file

รักษามะเร็งในจุดที่เข้าถึงยาก ด้วยนวัตกรรมรังสีอนุภาคโปรตอน

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 56 | คอลัมน์ Health Focus

หากย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน แค่ได้ยินว่า “เป็นมะเร็ง” คนไทยหลายคนก็อาจรู้สึกหมดพลังใจในการใช้ชีวิตแล้ว แต่ด้วยพัฒนาทางการแพทย์ที่ก้าวล้ำ ก่อให้เกิดการรักษารูปแบบใหม่ จึงช่วยให้ผู้ป่วยมีความหวังและโอกาสรอดจากโรคร้ายนี้มากขึ้น ซึ่ง “การฉายรังสี” หรือ “รังสีรักษา” ถือเป็นหนึ่งในทางเลือกการรักษาที่กำลังได้รับความสนใจ

สำหรับประเทศไทย การรักษาด้วยรังสีอนุภาคโปรตอน (Particle Beam Therapy) นับได้ว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดกำลังจะมีศูนย์ฉายรังสีอนุภาคโปรตอนเปิดให้บริการประมาณเดือน ส.ค. 2564 นี้ ซึ่งจะกลายเป็นศูนย์ฉายรังสีอนุภาคโปรตอนแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ว่าได้ TRUST ฉบับนี้จึงถือโอกาสไปพูดคุยกับ ผศ.นพ.ชลเกียรติ ขอประเสริฐ หัวหน้าศูนย์โปรตอน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ถึงพัฒนาการด้านรังสีรักษา และความเป็นมาของศูนย์ฉายรังสีโปรตอนแห่งแรกของไทย 

วิวัฒนาการด้านรังสีรักษาของไทย

“รังสีรักษา” ในประเทศไทย มีพัฒนาการมายาวนานไม่ต่ำกว่า 70 ปีเห็นได้จากสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาฯ ที่เริ่มให้บริการรักษาผู้ป่วยมะเร็งมาตั้งแต่ปี 2494 ด้วยเครื่องเอกซเรย์กิโลโวลต์ ต่อมาในปี 2501-2533 ก็เริ่มให้บริการรักษาผู้ป่วยด้วยรังสีแกมมาจากเครื่องโคบอลต์-60

จนกระทั่งปี 2533 เป็นต้นมา ได้พัฒนามาสู่การใช้รังสีเอกซ์พลังงานสูง (X-ray) และอนุภาคอิเล็กตรอนจากเครื่องเร่งอนุภาค พร้อมทั้งยังพัฒนาไปสู่เครื่องเร่งอนุภาคที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยปัจจุบัน โรงพยาบาลจุฬาฯ มีเครื่องเร่งอนุภาคจำนวน 6 เครื่อง ให้บริการฉายรังสีแก่ผู้ป่วยได้ปีละประมาณ 3,500 ราย จากผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีทั้งประเทศราว 44,000 คนต่อปี 

file

ผศ.นพ.ชลเกียรติ กล่าวว่า จากประสบการณ์ในฐานะแพทย์ด้านรังสีรักษามากว่า 20 ปี พบว่า คนไทยไม่น้อยที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับการฉายแสง เช่น “ทำให้อวัยวะไหม้” ซึ่งจากความเป็นจริงมีเฉพาะการรักษามะเร็งที่อยู่ใกล้ผิวหนังเท่านั้น ที่อาจทำให้ผิวบริเวณก้อนมะเร็งคล้ำกว่าปกติ แต่จะหายใน 1-2 เดือน หรือแม้กระทั่งความเข้าใจผิดในเรื่อง “การมีผลข้างเคียงเยอะ” ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว คนไข้เมื่อได้รับรังสี ก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงคนปกติ เดินทางกลับโดยรถไฟฟ้าได้ตามปกติ โดยคนไข้ที่เกิดผลข้างเคียงรุนแรงมีเพียงแค่ 3-5% เป็นต้น “ความเข้าใจผิดที่ร้ายแรงที่สุดคือ “ฉายแสงแล้วตาย” ซึ่งจริงๆ แล้วการฉายแสงเป็นการรักษาที่ผลข้างเคียงน้อยที่สุด ถ้าเทียบกับวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือคีโมบำบัด และสามารถฉายรังสีได้แม้ในคนไข้ที่สภาวะร่างกายไม่แข็งแรง หรืออายุมาก หลายคนที่มารักษาด้วยการฉายแสง คือ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถทำคีโมบำบัดได้และผ่าตัดไม่ไหวแล้ว รังสีรักษาจึงเป็นเหมือนปลายทาง ซึ่งแม้การฉายรังสีอาจจะไม่ช่วยรักษาให้หายได้ในทันที แต่ก็จะช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นตามลำดับ”

ข้อจำกัดของการรักษาด้วยรังสี X-ray

ผศ.นพ.ชลเกียรติกล่าวว่า แม้จะสร้างผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตน้อยเมื่อเทียบกับการผ่าตัดหรือคีโมบำบัด แต่การฉายรังสีก็มีผลข้างเคียง โดยเฉพาะกับผู้ป่วยมะเร็งบางชนิด เนื่องจากการฉายรังสีมีข้อจำกัดสำคัญ คือ เมื่อรังสีเข้าสู่ร่างกายเพื่อมุ่งไปสู่ก้อนมะเร็ง ปริมาณรังสีจะลดลงตามความลึกที่รังสีผ่าน และมีรังสีบางส่วนที่เลยออกจากก้อนมะเร็ง จึงไม่สามารถควบคุมปริมาณรังสีที่ตกถึงก้อนมะเร็งให้สูงพอจะควบคุมโรคได้ เพราะถูกจำกัดด้วยปริมาณรังสีที่อาจกระทบเนื้อเยื่อปกติหรืออวัยวะข้างเคียง ซึ่งหากมีปริมาณสูงเกินไป ก็อาจทำให้อวัยวะเหล่านั้นเกิดความผิดปกติได้ในระยะยาว

ยกตัวอย่าง มะเร็งตับ ซึ่งเป็นมะเร็งอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตคนไทย การฉายรังสี X-ray ที่ก้อนมะเร็งที่ตับจะทำให้เนื้อเยื่อตับปกติได้รับรังสีไปด้วย ดังนั้น จึงต้องระวังไม่ให้บริเวณเนื้อเยื่อปกติได้รับรังสีในปริมาณที่มาก ขณะเดียวกันหากใช้ปริมาณรังสีที่น้อยเกินไป ก็อาจจะไม่เพียงพอที่จะทำลายก้อนมะเร็งได้เช่นเดียวกับมะเร็งสมอง ที่ต้องระวังไม่ให้มีรังสีไปถูกเนื้อเยื่อสมองปกติมากเกินไป ยิ่งกว่านั้นคือ หากต้องมีการฉายรังสีบริเวณที่ไขสันหลังร่วมด้วย ยิ่งจำเป็นต้องระวังไม่ให้ปริมาณรังสีมากไป จนกระจายไปถูกอวัยวะสำคัญที่อยู่ด้านหน้า เช่น หัวใจ ปอด รวมถึงเต้านม ซึ่งทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าปกติ

นอกจากนี้ ยังมีมะเร็งในเด็ก ซึ่งเป็นอีกโรคที่ต้องระมัดระวังอย่างสูงในการฉายรังสี แม้ว่าผู้ป่วยมะเร็งเด็ก 80% หายขาดจากโรค แต่เมื่อเด็กเติบโตขึ้นจะมีผู้ป่วย 10-20% เสียชีวิตหลังจากผลข้างเคียงของรังสีในระยะยาว 

file

“อนุภาคโปรตอน”  ความหวังใหม่...รักษามะเร็งในจุดที่เข้าถึงยาก

“ทางทฤษฎีฟิสิกส์พบว่า อนุภาคโปรตอนมีความสามารถพิเศษ คือ ขณะที่รังสีวิ่งเข้าไปในร่างกาย จะมีการปลดปล่อยพลังงานออกมาเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อถึงความลึกที่ต้องการ อนุภาคโปรตอนจะปล่อยพลังงานออกมามาก เหมือนยิง Missile ไปที่ก้อนมะเร็งแล้วจรวดก็ทำลายล้างเซลล์มะเร็งบริเวณนั้นเรียกว่า มุ่งเป้า (Focus) กว่าการฉายรังสีแบบเดิม ทำให้เนื้อเยื่อข้างเคียงได้รับผลกระทบน้อยกว่า ผลที่ได้ คือ โอกาสหายจะเพิ่มขึ้นมาก คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยก็ดีขึ้นด้วย”

ผศ.นพ.ชลเกียรติ ยกตัวอย่าง กรณีที่ก้อนมะเร็งอยู่กลางลำตัว การฉายรังสี X-ray ในปัจจุบันจะใช้วิธีฉายรังสีเฉลี่ยรอบร่างกาย คือฉายรังสีจากหลายทิศทาง โดยแต่ละทิศต้องให้รังสีไม่มากเกินไป เพื่อให้รังสีไปรวมที่ก้อนมะเร็ง เพื่อเฉลี่ยให้เนื้อเยื่อปกติรอบร่างกาย ไม่ได้รับรังสีมากเกินไป แต่วิธีรักษาด้วยอนุภาคโปรตอน จะสามารถปล่อยรังสีในบริเวณ ในความลึก และในปริมาณที่ต้องการได้ ทำให้หวังผลได้มากขึ้น ขณะที่ปริมาณรังสีรอบตัวผู้ป่วยจะลดลง และจากประสิทธิภาพการรักษาที่สูง จึงช่วยลดจำนวนครั้งในการฉายแสงของผู้ป่วยแต่ละรายลงได้ ทำให้โรงพยาบาลสามารถให้บริการผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้น 

file
file

ทั้งนี้ หลักการของเครื่องฉายรังสีอนุภาคโปรตอน คือ มี “ไซโคลตรอน” ซึ่งทำจากเหล็กบริสุทธิ์หนัก 90 ตัน เป็นเครื่องเร่งอนุภาคโปรตอน โดยเร่งให้มีความเร็ว 2 ใน 3 ของความเร็วแสง หรือประมาณ 200,000 กิโลเมตรต่อวินาที พร้อมด้วยท่อลำเลียงอนุภาคโปรตอนที่มีสนามแม่เหล็กบังคับการวิ่งของอนุภาคโปรตอนความเร็วสูงให้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ลึกสูงสุดถึง 30 เซนติเมตร ซึ่งทั้งหมดนี้ หมายถึง ต้นทุนค่าเครื่องไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และค่าบำรุงรักษาที่สูงถึง 100-200 ล้านบาทต่อปี

“ด้วยต้นทุนที่สูงมาก เราจึงของบรัฐบาลมาได้แค่เครื่องเดียว ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องเลือกผู้ป่วยที่คิดว่าจะได้ประโยชน์ที่สุดจากการรักษาในวิธีนี้ นั่นก็คือผู้ป่วยมะเร็งในอวัยวะที่เนื้อเยื่อไวต่อรังสี เช่น มะเร็งในเด็ก มะเร็งตับ มะเร็งสมองและไขสันหลัง หรืออยู่ติดอวัยวะสำคัญหรืออยู่ในตำแหน่งที่ฉายรังสียาก เช่น ศีรษะ ไขกระดูก และลำคอ เพราะการให้รังสีด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน อาจไม่สามารถเพิ่มปริมาณรังสีให้สูงพอจะฆ่าเซลล์มะเร็งได้หมด แต่ถ้าเพิ่มปริมาณรังสีมากไปก็อาจส่งผลต่อเนื้อเยื่อปกติมากรุนแรงเกินไป” 

สู่ความเป็นเลิศในการรักษามะเร็ง ด้วยอนุภาคโปรตอน

ในปี 2557 โรงพยาบาลจุฬาฯ ได้รับอนุมัติงบประมาณติดตั้งเครื่องเร่งอนุภาคโปรตอน เมื่อความทราบถึงสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่าโรงพยาบาลจุฬาฯ มีแผนจัดสร้างศูนย์ความเป็นเลิศในการรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน จึงทรงสนับสนุนเต็มที่ พร้อมพระราชทานนามให้ว่า “ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” ซึ่งใช้งบสร้างห้องปฏิบัติการในการรักษาถึง 1,200 ล้านบาท โดยตั้งเป้าจะเปิดให้บริการภายใน ส.ค. 2564 ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีศูนย์ความเป็นเลิศในการรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน

นัยของการมีศูนย์โปรตอนฯ คือการที่คนไทยจะได้มี “อาวุธ” ที่มีประสิทธิภาพสูงในการต่อสู้มะเร็งเพิ่มขึ้น ทำให้การรักษามะเร็งด้วยรังสีรักษาทำได้ดีขึ้นอย่างมาก เพราะมาเติมเต็มข้อจำกัดของเทคโนโลยี ในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วย “มะเร็งที่รักษายาก” มีโอกาสหายเพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะแทบจะไม่มีผลข้างเคียงจากรังสีส่วนเกิน

“เป้าหมายของการพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งของเรา คือ เราจะนำเทคโนโลยีมาช่วยในการรักษามะเร็งที่ยังรักษายากในปัจจุบัน เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายมากขึ้น พร้อมกับมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลังการรักษา”

แม้ประเทศไทยจะมีพัฒนาการที่ดีในด้านนวัตกรรมรังสี แต่ในท้ายที่สุดหัวหน้าศูนย์โปรตอนฯ ยังคงเน้นย้ำว่า หนึ่งในหัวใจหลักที่จะยกระดับพัฒนาการทางการแพทย์ของไทยให้ก้าวล้ำต่อไปได้ก็คือ “โรงเรียนแพทย์” ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญด้านการสร้างบุคลากร ทว่าตอนนี้ยังประสบปัญหาขาดงบสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา ดังนั้น ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องท้าทาย และควรได้รับการแก้ไข เพื่อยกระดับให้การรักษามีคุณภาพยิ่งขึ้นต่อไป

file