ชาตรี จันทรงาม Best CFO 3 ปีซ้อน ยึดหลักบริหารความเสี่ยง ขับเคลื่อนทิสโก้โตอย่างยั่งยืน

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 61 | คอลัมน์ Exclusive

file

 

แม้วิกฤตการณ์การระบาดของโรค COVID-19 จะเริ่มคลี่คลายและเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น จากมาตรการผ่อนคลายและการเปิดรับนักท่องเที่ยว แต่วิกฤตระลอกใหม่จากปัญหาสงครามที่ทำให้ราคาพลังงานในตลาดโลกอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง กดดันอัตราเงินเฟ้อแต่ละประเทศให้พุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ อาจฉุดให้เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวถดถอยลง เกิดเป็นความท้าทายใหม่ 

แต่ไม่ว่าจะผ่านสถานการณ์วิกฤตมากี่ครั้ง การบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้กลุ่มทิสโก้ก้าวข้ามวิกฤตมาได้ ด้วยสถานะการเงินที่มั่นคง และการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับลูกค้า นักลงทุน ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสีย โดยมี คุณชาตรี จันทรงาม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายควบคุมการเงิน และบริหารความเสี่ยง กลุ่มทิสโก้ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จขององค์กร การันตีได้จากรางวัลผู้บริหารฝ่ายการเงินยอดเยี่ยม (Best CFO) จากเวทีของสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ถึง 3 ปีซ้อน

บทพิสูจน์ความสำเร็จในปีแห่งความท้าทาย

เส้นทางนักการเงินของคุณชาตรีที่ทิสโก้ เริ่มต้นเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินของไทยอย่างรุนแรง จนทำให้มีการปิดสถาบันการเงินถึง 56 แห่ง ขณะนั้นเขายังเป็นพนักงานในทีมงานบริหารความเสี่ยง (Risk Management) แต่ต้มยำกุ้งถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของสถาบันการเงินในประเทศไทย ที่ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า โลกการเงินมีความไม่แน่นอนสูง และสามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดได้ตลอดเวลา ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้บริษัทอยู่รอดได้ก็คือ การบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี

“จำได้ว่าตอนนั้นเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น ตลาดหุ้นไทยขึ้นจากหลักร้อยมาถึง 1,700 จุด เรียกได้ว่าเป็นจังหวะของความรุ่งเรือง ในช่วงที่เศรษฐกิจดี ทุกอย่างก็ดีไปหมด แม้แต่คนที่ทำธุรกิจไม่ระวังก็ดีไปด้วย แต่ผ่านไปไม่กี่เดือน พอฟองสบู่แตก กลับกลายเป็นเกิดวิกฤตที่รุนแรงมาก ในตอนที่ผมเริ่มทำงานที่ทิสโก้ใหม่ ๆ เป็นช่วงที่บริษัทอยู่ระหว่างการฟื้นฟู เราเลยได้เรียนรู้วิธีบริหารจัดการปัญหาของทีมผู้บริหารในยุคนั้น”

คุณชาตรีกล่าวว่า ที่ทิสโก้ปลูกฝังปรัชญาเรื่องการบริหารความเสี่ยง ว่าเป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจของสถาบันการเงินมาตั้งแต่การก่อตั้งบริษัท และเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมองค์กรที่สืบสานกันมารุ่นต่อรุ่น โดยสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ตั้งแต่แรกเริ่มที่เข้ามาทำงานคือ การรู้จักความเสี่ยง และการตัดสินใจบนพื้นฐานของความเสี่ยง เพราะการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี ไม่ใช่การตัดสินใจบนความเสี่ยงต่ำที่สุด แต่เป็นการตัดสินใจบน Risk/Return ที่เหมาะสม ต้องดูว่าการทำธุรกรรมการเงินต่าง ๆ มีผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่ต้องรับหรือไม่ 

อีกสิ่งที่สำคัญก็คือ การรู้จักระดับความสามารถในการสร้างความเสี่ยง รู้ว่ามีเงินหน้าตัก (Capital Adequacy) เท่าไหร่ และมีกรอบความเสี่ยงที่รับได้เท่าไหร่ เพื่อไม่ให้ทำอะไรเกินตัวและไม่กลายมาเป็นปัญหาใหญ่เกินตัวตามมา

“การบริหารที่ดี คือการทำธุรกิจที่มีผลตอบแทนสอดคล้องกับความเสี่ยง และอยู่ในกรอบความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ความเสี่ยงต่ำแต่ผลตอบแทนต่ำกว่า ไม่ได้แปลว่าดีและอาจไม่น่าสนใจ ในขณะที่ถ้าความเสี่ยงสูงกว่าแต่ได้ผลตอบแทนสูงก็อาจจะคุ้มค่าก็ได้ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องละเอียดและต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วให้ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี ทำให้กลุ่มทิสโก้ผ่านวิกฤตมาได้ตลอด ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ด้วยสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง”

ทิสโก้ ถือเป็นสถาบันการเงินแห่งแรก ๆ ที่มีการสร้างระบบการบริหารความเสี่ยงที่ซับซ้อน อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีการนำข้อมูลจากอดีต ปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคตมาใช้ในการวิเคราะห์ ทำให้สามารถแสดงผลออกมาได้อย่างชัดเจนว่า ธุรกิจอะไรควรทำหรือไม่ ควรทำอย่างไร เมื่อไหร่ ปัจจุบันเรียกว่า “Data Analytics” ซึ่งทิสโก้มีฐานข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์มานานกว่า 20 ปี

file

ขณะที่ COVID-19 ถือเป็นวิกฤตใหญ่อีกครั้ง แม้จะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจในภาพกว้าง แต่ด้วยสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง ก็ทำให้กลุ่มทิสโก้ก้าวผ่านมาได้ด้วยดี

“COVID-19 เป็นวิกฤตที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง มีลูกค้าสินเชื่อประสบปัญหาจำนวนมาก ธุรกิจและรายได้ของลูกค้าได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทำให้เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้น ซึ่งทิสโก้มีมาตรการหลายด้านออกมาช่วยลูกค้า ทั้งการช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน การลดภาระหนี้เพื่อให้ลูกค้าผ่านวิกฤตไปได้ เช่น การออกแคมเปญ “คืนรถ จบหนี้” ที่ช่วยเหลือโดยการยกหนี้ส่วนที่เหลือให้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และนำรถมาคืนตามเงื่อนไข ทำให้ยอดหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตสองปีที่ผ่านมาค่อย ๆ ลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ ในขณะที่ลูกค้าก็ผ่านพ้นวิกฤตไปได้

นอกจากนี้ เรายังดำเนินธุรกิจอยู่บนพื้นฐานของความระมัดระวัง และความเหมาะสมในการทำธุรกิจมาตลอด มีการจัดสรรเงินกองทุนและกระจายความเสี่ยง มีการเลือกเฟ้นตลาดเป้าหมายที่ดี ประกอบกับกระบวนการคัดกรองสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ควบคุมคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อและการลงทุนได้เป็นอย่างดี”

รัดกุมเพื่อสมดุลในการรับมือความท้าทาย

คุณชาตรีเล่าต่อว่า ในอนาคตความเสี่ยงมีแนวโน้มจะสูงขึ้นจากหลายปัจจัย เราเพิ่งจะเริ่มฟื้นมาจาก COVID-19 ได้ยังไม่เต็มที่นัก แต่มีวิกฤตครั้งใหม่กำลังเข้ามาซ้ำเติมอีก จากจุดเริ่มต้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาสินค้าทั่วโลกพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิด Inflation Shock ไปทั่วโลก ถือว่าน่ากังวล และยังมีความเสี่ยงที่จะเกิด “Stagflation” หรือเศรษฐกิจที่ถดถอยในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะเป็นปัญหาสำคัญของโลกและมีแนวโน้มจะยืดเยื้อไปอีกหลายปีข้างหน้า ในอีกด้านคือการคาดการณ์ว่าจะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อในระยะอันใกล้นี้ จะยิ่งลดทอนความสามารถในการชำระหนี้และลดทอนกำลังซื้อของประชาชนลง โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง

file

“ความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินไทยไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เพราะธนาคารทั้งระบบมีเงินกองทุนในระดับสูงและมีสภาพคล่องอยู่มาก แต่สิ่งที่น่ากังวลเป็นเรื่องทิศทางการเติบโตในภาวะเศรษฐกิจเปราะบางแบบนี้ และยังมีปัจจัยเสี่ยงรุมล้อมในหลายด้าน ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น รวมถึงมีผู้เล่นรายใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายในตลาด ทั้ง Disruption ในส่วนของ Digital Technology เอง และจากผู้เล่น FinTech Startups และ Non-bank ต่าง ๆ ซึ่งทำให้การทำธุรกิจจะยากและมีความท้าทายเพิ่มขึ้น”

เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจไม่อาจคาดเดาได้ อีกทั้งการแข่งขันก็รุนแรง ทิสโก้ยังคงยึดหลักการบริหารความเสี่ยงให้พอดีกับตัว ดูเงินลงทุนให้เหมาะสมกับขนาดของธุรกิจ ซึ่งถือเป็นคัมภีร์ที่ใช้ในการบริหารองค์กรมาทุกยุคทุกสมัย พร้อมยึดหลักความระมัดระวัง มองหาโอกาสในวิกฤต รวมถึงการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และพัฒนาองค์กรให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน ทิสโก้เป็นองค์กรที่มีความยืดหยุ่น (Dynamic) สูง พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยเลือกที่จะทำในธุรกิจที่แข็งแกร่ง มีความเชี่ยวชาญ และสามารถแข่งขันได้ เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน ด้วยกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มทิสโก้มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังมีระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีสัดส่วนเงินสำรองกองทุน (BIS Ratio) อยู่ที่ระดับ 25% เป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ที่ 21% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในอุตสาหกรรม

คุณสมบัติของ Best CFO ต้องโปร่งใส ตรงไปตรงมา และเข้าใจธุรกิจอย่างลึกซึ้ง

ในฐานะที่คุณชาตรีได้รับเลือกจากนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุน ให้เป็นผู้บริหารฝ่ายการเงินยอดเยี่ยม (Best CFO) ถึง 3 ปีซ้อน คุณชาตรีกล่าวว่า คุณสมบัติของ CFO ที่ดีต้องมีความรอบด้าน กล่าวคือ นอกจากต้องมีความลึกซึ้งเชิงเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการจัดการการเงินและการบริหารความเสี่ยงเป็นพื้นฐานแล้ว ยังต้องมีความรอบรู้และรอบด้านในเรื่องธุรกิจ การจัดการเชิงกลยุทธ์ และความสามารถในการผลักดันให้องค์กรพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วตลอดเวลา 

“CFO ต้องมีความรู้ที่แน่นทางด้านการเงินและการบริหารความเสี่ยงเป็นพื้นฐาน จากนั้น CFO จะต้องต่อยอดความรู้ให้กว้างขึ้น ต้องรู้จักธุรกิจเป็นอย่างดี รู้จักการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ต้องเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่กำลังเข้ามามีผลต่อการทำธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง รู้วิธีประยุกต์ใช้เครื่องมือทางการเงินและเทคนิคใหม่ ๆ ที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดกับองค์กร และรู้จักที่จะช่วยผลักดันธุรกิจไปในทิศทางที่ถูกต้อง” คุณชาตรีขยายความ

นอกจากนี้ CFO จะต้องมีความโปร่งใส ตรงไปตรงมา ในการสื่อสารและให้ข้อมูลกับนักลงทุนผู้ถือหุ้น โดยเน้นความเข้าใจที่ถูกต้องของข้อมูลที่นำเสนอ เนื่องจากนักลงทุนต้องการ CFO ที่ไว้ใจได้ ดังนั้น แนวทางที่ยึดถือปฏิบัติในการสื่อสารกับนักลงทุนคือ การสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นจริง เพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนอย่างโปร่งใส รวมไปถึงการให้ความรู้อย่างรอบด้านภายใต้บริบทใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา “ข้อมูลสำคัญทางการเงินเหล่านี้ ในฐานะนักการเงินต้องพยายามให้ความรู้แก่นักลงทุน เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น” 

file

คุณชาตรีกล่าวว่า ในบทบาทการเป็น CFO ของกลุ่มทิสโก้ ต้องให้เครดิตกับกลุ่มทิสโก้ที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งและรัดกุมในด้านความเสี่ยง (Risk Culture) ซึ่งช่วยให้การทำงานในฐานะ CFO ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ถึงแม้จะมีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ แต่ทุกสายงานคำนึงถึงความเสี่ยงในการทำธุรกิจที่ดี ยึดหลักธรรมาภิบาลในการทำงานทุกระดับ และยังเป็นองค์กรที่มีการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น บทบาทที่ท้าทายมากกว่า TISCO CFO ก็คือ “การช่วยผลักดันให้องค์กรก้าวไปข้างหน้า และประสบความสำเร็จได้อย่างไรในระยะยาว ภายในสถานการณ์การแข่งขันที่สูงขึ้น เป็นเสมือนมันสมองให้กับองค์กร ที่คอยติดตามสิ่งต่าง ๆ รอบตัวทั้งจากภายในและภายนอก เพื่อชี้นำทิศทางที่เหมาะสม รวมถึงกระตุ้นให้ตระหนัก (Warning) ในเรื่องสำคัญต่าง ๆ นี่จึงเป็นบทบาทที่สำคัญ”

กระจายอำนาจ-วัดที่ผลลัพธ์

นอกจากการยึดมั่นในแนวทางการเป็น CFO ที่ดี เน้นความโปร่งใส ตรงไปตรงมา และเข้าใจธุรกิจอย่างลึกซึ้งแล้ว สไตล์การบริหารทีมงานของคุณชาตรีก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ ซึ่งก็คือ การเน้นเรื่องการให้อิสระในการทำงาน เชื่อมั่นในความเชี่ยวชาญของแต่ละทีม แต่ละพื้นที่ ให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ โดยดูที่ผลงาน (Result Oriented) เป็นหลัก สิ่งเหล่านี้ทำให้ทีมงานแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดแก่องค์กร

ทั้งนี้ เบื้องหลังความสำเร็จในงานด้านกลยุทธ์และการบริหารความเสี่ยงของกลุ่มทิสโก้มาจากสองกลุ่มงานสำคัญ ได้แก่ ทีมวางแผนและงบประมาณ และทีมบริหารความเสี่ยง ซึ่งคุณชาตรีมีหน้าที่สนับสนุนให้สองกลุ่มงานทำงานสอดประสานกัน โดยทีมวางแผนและงบประมาณต้องช่วยมองไปข้างหน้าในการกำหนดกลยุทธ์และทิศทางขององค์กร ขณะที่ทีมบริหารความเสี่ยงเป็นผู้ติดตามอยู่ด้านหลัง คอยควบคุมให้อยู่ในกรอบและช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ ทั้งหมดนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

“การทำธุรกิจโดยไม่มีภาพความเสี่ยง เปรียบเสมือนกับคนตาบอดสี ที่มองเห็นภาพไม่ครบ แต่หากมุ่งเน้นแต่การบริหารความเสี่ยงอย่างเดียว ก็เหมือนคนหันหลังเดิน ไม่สามารถมองไปข้างหน้าได้ ทั้งสองส่วนจึงต้องทำงานประสานไปในทิศทางเดียวกัน”

วันนี้ความสำเร็จของคุณชาตรีในฐานะรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายควบคุมการเงิน และบริหารความเสี่ยง กลุ่มทิสโก้ เจ้าของรางวัลผู้บริหารฝ่ายการเงินยอดเยี่ยม (Best CFO) 3 ปีซ้อน เป็นภาพสะท้อนถึงความสำเร็จขององค์กร ตลอดจนพนักงานทุกคน ที่ทำให้กลุ่มทิสโก้ได้รับรางวัลสูงสุดถึง 21 รางวัลในปีที่ผ่านมา ทั้งยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นองค์กรที่มีมูลค่าแบรนด์สูงสุดในหมวดธุรกิจการเงิน (Thailand’s Top Corporate Brands 2021) อีกด้วย

“ไม่ว่าจะเจอวิกฤตอีกกี่ครั้ง องค์กรก็จะสามารถก้าวข้ามไปได้ด้วยการยึดมั่นในหลักการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี และพยายามมองหาโอกาสในวิกฤตอยู่เสมอ นั่นคือปัจจัยความสำเร็จของกลุ่มทิสโก้ในวันนี้และอนาคต” คุณชาตรีทิ้งท้าย

file

ทีมวางแผนกลยุทธ์และบริหารความเสี่ยงของกลุ่มทิสโก้ (จากซ้ายไปขวา)

1.คุณภูวรินทร์ กุลพัฒน์กานนท์ Head Of Enterprise Risk Management

2.คุณนิพนธ์ วงษ์โชติวัฒน์ Head Of Enterprise Risk & Credit Control

3.คุณชาตรี จันทรงาม Chief Financial Officer - CFO

4.คุณพิราม สุขฤกษ์ Head Of Planning & Investor Relations

5.คุณกนต์ธีร์ สุนทรประดิษฐ์ Financail Controller

6.คุณกิตติภพ วัชรวสุนธรา Head Of Risk Analytics & Advisory