file

พิชิต วิวัฒน์รุจิราพงศ์ ผู้ปฏิวัติเกมธุรกิจ แห่ง NETBAY

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 55 | คอลัมน์ People

คลื่นความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้หลายธุรกิจถูกซัดจนเซและล้มหายไป แต่สำหรับ บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) หรือ NETBAY บริษัทพัฒนา Digital Technology Platform ที่พลิกเกมมาจากธุรกิจที่เข้าข่าย Sunset Industry เมื่อกว่า 20 ปีก่อนกลับเติบโตได้อย่างโดดเด่น โดยความน่าสนใจของ NETBAY ไม่ได้มีเพียงเส้นทางการเติบโตเหนือกระแส Digital Disruption แต่ยังอยู่ที่วิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้ง ซึ่งแม้ไม่มีทั้งภูมิหลังและภูมิรู้ด้านไอที (Information Technology) แต่มีความหลงใหล (Passion) และความเชื่อในพลังของนวัตกรรม เป็น “เข็มทิศ” นำทางสู่การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ในวัยเกือบ 50 ปี

Trust ฉบับนี้ ขอพาไปพูดคุยกับ คุณพิชิต วิวัฒน์รุจิราพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NETBAY ถึงแรงบันดาลใจที่มาของ NETBAY และ Roadmap ในการปลุกปั้นบริษัทนวัตกรรมเทคโนโลยีสัญชาติไทยแห่งนี้ ให้ก้าวขึ้นไปเป็นบริษัทชั้นนำในภูมิภาคได้อย่างไร

Disrupt Before Being Disrupted ระลอกแรก

แม้จะเป็นบัณฑิตรัฐศาสตร์ระดับปริญญาตรีและปริญญาโท แต่ด้วยความอยากทำงานด้านไอที คุณพิชิตจึงเริ่มธุรกิจนำเข้าเครื่องพิมพ์ในช่วงที่เครื่อง PC เพิ่งเข้ามาเมืองไทยใหม่ๆ ผ่านไปหลายสิบปี จากธุรกิจที่เคยทำกำไร (Gross Profit Margin) เฉลี่ยปีละ 25% กลับทำกำไรได้ลดลงและเหลือไม่ถึง 5% ในช่วงหลัง เมื่อเห็นสัญญาณว่าอุตสาหกรรมเริ่มเข้าสู่ช่วง Sunset Industry เขาจึงเริ่มหาไอเดียธุรกิจใหม่เพื่อเตรียมออกจากธุรกิจเดิมก่อนจะล้มไม่เป็นท่า

ระหว่างครุ่นคิดว่าธุรกิจใหม่ควรเป็นอะไร คุณพิชิตนึกถึงหนังสือสองเล่มที่พลิกชีวิตของเขา ได้แก่ Being Digital ของ Nicholas Negroponte นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ผู้ก่อตั้ง MIT Media Lab ซึ่งเผยแพร่ในปี 1995 เขายอมรับว่า ครั้งแรกที่อ่านจบ เขาแทบไม่เข้าใจเลย แต่สิ่งที่ได้รับทันที คือ การรับรู้ถึงพลังของ “Digital” และแรงบันดาลใจที่ทำให้อยากทำธุรกิจทางด้านไอที อีกเล่มคือ Business @the Speed of Thought โดย Bill Gates เปิดตัวในปี 1999 ซึ่งเขาอ่านจบอย่างรวดเร็ว พร้อมกับความเป็น Digital Disruptor ในตัวของเขาได้จุดประกายขึ้นมา

“รู้สึกว่ามันใช่มากกับสิ่งที่ Bill Gates เขียนไว้ว่า หากเราไม่รีบปรับตัวให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราจะกลายเป็นคนหนึ่งที่โดนกระแส Disruption เล่นงานเข้าสักวัน”

เมื่อได้ไอเดียสำหรับธุรกิจใหม่ ที่คุณพิชิตเชื่อมั่นว่าจะสามารถขี่กระแสคลื่นความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีไปได้ในระยะยาว เขาจึงตัดสินใจยุติธุรกิจเครื่องพิมพ์เพื่อกระโดดเข้าสู่ธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร แต่นั่นก็เป็นที่มาของการจัดตั้งบริษัท Software Link ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท กับทีมงาน 5-6 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโปรแกรมเมอร์

“โลกยุคดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายธุรกิจและอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ หลายธุรกิจจึงทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากเพื่อก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอด (Digital Transformation) เพราะถ้ายังค้าขายในรูปแบบวิถีเดิมๆ ความสามารถในการแข่งขันก็จะลดลง โอกาสอยู่รอดในระยะยาวก็จะหมดไป”

“กล้าแตกต่าง” สร้าง “Blue Ocean” ให้ธุรกิจ

“ช่วงแรก ทีมงานเสนอให้ทำโปรแกรมบัญชีบ้าง Payroll บ้าง แต่ผมไม่เอาเพราะมันมีอยู่แล้วในตลาด จนมีการพูดถึงระบบ EDI (Electronic Data Interchange) ที่กรมศุลกากรเริ่มนำมาใช้ในพิธีการศุลกากรสำหรับผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และกลุ่มชิปปิ้ง ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ ผมเลยให้ทีมไปศึกษาสิ่งที่กรมศุลกากรต้องการ แล้วพัฒนาจนได้ซอฟต์แวร์การสร้างและส่งใบขนสินค้าขาเข้าและขาออกทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ผู้ประกอบการใช้งานเพื่อผ่านพิธีการศุลกากรแบบ Customs EDI”

ด้วยการปฏิบัติงานในขั้นตอนพิธีการศุลกากรซึ่งค่อนข้างยุ่งยาก ซ้ำซ้อน ล่าช้า และมีเอกสารที่ต้องใช้ประกอบเป็นจำนวนมาก ทำให้คุณพิชิตมั่นใจว่าในระยะยาว ผู้ประกอบการธุรกิจนำเข้าส่งออกและชิปปิ้งจะปรับตัวมาสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เขาจึงสั่งการให้ทีมโปรแกรมเมอร์เดินหน้าเต็มที่ในการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อรองรับระบบ Customs EDI โดยในปี 2547 มีการตั้งบริษัท NETBAY เพื่อทำการตลาดให้กับ Software Link พร้อมกับตั้งเป้าหมายสู่การเป็น “ผู้นำ” ในการให้บริการทางด้านไอที สำหรับแวดวง e-Logistics Trading และ Customs e-Payment อย่างครบวงจร

จุดเด่นของ NETBAY นอกจากเรื่องเสถียรภาพของระบบ ยังมาจากโมเดลรายได้ที่แตกต่าง โดยแทนที่จะใช้วิธีขาย License เหมือนที่อื่น คุณพิชิตใช้วิธีคิดค่าธรรมเนียมต่อใบขนสินค้า (Transaction Base) สูงสุดไม่เกิน 50 บาท ยิ่งมีรายการขนสินค้า (Shipment) มาก อัตราค่าธรรมเนียมก็ยิ่งต่ำ จึงทำให้ซอฟต์แวร์ของ NETBAY เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว

ก้าวสู่ “ผู้นำ” ธุรกิจด้าน e-Customs Paperless

file

ด้วยกระแสตอบรับอย่างดี ทำให้ในปี 2549 กรมศุลกากรเลือกให้ NETBAY เข้าร่วมโครงการนำร่องผู้ให้บริการผ่านพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร (e-Customs Paperless) อย่างเต็มรูปแบบ และได้รับการแต่งตั้งเป็น 1 ใน 3 บริษัทที่ได้เป็น e-Customs Gateway ทำหน้าที่พัฒนาระบบงานในการสร้างเอกสารอิเล็กทรอนิกส์สำหรับขนสินค้าขาเข้าและขาออก และให้บริการรับส่งเอกสารดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร

ในเวลาต่อมา บริษัทได้ต่อยอดและยกระดับบริการไปสู่ระบบ Gateway Platform เพื่อให้ครอบคลุมบริการที่สัมพันธ์กับพิธีการศุลกากร และเชื่อมต่อภาคส่วนต่างๆ ใน Ecosystem เช่น Customs e-Payment Gateway ให้บริการรับส่งข้อมูลการรับชำระเงินระหว่างกรมศุลกากรกับธนาคาร ฯลฯ พร้อมกับวางระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ เช่น ระบบศูนย์ประมวลผลข้อมูล (Data Center) ระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล (Data Security) ฯลฯ

“ปัจจุบัน เรามีฐานลูกค้ามากที่สุดในระบบ e-Customs Paperless ทั้งที่เข้ามาทำธุรกิจหลังคู่แข่ง 7-8 ปี และเป็นผู้ให้บริการรายเดียวที่เชื่อมโยงได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ แต่ถึงเราจะเป็น “ผู้นำ” ในอุตสาหกรรมนี้ แต่ทุกวันนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจนำเข้าส่งออกที่เปลี่ยนมาใช้ Digital Platform ยังมีเอกสารการค้าอื่นๆ ที่ให้บริการได้อีกมากมาย แต่มีการใช้งานไม่ถึง 5% ด้วยซ้ำ ถ้าเทียบกับมูลค่าการนำเข้าส่งออกของไทยปี 2019 ที่มีมูลค่า 16 ล้านล้านบาท เท่ากับว่ามูลค่าธุรกิจ e-Customs อยู่ที่ 8 แสนล้านบาท แต่ในอนาคต ​ธุรกิจจะถูก Disrupt ให้มาอยู่บนดิจิทัลแพลตฟอร์มมากขึ้น นั่นแปลว่า มูลค่าตลาดนี้ยังโตได้อีกเยอะ ฉะนั้น โอกาสโตของ NETBAY ก็ยังมีสูงมาก”

ก้าวสำคัญสู่ตลาด mai สปริงบอร์ดสู่โอกาสใหม่

“ย้อนไปหลายสิบปีก่อน เวลาจะวางระบบอะไร ต้องจ้างบริษัทฝรั่ง ค่าใช้จ่ายก็สูง แต่ก็ต้องยอมจ่าย เพราะทุกคนเชื่อว่าฝรั่งเก่งในเรื่องนี้ ในวันนี้ ผมอยากทำให้ NETBAY ส่องประกายในฐานะบริษัทนวัตกรรมเทคโนโลยีที่มี  Potential และได้รับการยอมรับจากบริษัทใหญ่ที่ทำธุรกิจในประเทศและในภูมิภาคนี้ เพราะเราก็มีความสามารถไม่ด้อยกว่าบริษัทต่างชาติเลย”

ปณิธานดังกล่าวทำให้คุณพิชิตมุ่งมั่นขับเคลื่อน NETBAY เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยวางระบบให้เป็นมาตรฐานสากลด้วยการใช้หนึ่งใน “BIG4” สำนักงานสอบบัญชีใหญ่ของโลกเป็นผู้สอบบัญชี (Auditor) ตั้งแต่ปีแรกๆ และปี 2557 ได้เข้าซื้อกิจการ Software Link และเพิ่มทุนเป็น 200 ล้านบาท ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ mai ในปี 2559

หลังเข้าตลาดไม่นาน NETBAY ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ร่วมพัฒนาระบบทางด้าน e-Logistics Trading และ e-Business Services เช่น โครงการปรับเปลี่ยน Logistics ภายในบริษัทในเครือ SCG โครงการพัฒนาและเชื่อมต่อระบบ Cloud Drive Service กับระบบ Logistics หลักของ DHL และระบบการนำเข้าส่งออกสินค้าเร่งด่วน (e-Express) ของบริษัท Lazada ฯลฯ

“ความน่าเชื่อถือ บวกกับศักยภาพการให้บริการ และเป้าหมาย การทำธุรกิจให้บริการรูปแบบ Software-as-a-Service (SaaS) ที่เรามุ่งมั่นที่จะเป็น Gateway Platform ในการให้บริการการทำธุรกรรมข้อมูลการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ และมุ่งมั่นสู่ความเป็นผู้นำใน AEC ทั้งหมดนี้ทำให้เรามีโอกาสได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาต่อยอดบริการ จนนำไปสู่การสร้างห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เข้มแข็งต่อการให้บริการของเรา”

file

นอกจากนี้ NETBAY ยังได้ริเริ่มเรียนรู้ในธุรกิจที่เกี่ยวกับ Disruptive Technology ใหม่ๆ เช่น Blockchain สำหรับการค้าในประเทศและระหว่างประเทศ Internet of Things (IoT) สำหรับภาคการเกษตร Robot เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ และ AI เพื่อวิเคราะห์ฐานข้อมูล Big Data

Disrupting Before Being Disrupted ระลอกสอง

ซีอีโอ NETBAY อธิบายว่า ธุรกิจแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

  1. e-Logistics Trading เช่น บริการพิธีการศุลกากร ฯลฯ
  2. e-Business Services เช่น บริการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า ฯลฯ
  3. e-Payment บริการรับส่งข้อมูลการรับชำระเงิน ฯลฯ
  4. กลุ่ม Projects โดย “เสาหลัก” รายได้ของบริษัท ได้แก่ กลุ่ม e-Logistics Trading แต่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 รายได้หายไปเกือบครึ่งหนึ่งจากปีก่อนหน้า

ขณะที่ Disruption ระลอกแรกมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่คุกคามให้ธุรกิจต้องปรับตัว คุณพิชิตมองว่า Disruption ระลอกสองอาจมาจากวิกฤต COVID-19 ซึ่งหากไม่ปรับตัว ธุรกิจจะไม่มั่นคงในระยะยาว ดังนั้น ในช่วงการระบาดของ COVID-19 บริษัทต้องหยุดสร้างหุ่นยนต์การขนส่ง และหันไปพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการแพทย์ เพื่อส่งไปช่วยแพทย์และพยาบาล ซึ่งนั่นทำให้เขามองเห็นโอกาสทางธุรกิจครั้งใหญ่อีกครั้ง และนำมาสู่การปรับเปลี่ยนโมเดลรายได้ครั้งใหญ่ของ NETBAY

สำหรับแผนธุรกิจในรอบ 5 ปีถัดไป (ปี 2021-2025) จะแบ่งเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1) ธุรกิจทางด้าน Gateway Platform โดยรวมเอาทั้ง 4 กลุ่มในโมเดลธุรกิจเดิม คือ e-Logistics Trading, e-Business, e-Payment และกลุ่ม Projects เข้ามารวมกันไว้ทั้งหมด ทำให้กลุ่มธุรกิจนี้เป็น “เสาหลัก” รายได้ของบริษัท ส่วนอีก 3 กลุ่มธุรกิจถือเป็นธุรกิจที่ยังใหม่สำหรับ NETBAY ประกอบด้วย 2) ธุรกิจทางด้าน Health Tech 3) ธุรกิจทางด้าน Smart Farming และ 4) ธุรกิจเกี่ยวกับ Data Strategy Gateway

“ภายใต้โมเดลรายได้ใหม่ มันเหมือนการข้ามจากมหาสมุทรหนึ่งไปยังมหาสมุทรใหม่ ซึ่งเราต้องไป เพราะไม่เช่นนั้น ก็เท่ากับว่าเรามัวแต่ไปแข็งแรงกับแค่ธุรกิจเดียว และการนำ Disruptive Technology ใหม่ๆ ไปช่วยในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่เราใฝ่ฝัน ส่วนจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง แต่ถ้าเราไม่เริ่มก้าวออกไปสู่ธุรกิจใหม่ คนของเราเองก็จะไม่เกิด Passion ไม่มีความมุ่งมั่น สุดท้าย บริษัทก็จะย่ำอยู่กับที่”

file

หัวใจสำคัญขององค์กรนวัตกรรมชื่อ NETBAY

“หลายคนบอกว่า บุคลากรเป็นทรัพยากรที่ “มีค่า” ที่สุด องค์กรจึงต้องดูแลให้ดีที่สุด แต่สำหรับผมกลับมองอีกด้าน เพราะจริงๆ แล้วในแต่ละองค์กร ก็จะมีพนักงานหลายเกรดตั้งแต่เกรด A-D ดังนั้นแปลว่าอาจไม่ใช่พนักงานทุกคนที่จะ “มีค่าและคุ้มค่า” ที่สุดสำหรับองค์กร แต่เราจะทำอย่างไรให้พนักงานทั้งหมดนี้ “มีค่า” ที่สุดสำหรับองค์กร นั่นคือสิ่งสำคัญกว่า และเราจะทำอย่างไรให้พนักงานเกรด C, D พัฒนาตัวเองขึ้นมาได้เทียบเท่ากับพนักงานเกรด A, B นั่นก็ต้องมาจากการที่บริษัทมี “ระบบ” ที่คัดพนักงานที่ดีทั้งด้าน IQ และ EQ เข้ามาให้ได้มากที่สุด และรักษาคนกลุ่มนี้ให้นานที่สุด ซึ่งมันก็ต้องมาจากยุทธศาสตร์และวัฒนธรรมองค์กรที่ดี”

“วัฒนธรรมของ NETBAY คือเปิดโอกาสให้พนักงานทำงานที่ท้าทาย สนุก บรรยากาศการทำงานเหมือน “บ้าน” มีความสุข และให้อิสระในการทำงาน แต่ก็มีกลไกกระตุ้นให้เกิดความรับผิดชอบ เช่น เงินเดือนสูงกว่าตลาด โบนัส ความก้าวหน้า ความท้าทายของงาน มีโอกาสให้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ฯลฯ และทำให้เขารู้สึกว่าถ้าองค์กรโต เขาก็จะโตไปด้วย ทั้งหมดนี้เป็นส่วนผสมที่จะต้องมี”

คุณพิชิตกล่าวอย่างภูมิใจว่า เขาปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรเช่นนี้มาตั้งแต่วันที่มีพนักงานเพียง 5-6 คน มาถึงวันนี้ บริษัทมีพนักงานกว่า 100 คน พร้อมกับเชื่อว่าวัฒนธรรมที่ดีที่ปลูกฝังมาตลอด 20 ปี ไม่เพียงทำให้การลาออกต่ำ ยังทำให้พนักงานมีความตื่นตัวที่จะแก้ปัญหาให้ลูกค้า และมีความกระหายที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนให้ NETBAY ที่แม้จะเป็นองค์กรขนาดเล็ก แต่สามารถทำผลงานสำคัญและ “ยิ่งใหญ่” ระดับประเทศได้

ขณะเดียวกัน NETBAY ยังเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า นอกจากวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ปัจจัยสำคัญอีกประการที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จเฉกเช่นวันนี้ ยังมาจากความมีวิสัยทัศน์อันยาวไกลของ “ผู้นำ” อย่างคุณพิชิต ที่ผลักดันให้เขาลุกขึ้นมาเปลี่ยนธุรกิจก่อนจะถูกซัดด้วยคลื่นความเปลี่ยนแปลง

“ความมีพลังของ Digital Technology นำมาสร้างสรรค์ให้เกิดธุรกิจใหม่ก็ได้ ต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่แล้วให้ไปไกลยิ่งขึ้นก็ได้ และทำลายธุรกิจดั้งเดิมลงในเวลาอันรวดเร็ว (Disruption) ก็ได้เช่นกัน ผู้ประกอบการจึงต้องเรียนรู้และเข้าใจมัน เพื่อที่จะเลือกใช้ได้ถูก เพราะ Disruption เป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยาก ไม่ว่าคุณจะอยู่ธุรกิจใดก็ตาม” ซีอีโอรุ่นใหญ่ทิ้งท้าย