Genetics ศาสตร์อันดับ 1 ด้านการแพทย์

file

“กลุ่มธุรกิจการแพทย์” ในปัจจุบันมีบทบาทอย่างมากในยุคสังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) ซึ่งเป็นหนึ่งใน Megatrend โดยเป็นธุรกิจที่สามารถตอบสนองต่อกระแสสังคมผู้สูงอายุได้ทันที โดยผนวกกับการนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตระหว่างการรักษา การฟื้นฟูหลังการรักษาของผู้ป่วย หรือลดอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มโรคไม่ติดต่อร้ายแรง (Non-communicable Diseases: NCDs) ที่มักเกิดกับผู้สูงอายุและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึงกว่า 70% จากผู้เสียชีวิตทั้งหมด เช่น โรคมะเร็ง โรคอัลไซเมอร์ และโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น

อย่างไรก็ดีหนึ่งในนวัตกรรมการแพทย์ที่นับว่าเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือศาสตร์ที่เรียกว่า Genetics (พันธุศาสตร์) เกือบทั้งสิ้น กล่าวคือเป็นศาสตร์ที่ศึกษาโครงสร้างเชิงโมเลกุล หน้าที่ และพฤติกรรมของยีน (Gene) ในเซลล์สิ่งมีชีวิต ซึ่งในด้านของการแพทย์สามารถแบ่งย่อยเป็น 4 กลุ่มที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 

  1.การจัดลำดับ DNA (DNA Sequencing) จะนำมาใช้เพื่อดูโครงสร้างของยีนทั้งหมดในสิ่งมีชีวิตหรือที่เรียกว่าจีโนม (Genome) เพื่อตรวจสอบสิ่งมีชีวิตแปลกปลอมภายในยีนอย่างเชื้อไวรัส HIV หรือ เชื้อ COVID-19 อีกทั้งยังสามารถหาจุดบ่งชี้อาการเจ็บป่วยในอนาคตได้อย่างโรคมะเร็ง เพื่อหาวิธีป้องกันหรือทำแผนการรักษาที่รวดเร็ว และตรงกับลักษณะของยีนในแต่ละคน ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรคเป็นรายบุคคลได้ 

  2.การทดสอบยีน (Genetic Testing) โดยอาจจะตรวจยีนจากในเลือดหรือน้ำลาย เพื่อหาโรคที่อาจเกิดจากพันธุกรรมได้โดยไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น มะเร็งเต้านม ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเพศหญิง ซึ่งประโยชน์จากการตรวจล่วงหน้าจะช่วยให้สามารถเพิ่มอัตราการหายขาดสูงสุดถึง 100% เป็นต้น 

  3.การรักษาด้วยวิธียีนบำบัด (Gene Therapy) เป็นวิธีการรักษาโรคที่นำไวรัสดัดแปลงเพื่อใส่เข้าไปในเซลล์ของร่างกายมนุษย์และปรับเปลี่ยนโครงสร้าง DNA เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย เช่น โรคหัวใจ โรคพาร์กินสัน โรคเบาหวาน และโรคฮีโมฟีเลีย เป็นต้น 

  4.การศึกษาจีโนม (Genomics) หรือศาสตร์ที่ต่อยอดจาก DNA Sequencing โดยทำแผนที่พันธุศาสตร์ (Genetic Mapping) เพื่อเก็บข้อมูล Genome ของสิ่งมีชีวิตที่ต้องการศึกษาทั้งหมด และนำไปต่อยอดกับการพัฒนาการแพทย์รูปแบบต่างๆ เช่น ศึกษาพันธุกรรมของเชื้อแบคทีเรีย หรือไวรัสเพื่อพัฒนาวัคซีน หรือศึกษาแนวโน้มพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนั้น Genome มีการกลายพันธุ์จากรุ่นสู่รุ่นอย่างไร ความเสี่ยงของอาการเจ็บป่วยในอนาคตมีอะไรบ้าง เพื่อสร้างระบบสาธารณสุขโดยให้บริการการแพทย์แบบแม่นยำ (Precision Medicine) และสร้างยารักษาแบบเจาะจงรายบุคคล (Personalized Medicine) ในอนาคต 

Genetics มีความก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง โดย 10 ปีที่แล้ว (ข้อมูล ณ ปี 2563 ) การทำ DNA Sequencing ของมนุษย์ 1 คน ต้องใช้เงินทุนราว 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จนถึงวันนี้ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงด้วยราคาเพียง 1 พันดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าอีก 3 ปีข้างหน้าจะเหลือเพียงคนละ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น ด้วยระยะเวลาที่สั้นและต้นทุนการศึกษาที่ต่ำลง หากเราจะนำบริบทของ Big Data มาประกอบการอธิบายนั้น ก็เปรียบเสมือนเรามีโอกาสเก็บข้อมูล Genome ของมนุษย์ทั่วโลกเพื่อศึกษาโครงสร้างพันธุกรรมหลายล้านรูปแบบในระยะเวลาไม่นาน และช่วยให้นวัตกรรมการแพทย์ก้าวกระโดด และจะช่วยเหลือมนุษย์จากอาการเจ็บป่วยด้วยโรคหายากได้อีกมาก

ในด้านธุรกิจ บริษัทเหล่านี้จะจัดอยู่ในกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) เช่น บริษัท Illumina ซึ่งเป็นผู้นำของโลกในการพัฒนาเครื่องมือ DNA Sequencing เพื่อใช้สำหรับหน่วยงานวิจัย สถาบันการศึกษา รวมถึงอุตสาหกรรมยาหรือเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งบริษัทนี้มีบทบาทสำคัญในการจัดทำเครื่องมือจัดเก็บข้อมูล DNA ของไวรัส COVID-19 เพื่อให้บริษัทยาต่างๆ นำไปเป็นองค์ความรู้เพื่อพัฒนาวัคซีน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือวัคซีน mRNA-1273 ของบริษัท Moderna ที่กำลังวิจัยอยู่เช่นกัน หรือในด้าน Genetic Testing อย่างบริษัท Exact Sciences ที่สามารถพัฒนาชุดตรวจโรคมะเร็งด้วยตัวเองอย่าง Cologuard  ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเพียง 649 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ 1 ชุด และลดการเดินทางไปโรงพยาบาล ซึ่งเหมาะกับภาวะไวรัสระบาดที่คนทั่วไปคงไม่อยากเสี่ยงไปโรงพยาบาลในช่วงเวลานี้มากนัก เป็นต้น

องค์ความรู้นี้นอกเหนือจากประชาชนทุกคนจะได้ประโยชน์ โดยการลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs มากขึ้นแล้ว นวัตกรรมนี้ยังเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ช่วยให้ประหยัดเวลาและรักษาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นข้อมูลที่เราต้องติดตามเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการป้องกันหรือรักษาตัวในอนาคต ในด้านของการลงทุนปัจจุบันมีกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Genetics มากมาย ซึ่งยังเป็นที่ต้องการตามแนวโน้มสังคมผู้สูงอายุประกอบกับโรคอุบัติใหม่ที่เพิ่มมากขึ้น โดยธุรกิจเหล่านี้ยังนำเทคโนโลยีมาผนวกกับองค์ความรู้ด้านการแพทย์เพื่อต่อยอดการรักษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ซึ่งนักลงทุนยังสามารถเลือกลงทุนในกองทุนที่ออกจากกรอบการลงทุนในกลุ่มเฮลธ์แคร์แบบดั้งเดิม มาเข้าสู่กลุ่มธุรกิจสุขภาพที่เน้นเรื่องนวัตกรรมในการรักษาโรคหายากเพื่อต่อยอดพอร์ตการลงทุนได้ในอนาคตอีกด้วย

=======================================

เผยแพร่ครั้งแรกที่  Health is Wealth กรุงเทพธุรกิจ

บทความล่าสุด

หุ้นกลุ่ม Healthcare ทวงคืนตำแหน่ง Top Performer บนเวทีหุ้นโลก

โพสต์เมื่อ 20 เมษายน 2567

ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา หุ้นกลุ่ม Healthcare กลับมาสร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น จากแนวโน้มการเติบโตที่คาดว่าจะสูงกว่าตลาดโดยรวมในปีนี้ ในขณะที่ยังซื้อขายในระดับราคาที่ไม่แพงโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่มเทคโนโลยีที่เติบโตในระดับใกล้เคียงกัน ทำให้ปีนี้มีโอกาสสูงที่กลุ่ม Healthcare จะกลับมาทวงคืนตำแหน่ง Top Performer บนเวทีตลาดหุ้นโลก

อ่านต่อ >>

ปรับพอร์ตสร้างกำไร ขายหุ้นสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น เบนเข็มลงทุน “หุ้น Asia ex Japan”

โพสต์เมื่อ 20 เมษายน 2567

ในปี 2024 เศรษฐกิจโลกภาพรวมเติบโตดีกว่าคาด โดยภูมิภาคที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดคือ ภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่จะเติบโตได้ดีในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว และยังเป็นปีแห่งโอกาส

อ่านต่อ >>

จับจังหวะทำกำไร กับขาขึ้นรอบใหม่ของตลาดหุ้น Asia

โพสต์เมื่อ 20 เมษายน 2567

ตลาดหุ้นเอเชีย (Asia ex Japan) ถือเป็นตลาดหุ้นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงไม่แพ้ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets) โดยเฉพาะในฝั่งของภาคการผลิตที่บริษัทยักษ์ใหญ่จากภูมิภาคเอเชีย ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในหลายอุตสาหกรรมการผลิตของโลก

อ่านต่อ >>