
ตลาดหุ้นทั่วโลกทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ภายหลังเริ่มมีประเทศที่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ได้ โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่เริ่มทำจุดสูงใหม่อีกครั้ง ซึ่งอาจเป็นเพราะนักลงทุนคาดว่าสถานการณ์สงครามการค้าจะค่อย ๆ ผ่อนคลายลง อย่างไรก็ดีดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับขึ้นมาอาจเป็นการขึ้นเกินกว่าปัจจัยพื้นฐาน เพราะปัจจุบันกำแพงภาษียังคงอยู่และอาจทำให้กำไรของบริษัทต่าง ๆ ภายในสหรัฐฯ เองมีแนวโน้มลดลงสวนทางกับดัชนีตลาดหุ้น
งานวิจัยของ FED สาขานิวยอร์ค เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา มีการสำรวจผลกระทบของนโยบายกำแพงภาษีกับผู้ประกอบการภายในประเทศ พบว่า 1 ใน 5 ของผู้ตอบแบบสำรวจจะหันมาซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ ภายในประเทศมากขึ้น เพื่อทดแทนการนำเข้า แต่อาจจำเป็นต้องลดการจ้างงานลง นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบกึ่งหนึ่งคาดว่ากำไรสุทธิของธุรกิจมีโอกาสลดลงแม้ว่าผู้ประกอบการกว่าครึ่งจะขึ้นราคาสินค้าเพื่อผลักภาระภาษีบางส่วนไปให้ผู้บริโภค ดังนั้น การเติบโตของกำไรแต่ละบริษัทยังมีโอกาสลดลงหากมาตรการกำแพงภาษีเริ่มมีผลต่อตัวเลขเศรษฐกิจ ซึ่ง FED คาดว่าเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ในด้านบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ เหล่านักวิเคราะห์จาก Bloomberg Consensus คาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนในปี 2025 ของสหรัฐฯ ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน เม.ย. 2025 เป็นต้นมาราว -2% สวนทางตลาดหุ้นปรับขึ้นต่อเนื่องจนทำจุดสูงสุดใหม่ จน ณ ปัจจุบันมูลค่าหุ้นสหรัฐฯ ที่วัดด้วย P/E Ratio ในอีก 12 เดือนข้างหน้า 22.2 เท่า ซึ่งเกินค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังไปแล้วเกือบ 20%
นอกจากในแง่ของกำไรของบริษัทที่ถูกปรับลดลง ปัจจัยดอกเบี้ยที่ยังลดลงช้ากว่าที่ตลาดคาดไว้เมื่อต้นปียังเป็นแรงกดดันที่ทำให้ตลาดหุ้นยังไม่สามารถปรับขึ้นได้มากนัก เพราะ FED ระมัดระวังในการลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อไม่ให้เงินเฟ้อที่เกิดจากมาตรการกำแพงภาษีสูงขึ้นจนควบคุมไม่ได้ โดยปัจจุบันตลาดเลื่อนความเป็นไปได้ที่ Fed จะลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในปีนี้จากเดือน มิ.ย. เป็นเดือน ก.ย. โดยอัตราดอกเบี้ยสูงยิ่งทำให้มูลค่าตลาดหุ้นยังคงแพงเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดตราสารหนี้ที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงตามดอกเบี้ยนโยบาย โดยอัตราดอกเบี้ย ณ ปัจจุบันของตราสารหนี้โลกอ้างอิงจากดัชนี Bloomberg Global Aggregate Bond อยู่ที่ 3.56% ขณะที่อัตรากำไรต่อหุ้น (Earnings yield) ณ ปัจจุบันที่ 4.55% ทำให้การลงทุนในหุ้นมีผลตอบแทนเพิ่มจากความเสี่ยงที่ต้องชดเชย (Risk Premium) กับตลาดตราสารหนี้เพียง 0.94% เท่านั้น
และเมื่อเทียบกับดัชนี MSCI ACWI ex US หรือดัชนีตลาดหุ้นนอกสหรัฐฯ ดัชนียังไม่ทำจุดสูงสุดใหม่และมี Valuation ที่ถูกกว่าสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 10ปีที่ P/E Ratio 12 เดือนข้างหน้าเพียง 14.4 เท่า โดยมี Risk premium ถึง 3.5% อีกทั้งการเติบโตของกำไรที่ Bloomberg Consensus คาดไว้ว่าหุ้นนอกสหรัฐฯ จะมีกำไรเติบโตแบบเร่งตัวขึ้น ซึ่งไตรมาส 3 ของปีนี้กำไรของหุ้นนอกสหรัฐฯ จะเติบโตได้ถึง 19% YoY แซงหน้าหุ้นสหรัฐฯ ที่กำไรเติบโตเพียง 12% เท่านั้น ดังนั้นในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ปัจจัยพื้นฐานไม่สอดคล้องกัน อาจเป็นจังหวะลดสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และกระจายลงทุนออกไปตลาดหุ้นอื่นนอกสหรัฐฯ ที่มูลค่าดัชนีเหมาะสมมากขึ้นอาจสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติมได้ดีกว่าการกระจุกตัวลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพียงแห่งเดียว
โดยนักลงทุนที่มีสัดส่วนอยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็นหลักในปัจจุบัน อาจเริ่มจากเลือกกระจายลงทุนไปยังกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นทั่วโลกที่มีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอจะช่วยให้ความผันผวนของการลงทุนน้อยลงได้ เพราะได้ลดสัดส่วน
หุ้นสหรัฐฯ ที่แพงเกินมูลค่าปัจจุบันและได้ลงทุนในหุ้นปันผลที่มักจะเป็นบริษัทที่มีกำไรสม่ำเสมอและราคาหุ้นผันผวนต่ำกว่าหุ้นทั่วไปอีกด้วย
ดังนั้น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับขึ้นมาไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานที่อาจอ่อนแอลงจากความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัวเนื่องมาจากผลของสงครามการค้า, ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่อาจลดลงช้ากว่าคาด อาจเป็นจังหวะให้นักลงทุนทยอยปรับลดสัดส่วนหุ้นสหรัฐฯ ไปลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกนอกสหรัฐฯ ที่มูลค่าเหมาะสมกับการลงทุนมากกว่าหรือเลือกลงทุนหุ้นปันผลสูงเพื่อลดความผันผวนของพอร์ตลงทุนและมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าการลงทุนกระจุกตัวในประเทศสหรัฐฯ เพียงแห่งเดียว
แผนภาพ: เปรียบเทียบมูลค่าหุ้นระหว่างตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นนอกสหรัฐฯ ด้วย P/E Ratio 12 เดือนข้างหน้า

หมายเหตุ: Global ex US อ้างอิงจากดัชนี MSCI ACWI ex US เป็นข้อมูล ณ วันที่ 29 มิ.ย. 68
ที่มา: Bloomberg, TISCO Wealth Advisory
บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ CFP®
Senior Wealth Manager ธนาคารทิสโก้