
จริงหรือไม่? ที่หากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขายดีจะบ่งชี้ถึงสภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 72 | คอลัมน์ Smart Investing

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถือกำเนิดขึ้นในปี 1958 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งส่งผลให้ญี่ปุ่นที่เป็นประเทศผู้แพ้สงครามต้องประสบปัญหาความยากจนและขาดแคลนอาหารอย่างหนัก คุณโมโมฟูกุ อันโด จึงได้คิดค้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้นมาในฐานะอาหารที่เก็บไว้ได้นานและปรุงได้ง่าย ต่อมาเขาก่อตั้งบริษัท นิชชิน (Nissin) ซึ่งเป็นผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายแรกของโลกและเริ่มขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา
ปัจจุบัน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังคงเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ทั้งในฐานะอาหารที่รวดเร็วและราคาย่อมเยา ซึ่งในบางครั้งนักเศรษฐศาสตร์ต่างนิยมใช้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจมหภาคอีกด้วย เนื่องจากเป็นสินค้าประเภทอาหารที่มีราคาถูก จึงอาจสามารถสะท้อนถึงกำลังซื้อของผู้บริโภค
ข้อมูลจาก World Instant Noodles Association ระบุว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความต้องการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2565 (2022) มียอดขายสูงสุดอยู่ที่กว่า 1.2 แสนล้านหน่วย ซึ่งโดยประเทศไทยติดอันดับ 9 ของโลก ในฐานะประเทศที่มีการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากที่สุด ขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีทั้งสิ้น 4 ประเทศที่ติด 10 อันดับแรก ได้แก่ อินโดนีเซีย (อันดับ 2) เวียดนาม (อันดับ 4) ฟิลิปปินส์ (อันดับ 7) และไทย
โดยปัจจัยที่ทำให้ความต้องการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเติบโต ได้แก่ 1. การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ประชาชนต้องการอาหารแห้งพร้อมทาน และมีอายุการเก็บรักษาที่นาน 2. อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอีกทางเลือกในการบริโภคเพื่อให้อิ่มท้องแบบประหยัด และ 3. การตลาดของผู้ผลิตที่มีการคิดค้นรสชาติใหม่ๆ หรือมีการปรับเปลี่ยนสูตร และส่วนผสมเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคอยู่เสมอ เป็นต้น

ในทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเฉพาะความต้องการสินค้าในสภาวะที่รายได้เปลี่ยนแปลงไป เรียกว่าความยืนหยุ่นของอุปสงค์ต่อรายได้ (Income Elasticity of Demand: ε) ซึ่งเป็นแนวคิดที่พยายามอธิบายถึงรูปแบบของความต้องการของผู้บริโภค หากมีการเปลี่ยนแปลงด้านรายได้เพื่อนำมาจำแนกประเภทของสินค้าตามความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อรายได้ โดยในบทความนี้ เราจะหยิบยกหมวดหมู่ใหญ่ที่นักเศรษฐศาสตร์ทำการจำแนกประเภทสินค้าขึ้นมา 3 กลุ่มด้วยกัน ประกอบด้วย
1. สินค้าปกติ (Normal Goods) ซึ่งหมายถึง สินค้าที่ผู้บริโภคจะมีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น หรือมีรูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์และรายได้แบบแปรผันไปในทิศทางเดียวกัน โดยตัวอย่างของสินค้าที่ถูกจำแนกเป็นสินค้าปกตินั้น อาทิ อาหาร เสื้อผ้า ความบันเทิง อุปกรณ์อำนวยความสะดวกภายในบ้าน เป็นต้น
2. สินค้าฟุ่มเฟือย (Luxury Goods) ซึ่งหมายถึง สินค้าที่ไม่ได้มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยผู้บริโภคจะมีความต้องการสินค้าประเภทนี้สูงขึ้น ในยามที่รายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่สินค้าประเภทนี้เองจะมีความต้องการที่ลดลงมากกว่าสินค้าปกติ หากผู้บริโภคมีรายได้ลดลง เช่น รถยนต์หรู กระเป๋าแบรนด์เนม มื้ออาหารที่หรูหราอย่าง Fine Dining และ Omakase เป็นต้น
3. สินค้าด้อย (Inferior Goods) หรือสินค้าทดแทน ซึ่งหมายถึงสินค้าที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะต้องการน้อยลงหากมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น หรือจะต้องการบริโภคมากขึ้นหากมีรายได้ที่ลดลง โดยรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์ต่อรายได้จะเป็นไปแบบผกผันนั่นเอง ซึ่งตัวอย่างของสินค้าที่ถูกจำแนกเป็นสินค้าด้อย อาจมีความทับซ้อนกับสินค้าปกติ อาทิ อาหาร แต่อาหารที่ถูกจำแนกเป็นสินค้าด้อยหรือสินค้าทดแทนนั้น มักจะเป็นอาหารที่มีราคาถูก ดังนั้น ในทางทฤษฎีแล้ว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมักจะถูกยกเป็นตัวอย่างหนึ่งของสินค้าด้อย หรือสินค้าทดแทนเนื่องจากเชื่อว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะต้องการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น ในยามที่มีรายได้ลดลงนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากข้อมูลยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และเทียบเคียงกับดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (PCI) จะพบว่า ผู้คนลดการบริโภคโดยรวม (PCI) ลงในสภาวะที่รายได้ GDP ลดลง ขณะที่ ความต้องการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (Instant Noodle Demand) นั้น ยังเป็นบวกต่อเนื่องในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในปี 2020-2021 ขณะที่ ภายหลังจากที่เศรษฐกิจเริ่มมีการฟื้นตัว สะท้อนจาก GDP ที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้น จะสังเกตได้ว่าความต้องการบริโภคโดยรวมนั้น ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพิ่มขึ้นไปมากกว่าความต้องการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอีกด้วย แต่ทั้งนี้ ความต้องการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเองก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
ดังนั้น เราจึงอาจสรุปได้ว่า แนวคิดและความเชื่อเกี่ยวกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่สังคมมองว่าเป็นสินค้าทดแทน เป็นที่พึ่งในยามยาก และจะขายดีเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำนั้นอาจเป็นจริงเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น เนื่องจากยอดขายของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่ได้แปรผกผันกับสภาวะเศรษฐกิจเสมอไป โดยผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่างให้ความเห็นว่า ในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ และการขยายตลาดไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่ มีส่วนช่วยให้ความต้องการและยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะไม่ได้ซบเซาก็ตาม นอกจากนี้ ผู้ผลิตหลายแบรนด์หันมาให้ความสำคัญกับโภชนาการของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ของผู้บริโภคที่ชื่นชอบการทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแต่มีข้อกังวลเกี่ยวกับปริมาณโซเดียมที่มากเกินไป ซึ่งผู้ผลิตบางรายมีการออกผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโซเดียมต่ำ และก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

โดยสรุป ยอดขายและความต้องการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปัจจุบัน อาจไม่สามารถเป็นดัชนีสะท้อนสภาวะเศรษฐกิจได้อย่างแม่นยำอย่างที่เชื่อว่าจะเป็นไปตามทฤษฎี ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากการทำการตลาดของผู้ผลิต และการเปลี่ยนแปลงมุมมองต่อสินค้าประเภทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ว่าสามารถทานเมื่อไหร่ก็ได้ที่ต้องการ ไม่ได้จำเป็นจะต้องทานเพียงเฉพาะตอนที่รายได้ลดลงเท่านั้น อีกทั้งในบางประเทศ การบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกลายเป็นเรื่องปกติ และเป็นทางเลือกที่สะดวก รวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยุคใหม่ต่างเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณค่าทางอาหาร และโภชนาการมากขึ้น โดยผู้คนใส่ใจกับปริมาณโซเดียมที่บริโภคเข้าไปต่อวันมากขึ้นกว่าในอดีต และเราเชื่อว่าคุณค่าทางโภชนาการจะเป็นประเด็นสำคัญที่ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคต่างให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น ไม่แน่ว่าในอนาคต เราอาจมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีโภชนาการครบถ้วน และดีต่อสุขภาพ รวมถึงสามารถบริโภคได้ทุกมื้อ ทุกวันเทียบเคียงกับอาหารทั่วไปก็เป็นได้