เงินเฟ้อพุ่ง Fed เร่งขึ้นดอกเบี้ย...หุ้นกลุ่มไหนน่าลงทุน ?

file

ภายใต้สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ปะทุขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา หนุนให้ราคาน้ำมันดิบโลกอย่าง Brent และ WTI พุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 13 ปี ที่ 130 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้แนวโน้มเงินเฟ้อยังคงมีความเสี่ยงที่อาจจะอยู่ในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาด โดย Bloomberg Economics ประเมินว่า ความตึงเครียดดังกล่าวอาจทำให้เงินเฟ้อของสหรัฐฯ เดือน มี.ค. พุ่งขึ้นแตะระดับ 9% YoY เป็นระดับที่สูงสุดในรอบกว่า 40 ปี

จากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูงในปัจจุบัน ทำให้การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก 0.25% นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2018

ขณะที่การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในช่วงที่ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอดีตพบว่า ตลาดหุ้น (S&P 500 Index) มักจะปรับตัวลงประมาณ 5 - 10% ในช่วง 1 - 2 เดือนก่อนขึ้นดอกเบี้ย แต่จะกลับมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นราว 1 เดือนหลังจากนั้น (ดังแผนภาพที่ 1)

แผนภาพที่ 1: การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น (S&P 500 Index) ในช่วงที่ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอดีต

file

ที่มา: Bloomberg, TISCO Economic Strategy Unit (TISCO ESU)

หากดูการปรับตัวลดลงมาจากจุดสูงสุด (Drawdown) ของตลาดหุ้นรอบนี้พบว่า มีการปรับตัวลดลงมาแล้วประมาณ 12% สอดคล้องกับ Valuation ของตลาดหุ้น (S&P 500 fwd 12-Month P/E Ratio) ปัจจุบันกลับมาเทรดอยู่ที่ระดับ 18.3 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ 18.6 เท่า (As of March 7, 2022)

อย่างไรก็ตาม จากนโยบายการเงินของ Fed ที่มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้น หลังเงินเฟ้อพุ่งขึ้นเกิน Target ที่ตั้งไว้ ส่งผลให้นักลงทุนหันมาให้ความสำคัญกับผลประกอบการ การเติบโตของรายได้และกำไรมากขึ้น เนื่องจากผลประกอบการที่เติบโตต่อเนื่องจะช่วยลดผลกระทบจากดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นได้

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Goldman Sachs และ Global Investment Research ระบุว่า ในช่วงที่เงินเฟ้อสูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate: อัตราดอกเบี้ยลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ) ปรับตัวลงดังเช่นในปัจจุบัน กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะ Outperform ตลาดก็คือ กลุ่ม Technology และกลุ่ม Consumer Discretionary นั่นเอง

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจาก FactSet (As of February 25, 2022) ที่คาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไร (Earnings Growth) ของหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี (Technology) และกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer Discretionary) ในดัชนี S&P 500 ทั้งปี 2022 อยู่ที่ 12.1% และ 21.2% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าดัชนี S&P 500 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 8.5%

ดังนั้น จึงมองว่า ทั้ง 2 กลุ่มอุตสาหกรรมข้างต้น เป็นกลุ่มที่มีความน่าสนใจสำหรับการลงทุนในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Technology ที่มีการเติบโตระดับสูง และสนับสนุนกระแสการเติบโตระยะยาวของ Metaverse อย่างกลุ่ม Cyber Security ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับบรรดาองค์กรชั้นนำทั่วโลก ตัวอย่างหุ้นในกลุ่มนี้ ได้แก่ บริษัท Palo Alto ผู้นำด้าน Network Security ปกป้องการคุกคามทาง Cyber เน้น Cloud เป็นหลัก คาดว่าจะมีรายได้ทั้งปี 2022 เติบโตราว 25% YoY และบริษัท Mandiant ที่ทำธุรกิจด้าน Cyber Security คาดว่าจะมีรายได้ทั้งปี 2022 เพิ่มขึ้นราว 15 - 17% YoY ซึ่งล่าสุดได้ถูก Google ซื้อกิจการไปด้วยเงินสดกว่า 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ถัดมาเป็นหุ้นกลุ่ม Consumer Discretionary ที่ทนทานกับภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น และรักษาระดับความสามารถในการทำกำไรจากความแข็งแกร่งของ Brands รวมถึงได้รับประโยชน์จากกำลังซื้อของคนระดับกลาง - บน สามารถกำหนดราคาหรือปรับราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นตามราคาต้นทุนที่สูงขึ้นได้ ตัวอย่างหุ้นในกลุ่มนี้ ได้แก่ แบรนด์กระเป๋าชื่อดังที่เรารู้จักกันดีอย่าง Hermes มีรายได้ทั้งปี 2021 เพิ่มขึ้นกว่า 42% YoY หรือแม้กระทั่ง Lululemon Athletica แบรนด์เสื้อผ้าและอุปกรณ์สำหรับโยคะ รายได้ใน Q3/2021 ก็เพิ่มขึ้นเช่นกันกว่า 40% YoY อีกทั้งบริษัทยังคาดว่า ใน Q4/2021 จะมีรายได้เติบโตเฉลี่ย 2 ปีราว 23 - 24% ด้วย

ฉะนั้น สำหรับกลยุทธ์การลงทุนจึงใช้โอกาสที่ตลาดปรับย่อตัวลงมาในปัจจุบัน ทยอยเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่ม Technology ที่มีการเติบโตของรายได้ระดับสูง และหนุนกระแสการเติบโตระยะยาวของ Metaverse อย่างกลุ่ม Cyber Security รวมถึงกลุ่ม Consumer Discretionary ที่มีความสามารถในการกำหนดราคาสินค้า มีรายได้เติบโตสูงจากความแข็งแกร่งของ Brands และสามารถรับมือกับเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น พร้อมกับดอกเบี้ยขาขึ้นที่จะตามมาหลังจากนี้ได้

โดย วิภาดา ศุภกุลวณิชย์  AFPT™

Assistant Wealth Manager ธนาคารทิสโก้  

----------------------------------------------------------------------------------- 

บทความล่าสุด

หุ้นกลุ่ม Healthcare ทวงคืนตำแหน่ง Top Performer บนเวทีหุ้นโลก

โพสต์เมื่อ 19 เมษายน 2567

ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา หุ้นกลุ่ม Healthcare กลับมาสร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น จากแนวโน้มการเติบโตที่คาดว่าจะสูงกว่าตลาดโดยรวมในปีนี้ ในขณะที่ยังซื้อขายในระดับราคาที่ไม่แพงโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่มเทคโนโลยีที่เติบโตในระดับใกล้เคียงกัน ทำให้ปีนี้มีโอกาสสูงที่กลุ่ม Healthcare จะกลับมาทวงคืนตำแหน่ง Top Performer บนเวทีตลาดหุ้นโลก

อ่านต่อ >>

ปรับพอร์ตสร้างกำไร ขายหุ้นสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น เบนเข็มลงทุน “หุ้น Asia ex Japan”

โพสต์เมื่อ 19 เมษายน 2567

ในปี 2024 เศรษฐกิจโลกภาพรวมเติบโตดีกว่าคาด โดยภูมิภาคที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดคือ ภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่จะเติบโตได้ดีในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว และยังเป็นปีแห่งโอกาส

อ่านต่อ >>

จับจังหวะทำกำไร กับขาขึ้นรอบใหม่ของตลาดหุ้น Asia

โพสต์เมื่อ 19 เมษายน 2567

ตลาดหุ้นเอเชีย (Asia ex Japan) ถือเป็นตลาดหุ้นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงไม่แพ้ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets) โดยเฉพาะในฝั่งของภาคการผลิตที่บริษัทยักษ์ใหญ่จากภูมิภาคเอเชีย ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในหลายอุตสาหกรรมการผลิตของโลก

อ่านต่อ >>