นฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ ปั้นโมเดล “Gunkul Spectrum” ตอบโจทย์เพื่อนทางพลังงานที่ไว้ใจได้

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 60 | คอลัมน์ New Generation

file

 

 

จากบริษัทผู้ผลิต จัดหา และจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้าเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ได้ก้าวสู่ผู้บุกเบิกธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอย่างพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ จนสามารถเปิดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในปี 2559 โดยมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าติดอันดับต้นๆ ของประเทศ วันนี้ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ได้สยายปีกสู่ The Next Generation of Energy ด้วยการจัดตั้ง Gunkul Spectrum ที่เปรียบดั่งคลังสมอง (Think Tank) ในการพัฒนาโมเดลธุรกิจนวัตกรรมพลังงาน เพื่อมุ่งทลายข้อจำกัดทางพลังงานเดิมๆ ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์แหล่งพลังงานใหม่ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น และเพิ่มศักยภาพการเข้าถึงให้เกิดขึ้นในทุกตารางเมตรของประเทศอย่างแท้จริง

“เราอยากเป็นเพื่อนทางพลังงานที่เข้าใจและไว้ใจได้สำหรับทุกคน” นี่คือส่วนหนึ่งในวิสัยทัศน์ของซีอีโอรุ่นใหม่ที่ครบเครื่องอย่าง คุณนุก-นฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฎิบัติการสายงานกลยุทธ์การลงทุนและธุรกิจนวัตกรรมพลังงาน (COO, Strategic Investment & Sustainable Energy Business) ของ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง ที่ได้ประกาศอย่างจริงจังและจริงใจในการก้าวเข้ามาสานต่อธุรกิจ ในยุคที่พลังงานกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ตลาดเสรี และจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน

ก้าวสู่นวัตกรรมพลังงานสายพันธุ์ใหม่

“เรื่องพลังงานเป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับทุกคน แต่เราจะทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าใจและเข้าถึงพลังงานได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญคือจะเพิ่มมูลค่าให้พลังงานนั้นยิ่งเกิดประโยชน์อย่างมหาศาลแก่คนไทยทุกคนได้อย่างไร นั่นคือโจทย์ที่นุกและกันกุลฯ เองต้องช่วยกัน”

คุณนฤชลเล่าว่า เธอมีความหลงใหล (Passion) อันแรงกล้าในเรื่องของพลังงานมาตั้งแต่เด็ก เพราะทุกปิดเทอม เธอมักจะไปเล่นสนุกอยู่ที่ออฟฟิศของคุณพ่อ (คุณกัลกุล ดํารงปิยวุฒิ์) เป็นประจำ ทำให้ได้คลุกคลีและคุ้นชินกับธุรกิจ ซึ่งหล่อหลอมให้เธอมีความเข้าใจในการทำธุรกิจของคนรุ่นก่อนเป็นอย่างดี และอยากเข้ามามีส่วนช่วยในการพัฒนาธุรกิจของครอบครัวให้ดียิ่งขึ้น

หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคว้าปริญญาโทอีก 2 ใบทางด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอได้ไปหาประสบการณ์การทำงานด้วยการเป็นวาณิชธนากร ด้านการควบรวมกิจการ (M&A) และกิจการร่วมค้า (JV) อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาต่อยอดกิจการของกันกุลฯ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและเร่งการเติบโต โดยเริ่มจากการเข้าซื้อกิจการพลังงานลม ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นแหล่งรายได้หลักให้กับบริษัท และส่งผลให้บริษัทก้าวเข้าสู่ธุรกิจ “พลังงานทดแทน” อย่างเต็มรูปแบบ จนกลายเป็น “บริษัทด้านพลังงานอย่างครบวงจร” ครอบคลุมกลุ่มลูกค้า B2G (Business to Government) และ B2B (Business to Business)

กระทั่งในปี 2563 กันกุลฯ ได้ก้าวไปอีกขั้น ด้วยการจัดตั้งหน่วยงานสายพันธุ์ใหม่เพื่อเข้ามาดูแลสายงานที่เกี่ยวข้องด้านนวัตกรรม ในชื่อ “Gunkul Spectrum” เพื่อคิดค้นธุรกิจใหม่ๆ และตอบสนองเมกะเทรนด์ในเรื่องของระบบผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Power System) ที่กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) และระบบกักเก็บพลังงานจากที่บ้าน (Energy Storage) ซึ่งนับเป็นการเชื่อมต่อจิ๊กซอว์ตัวสำคัญสู่กลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ นั่นก็คือ B2C (Business to Customer)

“ลูกค้าระดับธุรกิจและอุตสาหกรรม (C&I) เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีศักยภาพ แต่วันนี้ลูกค้ากลุ่มที่พักอาศัยก็เป็นอีกกลุ่มที่เรามองเห็น จึงอยากให้พลังงานที่เรามองว่าเป็นบริการอย่างหนึ่ง (Energy as a Service) สามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้ได้ จึงได้จัดตั้ง Gunkul Spectrum หน่วยนวัตกรรมธุรกิจพลังงานขึ้นมา เพื่อคิดหาวิธีการให้พวกเขาได้เข้าถึงพลังงานสะอาดได้ดีขึ้นและเร็วขึ้น”

file
file

Gunkul Spectrum สะพานเชื่อมโยงพลังงานใหม่สู่คนไทย

“จะดีกว่าไหม? ถ้าโลกใบนี้สามารถขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด” คุณนุกตั้งประเด็น ก่อนจะอธิบายถึงภูมิทัศน์การใช้ไฟฟ้าที่กำลังเปลี่ยนไปในอนาคตอันใกล้ว่า “ในอดีตพลังงานส่วนใหญ่จะผลิตจากฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ขณะที่การใช้ไฟฟ้าตามบ้านเรือนยังมาจากโครงข่ายไฟฟ้า (Grid) แต่มาวันนี้ ระบบผลิตไฟฟ้าจะเป็นแบบกระจายตัวไม่รวมศูนย์มากขึ้น ซึ่งหมายความว่าเรามีทางเลือกในการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) และสามารถบริหารจัดการด้านพลังงานได้ด้วยตัวเอง สอดคล้องกับปรัชญาความเชื่อของ Gunkul Spectrum ที่ว่า Energy is a Human Right นั่นก็คือพลังงานเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนที่พึงจะได้รับ       

คุณนฤชลเล่าต่อว่า Gunkul Spectrum จะเป็นสะพานเชื่อมโยงคนไทยในเรื่องของพลังงานรูปแบบใหม่เข้ากับสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ พร้อมสร้างสรรค์ทางเลือกของแหล่งพลังงานรูปแบบใหม่ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น ภายใต้ 3 ภารกิจหลัก คือ 1) Energy Reformation ภารกิจในการทลายข้อจำกัดทางพลังงานเดิมๆ 2) Energy Explorer ภารกิจในการค้นหาแหล่งพลังงานใหม่ที่มีความยั่งยืน และ 3) Ecosystem Builder ภารกิจในการสร้างระบบนิเวศของ Smart Energy โดยมีหัวใจสำคัญในการทำงาน คือ การยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางและตอบโจทย์ Pain Point ด้านพลังงานที่หลากหลาย ด้วยโมเดล “Energy by Design” ออกแบบพลังงานให้เหมาะกับผู้ใช้ไฟฟ้าตามบ้านได้อย่างสูงสุด นำพลังงานไปเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจอื่นๆ เช่นอสังหาริมทรัพย์ การเงินการธนาคาร ธุรกิจค้าปลีก ฯลฯ

file
file
file

ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี Gunkul Spectrum ได้พัฒนารูปแบบธุรกิจที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าได้มากมาย ตั้งแต่ “โกดังไฟฟ้าดอทคอม” ตลาดอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าและโซลาร์ออนไลน์ ที่ตั้งใจให้เป็นคอมมูนิตี้สำหรับช่างไฟฟ้าและผู้ประกอบการโซลาร์ได้มีโอกาสเข้าถึงสินค้าคุณภาพดี ราคาคุ้มค่าจากหลากหลายแบรนด์ชั้นนำทั่วโลก “Volt Energy Marketplace” เว็บไซต์จับคู่ผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปกับลูกค้า และ “GRoof Smart Living by Gunkul” บริการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาสำหรับสำนักงาน โรงแรม และครัวเรือน        

นอกจากนี้ ยังได้จับมือกับ บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในการทำธุรกิจด้านพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดในโครงการที่อยู่อาศัยในเครือออริจิ้นฯ ด้วยแนวคิด Energy x Urban Living Solution และยังขยายความร่วมมือนี้ไปสู่ บมจ.บริทาเนีย ในเครือออริจิ้นฯ เพื่อสร้าง “โซลาร์วิลเลจ” ที่มีการนำร่องติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแบบ Private PPA (Power Purchase Agreement) ในโครงการ “แกรนด์ บริทาเนีย” ราชพฤกษ์-พระราม 5 รามอินทรา และบางนา กม.12 ก่อนจะขยายไปสู่การติดตั้งและเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Parity) ที่จะช่วยเอื้อประโยชน์ให้ลูกบ้านสามารถซื้อขายพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านบล็อกเชนและชุดคำสั่งซื้อขายพลังงานอัจฉริยะ (Smart Contract) แบบ Peer-to-Peer Energy Trading ได้ในปี 2566 - 2567

“คนส่วนใหญ่มักบอกว่า การใช้โซลาร์เซลล์นั้นคุ้มค่า แต่โซลาร์เซลล์ก็ยังมีราคาแพงอยู่ เราจึงต้องหาวิธีบริหารจัดการ ให้พวกเขาสามารถใช้พลังงานได้อย่างสบายใจ และเข้าใจว่าราคาที่ต้องจ่ายนั้น แม้จะมีราคาที่ค่อนข้างสูง แต่ก็เป็นการจ่ายเพียงครั้งเดียวเพื่อรับความคุ้มค่าในระยะยาว ซึ่งจากแนวโน้มการใช้พลังงานของโลกก็ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า โซลาร์เซลล์นั้นมีความเหมาะสมอย่างมากกับภูมิอากาศของประเทศไทย แต่คนส่วนใหญ่ยังมีคำถามในเรื่องของการกักเก็บพลังงาน เราจึงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในจุดนี้ โดยจะมีโซลาร์พร้อมแบตเตอรี่เพื่อกักเก็บพลังงานไว้ใช้ยามที่ไร้แสงอาทิตย์ ซึ่งจะนำออกสู่ตลาดได้ในต้นปีหน้า และยังมีอีกหลากหลายโครงการที่พวกเรากำลังมุ่งพัฒนากันอยู่ เพื่อให้ตอบโจทย์ Pain Point ของคนไทยได้อย่างสูงสุด”

ต่อจิ๊กซอว์เพื่อเติบโต

การเกิดขึ้นของ Gunkul Spectrum นั้น เปรียบเสมือนการต่อภาพของยานแม่ (กันกุลฯ) ให้ครอบคลุมและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในระบบนิเวศ (Ecosystem) ของพลังงานสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากพลังงานได้ โดย Gunkul Spectrum จัดเป็นหนึ่งในหน่วยงานธุรกิจแห่งอนาคตของกันกุลฯ ที่ปัจจุบันประกอบด้วยโครงสร้างธุรกิจ 4 กลุ่มหลัก คือ 1) ธุรกิจผลิต จัดหา และจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้าและระบบพลังงานทดแทน 2) ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทั้งในประเทศและต่างประเทศ 3) ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน และ 4) ธุรกิจแห่งอนาคต (New S-curve) เช่น ธุรกิจกัญชง-กัญชา ธุรกิจนวัตกรรมพลังงาน เป็นต้น

“ตั้งแต่วันที่กันกุลฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 12 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2553) เราได้ตั้งเป้าหมายในการเป็นผู้นำเรื่องพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน ผลิตภัณฑ์ที่เรานำเสนอจึงล้วนส่งเสริมวิสัยทัศน์ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งทุกวันนี้ทั่วโลกกำลังมุ่งสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ยิ่งกันกุลฯ มีความครอบคลุมและครบครันมากเท่าไร ก็จะยิ่งมีข้อได้เปรียบในการต่อยอดและสร้างความร่วมมือทางธุรกิจ (Synergy) เพื่อการเติบโตได้มากขึ้นเท่านั้น และตอนนี้กันกุลฯ ก็กำลังมุ่งสู่กลุ่มผู้บริโภครายย่อย (B2C) ที่มีผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่กว่า 20 ล้านราย ซึ่งมีข้อแตกต่างจากกลุ่ม B2G และ B2B อย่างสิ้นเชิง ดังนั้น สิ่งที่ต้องปรับ คือ ระบบการทำงานและกระบวนการทางความคิด (Mindset) ที่ต้องเสริมความเป็นธุรกิจรีเทลให้มากขึ้น เพื่อให้เข้าใจมุมมองของผู้ใช้ไฟฟ้า และพัฒนาโซลูชั่นได้อย่างตอบโจทย์ ซึ่งนุกมองว่ามันเป็นการต่อภาพจิ๊กซอว์ที่ขาดหายไปให้สมบูรณ์”

การเปลี่ยนแปลงของทิศทางพลังงานและกลุ่มลูกค้า ตลอดจนการปรับระบบการทำงานและกระบวนการความคิด แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับองค์กรที่คุ้นชินกับการทำธุรกิจดั้งเดิมมาหลายสิบปี และบุคลากรก็มีทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถของผู้บริหารหญิงเก่ง เพราะเธอได้นำจุดเด่นของคนรุ่นเก่าที่มากด้วยประสบการณ์ ความชำนาญ ซึ่งหาไม่ได้จากตำรา และเครือข่ายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น มาผสานกับคนรุ่นใหม่ที่มากด้วยไอเดีย และความรู้ในเรื่องราวใหม่ๆ ไว้ด้วยกัน เพื่อพากันกุลฯ ให้เติบโตได้อย่างก้าวไกลและยั่งยืน 

“ไม่ว่าเราจะเป็นคนรุ่นเก่า หรือคนรุ่นใหม่ ถ้าเรามีครบทั้งความชำนาญ (Know-how) มีคอนเน็กชั่น (Know-who) และความรู้ (Knowledge) นุกเชื่อว่าจะพาเราประสบความสำเร็จได้ไกลกว่าเดิม และที่สำคัญคือ ทุกคนสามารถออกแบบความสำเร็จได้ด้วยตัวเองว่าเราอยากจะเห็น The Best Version ของตัวเองในรูปแบบไหน ซึ่งสำหรับนุก นุกอยากให้กันกุลฯ เป็นเพื่อนทางพลังงานที่เข้าใจและไว้ใจได้สำหรับคนไทยทุกคน”

file
file

ความประทับใจต่อทิสโก้

“นุกมองว่า เรื่องพลังงานและเรื่องการเงิน มีความคล้ายๆ กัน คือ เราต้องเลือกใช้บริการกับคนที่เราเชื่อใจและไว้วางใจที่สุด ซึ่งธนาคารทิสโก้ก็เป็นพาร์ตเนอร์ที่ดีกับกันกุลฯ มากว่า 12 ปีแล้ว โดยในปี 2553 ธนาคารทิสโก้ได้มีส่วนสำคัญในการพากันกุลฯ เข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ ซึ่ง ณ วันนั้น เรามีมูลค่าหลักทรัพย์เพียง 2 พันล้านบาท จวบจนวันนี้เราเติบโตขึ้นมาก จนมีมูลค่าหลักทรัพย์กว่า 6 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเรามีพาร์ตเนอร์ที่ดี และธนาคารทิสโก้ก็เป็นหนึ่งในพาร์ตเนอร์หรือเพื่อนที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการเงินและการลงทุนที่คอยแนะนำให้ความช่วยเหลือกันกุลฯ เป็นอย่างดีเสมอมา”