“วัคซีนใบยา” ยิ่งกว่าทางรอดวิกฤต COVID-19 สู่รากฐานที่มั่นคงด้านสุขภาพคนไทย

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 58 | คอลัมน์ Health Focus

file

หลายปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า “วัคซีน COVID-19” นับเป็นความหวังเดียวที่เข้ามาช่วยลดการระบาด และการเสียชีวิตของคนไทยจากไวรัส COVID-19 ทว่าการเข้าถึงวัคซีนก็กลับไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เนื่องจากส่วนใหญ่หรือแทบจะทั้งหมด ยังจำเป็นจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลารอคอยที่ค่อนข้างนาน แต่ในตอนนี้ หนทางรอดพ้นจากโรคได้เปิดประตูเพิ่มขึ้น หลังจากที่ “วัคซีนใบยา” วัคซีนป้องกัน COVID-19 สัญชาติไทย ได้เริ่มกระบวนการทดลองในมนุษย์แล้ว

ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตโปรตีนจากพืช ซึ่งเป็นการผลิตวัคซีนและยาที่ได้ชื่อว่า“ถูกและดี” ตอบโจทย์ประเทศกำลังพัฒนามากที่สุด ดังนั้น วัคซีนนี้จึงอาจเป็นมากกว่าทางรอดจากวิกฤตของคนไทย แต่เป็นเส้นทางสู่ความมั่งคั่งทั้งด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน “ใบยา ไฟโตฟาร์ม” ยังจุดประกายความหวังให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจวิทยาศาสตร์และงานวิจัยมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุขให้กับคนไทยได้อย่างยั่งยืน

“Protein Subunit” วัคซีนทางเลือกจากพืช

บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เป็น Biotech Startup สัญชาติไทย ภายใต้ CU Enterprise ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2561 โดย รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ และ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ สองนักวิจัยและอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตโมเลกุลโปรตีนระดับอุตสาหกรรม ด้วยเทคโนโลยี BaiyaPharmingTM ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการผลิตโปรตีนด้วยพืช 

“ชื่อ ใบยา มาจากเทคโนโลยีหลักที่เป็นการนำ “ใบ” ของพืชมาผลิตเป็นยาหรือวัคซีน ด้วยกระบวนการสร้างโมเลกุลโปรตีน โดยใช้เทคนิคการสร้างดีเอ็นเอสายผสม (Recom-binant DNA) ซึ่งเป็นการนำยีนของสิ่งมีชีวิตที่ต้องการใส่เข้าไปในเชื้อแบคทีเรีย จากนั้นนำ Recombinant DNA ไปปลูกถ่ายในพืช ซึ่งเป็นเซลล์ให้อาศัย (Host) ที่เลี้ยงง่าย ผลิตโปรตีนได้ผลดี และเพิ่มปริมาณได้เร็ว เพื่อให้พืชสร้างโปรตีนที่มียีนที่ต้องการ (Recombinant Protein) แล้วสกัดเอาโปรตีนนั้นออกมา ซึ่งโมเลกุลโปรตีนที่ได้จะมีความบริสุทธิ์สูง จึงนำมาผลิตยารักษาโรค” รศ.ดร.วรัญญู อธิบายในฐานะ Chief Technology Officer 

file

สำหรับ “วัคซีนใบยา” เป็นวัคซีนป้องกัน COVID-19 ชนิด Protein Subunit ที่ใช้วิธีปลูกถ่ายยีนของเชื้อ COVID-19 ในพืชผ่านเชื้อแบคทีเรีย เพื่อให้พืชผลิตชิ้นส่วนหนามของไวรัส จากนั้นจึงสกัดโปรตีนบริสุทธิ์ออกมาทำวัคซีน ซึ่งถือเป็นวัคซีนชนิดโปรตีน (Protein-based Vaccine) ที่ผลิตจากพืชแห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศไทย โดยเป็นชนิดเดียวกันกับวัคซีน Novavax และวัคซีนอื่นๆ ที่แพร่หลายในปัจจุบัน เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนมะเร็งปากมดลูก วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น

“การผลิตวัคซีนจากพืชไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นเทคโนโลยีที่มีมามากกว่า 15 ปีแล้ว เพราะตั้งแต่สมัยที่ได้ไปศึกษาต่อปริญญาเอกที่อเมริกา เมื่อปี 2547 ตอนนั้นที่นั่นได้เริ่มมีการคิดค้นเพื่อหาระบบการผลิตวัคซีนที่จะทำได้เร็ว ได้ปริมาณเยอะ และเป็นระบบที่ประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาสามารถผลิตเองได้ โดยใช้ระยะเวลาในการผลิตที่สั้น ซึ่งพืชก็ค่อนข้างตอบโจทย์ เพราะหลังจากถ่ายยีนไวรัสเข้าไปในพืชแล้ว ใช้เวลาอีกไม่เกิน 10 วัน ก็สามารถที่จะผลิตวัคซีนออกมาได้ และถ้าอยากได้โปรตีนเยอะขึ้น ก็แค่ปลูกพืชให้มากขึ้น ซึ่งไม่ซับซ้อน ไม่ต้องนำเข้าอุปกรณ์หรือวัตถุดิบจากต่างประเทศ ไม่เหมือนเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนชนิดอื่น ที่ต้องใช้เงินทุนสูงกว่า ต้องนำเข้าอุปกรณ์และวัตถุดิบจากต่างประเทศ เวลาจะเพิ่มปริมาณการผลิต ต้องใช้เวลาปรับค่อนข้างนานและลงทุนค่อนข้างสูง เมื่อต้นทุนการผลิตสูง ราคาวัคซีนจึงสูงตามไปด้วย”

สำหรับพืชที่บริษัทใช้ในการผลิตยาและวัคซีน ได้แก่ “ใบยาสูบ” สายพันธุ์ดั้งเดิมจากออสเตรเลีย เพราะมีนิโคตินระดับต่ำมาก มีใบเยอะ วงจรชีวิตสั้น ระยะเวลาเก็บเกี่ยวเร็ว สร้างโปรตีนได้มาก และสร้างพันธุกรรมใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วโลกจึงนิยมนำมาใช้สกัดโปรตีนเพื่อผลิตยา ซึ่งประเทศไทยก็มีต้นพันธุ์ใบยาสูบสายพันธุ์นี้อยู่แล้ว

“ประเทศไทยเคยผลิตวัคซีนได้เองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีค่อนข้างสูง ทำให้ระยะหนึ่ง เราอาจตามประเทศอื่นไม่ทัน จึงหันไปสั่งซื้อวัคซีนจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ สิ่งที่น่ากลัว คือ ถ้ามีโรคอุบัติใหม่ระบาดเฉพาะเมืองไทย ไม่ได้ระบาดทั่วโลกเหมือน COVID-19 เราจะรับมือยังไง คงไม่มีใครมาผลิตวัคซีนและยาให้เรา ที่ผ่านมาเรายังไม่เคยมีแพลตฟอร์มการผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ผลิตเองตั้งแต่ต้นน้ำ ดังนั้น “วัคซีนใบยา” จึงถือเป็นครั้งแรกที่เราไม่ต้องยืมจมูกใครหายใจ ฉะนั้น เราต้องพึ่งตัวเองให้ได้ตั้งแต่วันนี้ ต่อยอดจากตรงนี้ไปสู่การผลิตวัคซีนและยาอื่นๆ ในอนาคต”

file

เปิดไทม์ไลน์ “วัคซีนใบยา” เพิ่มทางรอดให้คนไทย

รศ.ดร.วรัญญู ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพในการผลิตวัคซีนและยาด้วยโปรตีนจากพืช ที่หาตัวจับได้ยากของประเทศไทย เธอได้รับทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่อเมริกา โดยเธอเลือกทำวิจัยกับศาสตราจารย์ Charles Arntzen ที่ Arizona State University ซึ่งทำให้เธอได้มีโอกาสทำวิจัยเรื่องการพัฒนาวัคซีนและยารักษาอีโบลาจากโปรตีนพืชที่ใช้ในมนุษย์เป็นครั้งแรกโดยเป็นการใช้ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากร้อยละ 90 ได้เหลือไม่ถึงร้อยละ 35 และเมื่อกลับมาประเทศไทย เธอได้มาเป็นอาจารย์ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ และขอทุนทำวิจัยมาตลอด 6 - 7 ปี พร้อมกับความรู้สึกเสียดายที่ผลงานเพียงถูกตีพิมพ์ลงวารสาร แต่ยังไม่ได้ถูกต่อยอดออกมาเป็นรูปธรรม

“ทำงานวิจัยเรื่องการนำพืชไปผลิตยาหรือวัคซีนมากว่า 10 ปี ทำให้เห็นว่าแพลตฟอร์มนี้น่าจะทำให้ประเทศไทยผลิตยาและวัคซีนได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เมื่อไม่ต้องนำเข้า ต้นทุนการผลิตก็ถูกลง ใช้เวลาผลิตก็น้อยลง จึงนำเอาเทคโนโลยีนี้ไปเสนอบริษัทเอกชน และหน่วยงานรัฐหลายแห่ง แต่คนส่วนใหญ่มองว่ายังไม่สามารถทำได้จริง เพราะยังไม่มีบริษัทยาแห่งไหนทำ พอดีกับที่จุฬาฯ มีหน่วยงาน CU Innovation Hub ที่มีเป้าหมายให้อาจารย์ผลักดันงานวิจัยมาทำประโยชน์เชิงพาณิชย์ และเป็นจังหวะที่ดีที่เรามีโอกาสได้เจอกับ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา (CEO) ผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีความสนใจในเรื่องนโยบายประกันสุขภาพและการเข้าถึงยา โดย อ.สุธีรา มองว่าตราบใดที่ประเทศไทยผลิตยาและวัคซีนเองไม่ได้ คนไทยก็ไม่มีทางเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพในราคาที่เหมาะสมได้ เราจึงชวนกันไปศึกษางานที่บริษัทไบโอเทคฯ ที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีนี้ที่อเมริกาและเยอรมนี พอกลับมา เราก็ได้ร่วมกันก่อตั้งใบยาฯ ขึ้น” 

file

CTO สาว เล่าว่า เนื่องจากห้องปฏิบัติการยังไม่สามารถผลิตยาหรือวัคซีนที่ฉีดในคนได้ ช่วงแรกบริษัทจึงปรับมาผลิตโปรตีนสำหรับการผลิตเครื่องสำอางก่อน เพื่อพิสูจน์ว่าเทคโนโลยีการผลิตโปรตีนจากพืชสามารถใช้ได้จริง โดยทีมวิจัยยังได้พัฒนางานด้านวัคซีนและยาควบคู่ไปด้วย โดยได้เริ่มพัฒนาต้นแบบ (Prototype) ชุดตรวจโรคติดเชื้อไวรัส มือ เท้า ปาก สายพันธุ์ EV71 กระทั่งต้นปี 2563 เกิดโรคระบาด COVID-19 บริษัทจึงได้หยุดผลิตโปรตีนอื่น เพื่อนำพืชทั้งหมดมาใช้ผลิตโปรตีนเกี่ยวกับ COVID-19 ทั้งชุดตรวจภูมิคุ้มกัน และ Monoclonal Antibody เพื่อทดสอบเป็นยารักษา รวมถึงการผลิตวัคซีน

“การผลิตโปรตีนจากพืชเป็นระบบที่สามารถผลิตโปรตีนชนิดใหม่ๆ ในปริมาณมากได้ในเวลาอันรวดเร็ว และสามารถที่จะยกระดับการผลิตในห้องทดลอง มาเป็นการผลิตวัคซีนในระดับอุตสาหกรรมได้ทันที โดยวัคซีนใบยานี้ได้เริ่มขึ้น หลังจากที่เรารู้สารพันธุกรรมของเชื้อ COVID-19 ในช่วงประมาณเดือนมกราคม พอเดือนกุมภาพันธ์ก็สามารถที่จะผลิตโปรตีนได้ และเริ่มทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนในหนู ด้วยการฉีด 2 โดส ห่างกัน 3 สัปดาห์ และต้องรออีก 2 สัปดาห์ เพื่อเก็บผลเลือดมาตรวจ จึงใช้ระยะเวลาเกือบ 2 เดือน ซึ่งผลการทดสอบออกมาว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีและไม่มีผลข้างเคียงใดๆ จากนั้นจึงทำการทดสอบในลิงต่อในช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งพบว่ามีการกระตุ้น T Cell ได้ดี จึงได้เริ่มมองหาสถานที่ผลิตใบยา ซึ่งต้องเป็นห้องแบบควบคุม (Control Room) แต่เพราะการผลิตวัคซีนจากพืชยังใหม่มาก เราจึงนำระบบคุณภาพมาตรฐานการผลิตยาและเวชภัณฑ์ (GMP) มาใช้ในการสร้างโรงงาน คู่ขนานไปกับระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระหว่างรอ อย. อนุมัติ เราก็ได้ทำการทดสอบความสามารถ
ในการป้องกันการติดเชื้อในสัตว์ทดลองไปด้วย”

เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา “โรงงานต้นแบบการผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุด้วยพืช” ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารจุฬาพัฒน์ 14 ได้รับอนุมัติจาก อย. ทำให้พื้นที่กว่า 1,200 ตร.ม. กลายเป็นพื้นที่วิจัยและพัฒนาการผลิตวัคซีนและยาด้วยพืชเพื่อใช้ในมนุษย์เป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย ภายในมีการปลูกพืชแนวดิ่ง ด้วยระบบ Hydroponics บนเนื้อที่ราว 300 ตร.ม. คาดว่าจะสามารถผลิตโปรตีนสำหรับวัคซีนได้ 1 - 5 ล้านโดสต่อเดือน ต่อมาช่วงต้นเดือนกันยายน บริษัทได้เปิดรับอาสาสมัครเพื่อเข้าร่วมทดสอบวัคซีนจากพืช จำนวน 50 คน ที่มีช่วงอายุ 18 - 60 ปี ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและมีผู้สมัครเข้าร่วมครบอย่างรวดเร็ว โดยเป็นการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 เพื่อดูความปลอดภัยของวัคซีน ซึ่งหากกลุ่มแรกได้ผลดี จะเริ่มทดสอบในกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีช่วงอายุ 60 - 75 ปี จำนวน 50 คน เช่นกัน จากนั้นจะทำการทดสอบระยะที่ 2 เพื่อวัดประสิทธิภาพของวัคซีนในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในคนจำนวนมากขึ้น และระยะที่ 3 เพื่อทดสอบความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งถ้าผลการทดสอบเป็นไปตามแผน คาดว่ากลางเดือนสิงหาคม ปี 2565 คนไทยก็จะได้ฉีดวัคซีนตัวนี้ และในขณะที่พัฒนาวัคซีนใบยารุ่นที่ 1 อยู่นี้ ทางคณะวิจัยก็ได้พัฒนาวัคซีนใบยารุ่นที่ 2 เพื่อรับมือการกลายพันธุ์ของเชื้อ COVID-19 ควบคู่ไปด้วยกัน ซึ่งจากการทดสอบก็พบว่า สามารถยับยั้งเชื้ออัลฟา และเดลต้าได้และไม่เกิดผลข้างเคียงในหนูและลิง โดยคาดว่าจะพร้อมทดสอบกับอาสาสมัครในปลายปี 2564 นี้

file
file

“นอกจากโรงงาน ห้องวิจัยที่พร้อมสำหรับการทดลองแล้ว เรายังโชคดีที่ได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากนักวิจัยหลายท่านในประเทศ ทั้งจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์  MU-Bio จากมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางขุนเทียน) ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาฯ ซึ่งเป็นศูนย์สัตว์ทดลองที่สามารถทำการทดลองในลิงได้ มาร่วมทำงานกับเราด้วย ทำให้การทำวิจัยของเราค่อนข้างราบรื่นและเป็นไปด้วยดี” 

ก้าวสู่ความมั่นคงทางสุขภาพของคนไทย 

“มีคนถามว่า ตอนนี้ประเทศไทยก็มีวัคซีนเข้ามาแล้ว ทำไมเรายังพัฒนาอยู่ เพราะเราต้องการเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้คนไทยได้เข้าถึงวัคซีน COVID-19 อย่างทั่วถึง เพราะเราไม่รู้เลยว่าวัคซีนนำเข้าจะมาถึงเมื่อไหร่ ถ้ามีการระบาดใหญ่รอบใหม่ เราจะซื้อแข่งกับทั่วโลกทันไหม แต่ถ้าใบยาฯ สามารถผลิตวัคซีนได้เดือนละ 5 ล้านโดส นั่นคือเราจะผลิตได้ 60 ล้านโดสต่อปี ซึ่งใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นให้คนไทยได้ในอนาคต หรือหากเชื้อCOVID-19 กลายพันธุ์จนวัคซีนเดิมใช้ไม่ได้ เราก็แค่เปลี่ยนยีนที่ใส่ในพืช เพื่อให้พืชผลิตโปรตีนใหม่ขึ้นมา เราก็จะสามารถสร้างวัคซีนตัวใหม่ขึ้นมาได้เสมอ”

รศ.ดร.วรัญญู กล่าวเพิ่มว่า วัคซีนที่ผลิตได้เองในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ย่อมมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าวัคซีนนำเข้า ดังนั้น โอกาสที่คนไทยจะเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึงย่อมมีมากขึ้น โดยคาดว่าต้นทุนวัคซีนใบยาน่าจะอยู่ที่ไม่เกิน 500 บาทต่อโดส และเมื่อบริษัทสามารถขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกได้ ต้นทุนวัคซีนก็จะยิ่งถูกลงโดยตลาดที่มีศักยภาพ ได้แก่ ประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศแถบแอฟริกาและอาเซียน เป็นต้น เนื่องจากวัคซีนชนิด mRNA ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการขนส่งวัคซีน ซึ่งต้องเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส และเก็บได้เพียง 1 เดือน ขณะที่วัคซีนชนิด Subunit เก็บได้นานถึง 1 ปี ในอุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส
หรือในตู้เย็นธรรมดา ซึ่งง่ายต่อการนำไปใช้

“วัคซีน COVID-19 คือหนึ่งในเป้าหมายของเรา แต่อีกเป้าหมายที่สำคัญ ก็คือ การทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตยาและวัคซีนได้เองตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ แม้การผลิตวัคซีนตัวนี้อาจจะช้าไปบ้าง แต่ก็ทำให้เราได้เรียนรู้เส้นทางการพัฒนา และวางโครงสร้างที่จำเป็นขึ้นมา หากในอนาคตมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้น อย่างน้อยเราก็มีเทคโนโลยีวัคซีนนี้เป็นทางเลือกในการรับมืออย่างทันการณ์ และเมื่อ COVID-19 สงบแล้ว เราก็สามารถที่จะนำแพลตฟอร์มนี้ไปผลิตยาหรือวัคซีนตัวอื่นได้”

file

เธอเล่าต่อว่า บริษัทมีแผนผลิตยาใน Pipeline หลายตัว โดยหนึ่งในนั้น ได้แก่ ยารักษามะเร็งแบบภูมิคุ้มกันบำบัด (Cancer Immunotherapy) ซึ่งปัจจุบันมีราคาสูงมากและต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาต่อเนื่อง ทำให้คนไทยจำนวนน้อยมากที่จะสามารถเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพและช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ บริษัทจึงได้วิจัยและพัฒนา โดยหลังการทดสอบในหนูทดลอง ปรากฏว่าสามารถลดขนาดก้อนมะเร็งได้ จึงมีแผนจะเริ่มทำการทดสอบในมนุษย์ในปีหน้า นอกจากนี้ยังมีกลุ่มยารักษาโรคพิษสุนัขบ้า กลุ่มยารักษาโรคระบาดอื่น เช่น เชื้อไวรัสต้นเหตุโรคคอตีบ หรือเชื้อไวรัสต้นเหตุโรคอีโบลา และกลุ่มวัคซีนสำหรับใช้ในสัตว์ด้วย

“ประเทศไทยจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีการผลิตยาและวัคซีนเป็นของเราเอง เพราะเราไม่อาจรู้ได้เลยว่า ในอนาคตเชื้อโรคจะมีการกลายพันธุ์ไปมากแค่ไหน และหากเป็นวัคซีนที่ต้องฉีดเป็นประจำทุกปี ความต้องการวัคซีนก็จะยิ่งมีมากขึ้น เราจึงยิ่งต้องผลิตวัคซีนด้วยตัวเองให้ได้ และการนำเข้าก็มีราคาแพงและต้องรอคิว ซึ่งอาจไม่ทันกับการระบาด ฉะนั้นแพลตฟอร์มนี้จึงเป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยให้คนไทยเข้าถึงยาและวัคซีนอย่างเท่าเทียมและทันการณ์ รวมถึงทำให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งนั่นคือความมั่นคงทางสุขภาพ
ของคนไทย”

ส่งต่อแรงบันดาลใจ สร้างคนรุ่นใหม่สู่อาชีพ “นักวิจัยยา”

รศ.ดร.วรัญญู เล่าว่า เธอรู้สึกว่าต้องขับเคลื่อนบางอย่างนอกเหนือจากการเป็นอาจารย์และนักวิจัย เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่มองว่า สายอาชีพนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยในประเทศไทยยังมีเส้นทางสดใสรออยู่ “เรารู้สึกว่า สตาร์ทอัพน่าจะเป็นจุดหนึ่งที่ช่วยให้คนทำงานวิจัยมีงาน มีเงินเดือนที่เหมาะสม และได้ทำวิจัยอย่างเต็มที่ ดังนั้น Passion ในการตั้งสตาร์ทอัพของเรา นอกจากการทำให้เทคโนโลยีการผลิตยาจากพืชเกิดขึ้นจริงแล้ว เรายังอยากเป็นแพลตฟอร์มที่ดึงนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีความสามารถให้มาร่วมงานกับเรา และเราอยากเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ธุรกิจที่มีวิทยาศาสตร์ (Deep-tech) เป็นฐาน จะสามารถพัฒนาต่อยอดไปได้ไกล ถ้าเรากลายเป็น Unicorn ได้ ก็จะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่สนใจเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น และอาจเป็นตัวอย่างให้นักวิจัยหรืออาจารย์ท่านอื่นอยากลุกขึ้นมาผลักดันงานวิจัยให้เป็นรูปธรรม โดยใช้โมเดลสตาร์ทอัพกันมากขึ้น ซึ่งน่าจะดีกับประเทศไทย

วันนี้เราได้เห็นกันแล้วว่า วัคซีนเป็นเรื่องสำคัญมาก ต่อให้เรามีเงินมากพอ ก็ไม่สามารถผลิตวัคซีนออกมาเองได้ทันที เพราะแพลตฟอร์มการผลิตวัคซีนไม่ได้เป็นสิ่งที่เอาเงินมาซื้อและสามารถทำให้เกิดขึ้นได้เลย ต้องพัฒนาขึ้นมา ต้องมีระบบนิเวศ (Ecosystem) และสิ่งสำคัญที่สุดคือ คน เพราะการพัฒนาวัคซีนต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายศาสตร์ คำถามคือ เราจะดึงเด็กให้เข้ามาเรียน มาสร้างความเชี่ยวชาญเหล่านี้ได้อย่างไร เราก็มองว่าโมเดลสตาร์ทอัพ อาจทำให้เด็กรุ่นใหม่เห็น Career Path ที่สดใสขึ้น วันนี้เราไม่ได้มองแค่ความสำเร็จในการผลิตวัคซีน แต่เราอยากให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตัวเองได้ และทำให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีความหวัง ถ้าเรามีโครงสร้างพื้นฐานของระบบผลิตยาและวัคซีนที่ดี วันหน้าลูกหลานของเราก็จะพัฒนาความมั่นคงให้กับประเทศได้ไกลกว่าทุกวันนี้” รศ.ดร.วรัญญู กล่าวทิ้งท้าย