วางแผนชีวิต ต้องคิดให้ถึง 100 ปี

file

หลายท่านวาดฝันชีวิตในยามเกษียณวัย 60 ปีว่า เป็นช่วงเวลาที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีเวลามากเพียงพอที่จะสามารถท่องเที่ยวและทำในสิ่งที่อยากทำ แต่รู้หรือไม่ว่า เป้าหมายหลังจากเกษียณอายุเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงิน ซึ่งในวัยเกษียณนั้นรายรับจากการทำงานจะหมดไปโดยเฉพาะกับผู้ที่ทำงานประจำ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต ถึงแม้จะเริ่มลดลง แต่ยังเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาจนถึงสิ้นอายุขัย และจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเรายังต้องมีเงินทุนสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตอีกอย่างน้อย 20 ปี และอาจเพิ่มขึ้นอีกเป็น 25 - 40 ปี ตามอายุขัยเฉลี่ยของประชากรไทยที่มีอายุขัยเพิ่มสูงขึ้นทุกปี 

ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณที่ยังคงรักษาคุณภาพชีวิตไว้ใกล้เคียงเดิมควรอยู่ประมาณ 70% ของค่าใช้จ่าย ณ วันก่อนเกษียณ เช่น หากค่าใช้จ่าย ณ วันก่อนเกษียณอยู่ประมาณเดือนละ 70,000 บาท ควรจะประเมินค่าใช้จ่ายหลังเกษียณไว้ที่เดือนละ 49,000 บาท หรือปีละ 588,000 บาท ตลอดระยะเวลา 20 ปี ทำให้ ณ วันที่เกษียณอายุต้องเตรียมเงินทุนไว้สูงถึง 9.8 ล้านบาท เพื่อให้สามารถเลี้ยงชีพและรักษามาตรฐานการดำรงชีวิตไว้ในระดับเดิม (คำนวณจากอัตราผลตอบแทน ปรับด้วยเงินเฟ้อสุทธิที่ 2%) และหากมีอายุยืนยาวถึง 30 ปี หลังเกษียณจะต้องเตรียมเงินทุนไว้สูงถึง 13.4 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่า การเตรียมความพร้อมสำหรับการเกษียณเป็นเรื่องที่ต้องมีวินัยเป็นอย่างมาก ลำพังหากออมเงินด้วยตัวเองอาจจะยากที่จะบรรลุเป้าหมาย และถึงแม้สามารถออมได้บรรลุเป้าหมาย แต่ในช่วง 5 ปีแรกของการเกษียณจะจัดได้ว่าเป็นช่วง Happy Hours เพราะจะมีเงินก้อนที่สะสมไว้ตลอดระยะเวลาที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็น LTF, SSF, RMF, เงินชดเชยจากการออกจากงานและเงินสะสมจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ จะสามารถนำออกมาให้จับจ่ายใช้สอยในปริมาณมากในระยะเวลาพร้อมๆ กัน ซึ่งหากไม่มีการบริหารที่ดีพอ อาจจะทำให้เงินทุนเหล่านี้หมดไปก่อนเวลา ดังนั้น การรู้จักผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างประกันบำนาญจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

ประกันบำนาญ เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภท Living Benefit ที่จะจ่ายผลประโยชน์ในลักษณะเงินบำนาญในยามเกษียณให้กับผู้เอาประกันที่ยังมีชีวิตอยู่ ตามนโยบายการจ่ายประโยชน์และระยะเวลาที่กำหนดไว้ชัดเจน เช่น ประกันบำนาญมีนโยบายจ่ายผลประโยชน์ 24% จากทุนประกัน มีระยะเวลาการจ่ายผลประโยชน์ถึงอายุ 99 ปี  ถ้าผู้เอาประกันซื้อประกันบำนาญฉบับนี้ด้วยทุนประกัน 1 ล้านบาท ณ อายุ 60 ปี ผู้เอาประกันจะได้รับผลประโยชน์ เป็นจำนวนเงิน 240,000 บาทในทุกๆ ปีไปจนถึงอายุ 99 ปี ดังนั้น หลักการในการคัดเลือกประกันบำนาญที่สำคัญ คือ นโยบายการจ่ายผลประโยชน์และระยะเวลาในการจ่ายผลประโยชน์ โดยยิ่งจ่ายเยอะและจ่ายนานจะยิ่งคุ้มค่า จากตัวอย่างในข้างต้น หากต้องการผลประโยชน์ปีละ 588,000 บาท จะต้องเตรียมเงินไว้ถึง 13.4 ล้านบาท แต่หากซื้อประกันบำนาญที่มีการจ่ายผลประโยชน์ 24% จะต้องซื้อทุนประกัน 2.5 ล้านบาท และมีค่าเบี้ยต่อปีประมาณ 750,000 บาท โดยต้องจ่ายทั้งสิ้น 10 ปี (อ้างอิงอายุ 30 ปี) สุทธิต้องเตรียมเงินทั้งสิ้น 7.5 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าการเก็บออมด้วยตนเองถึง 6 ล้านบาท

นอกจากประกันบำนาญจะมีการการันตีรายได้และระยะเวลาที่แน่นอนแล้ว ยังใช้เงินทุนน้อยกว่าหากเทียบกับการเก็บออมเงิน และถึงแม้การจ่ายผลประโยชน์ของประกันบำนาญจะเท่ากันตลอด ไม่ว่าจะซื้อตอนอายุเท่าไรก็ตาม แต่การซื้อในช่วงอายุน้อยจะทำให้ได้รับการจ่ายค่าเบี้ยสุทธิต่ำกว่าอายุมาก นอกจากนี้ค่าเบี้ยประกันที่จ่ายยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในแต่ละปีถึง 2 แสนบาท

หลายท่านมักจะนำประกันบำนาญไปเปรียบเทียบกับทางเลือกในการออมเงินประเภทอื่นๆ เช่น หุ้น กองทุนรวม และทองคำ ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการซื้อประกันบำนาญ แต่วัตถุประสงค์ของการมีประกันบำนาญที่สินทรัพย์ทางการเงินอื่นไม่สามารถให้ได้ คือ การการันตีเงินได้เป็นรายปีหรือรายเดือนตามระยะเวลาที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้เองการนำเงินทุนไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั้งหมดนั้นมองว่ามีความเสี่ยงมากเกินไป เพราะราคาของสินทรัพย์ทางการเงินจะได้รับผลกระทบจากสภาวะตลาด ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมได้ยาก ดังที่เห็นได้จากการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในแต่ละครั้งนั้นสินทรัพย์ทางการเงินสามารถปรับตัวลดลงได้ถึง -50%  ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงหากเกษียณในปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ โดยนอกจากจะส่งผลต่อความมั่งคั่งแล้ว ยังส่งผลต่อสภาพจิตใจอีกด้วย ถึงแม้พลังของดอกเบี้ยทบต้นจะมีความสำคัญมากสำหรับแผนการเกษียณ แต่การมีรายได้ประจำที่ถูกการันตีว่า จะได้แน่นอนแล้วนั้น มองว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กัน โดยเฉพาะแผนเกษียณในยุคที่ประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้นด้วยเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ ความรู้ความเข้าใจในการดูแลตนเอง และการแพทย์เชิงรุกที่เน้นการป้องกัน ทำให้มีการคาดการณ์ว่า เด็กรุ่นใหม่ที่เกิดตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นไปจะมีอายุขัยยืนยาวสูงถึง 100 ปี

===========================================

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่คอลัมน์ Money Talk ใน Business Today

บทความล่าสุด

หุ้นกลุ่ม Healthcare ทวงคืนตำแหน่ง Top Performer บนเวทีหุ้นโลก

โพสต์เมื่อ 19 เมษายน 2567

ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา หุ้นกลุ่ม Healthcare กลับมาสร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น จากแนวโน้มการเติบโตที่คาดว่าจะสูงกว่าตลาดโดยรวมในปีนี้ ในขณะที่ยังซื้อขายในระดับราคาที่ไม่แพงโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่มเทคโนโลยีที่เติบโตในระดับใกล้เคียงกัน ทำให้ปีนี้มีโอกาสสูงที่กลุ่ม Healthcare จะกลับมาทวงคืนตำแหน่ง Top Performer บนเวทีตลาดหุ้นโลก

อ่านต่อ >>

ปรับพอร์ตสร้างกำไร ขายหุ้นสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น เบนเข็มลงทุน “หุ้น Asia ex Japan”

โพสต์เมื่อ 19 เมษายน 2567

ในปี 2024 เศรษฐกิจโลกภาพรวมเติบโตดีกว่าคาด โดยภูมิภาคที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดคือ ภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่จะเติบโตได้ดีในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว และยังเป็นปีแห่งโอกาส

อ่านต่อ >>

จับจังหวะทำกำไร กับขาขึ้นรอบใหม่ของตลาดหุ้น Asia

โพสต์เมื่อ 19 เมษายน 2567

ตลาดหุ้นเอเชีย (Asia ex Japan) ถือเป็นตลาดหุ้นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงไม่แพ้ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets) โดยเฉพาะในฝั่งของภาคการผลิตที่บริษัทยักษ์ใหญ่จากภูมิภาคเอเชีย ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในหลายอุตสาหกรรมการผลิตของโลก

อ่านต่อ >>