จัดพอร์ตแบบไหน ไม่ต้องกลัวตลาดผันผวน

file

นับตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกกลับมาเผชิญความผันผวนที่รุนแรงอีกครั้ง โดยมีชนวนเหตุมาจากตัวเลขอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ที่ออกมาสูงกว่าคาด ส่งผลให้ตลาดกลับมากังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ การปิดสถานะการกู้ยืมสกุลเงินเยนเพื่อไปลงทุน (Yen Carry Trade Unwind) ที่เข้ามาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ก็ก่อให้เกิดการเทขายหุ้นอย่างหนักมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ จนเกิดเป็นเหตุการณ์ Black Monday ในช่วงวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา แม้ว่าในท้ายที่สุด สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็วและทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวกลับมา แต่เหตุการณ์เหล่านี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า ความไม่แน่นอนในโลกการลงทุนยังคงมีอยู่เสมอ

1. หุ้นกลุ่ม Quality 

คุณภาพของหุ้นถือเป็นปัจจัยที่นักลงทุนจะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษในสถานการณ์ที่ความเสี่ยงในการลงทุนเริ่มสูงขึ้น หุ้นกลุ่ม Quality ถือเป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมในการเป็น Core Portfolio เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว เพราะเป็นกิจการที่มีแนวโน้มรายได้และกำไรเติบโตสูงอย่างสม่ำเสมอและไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง หนี้สินน้อยและมีความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนเหนือคู่แข่ง อันเนื่องมาจากการมีแบรนด์สินค้าที่ผู้บริโภคทั่วโลกชื่นชอบ มีสิทธิบัตรคุ้มครองการลอกเลียนแบบสินค้าที่บริษัทผลิตคิดค้น ตลอดจนมีพลังแห่งเครือข่าย (Network Effect) ที่ทำให้ Platform ของบริษัทให้ยิ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เมื่อมีจำนวนผู้ใช้งานมากขึ้น ยกตัวอย่างบริษัทที่ถูกจัดว่าเป็นหุ้น Quality ได้แก่ หุ้นกลุ่ม Technology อย่าง Apple, Microsoft, Meta Platforms, Nvidia และ ASML หุ้นกลุ่ม Financials อย่าง VISA และ Mastercard หุ้นกลุ่ม Consumer staples อย่าง Costco Wholesale และหุ้นกลุ่ม Healthcare อย่าง Novo Nordisk และ Eli Lilly

จากสถิติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หุ้นกลุ่ม Quality (ดัชนี MSCI World Sector Neutral Quality Index) สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงถึง 164% เอาชนะดัชนีตลาดหุ้นโลก (ดัชนี MSCI ACWI Index) ที่สร้างผลตอบแทนได้เพียง 126% ไปอย่างขาดลอย นอกจากนี้ หุ้นกลุ่ม Quality ยังมีความผันผวนของราคาหุ้นที่ต่ำกว่าดัชนีตลาดหุ้นโลก สะท้อนให้เห็นว่า หุ้น Quality เป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนเทียบกับความเสี่ยงที่คุ้มค่าและเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับภาวะตลาดที่ผันผวน

2. ตราสารหนี้คุณภาพดี (Investment Grade Bond)

พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และหุ้นกู้ภาคเอกชนคุณภาพดี ถือเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่ต้องมีในพอร์ตการลงทุน เพราะนอกจากจะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนโดยรวมแล้ว ยังถือเป็นตัวเลือกที่ดีในการ “Hedge ความเสี่ยงเรื่อง Recession” โดยสถิติในอดีตช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยนับตั้งแต่ปี 1980 -2020 ตราสารหนี้คุณภาพดีทั่วโลก (Bloomberg Global Aggregate Bond Index) สามารถสร้างผลตอบแทนได้โดยเฉลี่ย 4.17%

ทั้งนี้ ตราสารหนี้ที่เลือกลงทุนควรเป็นตราสารหนี้ที่มีอายุค่อนข้างยาว เนื่องจากจะได้รับผลตอบแทนด้านราคา (Capital Gain) ที่มากกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น เมื่อธนาคารกลางปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและควรมี Credit Rating ที่สูงมากกว่าระดับ A- ขึ้นไป เพื่อลดความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

3. Commodities

ความกังวลต่อภาวะสงครามที่อาจปะทุขึ้นทั้งในตะวันออกกลางยังคงวนเวียนอยู่คู่กับตลาดการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ ที่นักลงทุนจะสามารถคาดการณ์ได้ว่าสงครามจะเกิดขึ้นหรือไม่และจะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม เราสามารถที่จะเลือกสินทรัพย์ลงทุนที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์สงครามได้ นั่นก็คือ สินค้าโภคภัณฑ์ ยกตัวอย่างเช่น ทองคำ ที่ราคามักจะปรับตัวขึ้นหากเกิดเหตุการณ์สงคราม เนื่องจากนักลงทุนมองทองคำเป็นเสมือนสินทรัพย์ปลอดภัย นอกจากนี้ ในกรณีที่สงครามในตะวันออกกลางลุกลามบานปลาย จนมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ภาวะขาดแคลนน้ำมันชั่วคราว ราคาน้ำมันก็มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น โดยจากการศึกษาราคาสินทรัพย์ย้อนหลังในช่วงสงคราม 6 ครั้งหลังสุดระหว่างปี 1991-2023 ราคาทองคำและราคาน้ำมัน มักปรับตัวขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 10% ก่อนเกิดสงคราม ดังนั้น ทองคำและน้ำมัน จึงถือเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจในการจัดพอร์ตเพื่อ “Hedge ความเสี่ยงเรื่องสงคราม”

จะเห็นได้ว่า แม้ว่าในครึ่งปีหลังยังมีความเสี่ยงในหลายประเด็นที่นักลงทุนไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่นักลงทุนสามารถจัดพอร์ตเพื่อเตรียมรับมือกับทุกสถานการณ์ได้ ด้วยการจัดพอร์ตแบบ Balance และไม่ Bet ไปทางใดทางหนึ่ง เปรียบเสมือน การที่เราไม่จำเป็นต้องคาดการณ์ว่าพายุจะเกิดเมื่อไร แต่มุ่งเน้นไปที่การสร้างเรือที่แข็งแกร่ง ซึ่งสามารถฝ่าฟันพายุและพาเราไปสู่เป้าหมายได้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง    

โดย ภาคภูมิ พีรยวัฒนา AFPT™

Senior Wealth Manager ธนาคารทิสโก้

file
file

บทความล่าสุด

4 ปัจจัยหนุนหุ้นไทยขึ้นต่อ รับดอกเบี้ยโลกขาลง

โพสต์เมื่อ 8 ตุลาคม 2567

ตลาดหุ้นไทยกลายเป็นตลาดที่น่าจับตามองหลังดัชนี SET Index ปรับตัวขึ้นมาบริเวณ 1,460 จุด หรือปรับตัวขึ้นนับจากจุดต่ำสุดกว่า 200 จุด ส่งผลให้ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยสร้างผลตอบแทนสูงถึง 8.8% และสูงสุดในประเทศกลุ่มอาเซียน

อ่านต่อ >>

4 เหตุผลที่ต้องมีหุ้น Healthcare ติดพอร์ตในไตรมาส 4

โพสต์เมื่อ 8 ตุลาคม 2567

วัฏจักรดอกเบี้ยขาลงได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากถึง 0.5% จากระดับ 5.25 - 5.5% สู่ระดับ 4.75 - 5% ซึ่งถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่มากกว่าตลาดคาด

อ่านต่อ >>

เปิดนโยบาย Trump vs Harris จับทิศการลงทุน

โพสต์เมื่อ 8 ตุลาคม 2567

ผ่านไปแล้วกับการขึ้นเวทีดีเบตระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และ คามาลา แฮร์ริส ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้ง 2 ฝ่ายต่างแสดงวิสัยทัศน์และนโยบายที่จะใช้บริหารประเทศที่โดดเด่นและมีความแตกต่างกัน นโยบายของผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้นำคนสำคัญของโลกจะเป็นเข็มทิศสำคัญต่อการวางแผนการลงทุน

อ่านต่อ >>