการที่เติบโตได้ดีตามมูลค่าการซื้อขายที่เพิ่มขึ้น โดยไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งสวนทางกับธุรกิจอื่นๆ

เปิดแผนงาน Win-Win Situation

ในเฟสแรก รูปแบบความร่วมมือระหว่าง Jefferies และ บล.ทิสโก้ จะส่งเสริมกันในด้านบริการธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นไทย โดยมีเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุน รวมถึงทีมงานรับคำสั่งซื้อขายคอยให้การสนับสนุน และให้บริการลูกค้าสถาบันต่างประเทศของ Jefferies เป็นการเฉพาะ ส่วนในด้านงานวิจัย บล.ทิสโก้ จะจัดทำงานวิจัยภาษาอังกฤษในรูปแบบ Co-branding กับ Jefferies เพื่อจัดส่งให้ลูกค้าทั้งหมดของ Jefferies

โดยกลุ่มลูกค้าที่จะให้บริการในเฟสแรก จะเน้นให้บริการคำแนะนำลูกค้านักลงทุนสถาบันต่างประเทศที่มีกลยุทธ์การลงทุนระยะยาว เช่น กลุ่มที่บริหารกองทุนบำเหน็จบำนาญ กองทุนรวม ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 30-40% ของมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติทั้งหมดในตลาดหุ้นไทย โดยคุณไพบูลย์มองว่า การให้คำแนะนำการลงทุนที่ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มที่ต้องการลงทุนในระยะยาว จะสร้างรายได้มากกว่าเมื่อเทียบกับลูกค้ากลุ่มที่ซื้อขายระยะสั้นแบบ Day Trading ผ่านโปรแกรมเทรด

นอกจากการสนับสนุนบทวิเคราะห์ที่มีคุณภาพแล้ว อีกบริการที่เป็นจุดเด่นของ บล.ทิสโก้ คือ การจัด Corporate Access เช่น Investor Conference, Roadshow หรือ Company Visit กับบริษัทจดทะเบียนของไทยทั้งในรูปแบบ Face to Face และ Virtual เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงข้อมูลบริษัทและได้พูดคุยกับซีอีโอของบริษัทที่จะลงทุน รวมถึงการจัดประชุมรับฟังข้อมูลเชิงนโยบายด้านต่างๆ ทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง อาทิ ข้อมูลเชิงนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รัฐบาลไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะนักลงทุนสถาบันระดับโลกต้องการรับฟังข้อมูลโดยตรง เพื่อนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการลงทุน และในส่วนของ Jefferies จะทำหน้าที่ช่วยในการจัดหานักลงทุนสถาบันระดับโลกมารับบริการการลงทุน จาก บล.ทิสโก้ ดังนั้น จึงถือได้ว่าการจับมือกันครั้งนี้เป็นรูปแบบที่ Win-Win Situation กันทั้ง 2 ฝ่าย

และจากความร่วมมือที่ตอบโจทย์ระหว่างกันได้เป็นอย่างดี บล.ทิสโก้ มองว่า ในอนาคตอาจขยายความร่วมมือให้แข็งแกร่งขึ้น โดยการเปิดโอกาสให้สามารถนำลูกค้าคนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศได้ พร้อมทั้งส่งตรงข้อมูลการวิเคราะห์หุ้นต่างประเทศเชิงลึกจาก Jefferies ให้กับลูกค้าที่ใช้บริการ ซึ่งปัจจุบัน ธปท. ก็มีนโยบายเปิดกว้างเอื้อให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศได้แล้ว นอกจากนี้ ยังมองโอกาสในการทำงานที่ปรึกษาทางการเงินทำหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) และงานด้านอื่นเพิ่มเติมด้วย

file

ยกระดับสู่ Global Standard

ปัจจุบัน บล.ทิสโก้ มีงานวิจัยครอบคลุมบริษัทจดทะเบียนไทย 120 บริษัท หรือคิดเป็น 80% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) สามารถรองรับการให้บริการนักลงทุนได้อย่างครอบคลุมทุกกลุ่ม ขณะที่ทีมงานวิจัยของบริษัทปัจจุบันมีจำนวน 2 ทีม แบ่งเป็นทีมสำหรับให้บริการลูกค้าทั่วไปจำนวน 1 ทีม และทีมสำหรับบริการลูกค้าสถาบันทั้งในและต่างประเทศอีก 1 ทีม รวมแล้วมีจำนวนนักวิเคราะห์และผู้ช่วยทั้งหมดประมาณ 25 คน โดยแต่ละทีมจะวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน และมีการประสานการทำงานระหว่างกันเป็นอย่างดี เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการงานวิจัยของลูกค้าได้อย่างตรงจุด

อย่างไรก็ตาม แม้ บล.ทิสโก้ จะมีงานวิจัยและทีมงานที่แข็งแกร่ง แต่การที่ได้ร่วมมือกับ Jefferies จะยิ่งช่วยยกระดับงานวิจัยของบริษัทสู่ระดับ Global Standard มากขึ้น เพราะหากเป็น Local Broker แบบไม่มีพันธมิตรต่างประเทศหรือพันธมิตรระดับโลก จะส่งผลให้การหาข้อมูลเชิงลึกระดับโลกหรือการให้บริการลูกค้าสถาบันต่างประเทศทำได้ค่อนข้างยาก แต่เมื่อได้ Jefferies เป็นพันธมิตรแล้ว บล.ทิสโก้ จะสามารถนำงานวิจัย ของ Jefferies ในต่างประเทศที่มีคุณภาพน่าเชื่อถือไปใช้อ้างอิงได้ เช่น งานวิจัยที่เกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19 ในต่างประเทศ หรือข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับราคาน้ำมันดิบ หรือบทวิเคราะห์เศรษฐกิจต่างประเทศทั่วโลก เป็นต้น ซึ่งจะทำให้งานวิจัยสำหรับลูกค้าสถาบันในประเทศและงานวิจัยสำหรับลูกค้าบุคคลของ บล.ทิสโก้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการลงทุนมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ด้วยจุดแข็งที่แตกต่างของ Jefferies ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านงานวิจัยหุ้นกลุ่ม Technology, Bio-Tech และ Healthcare ในต่างประเทศอย่างมาก เพราะมีทีมงานนักวิเคราะห์ที่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงมีงานวิจัยเชิงกลยุทธ์การลงทุนที่ลึกซึ้ง ก็จะยิ่งช่วยส่งเสริมงานวิจัยของ บล.ทิสโก้ ให้มีคุณภาพสูงขึ้น โดยเฉพาะหากมีการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น หัวหน้าทีมวิเคราะห์ของ บล.ทิสโก้ ก็สามารถต่อสายตรงเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลงานวิจัยกับทีมวิเคราะห์การลงทุนทั่วโลกของ Jefferies ได้ทันทีที่ต้องการ

สะพานเชื่อมนักลงทุนสถาบันระดับโลกเทรดหุ้นไทย

ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะเชื่อมโยงให้นักลงทุนสถาบันต่างประเทศในระดับโลก สามารถเข้ามาซื้อขายหุ้นไทยได้ดียิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันลูกค้านักลงทุนสถาบันต่างประเทศของ Jefferies ยังไม่ได้เข้าลงทุนซื้อขายในตลาดหุ้นไทยมากนัก ดังนั้น ทีมงานของ บล.ทิสโก้ จะทำงานร่วมกันใกล้ชิดกับทีมงานของ Jefferies เพื่อให้บริการกลุ่มลูกค้าดังกล่าว

ด้วยความร่วมมือกับ Jefferies ทำให้ บล.ทิสโก้ มีเป้าหมายในอนาคตว่า ต้องการจะกลับมามีสัดส่วนมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์ที่มาจากลูกค้านักลงทุนสถาบันต่างประเทศ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 1 ใน 3 ของยอดรวมมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยที่บริษัททำได้ทั้งหมด ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับในอดีตและนับว่าเป็นระดับที่สมดุลต่อการทำธุรกิจยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงที่ผ่านมา ส่วนที่เหลือจะมาจากมูลค่าซื้อหลักทรัพย์ของนักลงทุนบุคคลกับนักลงทุนสถาบันในประเทศ 

“เป้าหมายในการที่จะทำให้มีสัดส่วนมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์ ที่มาจากนักลงทุนสถาบันต่างประเทศของบริษัทให้กลับมาอยู่ในระดับประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่าซื้อหลักทรัพย์เหมือนเดิม คิดว่าคงใช้เวลาไม่นาน เพราะลูกค้าสถาบันต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเดิมตั้งแต่สมัยที่บริษัทร่วมมือกับ Deutsche Bank ซึ่งรู้จัก บล.ทิสโก้ เป็นอย่างดีอยู่แล้ว ดังนั้น จึงคาดว่าจะใช้เวลา 3-6 เดือน เพื่อประชาสัมพันธ์กับนักลงทุนต่างชาติ ถึงการกลับเข้ามารุกในตลาดนี้ของเราอีกครั้ง”

มองตลาดหุ้นไทยปี 2564 กลับมาคึกคัก

ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยยังปรับตัวขึ้นน้อยกว่าตลาดอื่นทั่วโลก (Underperformed) เพราะหุ้นไทยส่วนใหญ่เป็นหุ้นขนาดใหญ่และยังอยู่ในกลุ่ม Old Economy หรือ Old Normal โดยหากย้อนกลับไปในช่วงประมาณ 15 ปีที่ผ่านมาจนถึงในยุคปัจจุบัน น้ำหนักของหุ้นไทยกลุ่มต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก โดยหุ้นกลุ่มพลังงาน และธนาคารพาณิชย์ยังคงครอง Market Capitalization ใหญ่ ต่างจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ รวมถึงหลายตลาดหุ้นต่างประเทศที่มีหุ้น New Economy กลุ่มเทคโนโลยีขึ้นมาแทนที่ ทำให้เงินลงทุนไหลเข้าไปในตลาดหุ้นที่มีหุ้นเทคโนโลยี โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 แพร่ระบาด เป็นปัจจัยส่งผลให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต และสร้างผลบวกกับธุรกิจกลุ่มเทคโนโลยียิ่งขึ้นอีก จึงดึงดูดเงินให้เทเข้าไปในหุ้นกลุ่มนี้ต่อ เป็นเหตุผลว่าทำไมช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไม่ได้รับเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ

ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน บริษัทยาชั้นนำหลายแห่งทั่วโลกได้พัฒนาวัคซีน COVID-19 ซึ่งถือว่ารวดเร็วและได้ผลลัพธ์ดีกว่าที่คาด จนล่าสุดหลายประเทศก็เริ่มทยอยฉีดวัคซีนให้กับประชาชนแล้ว อย่างเช่น สหรัฐฯ หรือประเทศในแถบยุโรป กระตุ้นให้เกิดความหวังว่าเศรษฐกิจโลกจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาด เป็นปัจจัขับเคลื่อนให้หุ้นกลุ่ม Old Economy กลับมาได้รับความสนใจจากในสายตานักลงทุนต่างประเทศอีกครั้ง 

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยรวมถึงตลาดหุ้นเศรษฐกิจเกิดใหม่ก็น่าจะได้อานิสงส์จากประเด็นการคิดค้นวัคซีนได้สำเร็จอีกด้วย และน่าจะเริ่มเห็นความคึกคักในปี 2564 หลังจากเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีของตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา และยังคาดว่าจากนี้ไป ประเทศไทยจะมีโอกาสได้รับข่าวดีที่จะส่งผลบวกต่อหุ้นไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งคาดว่าในช่วงปลายปี 2564 การท่องเที่ยวของไทยที่เคยเป็นจุดเด่นจะมีทิศทางที่ดีขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวกลับมา หลังผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในปี 2563

ส่วนเป้าหมายหุ้นไทยในปี 2564 คุณไพบูลย์มองว่า มีโอกาสที่ดัชนีหุ้นไทยจะบวกขึ้นไปทะลุ 1,600 จุดได้ รวมถึงจะเห็นกำไรของบริษัทจดทะเบียน กลับมาเติบโตเป็นบวกได้ประมาณ 40% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จากในปี 2563 ที่กำไรของบริษัทจดทะเบียน โตติดลบไปเกือบ 40%