ปัจจุบัน สังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) คือมีประชากรสูงอายุร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ และมีคาดการณ์ว่าในปี 2035 หรืออีกประมาณ 14 ปีต่อจากนี้ ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) ซึ่งจะมีประชากรสูงอายุถึงร้อยละ 30 ของประเทศ โดยผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มักเกิดปัญหาแทรกซ้อนตามมา ต้องอาศัยการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังตามมาด้วยค่าใช้จ่ายอีกมากมาย
แค่หกล้มอาจมีผลต่อชีวิต
สาเหตุที่ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เนื่องมาจากภาวะความเสื่อมของผู้สูงอายุ เช่น ความเสื่อมของตา ระบบประสาทสัมผัส และการทรงตัว อุบัติเหตุที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุคือการหกล้ม ซึ่งหากเกิดในวัยอื่น เช่นวัยเด็ก มักไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่สำหรับผู้สูงอายุ การหกล้มนับว่ามีความเสี่ยงมากและมักตามมาด้วยปัญหาอื่นๆ เช่น กระดูกข้อมือ ข้อสะโพก หรือกระดูกสันหลังหัก เลือดคั่งในสมอง เป็นต้น ซึ่งต้องอาศัยการรักษาพยาบาล การทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้จากสถิติกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการหกล้มเป็นอันดับ 2 รองจากอุบัติเหตุ และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สถานที่ที่ผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้มากที่สุดคือ “บ้าน” ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้สูงอายุใช้เวลาในชีวิตประจำวันมากที่สุด และเรามักมองว่าเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุด แต่ในความเป็นจริง บ้านอาจเป็นอันตรายกว่าที่คิดสำหรับผู้สูงอายุ และบ่อยครั้งที่เรามักได้ยินข่าวผู้สูงอายุลื่นหกล้มในบ้าน ตกบันไดบ้าน จนเป็นสาเหตุให้พิการและในบางรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น สมาชิกในบ้านควรเตรียมพร้อมและป้องกันให้ดี เพื่อลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ เช่น หมั่นตรวจสอบความเรียบร้อยภายในบ้าน ระวังอย่าให้พื้นลื่น หรือเปียกน้ำ พื้นบ้านไม่เสมอกันมีขั้นสูงต่ำหรือไม่ ปรับแสงสว่างให้เพียงพอ สิ่งเหล่านี้เป็นวิธีการป้องกันเบื้องต้น เพื่อลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี แม้จะเฝ้าระวังแล้ว อุบัติเหตุก็ยังเกิดขึ้นได้
อุบัติเหตุในผู้สูงอายุ ‘ล้มคนเดียวเจ็บทั้งบ้าน’
อุบัติเหตุในผู้สูงอายุ เมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุที่ประสบเหตุเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงคนรอบข้างโดยเฉพาะคนในครอบครัว ดังที่มีคำกล่าวว่า “ล้มคนเดียว เจ็บทั้งบ้าน” เมื่อผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุ มักมีผลข้างเคียงตามมา อาจต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน หรือต้องกลับมาพักฟื้นต่อที่บ้าน มีการทำกายภาพบำบัด และในบางรายอาจต้องใช้รถเข็นไปตลอด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องใช้ทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง
การทำประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้สูงอายุนับว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวหลังจากเกิดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ ซึ่งในปัจจุบันมีประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้สูงอายุให้เลือกมากมาย ในบางแบบประกันรับประกันภัยถึงอายุ 100 ปี โดยที่เบี้ยประกันภัยคงที่และค่าเบี้ยอยู่ในหลักพันเท่านั้น ในขณะที่ความคุ้มครองแทบจะครอบคลุมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ความคุ้มครองในกรณีที่เสียชีวิต และความคุ้มครองในกรณีสูญเสียอวัยวะ สายตา และทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร ทั้งจากอุบัติเหตุ จากการฆาตกรรม/ทำร้ายร่างกาย และจากการขับขี่/โดยสารรถจักรยานยนต์ รวมถึงความคุ้มครองในค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ นอกจากนี้ยังมีการชดเชยรายได้ระหว่างเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ชดเชยการรักษาพยาบาลกรณีทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร และในบางกรมธรรม์ยังสามารถเบิกค่ารถเข็นผู้ป่วย (Wheelchair) รวมถึงมีบริการดูแลสุขภาพหลังพักฟื้น (Nursing at home) อย่างการทำกายภาพบำบัดอีกด้วย เรียกได้ว่า จ่ายหลักพัน แต่ครอบคลุมหลักแสนหรืออาจถึงหลักล้านเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ประกันอุบัติเหตุจะไม่ครอบคลุมกรณีที่อุบัติเหตุนั้นเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นมาก่อนแล้วของผู้สูงอายุ เช่น การหกล้มที่เกิดจากภาวะความดันต่ำซึ่งเป็นโรคประจำตัว แต่จะคุ้มครองอุบัติเหตุที่เกิดจากเหตุที่ไม่คาดคิด เช่น การลื่นล้มในห้องน้ำ เป็นต้น
ดังนั้น ผู้ทำประกันควรศึกษาแบบประกันที่เหมาะสม ความคุ้มครองของแต่ละแผนประกัน รวมถึงเงื่อนไขและข้อยกเว้นของความคุ้มครอง เพื่อให้เข้าใจและสามารถเลือกแผนประกันที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการที่สุด
===================================
เผยแพร่ครั้งแรกที่ Health is Wealth กรุงเทพธุรกิจ