ช่วงปีที่ผ่านมานับเป็นช่วงที่ยากลำบากสำหรับนักลงทุนไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร หุ้นกู้ อสังหาริมทรัพย์ หรือแม้กระทั่งทองคำ ก็ถูกกดดันจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อราคาสินทรัพย์เกือบทุกประเภท โดยในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ยังอยู่ต่ำกว่าจุดสูงสุดในช่วงปลายปี 2021 อยู่ราว 10% ในขณะที่ดัชนี SET index ของไทยนั้นยิ่งแย่กว่า โดยดัชนีอยู่แถวระดับ 1,400 จุด ซึ่งเป็นระดับเดียวกับที่เราเห็นเมื่อสิบปีที่แล้ว ซึ่งเท่ากับว่าตลาดหุ้นไทยไม่ได้มีการเติบโตเลยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
มองไปข้างหน้า ปัจจัยกดดันจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นน่าจะเริ่มทุเลาลง โดยเรามองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่ระดับปัจจุบันที่ 5.5% นั้นสูงเพียงพอที่จะชะลอเศรษฐกิจและกดดันเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายแล้ว ในขณะเดียวกัน Bond yield ที่พุ่งขึ้นสูงถึงเกือบ 5% ก็นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยชะลอเศรษฐกิจ และทำให้ Fed ไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยไปสูงกว่านี้อีกแล้ว
แม้เราจะมองว่าปัจจัยลบจากดอกเบี้ยขาขึ้นจะผ่านเราไปแล้ว แต่ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ทั้งจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า ความเสี่ยงจากการยุบตัวลงของฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามและความขัดแย้งในหลายพื้นที่ทั่วโลก ยังเป็นปัจจัยกดดันต่อตลาดหุ้น จึงอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะหวังให้ตลาดหุ้นฟื้นตัวกลับมาเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจนในปีหน้า
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ นั้นยังอยู่ในระดับที่แพงมากเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลซึ่งปราศจากความเสี่ยง โดยอัตราผลตอบแทนส่วนเพิ่มเพื่อชดเชยความเสี่ยง (Earning Yield Gap) ในตลาดหุ้น ซึ่งคำนวณโดยใช้สัดส่วนกำไรต่อหุ้น (Earnings yield) หรือส่วนกลับของค่า P/E ลบกับ Bond yield ลดลงสู่ระดับ 0.6% ต่ำสุดตั้งแต่ปี 2001 ในขณะที่อัตราผลตอบแทนส่วนเพิ่มในตลาดหุ้นกู้ความเสี่ยงสูง (High yield spread) ซึ่งคำนวณจากส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง (อันดับเครดิตต่ำกว่า BBB-) กับพันธบัตรรัฐบาล (High Yield Spread) กลับเพิ่มขึ้นสะท้อนความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ที่สูงขึ้นตามแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก การเคลื่อนไหวที่สวนทางกันของผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Risk premium) ในตลาดหุ้นและตลาดหุ้นกู้ สะท้อนว่านักลงทุนยังประเมินความเสี่ยงในตลาดหุ้นต่ำเกินไป
นอกจากนั้นเศรษฐกิจโลกซึ่งอาจชะลอตัวมากกว่าคาด และอาจนำไปสู่การปรับลดคาดการณ์ผลกำไรของตลาดหุ้น โดยในปัจจุบันนักวิเคราะห์คาดหวังการเติบโตของกำไรของดัชนี S&P500 ในปีหน้าที่ราว 12% ซึ่งนับเป็นการเติบโตที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับ GDP สหรัฐฯ ที่คาดว่าจะขยายตัวชะลอลงเหลือเพียง 1% ในปีหน้า จากราว 2% ในปีนี้ ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงที่นักวิเคราะห์จะต้องปรับลดคาดการณ์ผลกำไรลงหากเศรษฐกิจ ยังส่งสัญญาณอ่อนแอลงต่อเนื่อง
เราแนะนำให้ลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน ด้วยการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ให้ผลตอบแทนจากบอนด์ยิลด์ที่สูง ในขณะที่ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ต่ำ โดยเราประเมินว่าบอนด์ยิลด์ที่ระดับปัจจุบันน่าจะปรับขึ้นได้จำกัดต่อจากนี้ โดยอาจเคลื่อนไหวที่ระดับ 4.8-5.0% ในระยะสั้น ก่อนจะลดลงสู่ระดับที่ 4.0-4.3% ในช่วงปีหน้า ตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งถ้าเป็นไปตามคาด การลงทุนในพันบัตรอายุ 10 ปี จะได้รับผลตอนแทนจากส่วนต่างของราคาอีก 2-3% เพิ่มเติมจากผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่ราว 5% ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนรวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 7-8% ในกรอบระยะเวลาการลงทุน 1 ปี
แต่ในกรณีที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า และ Fed ต้องกลับมาลดดอกเบี้ยลงเร็วและแรงกว่าที่คาด ซึ่งจะส่งผลให้บอนด์ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.0% ซึ่งในกรณีนี้ผลตอบแทนรวมจากการลงทุนในพันธบัตรอาจเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 10% ซึ่งทำให้เรามองว่าการลงทุนพันธบัตรสามารถคาดหวังผลตอบแทนได้สูงกว่าตลาดหุ้น และช่วยกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนได้ดีในกรณีที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงมากกว่าคาดในปีหน้า
หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I
บทความโดย คมศร ประกอบผล
หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU)
เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์สถานีลงทุน ของประชาชาติ