ถอดรหัส “ทิสโก้” แบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุด ในหมวดธุรกิจการเงิน สู่การปั้น 22 CEO ต่อยอด “MIRACLE”

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 60 | คอลัมน์ Exclusive

file

 

ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจ การเงิน ผลกระทบของ COVID-19 ตลอดจนสถานการณ์โลก ล้วนเป็นปัจจัยที่หยิบยื่นความท้าทายให้กับการทำธุรกิจ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่องค์กรธุรกิจจะสามารถสร้างการเติบโตได้ดีในปีที่ผ่านมา ทว่าสำหรับกลุ่มทิสโก้ ภายใต้การนำของ “คุณศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ ในปี 2564 ถือเป็นปีแห่งความภาคภูมิใจและสามารถทำผลงานได้อย่างโดดเด่น โดยสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นถึง 12% อีกทั้งยังจ่ายเงินปันผลได้ในอัตราสูงสุดในกลุ่มสถาบันการเงิน มีสัดส่วนเงินกองทุนและอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Coverage Ratio) ในระดับสูงสุด รวมถึงคว้ารางวัลการันตีมาได้มากถึง 21 รางวัล ครอบคลุมในทุกมิติ และได้รับการจัดอันดับเป็นองค์กรที่มีมูลค่าแบรนด์สูงสุดในหมวดธุรกิจการเงิน ประจำปี 2564 (Thailand’s Top Corporate Brands 2021)

บทพิสูจน์ความสำเร็จในปีแห่งความท้าทาย

คุณศักดิ์ชัยเล่าว่า ความสำเร็จของการขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่เพียงแค่มุ่งสร้างการเติบโตในเชิงธุรกิจเท่านั้นแต่ยังต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ซึ่งความสำเร็จที่เกิดจากความมุ่งมั่นและทุ่มเทนี้ได้สะท้อนผ่านรางวัลเกียรติยศมากมายที่กลุ่มทิสโก้ได้รับ  

ยกตัวอย่าง รางวัล Best Employer Thailand Awards 2021 หรือรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่น ประจำปี 2564 จาก Kincentric Thailand ที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลชั้นนำของโลกและสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin) โดยก่อนหน้านี้ บริษัทลูกของกลุ่มทิสโก้เคยคว้ารางวัลนี้มาบ้างแล้ว แต่ปีนี้นับเป็นปีแรกที่รางวัลดังกล่าวนี้ถูกมอบให้กับกลุ่มทิสโก้ สะท้อนได้ถึงความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กร ซึ่งทิสโก้ถือเป็นสถาบันการเงินแห่งเดียวที่ได้รับรางวัลนี้

สำหรับรางวัลด้านการดำเนินงานที่กลุ่มทิสโก้ได้รับมา อาทิ รางวัลผลการดำเนินงานดีเด่นจากเวที SET Awards ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยกลุ่มทิสโก้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม 2 ปี และรางวัลดีเด่น 2 ปี บลจ.ทิสโก้ได้รับรางวัลดีเด่น 4 ปี และรางวัล Best Asset Management Company จาก The International Finance ขณะที่ บล.ทิสโก้ได้รับรางวัลบริษัทหลักทรัพย์ไทยที่ดีที่สุดในประเทศ จากการโหวตของ Asiamoney Brokers’ Poll 2021 จัดโดย Asiamoney นิตยสารการเงินชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ส่วนรางวัลด้านผลิตภัณฑ์และบริการ อาทิ Decade of Excellence Provident Fund Management Thailand จาก The Global Banking and Finance Review รางวัลกองทุนตราสารทุนยอดเยี่ยม จาก Morningstar อีกทั้งยังคว้า 3 รางวัล จากเวที IAA Best Analyst Awards 2021 ซึ่งจัดโดยสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) อันได้แก่ รางวัลทีมวิเคราะห์การลงทุนยอดเยี่ยม รางวัลนักวิเคราะห์กลุ่มเทคโนโลยียอดเยี่ยม และรางวัลนักวิเคราะห์กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีที่มีผลงานโดดเด่น ซึ่งรางวัลในกลุ่มนี้สะท้อนถึงคุณภาพด้านการบริการ การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และแม่นยำกับลูกค้า 

file

นอกจากนี้ ยังมีรางวัลด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี อาทิ รางวัล Thailand Sustainability Investment - THSI หรือหุ้นยั่งยืน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และยังได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 100 ของบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, Governance) หรือ กลุ่มหลักทรัพย์ ESG 100 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 จากสถาบันไทยพัฒน์ อีกด้วย

“ทิสโก้ให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG (Environment-Social-Governance) และดำเนินการในเรื่องเหล่านี้เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เพราะการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนนั้นต้องให้ความสำคัญกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม การคำนึงถึงการพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการเติบโตขององค์กร”

ก้าวสู่องค์กรที่มีมูลค่าแบรนด์สูงสุด

ที่น่าภาคภูมิใจอย่างมากในปีที่ผ่านมา ก็คือรางวัลเกียรติยศ Thailand’s Top Corporate Brands 2021 หรือบริษัทที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุดในหมวดธุรกิจการเงิน ประจำปี 2564 ในงาน ASEAN and Thailand’s Top Corporate Brands 2021 โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการนำข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มาคำนวณค่าเฉลี่ยระยะเวลา 3 ปี เพื่อหามูลค่าแบรนด์ โดย ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป มีมูลค่าแบรนด์องค์กรที่ 32,207 ล้านบาท เป็นอันดับหนึ่งของสถาบันการเงินและสามารถคว้ารางวัลนี้มาครอบครองได้เป็นปีแรก สะท้อนการก้าวสู่แบรนด์ชั้นนำของอุตสาหกรรมการเงินได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ทุกรางวัลที่เกิดขึ้น คุณศักดิ์ชัยเชื่อว่า เป็นผลลัพธ์จากความมุ่งมั่น ภายใต้ความร่วมแรงร่วมใจกันของบุคลากรทิสโก้ บนวัฒนธรรมองค์กรอันดีที่ดำเนินการสืบเนื่องมาตลอดมากกว่า 5 ทศวรรษ   

file

“ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ผมมองว่ามาจากความต่อเนื่องขององค์กร และวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้ดี ตลอดจนการกำหนดทิศทางขององค์กรที่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ การลงมือทำงานได้ตามเป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่วางไว้ รวมถึงพนักงานทิสโก้ที่เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญ ในช่วงปีที่ผ่านมา เราปรับตัวสู่การทำงานแบบผสมผสาน นำเครื่องมือและเทคโนโลยีมาให้บริการลูกค้าในสถานการณ์ที่ต้องเว้นระยะห่าง ซึ่งเราค่อนข้างทำได้ดี โดยคนทิสโก้มี DNA สำคัญ ได้แก่ ความรู้ความเชี่ยวชาญในงานที่ทำ ความพร้อมที่จะพัฒนาตัวเอง และความผูกพันกับองค์กร เสมือนหนึ่งเป็นเจ้าของบริษัท (Sense of Entrepreneurship)”  

ไม่เพียงเท่านี้ คุณศักดิ์ชัย เชื่อมั่นว่าพนักงานทิสโก้จะสามารถรักษาสิ่งเหล่านี้ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน รวมถึงสามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของยุคสมัยได้ ผ่านการเติมเต็ม DNA อันเป็นค่านิยมองค์กรที่เรียกว่า “MIRACLE” นั่นเอง     

ส่งต่อ “MIRACLE” ปั้น 22 CEO หนุนขับเคลื่อนองค์กร

คุณศักดิ์ชัยอธิบายว่า ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของทิสโก้ จะเกิดขึ้นได้จาก “MIRACLE” ซึ่งเป็นค่านิยมองค์กร หัวใจสำคัญของการบริการลูกค้า และเป็นคุณค่าที่ถูกปลูกฝังสู่พนักงานทุกคน โดยซ่อนอยู่ในตัวอักษรทั้ง 7 ของคำนี้ ได้แก่ 1. M = Mastery - เชี่ยวชาญอย่างผู้นำ 2. I = Integrity - ซื่อสัตย์ มีคุณธรรม 3. R = Reliability - สร้างผลงานที่น่าเชื่อถือ 4. A = Advice - การให้คำแนะนำ 5. C = Creativity - ความคิดสร้างสรรค์ 6. L = Learning - เรียนรู้สิ่งใหม่เสมอ และ 7. E = Empathy - ใส่ใจบริการ โดยเข้าใจลูกค้าอย่างแท้จริง

โดยค่านิยมในปีนี้ จะมุ่งเน้นไปที่ 2 ตัวสุดท้าย นั่นคือ การเรียนรู้สิ่งใหม่ (Learning) และความเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง (Empathy) ซึ่งจะทำให้เกิดรูปแบบการบริหารจัดการในองค์กรทิสโก้โฉมใหม่ ภายใต้แนวคิด Virtual Spin Off  หรือการแยกแต่ละหน่วยธุรกิจต่างๆ ในกลุ่มทิสโก้ออกมาเสมือนเป็น “บริษัทจำกัด” แล้วปั้น Function Head หรือ Key Talent ของแต่ละหน่วยงานขึ้นเป็น “CEO” โดยดูแลรับผิดชอบบริษัทของตัวเองตั้งแต่ Top Line, Middle Line และ Bottom Line คือการแสวงหาธุรกิจ เพื่อสร้างรายได้ ควบคุมค่าใช้จ่ายและนำไปสู่ผลตอบแทนของบริษัท

ด้วยการบริหารภายใต้แนวคิดนี้ จาก  3 สายธุรกิจหลัก (Corporate, Retail และ Wealth) ไปสู่การ Virtual Spin off ให้มี 22 หน่วยธุรกิจเชิงกลยุทธ์ (Strategic Business Unit: SBU) มี 22 CEO เข้ามาร่วมสร้าง MIRACLE เพิ่มเติมจากที่คุณศักดิ์ชัยทำหน้าที่เป็น TISCO Group CEO และเพื่อเสริมความแข็งแกร่ง ให้กับการทำงานของทั้ง 22 CEO ก็ได้มีการมอบหมายบทบาทให้มี Virtual CTO (Chief Technology Officer: ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี) เข้ามาช่วยดูแลในด้านไอที และเทคโนโลยี เพื่อประกบและช่วยเหลือ CEO ทั้ง 22 คน

“เดิมที องค์กรของเราจะมีโครงสร้างการทำงานที่มีลักษณะเป็นฟังก์ชัน ซึ่งแต่ละฟังก์ชันก็สามารถทำงานของตัวเองได้เป็นอย่างดีและทำให้บริษัทเติบโตขึ้นมาได้ แต่แนวคิดในการปรับรูปแบบการบริหาร โดยตั้งเป็น CEO ย่อยขึ้นมาสร้างการเติบโตให้กับหน่วยงานของตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้สามารถจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้นและการเติบโตก็ทำได้รวดเร็วขึ้น เพราะทุกคนได้แสดงศักยภาพของตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่ (Unleash Potential) เพราะเขามีอำนาจในการบริหารจัดการได้ทั้งหมด โดยมี CTO คอยสนับสนุนให้ความคิดเหล่านั้นเป็นรูปธรรมขึ้น และพี่ๆ ที่มีประสบการณ์ช่วยแนะแนวทางที่เป็นประโยชน์”

file

“Strategic Business Unit (SBU)” กลไกสู่การเติบโตเชิงธุรกิจอย่างรวดเร็ว

โครงสร้างการทำงานใหม่ของกลุ่มทิสโก้นี้ จะเพิ่มความคล่องตัวและการร่วมมือกันในการทำงานแบบ Agile ที่มีีทีมงานไม่มาก ตัดสินใจได้ไว แต่มี Accountability สูง ซึ่งนำมาสู่การตอบสนองลูกค้าได้มากขึ้น รวดเร็วขึ้นและดีกว่าเดิม เนื่องจากลูกค้าที่แต่ละ SBU หาเข้ามาจะถูกแปลงเป็นลูกค้าของกลุ่มทิสโก้อยู่ในหน่วยงานด้าน Data Platform ที่อยู่ในกรอบกฎหมายใหม่ PDPA (พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) เพื่อให้ SBU อื่นได้เข้าไปศึกษาถึงสิ่งที่ลูกค้าอยากได้ (Gain Points) หรือปัญหาที่ลูกค้าเจอ (Pain Points) เพื่อออกแบบสินค้า บริการ และ Solution ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างครอบคลุมทุกช่วงเวลาของชีวิตลูกค้าทิสโก้ (Lifetime Partner) ซึ่ง Data Platform ของกลุ่มทิสโก้เป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางในการวิเคราะห์ความต้องการและพยากรณ์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้น (Predictive Analytics) เพื่อนำไปสู่การออกแบบและพัฒนาสินค้าบริการอย่างครบวงจรในลักษณะ Total Solution ที่ช่วยตอบโจทย์และดูแลลูกค้าได้อย่างรอบด้านและดีที่สุด ด้วยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว คุณศักดิ์ชัย มั่นใจว่า จะสามารถสร้าง Mindset และวิธีการทำงานเพื่อการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอีก 3-5 ปีข้างหน้าได้ตามสภาวะเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความผันผวนมากขึ้นเรื่อยๆ

“องค์กรอื่นอาจจะ Spin Off เป็นบริษัทลูกแล้วให้ไปเติบโตกันเอง บางธุรกิจก็อาจทับซ้อนกัน ขณะที่บางธุรกิจอาจร่วมมือกันแต่ก็ทำได้ไม่เต็มที่นัก แต่ Team Spirit ตรงนี้ ผมยังมีนโยบายให้อยู่ภายใต้กลุ่มการเงินทิสโก้ ฉะนั้นความหมายของ Virtual Spin Off ก็คือ แต่ละคนจะมีบทบาทเป็น CEO ของแต่ละหน่วยธุรกิจที่ตัวเองดูแล โดยในทางนิตินัยก็ยังคงอยู่ในองค์กรเดิมตามโครงสร้างเดิม แต่โดยพฤตินัยเราจะให้อำนาจเขามากขึ้น เพราะเรามองว่าการเป็นกลุ่มแบบนี้ จะทำให้เราช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันภายในกลุ่มทิสโก้ได้มากกว่ามีการกำกับดูแลกิจการที่ดีด้วยมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะตอบโจทย์ลูกค้าตามนโยบาย Customer Centric Model ในระยะยาวได้มากกว่า โดยไม่จำเป็นต้องตั้งเป็นบริษัทใหม่” 

การปรับตัวสู่ยุคใหม่ด้าน Technology และ Digital เพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจ

คุณศักดิ์ชัยเล่าว่า เดิมการจัดสรรทรัพยากรด้าน IT & Digital ถูกจัดลำดับความสำคัญและประเมินด้านผลกระทบ (Impact) เป็นหลัก ทำให้บางสายธุรกิจอาจได้รับการจัดสรรทรัพยากรด้าน IT & Digital ล่าช้า ส่งผลให้การพัฒนาบริการเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าอาจดำเนินการไม่ทันท่วงที ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มทิสโก้จึงได้นำเทคโนโลยีดิจิทัล (Technology Adoption) มาเป็น “เครื่องมือ” ในการยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันยังเน้นการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้กับพนักงาน ซึ่งได้เริ่มโครงการ DE-PI หรือ Decentralize Productivity Improvement เพื่อให้เขาสามารถนำความรู้และเครื่องมือทาง Digital ไปแก้ปัญหาและพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ด้วยตนเอง ลดความสูญเปล่าในกระบวนการทำงาน และช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

“ก่อนการเปิดรับ-ปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ทิสโก้จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิดและทำความเข้าใจในเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ ที่มีอยู่และกำลังจะเกิดขึ้นใหม่ (Technology Readiness) พร้อมทั้งมี Innovation Lab ที่เป็นเสมือนห้องทดลองที่ปลอดภัยให้ทีมไอทีและทุกคนในองค์กรได้ทำความคุ้นชินกับเทคโนโลยีใหม่ เพื่อสร้างความพร้อมที่จะนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ ตลอดจนนำไปสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และนำไปปรับปรุงพัฒนาการให้บริการและกระบวนการทำงานอยู่ตลอดเวลา (Continuous Upgrade)” 

นอกจากการเตรียมความพร้อมให้กับองค์กร ทั้งในด้านเทคโนโลยีและคน เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง และเมกะเทรนด์ต่างๆ รวมถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความมั่นคงทางไซเบอร์แล้ว คุณศักดิ์ชัย ย้ำว่า ทิสโก้จะยังคงเดินหน้าตามเป้าหมายที่ได้สร้างไว้ ในด้านการพัฒนาการให้บริการแบบ Holistic Financial Advisory หรือบริการที่ปรึกษาวางแผนการเงินแบบองค์รวม และการเป็น Lifetime Partner หรือสถาบันการเงินที่ลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจไว้วางใจและใช้บริการต่อเนื่องเหมือนเช่นที่ผ่านมา

file

“ถ้านำ Keyword ทั้ง 4 คำได้แก่ Holistic Financial Advisory, Lifetime Partner, Customer Centricity และ Technology Adoption มาเป็นกลยุทธ์และแนวทางในการดูแลลูกค้า จะช่วยให้เราสามารถออกแบบการให้บริการลูกค้าในลักษณะของ Lifetime Solution ได้อย่างชัดเจนและรอบด้านยิ่งขึ้น โดยในแต่ละธุรกิจก็จะแปลงโจทย์นี้ไปสู่แผนงานของตัวเองได้ ยกตัวอย่าง คนที่เป็น CEO ด้านประกันภัย ก็จะพยายามสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem) กับพันธมิตรมากขึ้น หรืออย่างฐานลูกค้าใหม่ของสาย Wealth Management ที่เราจะขยายมาสู่กลุ่มชนชั้นกลาง (Mass Affluent) มากขึ้น เราก็ต้องยกระดับแพลตฟอร์มในการบริการลูกค้ากลุ่มนี้ให้มีความผสมผสาน (Hybrid) โดย ยกระดับ Mobile Banking ธรรมดาๆ ขึ้นมาเป็น TISCO My Wealth ให้มีบริการที่ปรึกษา สามารถซื้อขายกองทุน เข้าถึงผลิตภัณฑ์ของบริษัทต่างๆ ในรูปแบบ One Stop Service ได้ โดยที่การบริการต่างๆ จะมีทั้ง Help Service และ Self Service ที่เป็นลักษณะผสมผสานมากขึ้น และทำงานบนความเข้าอกเข้าใจลูกค้า (Empathy) เพื่อสุดท้ายเราจะกลายเป็น Brand ที่ลูกค้าไว้วางใจที่จะใช้บริการกับทิสโก้ได้ในระยะยาว”

Lifetime Partner ที่ครอง Trust และ Love ในใจลูกค้า

คุณศักดิ์ชัยเล่าว่า ภายใต้การบริหารทั้งหมด จะมีการทำแผนและวัดผลเป็นระยะๆ เพื่อประเมินพัฒนาการที่เกิดขึ้น เนื่องจากความสำเร็จหลายเรื่องอาจจะต้องใช้เวลา ดังนั้นในจุดเริ่มต้นของบางโปรเจกต์อาจตั้งต้นจากจำนวนการวัดผลในด้านผู้ใช้ในแพลตฟอร์มก่อน จากนั้นค่อยวัดผลจากการมีส่วนร่วม (Engagement) ไปจนถึงการพิจารณาจากการเข้ามาเป็นลูกค้า กระทั่งก้าวเข้าสู่ขั้นสูงสุดก็คือการตอบโจทย์ Customer Journey ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าตลอดทุกช่วงชีวิต (Lifetime Partner) ได้ตามที่ตั้งใจ

“หัวใจสำคัญที่สุดของการขับเคลื่อนองค์กร และพัฒนาพนักงานในด้านต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ก็เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าตลอดทุกช่วงชีวิต เพื่อให้ได้มาซึ่ง TRUST จากลูกค้า มี Quote อันหนึ่งที่ผมชอบมาก “I trust you” is a better compliment than “I love you” because you may not always trust the person you love but you can always love the person you trust. ซึ่งการที่ไว้ใจใครให้จัดการเรื่องเงินเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะฉะนั้นประเด็นใหญ่ก่อนที่จะริเริ่มบริการใหม่ๆ ในอนาคต รวมถึงการพัฒนาบริการที่มีอยู่ในปัจจุบันของทิสโก้ จะต้องพัฒนาบุคลากรให้มองประโยชน์และความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก และมอบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ในทุกช่วงชีวิตของลูกค้า ที่สำคัญคือต้องรักษาคุณภาพการให้บริการที่ดีอย่างสม่ำเสมอจนเกิดเป็น TRUST ให้ได้ และที่สำคัญต้องเป็นสิ่งที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมอย่างยั่งยืน”

จึงอาจกล่าวได้ว่า หลากหลายรางวัลที่ทิสโก้ได้รับในปีที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในผลพวงที่มาจากความมุ่งมั่นในการพัฒนาการให้บริการ เพื่อให้ได้รับ “รางวัลสูงสุด” นั่นคือ “ความไว้วางใจจากลูกค้า” รางวัลอันมีค่าของทุกคนในทิสโก้ที่ได้รับมาตลอด 53 ปีของการดำเนินธุรกิจ และหลังจากนี้ทิสโก้ยังคงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ยึดประโยชน์ของลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เพื่อตอบแทนและรักษา “ความไว้วางใจ” ที่ลูกค้ามอบให้ตลอดมา  

file
file

ร่วมเป็นฟันเฟืองแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

file

คุณศักดิ์ชัย เล่าว่า นอกเหนือจากพันธกิจในการให้คำปรึกษาทางการเงินแก่ลูกค้าในเชิงธุรกิจแล้ว กลุ่มทิสโก้ยังตั้งใจที่จะเป็นผู้แนะนำทางการเงินแก่สังคมไปพร้อมกัน โดยโจทย์ใหญ่ของประเทศตอนนี้ คือ ปัญหาภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงมากที่ 90% ของ GDP ในฐานะผู้ให้บริการสินเชื่อและมีความเชี่ยวชาญทางการเงิน จึงได้พัฒนา Freedom by TISCO PVD ที่นอกจากจะเป็นแพลตฟอร์มช่วยวางแผนทางการเงินเพื่อเตรียมเกษียณอายุแล้ว จะยังเพิ่มฟีเจอร์การแก้ไขหนี้ โดยการรวมหนี้หรือ Refinance หนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยแพงมาจ่ายในอัตราดอกเบี้ยที่ถูก เพื่อเป็นทางเลือกในการช่วยเหลือลูกหนี้ (Product Program) ของทิสโก้

ขณะเดียวกันยังเดินหน้าให้ความรู้ทางการเงินแก่สังคม ผ่านหลากหลายโครงการและกิจกรรม เช่น ค่ายการเงิน ฉลาดเก็บฉลาดใช้ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการออม การบริหารหนี้ และสร้างวินัยทางการเงิน ซึ่งจะช่วยลดความเปราะบางและความเสี่ยงในภาคการเงินและสังคมในระยะยาว 

ขณะที่มูลนิธิทิสโก้ เพื่อการกุศล ยังเดินหน้าแก้ปัญหาสังคมควบคู่กันไป ด้วยการมอบทุนการศึกษาแก่เยาวชนไทยมาอย่างต่อเนื่อง และโอกาสครบรอบ 40 ปีมูลนิธิทิสโก้ฯ ในปีนี้ ยังเตรียมขยายโอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียนที่ขาดแคลน ด้วยการมอบอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ให้กับน้องๆ นักเรียนทุนของมูลนิธิทิสโก้ฯ ในระดับชั้นมัธยมต้น รวมถึงการเดินหน้าดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการขยายการเติบโตในกลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ดี สนองแนวคิด Green Economy ของทางภาครัฐ