ปัจจัยเบื้องหลัง ความแข็งแกร่งของหุ้น Healthcare

file

“10.3% เฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น” คืออัตราผลตอบแทนที่หุ้นกลุ่ม Global Healthcare มอบให้กับนักลงทุนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2013-2023) โดยสามารถฟันฝ่ามรสุมทางด้านเศรษฐกิจและตลาดหุ้นต่างๆนานามาได้อย่างแข็งแกร่ง และยังเป็นผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในดัชนีหุ้นทั่วโลก (MSCI ACWI Index) ซึ่งอยู่ที่เพียง 8.2% เฉลี่ยต่อปีแบบทบต้นเท่านั้น

แน่นอนว่า Megatrends ของสังคมผู้สูงอายุและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ถือเป็นลมใต้ปีกสำคัญที่พัดหนุนให้อุตสาหกรรม Healthcare มีผลประกอบการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ไม่ผันผวนไปตามสภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ได้พูดถึง แต่มีส่วนสำคัญต่อผลประกอบการที่แข็งแกร่งของหุ้นกลุ่มนี้ ก็คือ “ความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน” ของบริษัทในอุตสาหกรรม Healthcare เอง ซึ่งประกอบไปด้วย สินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน ความได้เปรียบทางด้านต้นทุน ขนาดที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนต้นทุนในการเปลี่ยนย้าย โดยแต่ละกลุ่มธุรกิจในอุตสาหกรรมการแพทย์จะมีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน ดังนี้

บริษัทกลุ่มแรก คือ Pharmaceuticals ซึ่งหมายถึงบริษัทยาขนาดยักษ์ใหญ่ที่มีการวิจัย พัฒนา ผลิตและขายสินค้ากระจายไปทั่วโลก ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทยาส่วนใหญ่มักเกิดมาจาก “สินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน” อย่าง “สิทธิบัตร” ซึ่งช่วยกีดกันการลอกเลียนแบบจากคู่แข่งและทำให้บริษัทมีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้า (Pricing Power) ได้ยาวนานในระดับ 10 – 20 ปี

ส่งผลให้บริษัทในกลุ่มธุรกิจยามีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอและมีความสามารถในการทำกำไรที่สูง นอกจากนี้ เมื่อสิทธิบัตรของยาได้หมดอายุลง พลังของ “แบรนด์” ที่แข็งแกร่งจะทำหน้าที่รักษาฐานลูกค้าให้กลับมาซื้อซ้ำและทำให้บริษัทยาเหล่านี้รักษาส่วนแบ่งตลาดเอาไว้ได้ บริษัทยาที่มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และมีแหล่งรายได้กระจายทั่วโลก จึงเป็นเป้าหมายที่น่าลงทุนในฐานะหุ้นแข็งแกร่ง

กลุ่มต่อมา คือ Biotechnology เป็นบริษัทยาขนาดกลางและขนาดเล็ก แต่มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนา “นวัตกรรม” ที่ซับซ้อนมากกว่า ทำให้กลุ่ม Biotech มีทั้งโอกาสในการเติบโตที่มากกว่าและความเสี่ยงที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับบริษัทกลุ่มยา ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพมักจะอยู่ที่ “ขนาดที่มีประสิทธิภาพ” เนื่องจากบริษัทเหล่านี้จะมุ่งเน้นไปที่ตลาดเฉพาะ เช่น กลุ่มผู้ป่วยโรคหายาก ซึ่งเหมาะสมที่จะมีผู้เล่นเพียงไม่กี่รายในตลาดจากขนาดตลาดที่จำกัด เมื่อสามารถกีดกันคู่แข่งไม่ให้เข้ามาแข่งขันในตลาดได้ บริษัท Biotech เหล่านี้จึงสามารถสร้างการเติบโตของยอดขายได้อย่างรวดเร็วและทำอัตรากำไรได้สูงลิบลิ่ว อีกทั้งยังสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการเข้ามาควบคุมราคายาของภาครัฐได้อีกด้วย หุ้นกลุ่ม Biotech จึงมักเป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุนในฐานะหุ้นเติบโต โดยความสำเร็จของบริษัท Biotech จะขึ้นอยู่กับการได้รับอนุมัติยาตัวใหม่และการถูกควบรวมจากบริษัทยายักษ์ใหญ่ที่กำลังมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆมาเสริมทัพ ทั้งนี้ สิทธิบัตรและแบรนด์ยังคงมีความสำคัญเช่นเดียวกันกับกรณีของบริษัทกลุ่มยา

อีกกลุ่มหนึ่งคือ Healthcare Equipment หรือกลุ่มผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ จุดเด่นของหุ้นกลุ่มนี้จะอยู่ที่ “ต้นทุนในการเปลี่ยนย้าย” เนื่องจากอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้ภายในโรงพยาบาล เช่น เครื่องตัดต่อพันธุกรรม เครื่องมือผ่าตัดส่องกล้อง หุ่นยนต์ผ่าตัด ต้องอาศัยการฝึกฝนและทำความคุ้นเคยจากศัลยแพทย์เป็นระยะเวลานาน ดังนั้น เมื่อเกิดความคุ้นเคยกับการใช้เครื่องมือแพทย์ที่มีความซับซ้อนแล้ว ผู้ใช้จึงมักไม่เต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงไปใช้เครื่องมือชนิดอื่นหรือแบรนด์อื่น แม้จะมีราคาที่ถูกกว่าก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวจึงช่วยสนับสนุนให้ยอดขายและกำไรของบริษัทในกลุ่มเครื่องมือแพทย์มีความมั่นคง นักลงทุนจึงมักมีมุมมองต่อหุ้นกลุ่มนี้ในฐานะหุ้นแข็งแกร่ง ในขณะที่โอกาสในการเติบโตของหุ้นกลุ่มเครื่องมือแพทย์จะอยู่ในบริษัทที่เป็นกลุ่ม “Digital Health” ซึ่งเป็นอุปกรณ์การแพทย์รูปแบบใหม่ที่มีการเชื่อมต่อการใช้งานผ่านอินเตอร์เน็ต

กลุ่มสุดท้ายคือ Healthcare Services ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มโรงพยาบาล ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของไทยเป็นจำนวนมาก ความได้เปรียบในการแข่งขันที่มักจะพบในหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลก็คือ “ต้นทุนในการเปลี่ยนย้าย” เนื่องจากพฤติกรรมของลูกค้ามักจะเลือกใช้บริการโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้าน ใกล้สถานที่ทำงานและกลับมาใช้บริการแพทย์ประจำอย่างต่อเนื่อง โดยที่ลูกค้ามักจะไม่เต็มใจที่จะเปลี่ยน ถ้าต้นทุนและค่าใช้จ่ายไม่แตกต่างกันมากพอ นอกจากนี้ ด้วยโครงสร้างต้นทุนของหุ้นโรงพยาบาลซึ่งมีต้นทุนคงที่เป็นส่วนใหญ่ ทำให้เมื่อจำนวนคนไข้ที่เข้ามารักษามีจำนวนมากขึ้น ธุรกิจโรงพยาบาลจะเกิด “ความได้เปรียบทางด้านต้นทุน” จากการประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) ส่งผลให้กำไรของหุ้นโรงพยาบาลสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องและสร้างอัตรากำไรที่สูงได้ นอกจากนี้ ธุรกิจโรงพยาบาลยังสามารถสร้างการเติบโตด้วยการขยายสาขาหรือควบรวมกิจการเพื่อขยายฐานลูกค้าเพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาวได้อีกด้วย นักลงทุนจึงมักมองหุ้นโรงพยาบาลในฐานะหุ้นเติบโต สะท้อนผ่านค่า PE ที่อยู่ในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง

จะเห็นได้ว่า ความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน คือปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังผลกำไรที่แข็งแกร่งของหุ้นกลุ่ม Healthcare เปรียบเสมือน “ป้อมปราการทางเศรษฐกิจ (Economic moat)” ที่ช่วยสนับสนุนให้หุ้นกลุ่มธุรกิจการแพทย์สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและทำให้การลงทุนในหุ้นกลุ่ม Healthcare สร้างผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยม เหนือกว่าดัชนีตลาดหุ้นโลกได้ต่อเนื่องยาวนาน

 

บทความโดย ภาคภูมิ พีรยวัฒนา  AFPTTM Wealth Manager ธนาคารทิสโก้

เผยแพร่ครั้งแรก Facebook TNN Wealth

บทความล่าสุด

จับจังหวะทำกำไร กับขาขึ้นรอบใหม่ของตลาดหุ้น Asia

โพสต์เมื่อ 29 มีนาคม 2567

ตลาดหุ้นเอเชีย (Asia ex Japan) ถือเป็นตลาดหุ้นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงไม่แพ้ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets) โดยเฉพาะในฝั่งของภาคการผลิตที่บริษัทยักษ์ใหญ่จากภูมิภาคเอเชีย ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในหลายอุตสาหกรรมการผลิตของโลก

อ่านต่อ >>

Asia ex Japan หุ้นไม่แพง โตแรงแซงเศรษฐกิจโลก

โพสต์เมื่อ 29 มีนาคม 2567

ท่ามกลางตลาดหุ้นหลักของโลก เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้น New High ต่อเนื่องจนมูลค่าเริ่มตึงตัว แต่หุ้นกลุ่มประเทศเอเชียไม่รวมญี่ปุ่น ยังมีมูลค่าการซื้อขายยังอยู่ในระดับต่ำ และสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

อ่านต่อ >>

ปีทองตลาดหุ้นเวียดนาม Country winner ปี 2024

โพสต์เมื่อ 29 มีนาคม 2567

เข้าสู่โค้งสุดท้ายของไตรมาส 1 ปี 2024 ตลาดหุ้นหลายแห่งทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น อินเดีย ยังเดินหน้าทำ New high อย่างต่อเนื่อง ทำให้การเข้าลงทุนในระดับราคาปัจจุบันเริ่มมีความเสี่ยง (Downside risk) ที่สูงขึ้นจาก Valuation ที่เริ่มตึงตัว

อ่านต่อ >>