Cancer Immunotherapy กับการเติบโตของ Biotech Companies

file

 

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ในยุคปัจจุบัน ทำให้ยาที่ใช้รักษาโรคต่างๆ มีประสิทธิภาพและสร้างผลกระทบข้างเคียง (Side-effect) ที่น้อยลง โดยเฉพาะเทคโนโลยีการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรโลก ในอดีตการรักษามะเร็งมีทางเลือกเพียงแค่การผ่าตัด การฉายรังสี และการให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ซึ่งมีข้อเสียที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ เซลล์ดีที่ไม่ได้เป็นเซลล์มะเร็งจะถูกทำลายไปด้วย ทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพทรุดลงหลังจากการเข้ารับเคมีบำบัด

จากจุดอ่อนดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการพัฒนาการรักษาแบบตรงจุด (Targeted Therapy) ที่มีการออกแบบยาให้เข้ากับคนไข้แต่ละบุคคลและออกแบบยาให้เข้ากับมะเร็งแต่ละชนิด  เปรียบเสมือนกับเสื้อสั่งตัดที่แต่ละคนจะได้รับการรักษาที่แตกต่างกันออกไป  

นอกจากการรักษาแบบตรงจุดแล้วยังมีการพัฒนาการรักษามะเร็งด้วยวิธีที่เรียกว่า ภูมิคุ้มกันบำบัด(Immunotherapy) โดยมีแนวคิดที่ว่าตามธรรมชาติร่างกายของมนุษย์จะมีเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ชื่อว่า ลิมโฟไซต์ ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน โดยมีคุณสมบัติในการจดจำเซลล์ที่ผิดปกติของร่างกาย หากร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ดี ลิมโฟไซต์จะสามารถจดจำและแยกแยะเซลล์ที่ผิดปกติอย่างมะเร็งได้ เมื่อเจอเซลล์ที่ผิดปกติก็จะทำการแบ่งตัวไปฆ่าเซลล์มะเร็ง ปัญหาที่พบ คือ จำนวนเซลล์ที่แบ่งตัวออกมานั้นไม่เพียงพอที่จะไปฆ่าเซลล์มะเร็ง ประกอบกับเซลล์มะเร็งนั้นสามารถสร้างสารยับยั้งการเติบโตของเม็ดเลือดขาวได้ แนวทางการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัด คือ การพยายามศึกษาและพัฒนายาเพื่อไปยับยั้งการทำงานของเซลล์มะเร็ง เพื่อให้การทำงานของเม็ดเลือดขาวกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ     

บริษัทที่ทำการพัฒนายารักษามะเร็งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกลุ่มบริษัทเคมีและเภสัชกรรม (Biotechnology and Pharmacy) ยักษ์ใหญ่จากทั่วโลก และหลายบริษัทนั้นมีสาขาอยู่ในประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือ บริษัท Novartis บริษัทด้านการแพทย์จากสวิตเซอร์แลนด์ที่ได้คิดค้นวิธีการที่ใช้รักษามะเร็งด้วยวิธีกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า คิมเรียห์ (Kymriah-gene Therapy) โดยมีวิธีการ คือ สกัดเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์จากเลือดของคนไข้ จากนั้นนำไปผ่านกระบวนการดัดแปลงพันธุกรรมด้วยไวรัส ซึ่งจะได้เม็ดเลือดขาวประเภท CAR-T สำหรับนำกลับเข้าไปในร่างกายผู้ป่วย ซึ่งเซลล์ CAR-T นี้จะเข้าไปค้นหาและแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเข้าทำลายเซลล์มะเร็ง  

ผลการทดลองที่เปิดเผยจากทางบริษัทพบว่า มีอัตราการสำเร็จประมาณ 83%  ซึ่งสำนักงานคณะกรรมอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้อนุมัติให้ใช้และจำหน่ายเวชภัณฑ์สำหรับเทคนิคคิมเรียห์ในสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาอยู่ที่ราว 15.7 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการรักษาที่แพงที่สุดในโลก และต้องรักษาผ่านคลินิกที่มีการรับรองเท่านั้น 

อีกหนึ่งบริษัทที่กำลังทำการวิจัยยารักษามะเร็งแบบภูมิคุ้มกันบำบัด คือ Merck บริษัทเคมีและเภสัชกรรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลกได้คิดค้นยาที่ชื่อว่า Keytruda ในปี 2017 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเภทของยารักษามะเร็งประเภทภูมิคุ้มกันบำบัด ส่งผลให้ราคาหุ้นของ Merck ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 63% หลังจากนั้นบริษัท  Bristol-Myers Squibb จากอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทที่เน้นการพัฒนายาและชีวเคมี (Biotech) ก็ได้พัฒนายาประเภทเดียวกันกับ Keytruda ออกมาโดยใช้ชื่อว่า Yervoy  ราคาหุ้นของ Bristol-Myers ก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกัน จะเห็นว่าผลประโยชน์ที่บริษัทเหล่านั้นจะได้รับ คือ มูลค่าของสิทธิบัตร ซึ่งหากยาที่คิดค้นออกมาแล้วได้ผลและสามารถผ่านการยอมรับจาก FDA ไปจนถึงสามารถนำไปรักษาได้จริง สิ่งที่ตามมา คือ มูลค่าตลาดและราคาหุ้นของบริษัทที่ปรับตัวสูงขึ้น  

 Janus Henderson กลุ่มบริหารสินทรัพย์ทั่วโลกที่มีสำนักงานใหญ่ ณ กรุงลอนดอน ซึ่งหนึ่งในความเชี่ยวชาญของกลุ่ม คือ การลงทุนในหุ้นกลุ่ม Healthcare ประเมินว่าในปี​ 2024 ยอดขายต่อปีของยารักษามะเร็งในกลุ่มของภูมิคุ้มกันบำบัด​ (Immunotherapy) จะมีมูลค่าแตะ 173 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปัจจุบัน 125 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ   

นอกจากนี้อีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าจับตามองสำหรับหุ้นกลุ่ม Healthcare คือ การควบรวมกิจการ (M&A) ซึ่งดีลยักษ์ใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2019 คือ Loxo Oncology บริษัทยาจากอเมริกา ผู้พัฒนายาชื่อว่า​ Vitrakvi (พัฒนาร่วมกับบริษัท Bayer ผู้คิดค้นแอสไพรินจากเยอรมนี) เป็นตัวยาช่วยชะลอการเติบโตของเนื้องอก ได้ถูกเสนอซื้อกิจการโดยบริษัทยายักษ์ใหญ่จากอเมริกาอย่าง Eli Lilly ที่ราคาสูงกว่าราคาตลาดถึง 68% นอกจากการทำ M&A ของบริษัท Loxo ยังมีบริษัทในกลุ่ม Healthcare อีกหลายบริษัทที่มีการทำ M&A ในปี  2018 ที่ผ่านมาด้วยมูลค่าที่สูงตั้งแต่บริษัทระดับยักษ์ใหญ่ไปจนถึง Private Equity เพื่อลดต้นทุนเวลาในการวิจัยและสามารถนำเทคโนโลยีพร้อมกับองค์ความรู้จากบริษัทที่เชี่ยวชาญมาต่อยอดใช้งานได้ทันที

จะเห็นว่าบริษัทต่างๆ ยังมีศักยภาพในการพัฒนาวิธีการในการรักษามะเร็งอีกมากในอนาคต เพราะ อัตราความสำเร็จของยาปัจจุบันยังไม่ถึง 90% ยังมีช่องว่างให้พัฒนาเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้การพัฒนาจะมีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว แต่สุดท้ายแล้วขอเพียงมีหนึ่งตัวยาที่ประสบความสำเร็จนั้นก็เพียงพอที่จะทำให้ราคาหุ้นของบริษัทนั้นปรับตัวสูงขึ้นอย่างโดดเด่น อย่างเช่นในกรณีของบริษัท Merck และด้วยเทคโนโลยีพันธุกรรมที่พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดดทำให้การลงทุนในหุ้นกลุ่ม Healthcare ต่อจากนี้ไปจะยังคงมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

=======================================

เผยแพร่ครั้งแรกที่ Global Wealth Strategy  กรุงเทพธุรกิจ

บทความล่าสุด

กิจกรรม M&A กำลังจะกลับมา กลุ่ม Biotechnology ได้ประโยชน์สูงสุด

โพสต์เมื่อ 8 พฤษภาคม 2567

นอกจากนวัตกรรมการค้นคว้ายาชนิดใหม่รวมถึงการนำเทคโนโลยีอย่าง AI เข้ามาช่วยในการวิจัยยารักษาโรคหายาก กิจกรรมการควบรวมกิจการ หรือ M&A ก็นับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีความสำคัญต่อราคาหุ้นของกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology)

อ่านต่อ >>

FDA อนุมัติยาสูงสุดในรอบ 5 ปี โอกาสทองลงทุน Biotech

โพสต์เมื่อ 8 พฤษภาคม 2567

FDA สหรัฐฯ กลับมาอนุมัติยาสูงสุดในรอบ 5 ปี ( FDA คือ องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ) โดยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนยาที่ได้รับอนุมัติจาก FDA เพิ่มขึ้นถึง 100% โดยเฉพาะปี 2023 ที่ FDA มีการอนุมัติยาสูงสุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่ 55 รายการ

อ่านต่อ >>

Biotech หุ้นนวัตกรรมยายุคใหม่ ที่ต้องมีไว้ในพอร์ต

โพสต์เมื่อ 8 พฤษภาคม 2567

หากนึกถึงหุ้นกลุ่ม Healthcare นักลงทุนส่วนใหญ่มักนึกถึงบริษัทยาขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงแต่มีการเติบโตที่ช้า ทำให้นักลงทุนมักเหมารวมหุ้นกลุ่ม Healthcare เป็นหุ้นกลุ่ม Defensive ที่ไม่ได้คาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงและเป็นเพียงแค่หลุมหลบภัยในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวนเท่านั้น

อ่านต่อ >>