หุ้นเวียดนาม Oversold โอกาสหรือความเสี่ยง ?

file

นับจากช่วงต้นไตรมาส 2/2022 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นเวียดนามซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในตลาดหุ้นดาวเด่นแห่งอาเซียนได้ปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องราว 35% จากจุดสูงสุด สร้างความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุนและเกิดคำถามว่า การปรับฐานของตลาดหุ้นเวียดนามในครั้งนี้เป็นความเสี่ยงหรือเป็นโอกาส ?

ปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นเวียดนามให้ปรับฐานลงแรงในช่วงที่ผ่านมา สามารถสรุปได้เป็น 2 ประเด็นหลัก ดังนี้ ประเด็นแรก เป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับ 4% เป็น 6% เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินดองไม่ให้อ่อนค่าจนเกินไป แม้ว่าเวียดนามจะไม่ได้เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูงเหมือนกับประเทศอื่น ๆ และยังสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ใกล้เคียงกับเป้าหมายของธนาคารกลางที่ 4% ก็ตาม

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ทำให้ธนาคารพาณิชย์บางแห่งในเวียดนามมีการขยับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นมาอยู่ใกล้เคียง 10% ด้วยสภาวะตลาดหุ้นทั่วโลกและตลาดหุ้นเวียดนามเองในปีนี้ที่กำลังเผชิญความผันผวนที่สูง ทำให้นักลงทุนรายย่อยที่มีสัดส่วนราว 90% ของนักลงทุนในเวียดนาม ลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงลงและมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากตลาดหุ้นไปอยู่ในเงินฝาก ทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามเผชิญแรงเทขายและเกิดการ Force Sell จากบัญชี Margin ของนักลงทุนตามมา

ประเด็นที่สอง คือ ความกังวลของนักลงทุนต่อบริษัทในภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากในช่วงไตรมาส 2/2022 ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามมีการจับกุมผู้บริหารของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มีการออกหุ้นกู้และนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ทำให้นักลงทุนมีความกังวลว่า บริษัทอสังหาริมทรัพย์บางแห่งที่มีหนี้สินในระดับสูง จะเกิดปัญหาด้านสภาพคล่องและไม่สามารถที่จะ Refinance หุ้นกู้เพื่อระดมเงินทุนได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เรามองว่าประเด็นความกังวลเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นเวียดนามเป็น “ปัจจัยชั่วคราว” ที่สามารถบริหารจัดการและแก้ไขได้ โดยคาดว่าความกังวลเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเริ่มผ่อนคลายลงจากการที่ Fed เริ่มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 1/2023 และทำให้เวียดนามเริ่มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม เช่นเดียวกันกับ ความกังวลในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นปัญหาเฉพาะรายบริษัทและมีโอกาสน้อยที่จะลุกลามเป็นวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่อย่างที่นักลงทุนในตลาดกังวล เนื่องจากภาพรวมบริษัทจดทะเบียนในเวียดนามยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (DE Ratio) ที่อยู่ในระดับที่ต่ำเพียง 0.5 เท่า

ด้วยแรงเทขายแบบ Panic Sell ของนักลงทุนในเวียดนาม โดยไม่ได้พิจารณาถึงปัจจัยพื้นฐานของบริษัท ส่งผลให้ ณ ระดับราคาปัจจุบัน Valuation ของตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวลดลงมาซื้อขายอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี สะท้อนจากค่า Forward PE ที่อยู่ในระดับเพียงแค่ 8 เท่า ในขณะที่ทิศทางการเติบโตของผลกำไรบริษัทจดทะเบียนในเวียดนาม (EPS Growth) ยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น โดย Bloomberg Consensus คาดว่าจะเติบโตได้ในระดับที่สูงถึง +18.3% YoY ในปี 2022 และ +17.8% YoY ในปี 2023

นอกจากนี้ หากพิจารณาย้อนหลังไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่ตลาดหุ้นเวียดนามมีการปรับฐานลงแรงกว่า 20% จนระดับ Forward PE ลงมาซื้อขายอยู่แถวบริเวณ 10 เท่า มักจะเป็นจุดที่ตลาดหุ้นเวียดนามสามารถกลับตัวเป็นขาขึ้นได้และสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยในระดับที่สูงกว่า 35% ในช่วง 1 ปีต่อมา ดังนั้น Valuation หุ้นเวียดนาม ณ ระดับราคาปัจจุบันที่มี Forward PE เพียง 8 เท่า จึงถือเป็นระดับราคาที่ “Oversold” และมีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย (Margin of Safety) ที่สูงถึงกว่า 20%

ทั้งนี้ ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาคของเวียดนามยังคงมีความแข็งแกร่งเช่นเดิม ทั้งในแง่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ IMF ยังคงคาดการณ์ว่า GDP ของเวียดนามจะเติบโตได้สูงถึง 6.2% ในปี 2023 และ 6.6% ในปี 2024 สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยได้รับแรงหนุนทั้งจากการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มีการย้ายฐานการผลิตเข้ามาเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสถานะทางการเงินของประเทศที่ยังแข็งแกร่ง สะท้อนจากระดับหนี้สินต่างประเทศต่อ GDP ที่อยู่ในระดับต่ำและทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง

กลยุทธ์การลงทุนในเวียดนามควรมีกรอบระยะเวลาการลงทุนในระดับ 3 - 5 ปีขึ้นไป เพื่อสร้างผลตอบแทนในระดับสูง สอดรับไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามและก้าวข้ามความผันผวนของตลาดในระยะสั้น ดังนั้น เรามองว่าวิกฤตตลาดหุ้นเวียดนามในครั้งนี้ จึงไม่เป็นเพียงแต่เป็นโอกาสของนักลงทุนในตลาดหุ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสของมนุษย์เงินเดือนทุกคนที่กำลังมองหากองทุน SSF และ RMF ที่จะใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษีควบคู่ไปกับการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงในระยะยาวไปกับตลาดหุ้นเวียดนาม      

 

======================

 

บทความโดย ภาคภูมิ พีรยวัฒนา AFPT Wealth Manager ธนาคารทิสโก้

เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ Financial Planning ของ กรุงเทพธุรกิจ

บทความล่าสุด

หุ้นกลุ่ม Healthcare ทวงคืนตำแหน่ง Top Performer บนเวทีหุ้นโลก

โพสต์เมื่อ 19 เมษายน 2567

ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา หุ้นกลุ่ม Healthcare กลับมาสร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น จากแนวโน้มการเติบโตที่คาดว่าจะสูงกว่าตลาดโดยรวมในปีนี้ ในขณะที่ยังซื้อขายในระดับราคาที่ไม่แพงโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่มเทคโนโลยีที่เติบโตในระดับใกล้เคียงกัน ทำให้ปีนี้มีโอกาสสูงที่กลุ่ม Healthcare จะกลับมาทวงคืนตำแหน่ง Top Performer บนเวทีตลาดหุ้นโลก

อ่านต่อ >>

ปรับพอร์ตสร้างกำไร ขายหุ้นสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น เบนเข็มลงทุน “หุ้น Asia ex Japan”

โพสต์เมื่อ 19 เมษายน 2567

ในปี 2024 เศรษฐกิจโลกภาพรวมเติบโตดีกว่าคาด โดยภูมิภาคที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดคือ ภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่จะเติบโตได้ดีในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว และยังเป็นปีแห่งโอกาส

อ่านต่อ >>

จับจังหวะทำกำไร กับขาขึ้นรอบใหม่ของตลาดหุ้น Asia

โพสต์เมื่อ 19 เมษายน 2567

ตลาดหุ้นเอเชีย (Asia ex Japan) ถือเป็นตลาดหุ้นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงไม่แพ้ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets) โดยเฉพาะในฝั่งของภาคการผลิตที่บริษัทยักษ์ใหญ่จากภูมิภาคเอเชีย ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในหลายอุตสาหกรรมการผลิตของโลก

อ่านต่อ >>