ดร.นเรศ ดำรงชัย แห่ง “เจเนพูติก ไบโอ” สานฝันไบโอเทคไทย สู่ความเป็นเลิศระดับสากล

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 57 | คอลัมน์ People

file

 

 

ปัจจุบันมนุษยชาติต้องเผชิญกับ โรคระบาดอย่าง COVID-19 และโรคภัยที่มีความรุนแรงจนยากจะรับมือมากขึ้นทุกวัน โดยหนึ่งในโรคร้ายแรงที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกในอัตราที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ก็คือ โรคมะเร็ง แต่นับว่าเป็นข่าวดีของประเทศไทย ที่เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีบริษัทสตาร์ทอัพด้านไบโอเทคโนโลยีทางการแพทย์สัญชาติไทย ที่มีชื่อว่า “เจเนพูติก ไบโอ” กำลังเร่งต่อยอดงานวิจัยการแพทย์ขั้นสูงเพื่อผลิตนวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งที่รักษาได้ยาก โดยใช้เซลล์และยีนบำบัด (Cell and Gene Therapy) เพื่อเพิ่มทางเลือกและคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย พร้อมทั้งเป็นความหวังในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพให้เติบโตในเมืองไทย

TRUST ฉบับนี้ ได้มีโอกาสพูดคุยทางไกลกับ ดร.นเรศ ดำรงชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเนพูติก ไบโอ จำกัด ถึงความเป็นมา โมเดลธุรกิจ และเป้าหมายของบริษัทฯ รวมถึงบทบาทในการขับเคลื่อนธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพในประเทศไทย

ปูทางอุตสาหกรรมไบโอเทคไทยด้วย Passion

ดร.นเรศ เล่าว่า วิทยาศาสตร์เป็นความชื่นชอบและสิ่งที่เขาหลงใหล (Passion) โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์สาขาชีวภาพ ซึ่งเขาเริ่มสนใจมาตั้งแต่เด็ก และจากความสนใจนี้ ก็ทำให้เขาตัดสินใจเลือกเรียนต่อทางด้านวิทยาศาสตร์สาขาชีวภาพ โดยบินไปศึกษาต่อในระดับมัธยมปลายจนถึงระดับปริญญาเอกสาขเทคโนโลยีชีวภาพที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะกลับมาเริ่มต้นทำงานด้านวิจัยในประเทศไทย 

จนกระทั่งปี 2555 เขาได้รับสรรหาคัดเลือกให้เป็นผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการส่งเสริมนวัตกรรมทางด้านชีววิทยาศาสตร์ โดยให้การสนับสนุนตั้งแต่ “ต้นน้ำ” คือตั้งแต่อยู่ในขั้นวิจัย ไปจนถึง “ปลายน้ำ” คือการพัฒนาเป็นนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดย TCELS มีส่วนอย่างมากในการขับเคลื่อนธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย

“สิ่งแรกที่ผมทำตอนอยู่ที่ TCELS คือ การริเริ่มโครงการที่ชื่อ “เซลล์และยีนบำบัด” เพราะเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ยังมีไม่มากนักในประเทศไทย กับการที่เราจะเป็นเจ้าขององค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการแพทย์และสุขภาพ โดยไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ เพราะการที่ประเทศไทยจะผันตัวเองขึ้นมาเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายให้กับประเทศอื่นจากเทคโนโลยีที่มีมาแล้วในอดีตนั้นค่อนข้างเป็นไปได้ยาก ซึ่งเราอาจจะทำได้เพียงแค่เป็นผู้ซื้อและรับถ่ายทอดเทคโนโลยีมาเท่านั้น แต่สำหรับเทคโนโลยีเซลล์และยีนบำบัด ประเทศไทยก็ยังมีโอกาสอยู่ไม่น้อย เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่และต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะเห็นผลสำเร็จ ผมจึงตั้งโครงการให้ทุนใหญ่ เพื่อให้หลายๆ มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยได้รับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยในเรื่องนี้” 

TCELS ภายใต้การนำของ ดร.นเรศ ไม่เพียงกระตุ้นให้เกิดงานวิจัยด้านไบโอเทคโนโลยีทางการแพทย์ แต่ยังให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนระบบนิเวศ (Ecosystem) ในหลายมิติ เพื่อเอื้อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมด้านไบโอเทค อาทิ การมีส่วนร่วมในการออกกฎระเบียบเรื่องการผลิตและการรักษาด้วยเซลล์บำบัด การสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ และการส่งเสริมการรวมตัวของนักวิจัย จนถึงการวางโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่องานวิจัย เช่น ห้องปฏิบัติการ (Lab) ฯลฯ

“ผมมีความใฝ่ฝันตั้งแต่ตอนอายุ 15 ปี ว่าอยากทำให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพเกิดขึ้นในเมืองไทยให้ได้ มาถึงวันนี้ ก็ถือว่าได้ทำในสิ่งที่ตัวเองฝันก้าวแรกให้เป็นจริงแล้ว” ดร.นเรศ กล่าวย้ำ

ต้นกำเนิด “หน่ออ่อน” แห่งไบโอเทคไทย

“ด้วยความกังวลว่า งานวิจัยที่ก้าวหน้าของไทยทั้งหลายจะหยุดอยู่บนหิ้ง และไปไม่ถึงการผลิตเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยในวงกว้าง ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง หนึ่งในนักวิจัยที่ประสบความสำเร็จในการวิจัยเรื่องเซลล์และยีนบำบัดเป็นอย่างสูง จึงได้ริเริ่มก่อตั้งบริษัทวิจัยและผลิตเซลล์เพื่อการบำบัดรักษาขึ้นเมื่อปี 2563 โดยใช้ชื่อว่า บริษัท เจเนพูติก ไบโอ จำกัด”

ดร.นเรศ เล่าว่า “เจเนพูติก (Genepeutic) เกิดจากการสมาสคำระหว่าง Gene กับ Therapeutic ซึ่งหมายถึง การรักษาด้วยยีน เพราะภารกิจของบริษัท เกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีการรักษาด้วยเซลล์และยีนบำบัด ส่วน “ไบโอ (Bio)” หมายถึง ไบโอเทคโนโลยี ซึ่งเวลาที่ได้ยิน น่าจะทำให้รู้ได้ในทันที ว่าเป็นบริษัทฯ สตาร์ทอัพที่มีขีดความสามารถด้านไบโอเทคโนโลยี และนี่คือที่มาของชื่อบริษัทฯ”

file

บริษัท เจเนพูติก ไบโอ จำกัด จัดตั้งขึ้นเพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์รักษาโรคที่รักษายาก โดยใช้เทคโนโลยีการรักษาด้วยเซลล์และยีนบำบัด ที่เรียกว่า Chimeric Antigen Receptor (CAR) T-cell ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บมจ.ไทยฟู้ดส์ กลุ่มพันธมิตรนักลงทุน และนักวิจัย โดยผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดา ประกอบด้วย นักลงทุนในธุรกิจแห่งอนาคตอย่างคุณสมโภชน์ อาหุนัย ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) คุณวัฒนา รัตนานนท์ อดีตกรรมการบริหาร บมจ.ไทยฟู้ดส์ และทีมคุณหมอนักวิจัยนำโดย ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง นพ.อุษณรัสมิ์ อนุรัฐพันธ์ ศ.นพ.สุทัศน์ ฟู่เจริญ และนักวิทยาศาสตร์แถวหน้าอย่าง ดร.ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ

นอกจากบริษัทฯ จะถือหุ้นโดยนักวิจัยจาก ม.มหิดล แล้ว เจเนพูติก ไบโอ ยังได้อดีตนักวิจัยและนักอนาคตศึกษาอย่าง ดร.นเรศ ดำรงชัย มาเป็นซีอีโอ ซึ่งความมุ่งมั่นบวกกับการมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นในการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะการเป็นผู้ริเริ่มโครงการเซลล์และยีนบำบัดเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน จึงถือว่า ดร.นเรศ เหมาะสมกับตำแหน่งนี้เป็นอย่างยิ่ง

file

โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล โดย ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง และคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยาและกุมารเวช ได้ทำการศึกษาค้นคว้าการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคธาลัสซีเมีย ฯลฯ จนประสบความสำเร็จในการคิดค้นวิธีรักษาผู้ป่วยธาลัสซีเมียและมะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วย CAR T-cell ซึ่งถือเป็นยาในกลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัด

ในปี 2563 ม.มหิดล และ TCELS ในฐานะผู้ให้ทุนรายสำคัญ ได้ยื่นจดสิทธิบัตรร่วมกัน หลังจากนั้นไม่นาน “เจเนพูติก ไบโอ” ก็ก่อตั้งขึ้นเพื่อขออนุญาตใช้สิทธิจากทรัพย์สินทางปัญญา (License) ไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ โดยผลิตภัณฑ์กลุ่มแรก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์รักษาโรคมะเร็งที่เกี่ยวกับเลือด ซึ่งถือเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบกับผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมายเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

“เจเนพูติก ไบโอ มีจุดเริ่มต้นมาจากความสามารถด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์และความทุ่มเทของนักวิจัยไทย โดยเราเชื่อว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่จะเติบโตได้อีกมากในอนาคต แต่ลำพังแค่เพียงนักวิจัย ย่อมไม่สามารถทำได้ต้องขอชื่นชมนักลงทุนที่มีความกล้าในการเข้ามาร่วมบุกเบิกในสิ่งที่เป็นเรื่องใหม่ ใช้เวลา และมีความเสี่ยง อีกทั้งวันนี้ เรายังเป็นแค่ “หน่ออ่อน” ของธุรกิจที่นำเอางานวิจัยด้านไบโอเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อคนไทยและประเทศไทย”

CAR T-cell แสงแห่งความหวังของผู้ป่วยมะเร็ง

ดร.นเรศ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์แรกของบริษัทฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ CD19 CAR T-cell สำหรับรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิด B-cell (B-cell Acute Lymphoblastic Leukemia) ซึ่งพบได้มากที่สุดในเด็ก โดยการรักษาวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อวิธีการรักษาหลัก เช่น เคมีบำบัด หรือการฉายรังสี เป็นต้น หรือผู้ป่วยที่เคยรักษาหายแล้ว แต่ย้อนกลับมาเป็นโรคนี้ใหม่อีกครั้ง

“อาจเรียกได้ว่า ยาตัวนี้เป็น “แสงสว่าง” สำหรับผู้ป่วยที่ใกล้จะสิ้นหวังและไม่มีทางเลือกในการรักษาด้วยวิธีอื่นแล้ว โดยวิธีนี้จะเข้ามาช่วยรักษาให้ผู้ป่วยมีโอกาสสูงที่จะหาย หรืออย่างน้อยก็ได้รับผลลัพธ์ทางการรักษาที่ดีขึ้นแน่นอน”

CAR T-cell เป็นการผสมผสานระหว่างเซลล์บำบัดและยีนบำบัด หนึ่งในเทคโนโลยีล่าสุดในการรักษาโรคมะเร็ง โดยเฉพาะกลุ่มมะเร็งเม็ดเลือด โดยใช้เซลล์เม็ดเลือดขาวของผู้ป่วย (Autologous T-cell) หรือเซลล์เม็ดเลือดขาวของผู้บริจาค (Allogeneic T-cell) มาทำการดัดแปลงด้วยวิธีทางพันธุวิศวกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถในการจดจำเซลล์มะเร็งอย่างจำเพาะ และความสามารถในการกำจัดเซลล์มะเร็งนั้น ก่อนนำเซลล์ดังกล่าวไปเพิ่มจำนวน แล้วจึงฉีดกลับเข้าไปให้กับผู้ป่วย

“เราไม่ใช่ร้านอาหารตามสั่งที่ต้องมีเมนูหลากหลาย แต่เราเหมือนร้าน Specialty ที่เป็นเลิศในเมนูที่ทำ และทำเฉพาะเมนูที่ยาก หาทานไม่ได้ทั่วไป ตลาดของเราอาจจะแคบถ้ามองแค่เมืองไทย แต่ถ้ามองตลาดภูมิภาคและตลาดโลก เรามีโอกาสอย่างมาก เพราะโรคกลุ่มนี้เป็นโรคที่ยังไม่ถูกตอบโจทย์ (Unmet Medical Needs)” 

file

ดร.นเรศ คาดว่า บริษัทฯ จะเริ่มนำผลิตภัณฑ์ CD19 CAR T-cell เข้าสู่กระบวนการทดลองในคนได้ในปี 2565 โดยใช้ในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่เป็นเยาวชน จำนวน 20 คน และเมื่อผลิตภัณฑ์ผ่านการทดสอบทางคลินิกและขึ้นทะเบียนกับ อย. แล้ว ผลิตภัณฑ์ตัวแรกก็จะสามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยทั้งในโรงพยาบาลรัฐบาลและเอกชนที่มีศักยภาพในการรักษาด้วยเซลล์และยีนบำบัด ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้อาจใช้เวลา 3-4 ปี และต้องใช้เงินลงทุนอีกจำนวนมาก

“จากความถนัดของทีมนักวิจัยของเรา ทำให้ยาตัวนี้สามารถรักษาผู้ป่วยได้ 2 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยมะเร็ง โดยเริ่มจากมะเร็งเม็ดเลือดขาว และในอนาคต เราอยากขยายผลไปสู่มะเร็งชนิดเป็นก้อน (Solid Tumor) ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีใครสามารถทำได้ ส่วนผู้ป่วยอีกกลุ่ม คือ ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางพันธุกรรมที่รักษายาก โดยใช้การดัดแปลงแก้ไขพันธุกรรม DNA และ RNA ซึ่งเป็นการรักษารูปแบบใหม่”

ดร.นเรศ เล่าว่า ความมุ่งหวังของผู้ก่อตั้งบริษัทฯ คืออยากเห็นการต่อยอดงานวิจัยที่จะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมการรักษา การเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย และการช่วยแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพให้กับคนไทยและมนุษยชาติได้​

file

เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยโมเดล “2 เสาแห่งรายได้”

ดร.นเรศ ย้ำว่า “เจเนพูติก ไบโอ” เป็นไบโอเทคสตาร์ทอัพ ซึ่งนัยของการเป็นสตาร์ทอัพคือ ต้องการเงินลงทุนสูงในช่วงเริ่มต้น มีความเสี่ยงสูง เพราะอัตราการรอดของสตาร์ทอัพ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10% แต่เมื่อใดที่ธุรกิจไปถึงจุดที่สามารถขยายตัวได้ (Scalable) บริษัทฯ ก็มีโอกาสที่จะเติบโตก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว

“ผมคงไม่กล้าบอกว่าสตาร์ทอัพด้านไบโอเทคจะมีโอกาสรอดสูงกว่าสตาร์ทอัพอื่น เพราะทุกสตาร์ทอัพจะอยู่ได้ ต้องมีความรู้ลึก รู้จริง ในสิ่งที่ทำและสิ่งที่ตลาดต้องการ และที่สำคัญต้องมีผู้สนับสนุนที่กล้าลงทุนไปด้วยกัน”

อย่างไรก็ดี เพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนในระยะยาว เจเนพูติก ไบโอ จึงดำเนินธุรกิจด้วยโมเดล “2 เสาหลัก” คือพึ่งพาแหล่งรายได้จาก 2 โมเดลธุรกิจ โดยเสาต้นแรก คือ การรับจ้างผลิตในรูปแบบ CDMO (Contract Development & Manufacturing Organization) หรือให้บริการเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่ดำเนินการพัฒนาและรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกัน แต่ไม่แข่งกัน ซึ่งไม่เพียงสร้างความยั่งยืนเชิงรายได้ ยังสร้างโอกาสต่อยอดฐานความรู้ และทำให้ฐานการผลิตนวัตกรรมการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดอยู่ในประเทศไทย ซึ่งจะเปิดทางให้เมืองไทยกลายเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคได้ไม่ยาก

“เรากำลังสร้างโรงงาน หรือ “ศูนย์ผลิตเซลล์” ที่ได้มาตรฐานโลกตาม Good Manufacturing Practice (GMP) และได้การรับรองมาตรฐานจาก อย. ซึ่งทำให้โรงงานของเรามีครบทั้งมาตรฐานและคุณภาพ โดยเราจะเน้นสร้างความเชื่อมั่นในฐานะโรงงานที่ทำได้เบ็ดเสร็จ ตั้งแต่ร่วมพัฒนาไปจนถึงรับจ้างผลิตโอกาสของเราจึงจะมาจากการหาพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัย หน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน หรือองค์กรต่างชาติ มาร่วมพัฒนาสิทธิบัตร ซึ่ง Trigger Point แรกของการเติบโตของเราน่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ที่โรงงานจะเสร็จและพร้อมดำเนินการผลิต”

สำหรับเสาหลักต้นที่สอง ได้แก่ การผลิตนวัตกรรมการรักษา โดยนอกจาก CD19 CAR T-cell บริษัทฯ กำลังมองหางานวิจัยที่ประสบความสำเร็จในห้องทดลอง (ผ่าน Proof of Concept แล้ว) และมีโอกาสได้รับการจดสิทธิบัตร เพื่อจะขอใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญานั้นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ตัวต่อไป โดยจะเริ่มจากกลุ่มโรคที่ใช้เทคโนโลยีการรักษาที่ใกล้เคียงปัจจุบัน จากนั้นค่อยขยายวงออกไปตามความก้าวหน้าของไบโอเทคโนโลยีที่จะช่วยต่อยอดให้ธุรกิจ

“เราจะเกาะกับแพลตฟอร์มเทคโนโลยีอันใดอันหนึ่งนานเกินไปไม่ได้ เพราะในวงการเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก เราจึงต้องหาวิธีเลี้ยงตัวเองเพื่อให้เรายังสามารถส่งมอบ “ของ” ที่เราทำได้เก่ง พร้อมกับหาลู่ทางเกาะเกี่ยวในเทคโนโลยีใหม่ได้ทันท่วงที นี่จึงเป็นที่มาของโมเดลธุรกิจแบบ 2 เสาหลัก”

file

จุดประกายไบโอเทคไทย “ไม่แพ้ชาติใดในโลก”

ดร.นเรศ อธิบายว่า จากโมเดล “2 เสาหลักทางธุรกิจ” น่าจะสะท้อนให้เห็นเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นทุกคนได้ประการหนึ่ง นั่นคือ ความคาดหวังในอนาคตที่อยากเห็น “เจเนพูติก ไบโอ” กลายเป็นแพลตฟอร์มแห่งความร่วมมือของกลุ่มนักวิจัย โดยเฉพาะนักวิจัยทางด้านเซลล์และยีนบำบัด ตั้งแต่ขั้นของการร่วมวิจัยและพัฒนา ไปจนถึงการต่อยอดผลงานวิจัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ พร้อมกับส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันแบบร่วมมือ (Coopetition) ในอุตสาหกรรมไบโอเทคของไทย ไม่ว่าจะเป็น ความร่วมมือข้ามสถาบัน ข้ามองค์กรระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือแม้แต่ความร่วมมือข้ามประเทศ 

ซีอีโอแห่งเจเนพูติกฯ ย้ำว่า การสร้างแพลตฟอร์มเพื่อต่อยอดงานวิจัย โดยเฉพาะงานวิจัยด้านไบโอเทคโนโลยีทางการแพทย์ ไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ไม่เพียงจะช่วยให้ประเทศไทยลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ยังช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการรักษาขั้นสูงที่จะเพิ่มโอกาสรอดให้สูงขึ้น เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ในราคาที่ถูกลงได้ อีกทั้งยังเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ระดับภูมิภาคได้ในอนาคต

“วันนี้ บริษัทอันดับต้นๆ ของโลก อาจไม่ใช่บริษัทขายสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) อีกต่อไปแล้ว และบริษัทที่จะเติบโตเป็นรายใหญ่ต่อไปมักขายสิ่งที่มีฐานมาจากทรัพย์สินทางปัญญาหรือโมเดลธุรกิจใหม่ วันนี้ เจเนพูติกฯ ยังเล็กอยู่ แต่เรารู้ว่าหนทางข้างหน้า ทั้งตลาด ความต้องการ (Demand) และโอกาสจากเทคโนโลยีที่จะเกิดและเติบโตต่อไปมีอยู่สูงมาก ยิ่งเทคโนโลยีในวงการไบโอเทคเปลี่ยนเร็ว นั่นแปลว่า “เส้นสตาร์ท” สามารถเกิดใหม่ได้ตลอดเวลา บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เคยมีแต้มต่อ อาจไม่ได้เปรียบอีกต่อไป และบริษัทน้องใหม่อาจสามารถกระโดดข้ามได้เสมอ ฉะนั้น สตาร์ทอัพไทยยังมีโอกาสได้เปรียบในธุรกิจนี้ เพราะเรามีสิ่งที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ ต้นทุนการผลิตยาภูมิคุ้มกันบำบัด และค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้ว รวมถึงบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานและความเป็นมิตรของบุคลากรไทย ทั้งหมดเป็น Medical Solution Package ที่จะช่วยให้ประเทศไทยแข่งขันด้านการรักษาด้วยเซลล์และยีนบำบัดกับโลกได้” 

ดร.นเรศ กล่าวว่า อีกเจตนารมณ์ของการก่อตั้งเจเนพูติกฯ คือ การตอบโจทย์ให้กับสังคมไทยและสังคมโลก ในการแก้ปัญหาทางการแพทย์ที่ยังไม่ถูกตอบโจทย์ (Unmet Medical Need) เพราะโลกทุกวันนี้ ยังมีโรคร้ายที่รักษายากที่คุกคามมนุษยชาติอยู่อีกหลายโรค ซึ่งถือเป็นความท้าทายของมนุษย์ทั้งโลกที่ต้องร่วมกันตอบโจทย์เหล่านี้

สุดท้ายนี้ ซีอีโอแห่ง “เจเนพูติก ไบโอ” ฝากทิ้งท้ายว่า การลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพที่ทำด้านแพลตฟอร์มเทคโนโลยีทางการแพทย์ และแพลตฟอร์มการต่อยอดงานวิจัยด้านไบโอเทค ถือว่ามีความเสี่ยง แต่เป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อมนุษยชาติในระยะยาว ดังนั้น เขาจึงอยากเชิญชวนให้นักลงทุนเข้ามาศึกษาธุรกิจประเภทนี้ เพื่อเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งถือเป็นอีกกลไกสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการรักษาในบ้านเรา

เส้นทางสู่ซีอีโอ เจเนพูติก ไบโอ

ดร.นเรศ ดำรงชัย ได้มีโอกาสศึกษานโยบายด้านเทคโนโลยีชีวภาพของไทยและหลายๆ ประเทศ จนนำทางไปสู่การศึกษาศาสตร์ด้านอนาคตศึกษา (Future Study) โดยมุ่งทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ นอกจากนี้เขายังเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ก่อนจะก้าวสู่ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเนพูติก ไบโอ จำกัด

Trust Magazine by TISCO