
หนึ่งในคำถามยอดฮิตช่วงนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี โดยเฉพาะในคนที่ถือกองทุน LTF จนครบกำหนดและกำลังมองหาทางเลือกใหม่ที่ยังใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ทำให้กองทุนที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากในเวลานี้คือ THAIESGX นอกเหนือไปจากการลงทุนที่นำไปลดหย่อนภาษีได้อย่างกองทุนเพื่อการเกษียณ (RMF), กองทุน THAIESG (เดิม), ประกันสะสมทรัพย์ และประกันบำนาญ
ทำความเข้าใจ THAIESGX กับ LTF: ใกล้เคียงแต่ไม่เหมือนเดิม
สำหรับผู้ที่เคยลงทุนใน LTF มาก่อน อาจรู้สึกว่ากองทุน THAIESGX มีลักษณะคล้ายกัน โดยเฉพาะในแง่ของการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีรวมถึงระยะเวลาการถือครอง อย่างไรก็ตาม THAIESGX มีความแตกต่างที่สำคัญตรงนโยบายการลงทุนที่เน้นในหุ้นไทยที่ผ่านเกณฑ์ ESG (Environment, Social, Governance) ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดความเสี่ยงจากธุรกิจที่ไม่ยั่งยืนในระยะยาว ขณะที่ LTF เดิมสามารถลงทุนในหุ้นไทยโดยไม่มีข้อจำกัดด้าน ESG
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเลือกย้ายหรือไม่ย้ายจาก LTF ไป THAESGX สามารถใช้ 3 คำถามง่าย ๆ ที่นอกจากจะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นแล้วยังช่วยให้เห็นทางเลือกอื่นที่อาจมีความเหมาะสมกว่า
เช็คลิสต์ 3 คำถามง่ายๆก่อนเลือกย้ายจาก LTF มา THAIESGX
- ยังมีรายได้อย่างน้อย 5 ปี และยังต้องการลดหย่อนภาษี การลงทุนในกองทุนที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี เหมาะสำหรับทุกคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีแต่จะได้ประโยชน์มากกว่าสำหรับผู้ที่มีฐานภาษีค่อนข้างสูง เช่น หากคุณอยู่ในฐานภาษี 20% การลงทุนใน THAIESGX ซึ่งถือครอง 5 ปี จะช่วยลดภาระภาษีเสมือนได้ได้ประโยชน์ทางภาษีเทียบเท่าผลตอบแทนประมาณ 4% ต่อปี ไม่รวมผลตอบแทนจากตลาด อย่างไรก็ตามวงเงินลดหย่อนจะจำกัดที่ 300,000 บาทในปีแรก และ 50,000 บาทต่อปีในปีที่ 2–5
ทางเลือกหากไม่เน้นลดหย่อนภาษี อาจจะเลือกขาย LTF เพื่อซื้อกองทุนรวมทั่วไปแทน
- เชื่อมั่นหุ้นไทยฟื้นตัวได้ในอนาคต นโยบายหลักกองทุน THAIESGX จะลงทุนในหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65% เป็นระยะเวลา 5 ปี ผลตอบแทนจึงขึ้นอยู่กับแนวโน้มหุ้นไทยในอนาคต ขณะที่ระดับ PE ปัจจุบันที่ 12X-13X เปรียบเสมือนการเริ่มต้นลงทุนด้วยระดับราคาที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปี ที่ 15.7 เท่า และ 10 ปี ที่ 15.3 เท่า หากมองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะทยอยฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก รวมถึงมีปัจจัยสนับสนุนทั้งการลดดอกเบี้ยของ กนง. และการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐจะสามารถช่วยหนุนตลาดหุ้นไทยใน 5 ปีข้างหน้า สมมติกรณีกำไรต่อหุ้นไทย (EPS) ไม่เปลี่ยนแปลงตลอด 5 ปีเท่ากับยังพอมีอัพไซด์ราว 20% หากกลับไปซื้อขายที่ค่าเฉลี่ย PE เหมือนในอดีต
ทางเลือกอื่นหากกระจายลงทุนออกจากหุ้นไทย อาจเลือกผลิตภัณฑ์ลดหย่อนภาษีอื่นได้แก่ ประกันบำนาญ, ประกันสะสมทรัพย์ และ RMF/THAIESG ที่สามารถเลือกลงทุนต่างประเทศ หรือตราสารหนี้ได้
- เลือกระดับความเสี่ยงให้เหมาะสม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมากองทุนดัชนีหุ้นไทยมีการปรับตัวลงจากจุดสูงสุด (maximum drawdown) ราว 20-25% ซึ่งเป็นความผันผวนปกติของตลาดหุ้นในกลุ่มอาเซียน ขณะที่ดัชนีตราสารหนี้ไทย(ความน่าเชื่อถือ A- ขึ้นไป อายุ 1-3ปี) ปรับตัวลงจากจุดสูงสุด (maximum drawdown) เพียง 1.4% จะเห็นว่าความผันผวนตราสารหนี้จะต่ำกว่าหุ้นมากตามลักษณะของสินทรัพย์
ทางเลือกสำหรับความเสี่ยง หากต้องการผลตอบแทนจากหุ้นไทย เลือกกองทุน THAIESGX ความเสี่ยงระดับ 6 และหากต้องการลดความผันผวนเลือกลงทุนกองทุน THAIESGX ที่ผสมหุ้นไทยและตราสารหนี้ที่ความเสี่ยงระดับ 5
สำหรับนักลงทุนที่ยังถือ LTF และกำลังมองหาทางเลือกใหม่เพื่อลดหย่อนภาษีในปี 2025 กองทุน THAIESGX ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ ด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ใกล้เคียงกับ LTF และโอกาสในการเติบโตจากการลงทุนในหุ้นไทยระยะยาว อย่างไรก็ตาม ควรถามตัวเองให้ชัดถึง “ความต้องการลดหย่อนภาษี” “โอกาสการฟื้นตัวของหุ้นไทยในอนาคต” รวมถึง “เลือกระดับความเสี่ยงให้เหมาะสม” เพื่อให้การลงทุนตอบโจทย์ทั้งเป้าหมายและความสบายใจของคุณในระยะยาว
แผนภาพ : เลือกย้าย/ไม่ย้าย LTF ไป THAIESGX พร้อมทางเลือกอื่น

บทความโดย ยศรวี จงแสงทอง AFPT™, AISA
Senior Wealth Manager ธนาคารทิสโก้