นพฤทธิ์ จักขุจัน ปั้น ฟินน์ โซลูชั่น หนุนบริการทางการแพทย์

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 58 | คอลัมน์ New Generation

file

 

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้บุคลากรด่านหน้าทางการแพทย์ต้องรับภาระหนักในการดูแลรักษาผู้ป่วย ขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าการรักษาจะต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้ บริษัท ฟินน์ โซลูชั่น จำกัด เทคสตาร์ทอัพดาวรุ่ง ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ “YEyes” เพื่อทำหน้าที่เป็น AR Remote Assistant โซลูชั่น สื่อสารทางไกลอัจฉริยะ ที่ช่วยเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างผู้ที่อยู่คนละสถานที่ให้สามารถเห็นภาพเดียวกัน ในเวลาเดียวกัน เสมือนอยู่ด้วยกัน จึงเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการทางการแพทย์และสาธารณสุขไทยในช่วงเวลานี้ได้เป็นอย่างดี

 

หลังจากคว้าปริญญาตรีด้านวิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คุณนพฤทธิ์ จักขุจัน ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินน์ โซลูชั่น จำกัด ได้เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นวิศวกรทางเทคนิค (Service Engineer)ที่สิงคโปร์ จากนั้นได้ร่วมงานกับ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ บริษัทขายเครื่องมือแพทย์และดูแลบริการหลังการขาย ซึ่งการทำงานที่นี่เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้เขาได้เห็น Pain Point ของบริการทางการแพทย์ และตระหนักว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่จะเข้ามาช่วยทำให้บริการสาธารณสุขสะดวกและรวดเร็วมากขึ้นได้เพียงใด และนั่นจะส่งผลดีต่อทุกฝ่ายทั้งตัวผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงโรงพยาบาลด้วย

“ผมเคยขายเครื่องมือผ่าตัด และดูแลบริการหลังการขายของหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดดาวินชี ซึ่งการทำงานในรูปแบบนี้ต้องมีมาตรฐานที่สูง เพราะหนึ่งครั้งของการผ่าตัด คือหนึ่งชีวิตของผู้ป่วย ดังนั้นเครื่องมือแพทย์จึงต้องมีความพร้อมที่สุดเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้การผ่าตัดสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี มีครั้งหนึ่งผมต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ เพื่อซ่อมเครื่องมือผ่าตัด ที่จริงแล้วใช้เวลาในการซ่อมแค่ประมาณ 10 นาทีก็เสร็จแต่ช่วงเวลาระหว่างเดินทางและการซ่อมนั้นอาจจะสร้างความสูญเสียให้เกิดขึ้นได้มากมายไม่ว่าจะเป็น แพทย์ต้องเลื่อนการผ่าตัดออกไป ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดล่าช้า ซึ่งนั่นอาจหมายถึงโอกาสในการหายจากโรคหรือการรอดชีวิตที่ลดลง ในห้วงเวลานั้นเองได้จุดประกายความคิดของผมขึ้นว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้สามารถลดทอนความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นเหล่านี้ได้ นี่จึงทำให้เกิดการคิดค้นพัฒนาซอฟต์แวร์ YEyes แว่นตา AR อัจฉริยะขึ้น”

ผุด Software House ดึงเทคโนโลยีไขปัญหา

จากการเป็นผู้รับจ้าง คุณนพฤทธิ์ พลิกบทบาทสู่ผู้ปลุกปั้นเทคสตาร์ทอัพ ภายใต้ชื่อ “ฟินน์ โซลูชั่น” ซึ่งเป็น Software House หรือบริษัทรับจัดทำและพัฒนาซอฟต์แวร์เฉพาะด้านหรือเฉพาะธุรกิจตามความต้องการที่แตกต่างของลูกค้า เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็น แพลตฟอร์ม CRM ระบบการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ CMMS ระบบการบริหารจัดการองค์กรอย่างเต็มรูปแบบ Chatbot ซอฟต์แวร์ที่ช่วยตอบกลับการสนทนาผ่านข้อความหรือเสียงแบบอัตโนมัติ AI Image Search การค้นหาข้อมูลด้วยรูปภาพ เป็นต้น และขณะนี้กำลังมุ่งพัฒนา IoT (Internet of Things) ที่สามารถใช้งานร่วมกับ  AR เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการตอบโจทย์ปัญหาของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

ปัจจุบัน ฟินน์ โซลูชั่น ได้ดำเนินธุรกิจมาร่วม 7 ปีแล้ว โดยมีโมเดลธุรกิจแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือการรับจ้างพัฒนาเป็นโปรเจกต์เพื่อทำโปรโไทป์ แพลตฟอร์มระบบต่างๆ และรับจ้างเขียนซอฟต์แวร์ อีกส่วนหนึ่งคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ภายใต้การสร้างแบรนด์ที่ชื่อว่า YSentric ด้วยคอนเซปต์ The Centric of After Sale Service Solution เพื่อให้เป็นศูนย์กลางโซลูชั่นสำหรับการบริการหลังการขายทั้งหมด โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ในทุกภาคส่วน (Digital Transformation) ของธุรกิจ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยมีแพลตฟอร์มที่น่าจับตาคือ YMedi แพลตฟอร์มCMMS ซึ่งเป็นโซลูชั่นในการบริหารจัดการโรงพยาบาลทั้งในส่วนของระบบสารสนเทศ เวชระเบียน และการบริหารทรัพยากรองค์กรให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการซ่อมบำรุงต่างๆ

file

“นอกจากการบริหารจัดการทรัพยากรแล้ว ตอนนี้เราได้มีการนำ YMedi มาใช้งานร่วมกับเทคโนโลยี Beacon (Asset Tracking)ในการติดตามสถานะเครื่องมือทางการแพทย์ว่าอยู่ระหว่างการใช้งานหรือไม่ หรือกำลังถูกใช้งานในส่วนใดของโรงพยาบาล และกำลังเร่งพัฒนาระบบเพิ่มเติมให้สามารถเชื่อมต่อกับ IoT เพื่อใช้ในการวัดปริมาณก๊าซต่างๆ เช่น ออกซิเจน ไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ หรือการวัดค่า pH ของน้ำที่ใช้ในโรงพยาบาล ซึ่งคาดว่าหลังสถานการณ์ COVID-19 ผ่านพ้นจะสามารถนำโซลูชั่นใหม่นี้ไปนำเสนอโรงพยาบาลต่างๆ ได้”

และประสบการณ์เมื่อครั้งทำงานที่เบอร์ลี่ ยังเป็นจุดเริ่มต้นในการคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นอย่าง YEyes ซึ่งเป็น Tele Consult ผ่านแว่นตา AR อัจฉริยะ ที่ทำหน้าที่เป็น  AR Remote Assistant โดยไม่ว่าจะอยู่ณ สถานที่ใด ก็สามารถเชื่อมต่อกันได้แบบเรียลไทม์ เพื่อให้คำแนะนำและช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเสมือนอยู่หน้างานจริง พร้อมช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และการเดินทาง ทั้งยังมีฟีเจอร์อัจฉริยะอย่างระบบ Marker ที่สามารถชี้จุดที่ต้องการแก้ไขปัญหาได้อย่างแม่นยำ ระบบ Share Screen ที่ช่วยแชร์หน้าจอให้คำปรึกษาได้แบบทันที และสามารถบันทึกภาพและวิดีโอไว้ดูย้อนหลังได้ นอกจากนี้ยังถ่ายทอดสัญญาณภาพและเสียงได้อย่างคมชัด และประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว

YEyes ตอบโจทย์เทรนด์แพทย์ทางไกลในยุค COVID-19

ในยุค COVID-19 การรักษาระยะห่างทางสังคมเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมาก ทำให้การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ขณะเดียวกัน ฟินน์ โซลูชั่น ก็มี YEyes โซลูชั่นการสื่อสารทางไกลอัจฉริยะผ่านแว่นตา AR ซึ่งปัจจุบันหลายโรงพยาบาลก็ได้นำโซลูชั่นนี้มาใช้ในกระบวน-การรักษาผู้ป่วยระยะไกลแบบเรียลไทม์ อาทิ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลราชวิถี และสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์เป็นต้น รวมถึงงานด้านอื่นๆ เช่น การใช้คู่กับการปฐมพยาบาลและการรักษาฉุกเฉินบนรถพยาบาล หรือการขอความเห็นที่สองจากแพทย์ท่านอื่นที่อยู่ห่างออกไป หรือการควบคุมการซ่อมบำรุงเครื่องมือแพทย์ 

“ล่าสุด เราได้มีการนำ YEyes ไปติดตั้งในรถพยาบาลของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อช่วยในเรื่องการให้คำปรึกษาระหว่างแพทย์ในศูนย์ฉุกเฉินและเจ้าหน้าที่ในรถพยาบาล จากเมื่อก่อนที่มีเพียงแค่กล้องวงจรปิด ซึ่งมองเห็นได้ แต่ก็อาจมีข้อมูลที่ไม่มากเพียงพอในการประกอบการตัดสินใจหรือให้คำแนะนำ YEyes ก็จะเข้ามาช่วยตรงนี้ เพราะเพียงแค่ใส่แว่นตา แพทย์ในศูนย์ฉุกเฉินก็จะสามารถเห็นภาพในมุมเดียวกับเจ้าหน้าที่ในรถพยาบาล และเจ้าหน้าที่เองก็สามารถที่จะทำตามคำแนะนำของแพทย์ได้ทันที เพื่อช่วยประคองผู้ป่วยให้ไปถึงห้องฉุกเฉินได้โดยปลอดภัย”

file

บทบาทของ YEyes จึงมีส่วนช่วยในสถานการณ์ฉุกเฉินได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วง COVID-19  “ตอนนี้ YEyes ถูกนำมาใช้ระหว่างแพทย์จูเนียร์ที่ต้องการคำปรึกษาจากแพทย์ซีเนียร์ เพราะด้วยการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในหลายโรงพยาบาลจึงได้สลับการทำงานของแพทย์ออกเป็น 2 ทีม ทีมละ 14 วัน เพื่อกักตัว ทำให้จำนวนแพทย์หน้างานลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียว แม้ระหว่างการกักตัวจะยังสามารถให้คำแนะนำได้ แต่ด้วยความที่ไม่สามารถเห็นผู้ปวยได้แบบเรียลไทม์ อาจทำให้การรักษาไม่เต็มประสิทธิภาพนัก ดังนั้น โซลูชั่น YEyes จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ปวยโดยแพทย์ที่ใส่แว่นตา AR จะสามารถเห็นอาการของผู้ป่วยไปพร้อมกับแพทย์ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่แบบเรียลไทม์และสามารถวินิจฉัยอาการได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น ทั้งยังลดการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรงและลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์”

นอกจาก YEyes จะเข้ามาตอบโจทย์ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังช่วยตอบโจทย์ความต้องการในอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย อาทิ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่นำไปใช้ในการตรวจประเมินความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในงานก่อสร้าง พร้อมบันทึกภาพหน้าจอเพื่อทำรายงานประจำวันได้เสมือนเข้าไปอยู่ในไซด์งานจริง หรือในอุตสาหกรรมการผลิต ที่ต้องซ่อมเครื่องจักรที่มีความซับซ้อนสูง และต้องการคำแนะนำจากช่างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ

เมื่อโลกเสมือน (AR) กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน

เนื่องจากเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ที่ใช้ในการทำแว่น AR ในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ฟินน์ โซลูชั่น จึงต้องนำเข้าแว่นตา AR จากจีน มาใช้ในการพัฒนาต่อทำให้มีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง แต่ในอนาคตอันใกล้ คุณนพฤทธิ์ คาดว่าการพัฒนาที่ก้าวกระโดดและการได้รับอานิสงส์จากบริษัท Google ที่เข้าซื้อบริษัทแว่นตา AR เมื่อไม่นานนี้ จะช่วยให้แว่นตา AR มีราคาที่ถูกลง ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดการตอบรับแว่นตา AR ในวงกว้าง และถูกใช้งานอย่างแพร่หลายจนในอนาคตเทคโนโลยี AR ก็จะถูกหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวัน

“ในอนาคตภาพนี้จะเกิดขึ้นแน่นอน นั่นคือเกือบทุกคนจะใส่แว่นตา AR ในชีวิตประจำวัน  เพราแว่นตา AR จะมีน้ำหนักเบาจนสวมใส่ได้สบายไม่ต่างจากแว่นตาทั่วไปและทุกสิ่งก็จะถูกเชื่อมโยงเข้ากับเทคโนโลยี AR เช่น เราจะพูดคุยกันผ่านแว่นตา AR แทนสมาร์ทโฟน หรือใช้ในการเรียน การสอน และการทำงาน ที่อธิบายเรื่องราวหรือขั้นตอนต่างๆ ได้ชัดเจนและเข้าใจง่ายมากขึ้น”

คุณนพฤทธิ์ ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะทำการศึกษาส่วนประกอบของ YEyes ในส่วนของฮาร์ดแวร์ให้มากพอ จนสามารถสร้างและพัฒนาแว่นตา AR ขึ้นมาได้เอง เพื่อที่จะไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์ยิ่งขึ้น อย่างการทำ Object Recognition (เทคโนโลยีตรวจจับวัตถุ เพื่อระบุว่าวัตถุในภาพหรือวิดีโอนั้นเป็นอะไร) เพื่อแสดงวิธีการใช้ การประกอบ ขั้นตอนการแก้ปัญหาต่างๆ ได้ โดยไม่ต้องอ่านคู่มือจากหนังสือเลย พร้อมกับวางแผนจะบุกตลาดเกมมิ่งและสื่อบันเทิงต่างๆ ขณะเดียวกันยังเน้นการนำ IoT มาผสานเข้ากับ AI เพื่อสร้างโซลูชั่นใหม่ๆ  พร้อมบุกตลาด Blue Ocean ด้วย YMedi ที่มุ่งเจาะกลุ่มตลาดโรงพยาบาลซึ่งยังมีคู่แข่งน้อย โดยทั้งหมดเป็นแผนธุรกิจที่จะต้องดำเนินไปเพื่อให้สามารถนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอได้

file

ระบบนิเวศที่ดี หนุนการเติบโตสตาร์ทอัพไทย

ในฐานะผู้ปลุกปั้นเทคสตาร์ทอัพที่ได้รับความไว้วางใจจากวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย คุณนพฤทธิ์ แสดงทัศนะที่น่าสนใจว่า “สตาร์ทอัพไทยจะโตได้หากได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งจากภาครัฐและการตอบสนองของตลาด หรือจะต้องมีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโต ในขณะเดียวกันตัวสตาร์ทอัพเองก็จะต้องมีองค์ความรู้ที่เฉพาะตัวจริงๆ เพื่อไม่ให้ถูกลอกเลียนแบบได้ง่าย รวมถึงต้องมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนและเข้าใจ Pain Point ของผู้บริโภค พร้อมนำเสนอโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ความต้องการได้ เพราะหากผู้บริโภคมองเห็นได้ถึงความคุ้มค่าและมีค่า ก็จะยอมจ่ายเพื่อแลกกับความสะดวกสบายและความรวดเร็วแน่นอน”

คุณนพฤทธิ์ ทิ้งท้ายว่า “ผมเองก็เหมือนคนทั่วไปที่พยายามจะแสวงหาความสุขในชีวิต Turning Point ที่ทำให้ผมตัดสินใจลาออกจากงานประจำ ก็คือ ผมคิดว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตผมหลังจากเกษียณแล้ว ผมจะออกจากงานมาเพื่อแค่เลี้ยงหลานเท่านั้นเหรอ ซึ่งผมต้องการทำอะไรที่มากกว่านั้น ยิ่งใหญ่กว่านั้น และช่วยคนได้มากกว่านั้น ซึ่งตอนนี้ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ผมเลือกนั้นถูกต้องแล้ว โดยเฉพาะเวลาที่ Used Case นำผลิตภัณฑ์ของเราไปช่วยแก้ปัญหาให้กับเขาได้ ตอบโจทย์การทำงานของเขาได้จริงๆ และเขาก็รู้สึกดีกับการใช้ผลิตภัณฑ์ของเรามากๆ นั่นแหละ คือความสุขของผม”