เกษียณสุขไร้กังวล ด้วย ‘ประกันบำนาญ’ ทางเลือกสร้างอิสรภาพทางการเงิน ที่คุณก็ทำได้

file

อิสรภาพทางการเงิน หรือ การใช้ชีวิตโดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงิน ถือเป็นผลประโยชน์ในขณะดำรงชีวิต (Living Benefit) ที่เป็นเป้าหมายสูงสุดของวัยทำงานเลยก็ว่าได้ ซึ่ง “การวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณ” เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้คุณมีอิสรภาพทางการเงิน และใช้ชีวิตได้อย่างใจหวัง โดยปัจจุบันสังคมเริ่มให้ความสนใจการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณมากขึ้น เนื่องด้วยสภาพโครงสร้างประชากรสังคมผู้สูงอายุที่เกิดจากอัตราการเกิดที่น้อยลง เป็นผลสืบเนื่องมาจากการมีบุตรน้อยลง และครองโสดมากขึ้น รวมถึงนวัตกรรมการแพทย์ที่ช่วยยืดอายุขัยได้ เช่น การป้องกันด้วยศาสตร์ชะลอวัย (Anti-ageing) หรือการรักษาโรคด้วยวิธีใหม่ๆ มากมาย เช่น ยารักษาแบบเฉพาะบุคคลหรือเฉพาะโรค  ซึ่งจะเห็นข้อเท็จจริงได้จากตัวเลขอายุขัยเฉลี่ยที่ค่อยๆ สูงขึ้นทุกปี 

และสำหรับประเทศไทยคาดการณ์กันว่า คนที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป อาจมีอายุถึง 100 ปี อย่างไรก็ดี การมีชีวิตที่ยืนยาวย่อมมีค่าใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น หากเกษียณอายุโดยปราศจากการวางแผนที่ดีและละเลยช่วงอายุหลังเกษียณที่เปลี่ยนไป อาจเกิดภาวะ “เงินหมดก่อนตาย” จนขาดอิสรภาพทางการเงินและอาจกลายเป็นภาระของครอบครัวตนเอง หรือสังคมก็เป็นได้

สำหรับวิธี เริ่มต้นวางแผนการเงินเพื่อเกษียณมักเริ่มจากการสำรวจแหล่งเงินทุนเพื่อการเกษียณ ซึ่งประกอบด้วย กองทุนชราภาพจากประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กองทุนรวมเพื่อการเกษียณ (RMF) และสุดท้าย คือ ประกันบำนาญ ทั้งนี้ยังไม่รวมการลงทุนเพิ่มเติมอื่นๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับเป้าหมายช่วงวัยเกษียณ และความเสี่ยงจากการลงทุนที่ยอมรับได้

อย่างไรก็ตาม หากไม่นับกองทุนชราภาพจากประกันสังคม กองทุน PVD หรือ กบข. คนส่วนใหญ่มักเริ่มวางแผนเพื่อการเกษียณโดยให้ความสำคัญกับการลงทุนที่การสร้างผลตอบแทนเป็นหลัก  นั่นคือเน้นลงทุนผ่านกองทุน RMF มากกว่าที่จะเลือกวางแผนผ่านประกันบำนาญ บ่งชี้จากข้อมูลของ Google Trends ตั้งแต่ปี 2019 ถึง 2021 รายงานว่า ดัชนีจำนวนคำค้นผ่านเว็บไซต์ Google ระหว่างคำว่า “RMF” สูงกว่าคำว่า “ประกันบำนาญ” ทั้งที่จริงแล้ว วิธีการวางแผนเกษียณที่ดี จะต้องลดความไม่แน่นอนของเงินทุนที่คาดว่าจะมีใช้หลังเกษียณ ก่อนที่จะแสวงหาผลตอบแทนที่มาพร้อมกับความเสี่ยงเสมอ เผื่อกรณีที่การลงทุนผิดพลาดไปจากที่คาดไว้จะได้ไม่ไปกระทบกับแผนเกษียณที่วางไว้

 ซึ่งข้อดีของประกันบำนาญ คือ สามารถกำหนดกระแสเงินสดในช่วงเกษียณตามที่เราต้องการได้แน่นอนตามที่ระบุในกรมธรรม์ แตกต่างจากกองทุนรวมต่างๆ ที่ถึงแม้จะมีให้เลือกการลงทุนที่ผลตอบแทนต่อความเสี่ยงแตกต่างกัน ก็ยังคาดคะเนกระแสเงินสดที่ไม่แม่นยำเท่าประกันบำนาญอยู่ดี

นอกจากนี้ การติดตามข่าวสารเพื่อตัดสินใจลงทุนอยู่เสมอ อาจไม่ใช่อิสรภาพทางการเงินที่แท้จริง เพราะควรใช้เวลาหลังเกษียณไปกับการพักผ่อนหลังจากที่ทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างเหน็ดเหนื่อยมาตลอด 30 – 40 ปีที่ผ่านมามากกว่า อีกทั้ง ประกันบำนาญในปัจจุบันสามารถตอบโจทย์ยุคสังคมผู้สูงอายุ โดยมีการจ่ายเงินบำนาญให้ต่อเนื่องจนถึงอายุ 99 ปี ซึ่งช่วยลดความกังวลว่าเงินเพื่อการเกษียณจะหมดไปก่อนสิ้นอายุขัย

อีกคำถามที่ตามมาก็คือ ควรจะซื้อประกันบำนาญเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม แนะนำว่าอาจเริ่มพิจารณาจากค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะใช้ยามเกษียณ เบื้องต้นคำนวณจาก 70% ของค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน จากนั้นปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อจนถึงอายุเกษียณ เช่น ปัจจุบันอายุ 40 ปี มีค่าใช้จ่ายประมาณ 40,000 บาทต่อเดือน หรือ 480,000 บาทต่อปี เมื่อปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ 3% ต่อปีและหัก 30% จะคิดเป็นยอดเงินประมาณ 600,000 บาทต่อปี หรือราว 50,000 บาทต่อเดือน

หากเราใช้ชีวิตหลังเกษียณจนถึงอายุ 90 ปี เงินทุนที่ต้องเตรียมไว้เพื่อเกษียณต้องใช้ถึง 13.6 ล้านบาท หากลงทุนที่อัตราผลตอบแทนหลังเกษียณปีละ 5% แต่สามารถใช้เงินเพียง 9.5 – 10.8 ล้านบาท เพื่อซื้อประกันบำนาญโดยมีเงินบำนาญให้ปีละ 600,000 บาทจนถึงอายุ 90 ปี ซึ่งสามารถประหยัดไปได้ถึง 3 – 4 ล้านบาท หรือ 30% โดยประมาณ

ทั้งนี้ ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นในการคาดการณ์ว่าจะมีแหล่งเงินเพื่อรองรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณเท่าใด และหากต้องการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น วางแผนการท่องเที่ยวยามเกษียณ หรือ แบ่งเงินทุนเพื่อเป็นมรดกแก่ทายาท อาจบริหารจากแหล่งเงินทุนอื่นที่สามารถเพิ่มผลตอบแทนได้จากที่กล่าวไปเป็นตัวอย่างข้างต้น ซึ่งอาจเป็นเป้าหมายที่อาจยอมรับความผิดพลาดได้บางส่วนหากการลงทุนไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ซึ่งเป็นลักษณะของการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินอยู่แล้ว

จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ทุกคนจะเล็งเห็นถึงความสำคัญของการวางแผนเกษียณที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน เพื่อสร้างอิสรภาพทางการเงินยามเกษียณ แต่ส่วนมากยังเห็นถึงความสำคัญของการแสวงหาผลตอบแทนสูงๆ มากกว่าความมั่นคงของผลตอบแทน ซึ่งการวางแผนเกษียณด้วยประกันบำนาญ ถือเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สำคัญ เพื่อให้การวางแผนเกษียณมีความมั่นคงโดยไม่ต้องกังวลว่า การลงทุนจะผิดพลาดจนกระทบการใช้ชีวิตยามเกษียณ เพื่อสร้างอิสรภาพทางการเงินได้อย่างแท้จริง

===========================================

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่คอลัมน์ Financial Planning ใน กรุงเทพธุรกิจ

บทความล่าสุด

หุ้นกลุ่ม Healthcare ทวงคืนตำแหน่ง Top Performer บนเวทีหุ้นโลก

โพสต์เมื่อ 20 เมษายน 2567

ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา หุ้นกลุ่ม Healthcare กลับมาสร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น จากแนวโน้มการเติบโตที่คาดว่าจะสูงกว่าตลาดโดยรวมในปีนี้ ในขณะที่ยังซื้อขายในระดับราคาที่ไม่แพงโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่มเทคโนโลยีที่เติบโตในระดับใกล้เคียงกัน ทำให้ปีนี้มีโอกาสสูงที่กลุ่ม Healthcare จะกลับมาทวงคืนตำแหน่ง Top Performer บนเวทีตลาดหุ้นโลก

อ่านต่อ >>

ปรับพอร์ตสร้างกำไร ขายหุ้นสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น เบนเข็มลงทุน “หุ้น Asia ex Japan”

โพสต์เมื่อ 20 เมษายน 2567

ในปี 2024 เศรษฐกิจโลกภาพรวมเติบโตดีกว่าคาด โดยภูมิภาคที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดคือ ภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่จะเติบโตได้ดีในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว และยังเป็นปีแห่งโอกาส

อ่านต่อ >>

จับจังหวะทำกำไร กับขาขึ้นรอบใหม่ของตลาดหุ้น Asia

โพสต์เมื่อ 20 เมษายน 2567

ตลาดหุ้นเอเชีย (Asia ex Japan) ถือเป็นตลาดหุ้นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงไม่แพ้ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets) โดยเฉพาะในฝั่งของภาคการผลิตที่บริษัทยักษ์ใหญ่จากภูมิภาคเอเชีย ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในหลายอุตสาหกรรมการผลิตของโลก

อ่านต่อ >>