แนวโน้มการขยายตัวของสังคมเมือง และผู้สูงอายุเริ่มเห็นได้ชัดเจนขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากเดิมในอดีตขนาดของครอบครัวมีสมาชิกประมาณ 4-6 คน แต่ปัจจุบันขนาดของครอบครัวกลับเหลือเพียง 1-3 คน เป็นผลมาจากความเจริญที่กระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ ด้วยขนาดครอบครัวที่เล็กลงจากประชากรวัยแรงงานที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามายังเมือง หรือความสะดวกในการเดินทางของวัยแรงงานที่นิยมอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมติดระบบขนส่งมวลชน ทำให้ผู้สูงอายุต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น จึงเกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เข้ามาช่วยดูแลผู้สูงอายุ เช่น ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุครบวงจร เช่น บ้านพัก หรือคอนโดมิเนียมที่มีบริการทางการแพทย์ตลอด 24 ชั่วโมง
ผู้สูงอายุกับปัญหาอุบัติเหตุหกล้ม
ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 17% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเข้าใกล้สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ที่ 20% ในปี พ.ศ. 2564 โดยความเสื่อมและการถดถอยของร่างกายของผู้สูงอายุเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ รวมไปถึงอุบัติเหตุ เนื่องจากผู้สูงอายุมักจะมีภาวะกระดูกบางหรือกระดูกพรุน
ดังนั้น การบาดเจ็บจากการหกล้ม จึงเป็นปัญหาสำคัญ และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ในกลุ่มของการบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจ จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคพบว่า ในปี พ.ศ. 2563 จำนวนผู้สูงอายุที่บาดเจ็บจากการพลัดตกหกล้มนั้นสูงถึง 24,000 คน และมีผู้สูงอายุที่เสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มสูงถึง 1,600 คน สถานที่ที่เกิดอุบัติเหตุนั้นมักจะอยู่บริเวณที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในห้องน้ำและบันได และยังพบว่า “ผู้สูงอายุ” ที่เคยหกล้มในครั้งแรกแล้ว มีแนวโน้มที่จะหกล้มเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า
การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่เพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย พร้อมออกกำลังกายตามวัยเพื่อรักษาความยืดหยุ่น ในขณะที่การป้องกันอุบัติเหตุอย่างการลื่นล้มในบ้านนั้นทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การจัดเตรียมวัสดุที่ช่วยเพิ่มแรงเสียดทานให้กับพื้น, แสงไฟส่องสว่างต้องอยู่ในระดับที่เอื้อมจับสะดวก, การจัดเตรียมราวจับที่เหมาะกับการใช้งานตามจุดต่างๆ เช่น ห้องน้ำ ทางเดิน และบันได ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นจัดอยู่ในประเภทของการป้องกันไว้ล่วงหน้า (Pre-safe) เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ
โอนความเสี่ยงค่าใช้จ่ายให้บริษัทประกันภัย
แม้เราจะสามารถบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่ควรมองข้ามคือการโอนความเสี่ยงเรื่องค่ารักษาพยาบาลจากการเกิดอุบัติเหตุของผู้สูงอายุไปยังบริษัทรับประกันภัยผ่าน ประกันอุบัติเหตุ
ตามปกติแล้วประกันอุบัติเหตุจะคุ้มครองผู้เอาประกันตั้งแต่อายุ 1-60 ปี แต่ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้สูงอายุโดยมีการรับประกันภัยอายุตั้งแต่ 55-95 ปี ซึ่งบางที่อาจจะรับประกันจนถึง 100 ปี โดยเน้นไปที่ความคุ้มครองผู้สูงอายุ ซึ่งเบี้ยประกันภัยจะไม่ปรับขึ้นตามอายุ และด้วยความที่เป็นประกันคุ้มครองอุบัติเหตุ จึงไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพ
สำหรับความคุ้มครองจะแบ่งออกเป็น 6 ประเภท
1. ความคุ้มครองจากการเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็น จากอุบัติเหตุทั่วไป, การถูกฆาตกรรมหรือทำร้ายร่างกาย รวมไปถึงการขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์
2. การสูญเสียอวัยวะ สายตา ทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร
3. ค่ารักษาพยาบาลต่อเนื่องจากอุบัติเหตุ
4. ชดเชยรายได้ระหว่างการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลจากอุบัติเหตุ (สูงสุด 365 วัน)
5. เงินชดเชยการรักษาพยาบาลระยะยาวกรณีทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร (สูงสุด 12 เดือน)
6. ค่ารถเข็นผู้ป่วย (Wheelchair)
ความคุ้มครองทั้ง 6 ประเภทตามที่ได้กล่าวมานั้น แต่ละบริษัทประกันจะมีวงเงินรับประกันที่แตกต่างกันไป ซึ่งเบี้ยประกันอุบัติเหตุของผู้สูงอายุโดยปกติจะมีมูลค่าไม่สูง (หลักพันบาทต่อปี) เฉลี่ยเดือนละประมาณ 700 บาท หรือประมาณวันละ 23 บาท ซึ่งถือว่ามีความคุ้มค่ามากสำหรับการป้องกันความเสี่ยง เนื่องจากเงินจำนวน 23 บาทคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 7.6% ของค่าแรงขั้นต่ำบนฐาน 300 บาทต่อวันเท่านั้น
สำหรับการเลือกซื้อประกันอุบัติเหตุนั้นสิ่งหนึ่งที่คนเลือกซื้อควรคำนึงถึงคือ ความคุ้มครองในยามเกิดเหตุว่ามากน้อยเพียงใด และมีความคุ้มครองแบบใดที่ต้องการเป็นพิเศษหรือไม่ เช่น บางบริษัทจะเน้นให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตที่สูง แต่ให้เงินชดเชยรายวันน้อย หรือบางบริษัทจะมีการบริการเพิ่มเติม เช่น บริการดูแลสุขภาพ Nursing at home ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้โดยตรงจากบริษัทผู้รับประกัน
ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าการเกิดอุบัติเหตุนับเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับที่ 2 รองจากปัญหาเรื่องสุขภาพ ประกอบกับร่างกายของผู้สูงอายุนั้นหากเกิดอุบัติเหตุและไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจจะฟื้นกลับมาได้ไม่รวดเร็วเหมือนในสมัยที่อายุยังน้อย การรักษาที่ได้มาตรฐานจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในสภาวะที่สังคมเมืองพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนทำให้ขนาดครอบครัวเล็กลง ผู้สูงวัยต้องพึ่งพาตัวเอง และต้องจ่ายค่าดูแลรักษาที่สูงขึ้นในอนาคต จึงทำให้ประกันอุบัติเหตุเป็นอีกหนึ่งในความคุ้มครองที่นอกเหนือจากประกันชีวิต และประกันสุขภาพที่ขาดไม่ได้ในยุคของสังคมเมืองผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้นี้
===================================
เผยแพร่ครั้งแรกที่ I Wsh You Wealth โพสต์ทูเดย์