ปิดจุดอ่อน เสริมความแกร่ง ให้แผนเกษียณ

file

 

ปัจจุบันแหล่งข้อมูลหรือแนวทางการวางแผนการเงินมีแพร่หลายตามสื่อออนไลน์ต่างๆ มากมาย และหลากหลายเรื่องราว ทั้งเทคนิคการเก็บออม การสร้างความเข้าใจในเรื่องภาระหนี้สินและดอกเบี้ย การเลือกผลิตภัณฑ์ลดหย่อนภาษี ไปจนกระทั่งวิธีการเริ่มต้นการวางแผนเกษียณ เป็นต้น อย่างไรก็ดี เรื่องการเงินส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความละเอียดถี่ถ้วนและมีลักษณะความเหมาะสมที่เป็นปัจเจกไปในแต่ละบุคคลโดยเฉพาะการวางแผนเกษียณ เพราะเมื่อปัจจัยที่กำหนดไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและเป้าหมายที่ต้องการอาจทำให้แผนเกษียณไม่เหมาะสมและผิดพลาด จนอาจไม่สามารถแก้ไขได้หากเข้าใกล้เวลาเกษียณมากเกินไป หรืออาจจะทำให้การใช้ชีวิตหลังเกษียณไม่มีความสุข เพราะแผนที่วางไว้ไม่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตนเอง ซึ่งมีประเด็นหลักต่างๆ ที่เราจะต้องพิจารณาก่อนที่จะลงมือวางแผนเกษียณ เพื่อให้สามารถปรับแผนเกษียณไปในแนวทางที่เหมาะสมกับตนเองได้ โดยการปิดจุดอ่อนที่เราคาดไม่ถึง เพื่อเสริมให้ชีวิตหลังเกษียณของเรามีความมั่นคงมากขึ้น

จุดหมายสำคัญของการวางแผนเกษียณ คือ จำนวนเงินที่เราต้องการใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณจนสิ้นอายุขัย ซึ่งในปัจจุบันข้อมูลที่เรามักจะค้นหาเจอจะเป็นการให้คำแนะนำโดยสรุป เช่น อยากใช้ 15,000 บาทต่อเดือนจนถึงอายุ 80 ปี ต้องมีเงินเก็บ 4 ล้านบาท ถ้าอยากใช้มากกว่านั้นก็ขยับเพิ่มไปในสัดส่วนเท่ากัน เช่น 30,000 บาท ใช้ 8 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งถือว่ามีหลายจุดที่ต้องเข้าใจที่มาของวงเงินที่คำนวณได้ เพราะแต่ละบุคคลก็มีวิถีการใช้ชีวิต ลักษณะนิสัย ความพร้อมทางด้านการเงิน และความรู้ทางด้านการเงินการลงทุนที่แตกต่างกันไป โดยปัจจัยที่เราจะต้องให้ความสำคัญ มีดังต่อไปนี้

ประการแรก คือ “ค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณควรเป็นเท่าไหร่?” แนวทางทั่วไปจะกำหนดจาก 50 - 70% ของค่าใช้จ่ายต่อเดือนในช่วง 5 ปีสุดท้ายก่อนเกษียณ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายบางส่วนที่จะใช้จ่ายน้อยลงหลังเกษียณ เช่น ค่าเดินทาง ค่าเสื้อผ้า หรือค่าใช้จ่ายทางสังคม แต่สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่เริ่มวางแผนเกษียณตั้งแต่เนิ่นๆ อาจจินตนาการไม่ออกว่าค่าใช้จ่ายก่อนเกษียณจะเป็นเท่าไหร่ อาจเทียบเคียงจากค่าใช้จ่ายปัจจุบันที่ปรับเพิ่มขึ้นด้วยอัตราการขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยตั้งแต่เริ่มทำงานมาคำนวณต่อเนื่องไปถึงปีที่ต้องการเกษียณก็ได้ แต่อย่าลืมพิจารณาถึงอัตราเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้นในแต่ละปี นับตั้งแต่เวลาที่เราเริ่มวางแผนการเงินด้วย เช่น หากเราเริ่มวางแผนเกษียณเมื่ออายุ 40 ปี โดยมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่คาดหวัง ณ วันเกษียณประมาณ 30,000 บาท ในมูลค่าปัจจุบัน เมื่ออายุ 60 ปี เราต้องวางแผนเกษียณโดยตั้งเป้าหมายว่า ต้องเก็บเงินเพื่อให้มีเงินใช้จ่ายในเดือนแรก
หลังเกษียณเท่ากับ 54,200 บาทต่อเดือน ในอีก 20 ปีข้างหน้า ด้วยข้อสมมติว่าอัตราเงินเฟ้อต่อปีเท่ากับ 3% เพื่อให้อำนาจซื้อไม่ลดลงจากอัตราเงินเฟ้อ

ประการต่อมาที่มักผิดพลาดกับการวางแผนค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ คือ “อายุขัย” ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดวงเงินที่ต้องเตรียมไว้หลังเกษียณ หากประเมินอายุขัยสูงมากเกินไป เช่น 100 ปี ข้อดีก็คือ ถ้าทำได้ตามแผนก็มีโอกาสใช้จ่ายในช่วงหลังเกษียณอย่างพอเพียง แต่ข้อเสียคือ จะใช้วงเงินจำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้แผนการลงทุนต้องรับความเสี่ยงมากขึ้น เพื่อให้มีเงินทุนเพียงพอตามแผนที่วางไว้ แต่หากประเมินต่ำเกินไป เงินทุนอาจถูกใช้จ่ายจนหมดไปก่อนสิ้นอายุขัยได้ ซึ่งเราสามารถกำหนดอายุขัยด้วยค่าเฉลี่ยของคนไทยที่ประมาณ 80 ปีก่อนได้ จากนั้นก็ปรับด้วยประวัติครอบครัวตนเอง เพื่อให้ได้อายุขัยที่เหมาะสมสำหรับการวางแผนเกษียณ

file

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณมักมีรูปแบบที่แตกต่างจากช่วงก่อนเกษียณ ควรพิจารณาให้ดีก่อนวางแผนเกษียณ โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น โดยวิธีการวางแผนเพื่อให้สามารถประเมินค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล อาจใช้ประกันสุขภาพ เข้ามาควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่แน่นอน และมีโอกาสเพิ่มสูงกว่าเงินเฟ้อในอนาคต โดยแนะนำให้เริ่มซื้อประกันสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ หรืออาจเริ่มตั้งแต่การวางแผนเกษียณก็ได้ เนื่องจากช่วงอายุ 30 - 40 ปี ยังเป็นช่วงที่ยังไม่เป็นโรคประจำตัว จึงไม่มีเงื่อนไขความคุ้มครองเพิ่มเติมจากที่บริษัทประกันเสนอขาย ทำให้คุ้มค่ากว่าไปตัดสินใจทำประกันสุขภาพตอนใกล้เกษียณ เพราะยิ่งสูงอายุขึ้น อาจเกิดโรคภัยบางอย่างที่บริษัทประกันสามารถปฏิเสธการรับประกัน หรือต้องจ่ายเบี้ยเพิ่มเติมเพื่อรับความคุ้มครองได้ และควรพิจารณาประกันสุขภาพที่สามารถให้ความคุ้มครองช่วงหลังอายุ 60 - 80 ปีขึ้นไปได้ เนื่องจากจุดประสงค์ของการซื้อประกันสุขภาพที่เป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนเกษียณคือเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่ไม่แน่นอนในอนาคต จนกระทบแผนเกษียณที่วางไว้

อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดของผู้เริ่มต้นวางแผนเกษียณหรือวางแผนการเงิน คือ มักที่จะละเลยประโยชน์ของการทำประกันสุขภาพ โดยเอาผลตอบแทนในรูปตัวเงินของการทำประกันสุขภาพไปเทียบกับการลงทุนเท่านั้น แต่หากพิจารณาในบริบทของความเสี่ยง การทำประกันภัยต่างๆ จะช่วยการโอนความเสี่ยงที่ไม่แน่นอน เช่น ค่ารักษายามเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน ยิ่งเกิดเหตุในช่วงที่เราต้องประกอบอาชีพและขาดรายได้ก็จะทำให้การดำเนินแผนเกษียณยากขึ้นไปอีกระดับ ในขณะที่การลงทุนจะสามารถลดความเสี่ยงจากการลงทุนได้เพียงแต่ความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ (Unsystematic Risk) เช่น ความเสี่ยงเฉพาะตัวบริษัท หรือความเสี่ยงของแต่ละชนิดสินทรัพย์เท่านั้น แต่คงเหลือความเสี่ยงเชิงระบบ (Systematic Risk) ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น อัตราเงินเฟ้อ ที่เป็นตัวแปรสำคัญคอยลดทอนอำนาจซื้อ หากเราไม่สามารถลงทุนให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงเวลานั้นๆ อีกด้วย

สำหรับการวางแผนเกษียณนั้น มีปัจจัยต่างๆ ที่ถูกกำหนดไว้มากมายเพื่อให้ได้เงินทุนที่ต้องการไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ ดังนั้น นอกเหนือจากว่าเราจะต้องการรู้ว่าเงินทุนที่ต้องเตรียมไว้ก่อนเกษียณควรเป็นเท่าไหร่ตามค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่ต้องการแล้ว ถ้าเรายังเข้าใจปัจจัยต่างๆ ที่นำมาคำนวณหาเงินทุนที่ต้องการเพิ่มเติมด้วย ก็จะยิ่งทำให้เราสามารถวางแผนเกษียณได้ตรงตามเป้าหมายที่ต้องการ เพื่อให้แผนเกษียณเหมาะสมกับตนเอง และสามารถดำเนินการตามแผนเกษียณที่วางไว้อย่างราบรื่น พร้อมใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างมีความสุข  

===========================================

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่คอลัมน์ Holistic Financial Advisory ใน TRUST Magazine

บทความล่าสุด

หุ้นกลุ่ม Healthcare ทวงคืนตำแหน่ง Top Performer บนเวทีหุ้นโลก

โพสต์เมื่อ 19 เมษายน 2567

ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา หุ้นกลุ่ม Healthcare กลับมาสร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น จากแนวโน้มการเติบโตที่คาดว่าจะสูงกว่าตลาดโดยรวมในปีนี้ ในขณะที่ยังซื้อขายในระดับราคาที่ไม่แพงโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่มเทคโนโลยีที่เติบโตในระดับใกล้เคียงกัน ทำให้ปีนี้มีโอกาสสูงที่กลุ่ม Healthcare จะกลับมาทวงคืนตำแหน่ง Top Performer บนเวทีตลาดหุ้นโลก

อ่านต่อ >>

ปรับพอร์ตสร้างกำไร ขายหุ้นสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น เบนเข็มลงทุน “หุ้น Asia ex Japan”

โพสต์เมื่อ 19 เมษายน 2567

ในปี 2024 เศรษฐกิจโลกภาพรวมเติบโตดีกว่าคาด โดยภูมิภาคที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดคือ ภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่จะเติบโตได้ดีในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว และยังเป็นปีแห่งโอกาส

อ่านต่อ >>

จับจังหวะทำกำไร กับขาขึ้นรอบใหม่ของตลาดหุ้น Asia

โพสต์เมื่อ 19 เมษายน 2567

ตลาดหุ้นเอเชีย (Asia ex Japan) ถือเป็นตลาดหุ้นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงไม่แพ้ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets) โดยเฉพาะในฝั่งของภาคการผลิตที่บริษัทยักษ์ใหญ่จากภูมิภาคเอเชีย ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในหลายอุตสาหกรรมการผลิตของโลก

อ่านต่อ >>