จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนและสัดส่วนของผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยในปี 1994 มีจำนวนผู้สูงวัยคิดเป็นเพียง 6.8% ของประชากรทั้งประเทศ แต่หากมาดูข้อมูลล่าสุดในปีนี้จะพบว่า จำนวนผู้สูงวัยได้เพิ่มขึ้นถึง 18.3% ของประชากรทั้งประเทศ อยู่ที่ราว 12,116,199 คน อย่างไรก็ตาม มีคนไทยจำนวนมากที่ประสบปัญหาทางการเงินในช่วงวัยเกษียณ เนื่องจากมีการวางแผนและจัดการทางการเงินในช่วงวัยทำงานที่ยังไม่ดีพอ
โดยส่วนใหญ่ ค่าใช้จ่ายประจำหลังเกษียณมักจะมีแนวโน้มปรับตัวลงอยู่ที่ประมาณ 70 – 80% ของค่าใช้จ่ายต่อเดือนก่อนเกษียณ เช่น หากก่อนเกษียณมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ 40,000 บาท ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณจะอยู่ที่ประมาณ 28,000 – 32,000 บาท (ยังไม่รวมเงินเฟ้อ)
ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หลังเกษียณ คงหนีไม่พ้นค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ โดยเฉพาะโรคร้ายแรงที่คนไทยมีอัตราการเป็นและเสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ โรคมะเร็ง สำหรับประเทศไทยแล้ว ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2020 พบว่า มะเร็งที่พบบ่อยที่สุด 5 อันดับแรกในคนช่วงวัย 50 ปีขึ้นไปคือ มะเร็งตับ (15.1%) มะเร็งปอด (13.8%) มะเร็งลำไส้ใหญ่ (12.1%) มะเร็งเต้านม (10.3%) และมะเร็งต่อลูกหมาก (5.3%) ตามลำดับ โดยมีการคาดการณ์ว่า จำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นจากปี 2020 ที่ 160,175 ราย มาอยู่ที่ราว 264,311 รายในปี 2040 หรือเพิ่มขึ้นสูงถึง 65% (ดังแผนภาพที่ 1) ซึ่งมีข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ค่ารักษาโรคมะเร็งทุกกระบวนการรักษาอยู่ที่ประมาณ 250,000 – 8,500,000 บาทเลยทีเดียว
แผนภาพที่ 1: คาดการณ์จำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ทั้งเพศชาย-หญิง อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ปี 2020 ถึง 2040
ที่มา: CANCERTOMORROW |IARC
จะเห็นได้ว่า หลังอายุ 50 ปี หรือในช่วงวัยที่ใกล้เกษียณอายุหรือเกษียณอายุแล้ว มีโอกาสจะเป็นโรคมะเร็งค่อนข้างสูง และมีค่าใช้จ่ายที่แพงมาก เราจึงต้องวางแผนเตรียมความพร้อม รองรับค่าใช้จ่ายดังกล่าวที่นับวันจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อจะได้ไม่กระทบกับแผนทางการเงินอื่น ๆ หลังเกษียณของเราได้
ทั้งนี้ การทำประกันมะเร็ง ถือเป็นการโอนความเสี่ยงเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาโรคมะเร็งไปยังบริษัทผู้รับประกัน ซึ่งเราควรทำประกันมะเร็งไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากไม่มีใครรู้ว่า โรคมะเร็งตัวร้ายจะมาหาเราเมื่อไหร่ หากเป็นแล้วเราอาจไม่สามารถทำประกันมะเร็งได้ เราจึงควรซื้อประกันในวันที่เรายังมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงอยู่ เพื่อไม่ให้โดนปฏิเสธการรับประกัน และควรเลือกแบบประกันมะเร็งที่จ่ายความคุ้มครองเป็นเงินก้อนทันทีเมื่อตรวจพบเชื้อมะเร็ง รวมถึงดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษาต่อเนื่องไปตลอดจนครบวงเงิน มีค่าเบี้ยประกันคงที่ ไม่ปรับเพิ่มตามอายุที่เพิ่มขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ซื้อประกันมะเร็งตั้งแต่อายุ 34 ปี ค่าเบี้ยประกันต่อปีคงที่ที่ 4,200 บาท ไปตลอดจนถึงอายุ 70 ปี รวมค่าเบี้ยประกันที่จ่ายไปทั้งสิ้นอยู่ที่ 155,400 บาท (4,200 บาท x 37 ปี) โดยหากตรวจพบเชื้อมะเร็ง บริษัทประกันจะจ่ายความคุ้มครองเป็นเงินก้อนทันทีจำนวน 500,000 บาท พร้อมทั้งดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคมะเร็งต่อเนื่องไปตลอดจนครบวงเงิน 1,000,000 บาท รวมความคุ้มครองที่ได้รับหลังหักค่าเบี้ยประกันทั้งสิ้นตลอด 37 ปีแล้วอยู่ที่ 1,344,600 บาท แต่หากเลือกไม่ทำประกันมะเร็ง และนำเงินที่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันมะเร็งจำนวน 4,200 บาทต่อปีไปลงทุน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคมะเร็งแทน
โดยสมมติอัตราผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนทบต้นเฉลี่ย 8% ต่อปี (ซึ่งในความจริงแล้ว การลงทุนที่จะได้รับอัตราผลตอบแทนในระดับสูงนั้น ย่อมมีความเสี่ยงและความผันผวนที่สูงเช่นกัน จึงอาจทำให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ได้) โดยใช้เวลาลงทุน 37 ปีเท่ากัน จะพบว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนจะอยู่ที่เพียงราว 852,895 บาท ซึ่งน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับความคุ้มครองที่ได้รับจากการทำประกันมะเร็ง 491,705 บาท รวมถึงระหว่างทางที่ลงทุน หากเป็นโรคมะเร็งขึ้นมา เงินที่มีอาจไม่เพียงพอในการรักษาโรคมะเร็งด้วย
ดังนั้น แม้ว่าค่ารักษาพยาบาลโรคมะเร็ง จะเป็นจำนวนมหาศาลและเป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่เราสามารถวางแผนรับมือได้ โดยโอนความเสี่ยงด้วยการทำประกันมะเร็ง ที่ให้ความคุ้มครองวงเงินที่สูงเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งจะทำให้เราพร้อมเกษียณสุขได้อย่างสบายใจ ไร้กังวล
===================================
บทความโดย วิภาดา ศุภกุลวณิชย์ AFPT
Assistant Wealth Manager ธนาคารทิสโก้
เผยแพร่ครั้งแรกใน SET