Telomere กุญแจสู่ความเยาว์วัยของมนุษยชาติ

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 60 | คอลัมน์ Health Protection Advisory

file

รู้หรือไม่ว่า การวางแผนเกษียณอายุในปัจจุบันไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงปัจจัยเรื่องอายุขัยตามปฏิทิน (Chronological Age) เท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับอายุจริงของร่างกาย (Biological Age) ด้วย ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างให้การยอมรับ โดยการวิเคราะห์อายุจริงของร่างกายสามารถทำได้จากการตรวจสุขภาพโดยรวมหรือการหาจุดผิดปกติของร่างกาย ร่วมกับการวิเคราะห์ดัชนีชี้วัดทางสุขภาพทั้ง 9 ด้าน ที่เรียกว่า Vitality Comprehensive Test อาทิ ระดับฮอร์โมน ภาวะการอักเสบในร่างกาย ความดันโลหิต และการดำเนินชีวิต เป็นต้น ซึ่งในการศึกษา Biological Age เราอาจต้องทำความรู้จักกับตัวแปรสำคัญที่ใช้ในการชี้วัดอายุที่แท้จริงของร่างกายของเรา หรือที่เรียกว่า “เทโลเมียร์ (Telomere)”

เทโลเมียร์ คือ โครงสร้างส่วนปลายของรหัสพันธุกรรมหรือโครโมโซม ซึ่งเทโลเมียร์มีหน้าที่ปกป้องโครโมโซมไม่ให้ถูกทำลาย แต่เมื่อเราอายุมากขึ้น เทโลเมียร์จะเริ่มร่น หรือสั้นลง ทำให้โครโมโซมของเรามีขนาดสั้นลงเช่นเดียวกัน ดังแสดงในแผนภาพที่ 1 อีกทั้งความยาวของเทโลเมียร์ยังสะท้อนถึงผลรวมของสุขภาพ ที่เกิดจากทั้งพันธุกรรม (Genetics) พฤติกรรมการใช้ชีวิต (Behavioral) และปัจจัยภายนอกต่างๆ (Environmental Factors) ที่ส่งผลกับร่างกายของเราด้วย

แผนภาพที่ 1: ภาพแสดงความยาวของเทโลเมียร์ (สีแดง) เปรียบเทียบในแต่ละช่วงอายุของมนุษย์

file
file

เมื่อเทโลเมียร์ของเราถูกทำลายหรือสั้นลงจะสามารถบ่งบอกถึงความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดัน-โลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคอัลไซเมอร์  เป็นต้น ดังนั้น การวัดความยาวของเทโลเมียร์จะช่วยบอกถึงอายุของเซลล์ในร่างกาย และการวิเคราะห์ลักษณะของเทโลเมียร์จะช่วยให้เราทราบถึงข้อมูลจำเพาะของเรา ตลอดจนความเสี่ยงในการเกิดโรคชนิดต่างๆ รวมถึงอัตราการเสื่อมของเซลล์ในร่างกายด้วย นอกจากนี้ Dr.Elizabeth H. Blackburn เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์พบว่า ถึงแม้การที่เซลล์ในร่างกายจะมีการเสื่อมสภาพตามอายุที่มากขึ้นจะเป็นเหตุการณ์ตามธรรมชาติ แต่จะมีปัจจัยอื่นที่ทำให้กระบวนการนี้เกิดเร็วขึ้น อาทิ ความเครียด การนอนหลับไม่เพียงพอ การดื่มแอลกอฮอล์โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น

ปัจจุบันมีการพยายามที่จะเพิ่มและรักษาความยาวของเทโลเมียร์ ด้วยการใช้เอนไซม์ “เทโลเมอเรส(Telomerase)” ซึ่งมีหน้าที่เติมลำดับเบสเฉพาะที่ปลายของเทโลเมียร์ ทำให้เทโลเมียร์มีความยาวเพิ่มขึ้น ในขณะที่เซลล์ปกตินั้นจะมีการผลิตเทโลเมอเรสในปริมาณที่น้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย ทำให้ทุกๆ ครั้งที่เซลล์แบ่งตัวจะทำให้เทโลเมียร์สั้นลง จนทำให้เกิดการตายของเซลล์ หรือที่เรียกว่า อะพอพโทซิส (Apoptosis)

ทุกวันนี้เราสามารถตรวจปริมาณเทโลเมียร์ได้ในราคาราว 10,000 บาท จากการตรวจเลือด โดยไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหาร ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะช่วยบอกถึงความเหมาะสมของไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) ของเราและความเสี่ยงในอนาคต โดยการเพิ่มความยาวและคุณภาพของเทโลเมียร์ นอกจากการใช้เทโลเมอเรสข้างต้นแล้ว การดูแลรักษาสุขภาพก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไป ทั้งการนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง และเข้านอนก่อนเวลา 22.00 น. เพื่อให้ Growth Hormone หลั่งออกมาในปริมาณที่มาก ตลอดจนการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และลด ละ เลิกการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

กล่าวได้ว่า การศึกษาเทโลเมียร์นั้นถือเป็นกุญแจสำคัญในการทำนายอายุขัยและไขความลับของการชะลอวัยของมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเราสามารถนำผลลัพธ์ที่ได้มาปรับปรุงรูปแบบไลฟ์สไตล์ของเรา ตลอดจนด้านการบริหารทางการเงิน โดยสามารถใช้ผลการตรวจ Biological Age ในการประมาณการอายุขัยและใช้ประกอบการวางแผนด้านประกันภัยและการเกษียณ ซึ่งจะทำให้เราสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ ตลอดจนความเสี่ยงของการเกิดโรคในอนาคตได้อีกด้วย