
‘Art Healing’ ให้ศิลปะ ‘ปั้นดินวิถีเซรามิก’ เยียวยาหัวใจอ่อนล้า
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 71 | คอลัมน์ Moment of Happiness

ว่ากันว่าคนเราในช่วงเวลาที่สร้างสรรค์งานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพ ระบายสี ปั้นดิน ฯลฯ สมองจะเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า ‘การไหล’ อันเป็นสภาวะที่จิตใจจดจ่ออยู่กับกิจกรรมอย่างเต็มที่ ซึ่งกระบวนการของศิลปะสามารถส่งพลังที่ช่วยให้คนเราได้แสดงความรู้สึกที่ไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้ ช่วยลดระดับความเครียด ความกังวล รวมถึงความเศร้าใจ ทำให้ศิลปะกลายเป็นอีกเครื่องมือที่ช่วยบำบัดและฟื้นฟูจิตใจในวันที่หัวใจอ่อนล้าได้อย่างเห็นผล
เช่นเดียวกับ ‘การปั้นเซรามิก’ งานปั้นที่กำลังเป็นคลาสยอดนิยมในกลุ่มคนรักงานคราฟต์ ซึ่งมีทั้งคลาสเรียนเพื่อแก้เครียด ผ่อนคลายยามว่าง เรียนเพื่อทำเป็นของขวัญที่ระลึก เรียนเพื่อฝึกทักษะงานปั้น หรือต่อยอดสร้างอาชีพ รวมไปถึงคลาสศิลปะบำบัด โดยการปั้นเซรามิกช่วยเป็นยาใจและสามารถบำบัดอาการโรคซึมเศร้า ดังเช่นสตูดิโอสอนงานปั้น The Kiln Studio ของคุณโจ้–พีระ เจริญวิริยะภาพ ที่มีจัดเวิร์กช็อปสอนปั้นเซรามิกจริงจัง ทั้งเรียนเพื่อประกอบอาชีพ เพื่อผ่อนคลาย และมีคลาส Art Healing บำบัดโรควิตกกังวลและซึมเศร้าด้วย

ปั้นดินเย็น ๆ ส่งพลังความสุขและฮีลใจ
“คนที่สภาวะในใจกำลังดิ่งลงในช่วงเวลานั้น การปั้นเซรามิกเป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถช่วยบำบัดได้ เพราะการได้สัมผัสเนื้อดินเย็น ๆ สามารถถ่ายทอดความรู้สึกให้อารมณ์สงบผ่อนคลาย เกิดความสุข เกิดความปิติ ซึ่งส่งผลต่อการมีสมาธิ เมื่อมีความสุขก็เกิดความอยากทำไปเรื่อย ๆ การได้อยู่กับตัวเองแล้วมีความสุขโดยไม่มีกรอบ ไม่มีแรงกดดันจากภายนอก สำหรับผู้ที่อาการโรคซึมเศร้า การเริ่มต้นก็ต้องพยายามให้เขาผ่อนคลาย การพูดคุยก่อนเริ่มลงมือปฏิบัติงานจริง จึงเป็นสิ่งที่ช่วยให้เขารีแลกซ์และปลดปล่อยความรู้สึกเศร้าหรือดาวน์ดิ่งอยู่ข้างใน เสริมสร้างพลังบวกให้เขา จากนั้นก็ปล่อยอิสระให้เขาลงมือสร้างสรรค์ชิ้นงานของตัวเองโดยไม่มีโจทย์ ไม่มีอะไรมาตีกรอบ ให้เขาได้ปลดปล่อยพลังงานด้านลบ แล้วพลังบวกจากศิลปะไปขับเคลื่อนและดำรงชีวิตต่อได้”
ผศ.โอภาส นุชนิยม (อาจารย์เปี๊ยก) อาจารย์ประจำสาขาวิชาเครื่องเคลือบดินเผา คณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และที่ปรึกษาร่วมออกแบบคลาสเวิร์กช็อป ‘ศิลปะบำบัด’ ให้แก่ The Kiln Studio เล่าถึงการเยียวยาสุขภาพใจและขั้นตอน ‘ศิลปะบำบัด’ ของเวิร์กช็อปปั้นเซรามิก สำหรับทางคุณโจ้เล่าเสริมเกี่ยวกับคลาสเวิร์กช็อปของ The Kiln Studio ที่ผู้คนทั่วไปกลุ่มต่าง ๆ แวะเวียนมาฮีลใจตัวเองกับที่นี่ว่า เป็นคนไทย 50% และที่เหลือเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติถึง 50%
“นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้จักเราผ่านเฟซบุ๊กเป็นส่วนใหญ่ โดยเป็นวัยทำงานที่มาเที่ยวเมืองไทยแล้วอยากทำกิจกรรมที่เขาสนใจ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นเราทำคลาสแนวนี้มานานแล้ว สำหรับคนไทยที่จองคลาสกับเรานั้น เป็น Private Class ที่มากันเป็นคู่ ทั้งคู่เพื่อน คู่รัก ซึ่งเป็นวัยทำงานด้วยเช่นกัน และยังมีคู่ลูกกับแม่หรือพ่อวัยเกษียณ และช่วงอายุที่จองคลาสเข้ามาเยอะที่สุดคือวัย 45 อัพจนถึงวัยเกษียณ สำหรับคนที่ป่วยเป็นซึมเศร้าจองคลาสมาก็จะรู้ตัวเองอยู่แล้วระดับหนึ่งว่าเขามีอาการของโรค ดังนั้น การให้เราเปิดคลาสสอนโดยเฉพาะ Private Class ก็เพราะตั้งใจมาปั้นเซรามิกเพื่อรักษาตัวเอง โดยเริ่มจากการคุยส่วนตัวเพื่อให้รู้พื้นความคิดและความต้องการ จากนั้นให้เลือกว่าอยากปั้นอะไร แล้วก็ไปต่อจนจบคลาส ที่นี่นอกจากคลาสของเราแล้ว บรรยากาศของ The Kiln Studio ทั้งสภาพแวดล้อมที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้สีเขียว ยิ่งทำให้ใจเขายิ่งเย็นสงบ ทุกอย่างเลยสอดคล้องไปด้วยกันทั้งหมด”

‘ประติมากรรมเซรามิก’ เสน่ห์จากกระบวนการสร้างสรรค์
‘ปั้นเซรามิก’ ได้กลายเป็นทางเลือกหนึ่งของศิลปะบำบัดที่ทำให้คนมีความสุข ถ่ายทอดจินตนาการจากสองมิติให้กลายเป็นสามมิติ หมายความว่ารูปบางรูปเราอาจสัมผัสได้จากแค่ในภาพเท่านั้น แต่ศิลปะการปั้นทำให้เราได้สัมผัสด้วยมือ สร้างออกมาเป็นโครงสร้างรูปทรง และนี่คือเหตุผลที่ทำให้การปั้นเซรามิก ‘ดีต่อใจ’ อย่างแท้จริง
“เนื่องจากเสน่ห์งานปั้นเซรามิกมาจากกระบวนการสร้างชิ้นงานที่มีแบบฉบับเฉพาะที่ท้าทายจนน่าหลงใหล มันมีทั้งงาน Chemical งานเผา งานเคลือบ งานสี เป็นงานสายช่างที่เข้ามาให้ฝึกและให้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับมัน ต้องมีความละเมียดและใส่ใจกับรายละเอียดกว่าจะได้แต่ละชิ้น และนี่คือเสน่ห์อีกอย่างของงานช่างเหล่านี้ สำหรับผม คีย์เวิร์ดของเซรามิกคืองานเผา เพราะมันสร้างความสุข สร้างความตื่นเต้นอย่างมีความหวังที่เป็นสุขจากการได้ลุ้นว่า ผลงานเราจะออกมาเป็นหน้าตาอย่างไร เพราะเซรามิกแต่ละชิ้นมีหนึ่งเดียวเฉพาะตัว ไม่สามารถทำแต่ละชิ้นให้เหมือนกันได้ 100%” คุณโจ้ได้เล่าถึง Art Healing อีกมิติของงานเซรามิกที่ทำให้ผู้คนชื่นชอบศิลปะแขนงนี้

‘ศิลปะบำบัด’ พลังบวกเยียวยาให้ชีวิตยังไปต่อ
ในวันนี้ สังคมเต็มไปด้วยความรีบเร่งและแข่งขัน เทคโนโลยีถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วสู่สังคมของโลกดิจิทัลที่สามารถย่อโลกทั้งใบเอาไว้ได้หมด กลายเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้คนเกิดความกดดันตัวเอง ความใคร่อยาก เกิดสภาวะเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นจนไม่พอใจในสิ่งที่เป็นและด้อยค่าตัวเอง รวมไปถึงข่าวสารและข้อมูลด้านลบต่าง ๆ ก็นำไปสู่อาการจิตตก จิตใจห่อเหี่ยว เกิดความทุกข์ใจ เกิดเป็นความป่วยสุขภาพใจตามมา และนี่คืออีกสาเหตุสำคัญที่อาจารย์กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า ทำไมผู้คนจึงโหยหา ‘ธรรมชาติบำบัด’ เยียวยาจิตใจ และโหยหา ‘ศิลปะบำบัด’ เพื่อถ่ายเทพลังลบหรือด้านมืดออกไป แล้วสร้างพลังบวกในการดำรงชีวิต
“อาจเป็นช่วงเวลาหนึ่งสั้น ๆ ของอาการจิตตก สุขภาพใจอ่อนล้า ผมเปรียบเทียบเหมือนน้ำเสียที่เต็มแก้ว ถ้าเราเติมน้ำดีเข้าไปเรื่อย ๆ น้ำเสียมันก็ค่อย ๆ หายจางออกไป ซึ่ง ‘ศิลปะบำบัด’ คือน้ำดีที่เต็มไปด้วยพลังงานบวก เป็นอีกทางเลือกของการสร้างความสุขให้กลับมาอีกครั้ง”