mRNA Vaccines, New S-curve of Healthcare Industry

file

ในปี ค.ศ. 1796 นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ Edward Jenner ได้สร้างวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ หรือ ฝีดาษ ซึ่งถือว่าเป็นวัคซีนชนิดแรกของโลก โดยมีวิธีคือการนำเชื้อไวรัสที่ตายแล้วฉีดเข้าไปในร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัส เสมือนได้รับเชื้อไวรัสโดยตรงแต่ไม่ทำให้เกิดโรค ซึ่งวัคซีนเชื้อตายนั้นเป็นวัคซีนที่อยู่คู่กับมนุษยชาติมาตลอด 200 ปี 

จนถึงปี 2020 เกิดการระบาดของโคโรนาไวรัส ทำให้โลกได้รู้จักวัคซีนเชื้อเป็น เป็นครั้งแรก โดยใช้เทคโนโลยีการใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral Vector) ซึ่งจะใช้ไวรัสที่สามารถตัดแต่งพันธุกรรมและนำมาดัดแปลงพันธุกรรมให้ไม่สามารถแบ่งตัวได้ เมื่อนํามาฉีดไวรัสพาหะเหล่านี้จะเลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติ โดยกระตุ้มภูมิคุ้มกันทั้งระบบให้สร้างแอนติบอดีต่อไวรัส ตัวอย่างของบริษัทผู้ผลิตวัคซีน COVID-19 โดยวิธี Viral Vector คือ AstraZeneca, Johnson & Johnson และ CanSinoBIO ซึ่งมีความแตกต่างจากวัคซีนเชื้อตายของ Sinovac ที่ถึงแม้จะมีจุดเด่นด้านความปลอดภัย เพราะเป็นเชื้อไวรัสที่ตายแล้ว แต่ผลิตได้ช้าและมีราคาสูงกว่าวัคซีนเชื้อเป็น เพราะการเพาะเลี้ยงไวรัสต้องใช้ความระมัดระวัง 

นอกเหนือจากวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะยังมีอีกหนึ่งวิธีที่ถือว่าเป็นการเปิดประตูสู่โลกใหม่ของการพัฒนาวัคซีน คือ วัคซีนชนิดสารพันธุกรรม mRNA ซึ่งถูกผลิตโดย Moderna และ Pfizer/BioNTech ปัจจุบันวัคซีน mRNA มีประสิทธิภาพในการป้องกัน COVID-19 ที่สูงถึงระดับ 90% 

จุดเริ่มต้นนวัตกรรม mRNA

เทคโนโลยีการสังเคราะห์พันธุกรรม mRNA มีจุดเริ่มต้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดยนักวิทยาศาสตร์หญิงชาวฮังการี            ดร.เคทลิน คาริโก ผู้มีความปรารถนาที่จะสร้างวัคซีนต้านเชื้อไวรัส HIV โดยมีวิธีการ คือ ใช้สารพันธุกรรมสังเคราะห์ที่จำลองมาจากสารพันธุกรรมของไวรัสแทนการใช้เชื้อตายทั้งตัวของไวรัสในการผลิตวัคซีนแบบเดิม ด้วยการใช้วิธีการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อต้านเชื้อ เมื่อฉีดเฉพาะส่วนของโปรตีนหนามของไวรัสเข้าไปในเซลล์ ร่างกายก็จะสั่งให้เซลล์สร้างโปรตีนหนาม (Spike-Protein) ที่หน้าตาเหมือนกับโปรตีนหนามของไวรัส เสมือนเป็นการจำลองภาพของไวรัสให้ร่างกายจดจำและสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา เมื่อไวรัสตัวจริงเข้าสู่ร่างกายก็จะถูกระบบภูมิคุ้มกันกำจัดก่อนที่โปรตีนหนามของไวรัสจะเข้าไปจับกับเซลล์ร่างกายและก่อโรคแก่มนุษย์ 

วัคซีน mRNA ในอดีตยังเป็นเพียงวัคซีนทางเลือกและไม่ได้รับการสนับสนุนเงินลงทุน เนื่องจากบริษัทยาและนักวิจัยยังไม่มีความเชื่อในเทคโนโลยีดังกล่าวเท่าไรนัก จนกระทั่งเกิดการระบาดของ COVID-19 ทำให้รัฐบาล นักวิทยาศาสตร์  บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ไปจนถึงกลุ่มที่สนับสนุนด้านเงินทุน ต่างอัดฉีดงบประมาณมหาศาลในการหาวิจัยและผลิตวัคซีนเพื่อที่จะรับมือกับการระบาดของไวรัสให้ได้เร็วที่สุด เมื่อนักวิจัยชาวจีนสามารถถอดลำดับพันธุกรรมของโคโรนาไวรัสได้สำเร็จ บริษัท Moderna ซึ่งเป็นบริษัท Biotech ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี mRNA  โดยเฉพาะ ได้นำรหัสพันธุกรรมไปสร้างเป็นวัคซีนได้ภายในระยะเวลาเพียง 48 ชั่วโมง หากรวมเวลาทั้งหมดตั้งแต่การคิดค้นวัคซีน การทดลองทางคลินิก และการผลิตใช้เวลาเพียง 9 เดือนเท่านั้น จัดว่าเป็นการพัฒนาวัคซีนได้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์   

บริษัทผู้ผลิตวัคซีน mRNA อย่าง Pfizer มียอดขายวัคซีนใน Q1 2021 ทั้งสิ้น 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 25% จากรายได้ทั้งหมดของบริษัท และคาดว่าตลอดทั้งปี 2021 นั้น Pfizer จะมียอดขายของวัคซีนแตะ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ Moderna มียอดขายวัคซีนใน Q1/2021 ทั้งสิ้น 1.73 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้บริษัท Biotech ผู้นำด้าน mRNA สามารถสร้างผลกำไรให้กับบริษัทได้เป็นไตรมาสแรก เนื่องจากก่อนหน้านั้น Moderna ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในตลาด ราคาหุ้นของ Moderna จึงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากต้นปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีการระบาดของ COVID-19 สูงถึง +984%  

mRNA ทำได้มากกว่าวัคซีนโควิด

เรื่องราวของ mRNA จะไม่หยุดอยู่เพียงแค่ COVID-19 เพราะหลังจากประสบความสำเร็จในการรับมือกับ COVID-19 แล้ว Moderna มีแผนนำเทคโนโลยี mRNA ไปใช้ในการพัฒนาวัคซีนโรคมาเลเรียซึ่งคร่าชีวิตประชากรโลกปีละกว่า 400,000 ราย ซึ่งวัคซีนในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพที่เพียงพอ ถึงแม้จะต้องฉีดถึง 4 เข็มก็ตาม ขณะที่ Pfizer จะนำไปพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และ BioNTech กำลังพัฒนาการรักษาแบบเฉพาะบุคคลที่จะช่วยให้สามารถสร้างโปรตีนที่ตรงกับกลุ่มอาการที่จะช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับโรคมะเร็งได้ นอกจากนี้ mRNA ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับไวรัส HIV ตามแนวคิดของ ดร.เคทลิน คาริโก เพราะ mRNA สามารถปรับเปลี่ยนการสร้างโปรตีนหนามในรูปแบบที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ในอนาคตสามารถสร้างวัคซีนที่มีโปรตีนหนามตรงกับไวรัส HIV ที่มักจะมีการกลายพันธ์ุอย่างรวดเร็วจนวัคซีนที่ผลิตจากการเพาะเชื้อแบบในอดีตไม่สามารถรับมือได้

จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยี mRNA เป็นการเปิดประตูสู่โลกใหม่ในอุตสาหกรรมการแพทย์ที่นอกจากจะเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์ (Defensive) แล้ว ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง (High Growth)  และในอนาคตต่อจากนี้อุตสาหกรรมการแพทย์ได้ค้นพบ S-curve ใหม่จากวัคซีน mRNA ที่นอกจากจะช่วยพัฒนาโลกใบนี้ให้ดีขึ้น ยังช่วยเพิ่มโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนในระยะยาวอีกด้วย 

 

===================================

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ Money Talk  Business Today 

บทความล่าสุด

Biotech หุ้นนวัตกรรมยายุคใหม่ ที่ต้องมีไว้ในพอร์ต

โพสต์เมื่อ 26 เมษายน 2567

หากนึกถึงหุ้นกลุ่ม Healthcare นักลงทุนส่วนใหญ่มักนึกถึงบริษัทยาขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงแต่มีการเติบโตที่ช้า ทำให้นักลงทุนมักเหมารวมหุ้นกลุ่ม Healthcare เป็นหุ้นกลุ่ม Defensive ที่ไม่ได้คาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงและเป็นเพียงแค่หลุมหลบภัยในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวนเท่านั้น

อ่านต่อ >>

หุ้นกลุ่ม Healthcare ทวงคืนตำแหน่ง Top Performer บนเวทีหุ้นโลก

โพสต์เมื่อ 26 เมษายน 2567

ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา หุ้นกลุ่ม Healthcare กลับมาสร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น จากแนวโน้มการเติบโตที่คาดว่าจะสูงกว่าตลาดโดยรวมในปีนี้ ในขณะที่ยังซื้อขายในระดับราคาที่ไม่แพงโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่มเทคโนโลยีที่เติบโตในระดับใกล้เคียงกัน ทำให้ปีนี้มีโอกาสสูงที่กลุ่ม Healthcare จะกลับมาทวงคืนตำแหน่ง Top Performer บนเวทีตลาดหุ้นโลก

อ่านต่อ >>

ปรับพอร์ตสร้างกำไร ขายหุ้นสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น เบนเข็มลงทุน “หุ้น Asia ex Japan”

โพสต์เมื่อ 26 เมษายน 2567

ในปี 2024 เศรษฐกิจโลกภาพรวมเติบโตดีกว่าคาด โดยภูมิภาคที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดคือ ภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่จะเติบโตได้ดีในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว และยังเป็นปีแห่งโอกาส

อ่านต่อ >>