ป้องกันความเสี่ยงสุขภาพและการเงินด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็ง Cancer Screening

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 63 | คอลัมน์ Health Protection Advisory

file

โรคมะเร็ง เป็นโรคที่ร้ายแรงและมีผลกระทบต่อประชากรหลายล้านคนทั่วโลก จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  พบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สูงที่สุดของไทย  โดยในปี 2564 มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 83,795 ราย  หรือคิดเป็นชั่วโมงละเกือบ 10 คน  นอกจากความเจ็บป่วยทางกาย  ผลกระทบทางจิตใจต่อผู้ป่วยและคนใกล้ชิด  หรือการเสียชีวิตแล้ว  โรคมะเร็งยังส่งผลกระทบต่อด้านการเงินอย่างมาก  ทั้งค่ารักษาพยาบาลโดยตรง  ค่าใช้จ่ายทางอ้อม  และการเสียโอกาสในการสร้างรายได้  ซึ่งปัจจุบันแนวทางการรับมือกับโรคมะเร็งที่สามารถช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายขาด ทำได้ไม่ยุ่งยาก และค่าใช้จ่ายต่ำกว่า คือการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง (Cancer Screening) เนื่องจากเมื่อตรวจพบโรคมะเร็งได้เร็ว การรักษามักจะได้ผลดีมากขึ้น และโอกาสในการกลายเป็นมะเร็งระยะลุกลามลดลง

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งด้วยวิธีต่าง ๆ จะขึ้นกับชนิดของมะเร็งที่ต้องการคัดกรอง นอกจากนี้ ยังควรคำนึงถึงปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น อายุ เพศ ประวัติครอบครัว ความเสี่ยง และความจำเป็นตามมาตรฐานทางการแพทย์ ดังนั้น จึงแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เมื่อต้องการตรวจ หรือเมื่อมีอาการผิดปกติ สำหรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่พบบ่อย มีดังนี้

มะเร็งลำไส้ใหญ่ แนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป หรือมีอาการผิดปกติ หรือหากมีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้แนะนำให้ตรวจเร็วขึ้น การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถทำโดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ทุก 5 ถึง 10 ปี ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจคัดกรองโดยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Colonoscopy) หรือการตรวจอุจจาระหาเลือดที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (Fecal Occult Blood Test) ได้เช่นกัน ขึ้นกับความเหมาะสม

 

มะเร็งเต้านม การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม แนะนำให้ตรวจด้วยหลายวิธีร่วมกัน ดังนี้

1.   การตรวจเต้านมด้วยตนเอง แนะนำให้ผู้หญิงตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 1 เดือน

2.   การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรม  แนะนำให้ผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป พบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมอย่างน้อยทุก 3 ปี ส่วนสตรีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปให้ตรวจทุกปี

3.   การตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram) แนะนำให้ตรวจเป็นประจำในผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือหากมีประวัติเสี่ยง เช่น ประวัติครอบครัว มีบุตรช้า ประจำเดือนมาเร็ว หรือใช้ยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมน แนะนำให้ตรวจเร็วขึ้น

file

 

มะเร็งต่อมลูกหมาก การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากสามารถทำได้โดยการตรวจวัดระดับสารพีเอสเอ (PSA) ในเลือด ซึ่งแนะนำให้ผู้ชายอายุ 50 - 70 ปี หรือมีอาการผิดปกติ ตรวจเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ตรวจทางทวารหนัก (Digital Rectal Examination: DRE) ร่วมด้วย ซึ่งช่วยให้การตรวจคัดกรองมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปัจจุบันยังมีการคัดกรองโรคมะเร็งวิธีอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยการตรวจ PAP Smear หรือการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดในกลุ่มผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่จัดโดยการตรวจ Low-Dose CT เป็นต้น ทั้งนี้ การเลือกตรวจคัดกรองแต่ละวิธีอาจขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาในการเลือกตรวจคัดกรองตามมาตรฐาน  ความจำเป็นทางการแพทย์ และความเหมาะสมของแต่ละบุคคล

แม้ว่าการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งบางวิธีมีราคาสูง แต่เมื่อเทียบกับการรักษาโรคมะเร็งแล้ว พบว่าการรักษาโรคมะเร็งมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ามาก ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อค่าใช้จ่าย ได้แก่ชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค และแนวทางการรักษา เป็นต้น ในการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยการผ่าตัดและการให้ยาเคมีบำบัด อาจมีค่ารักษาสูงกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งอาจกระทบกับความมั่นคงทางการเงินของผู้ป่วยและครอบครัว ดังนั้น การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งจึงมีส่วนช่วยให้ตรวจพบโรคได้ในระยะเริ่มแรก และช่วยลดค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม แม้การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งยังไม่สามารถป้องกันโรคมะเร็งได้ แต่สามารถจัดการความเสี่ยงด้านการเงินที่เกิดจากโรคมะเร็งได้ โดยหนึ่งในเครื่องมือที่มีอยู่ในปัจจุบันคือผลิตภัณฑ์กลุ่มประกันโรคร้ายแรง ซึ่งมีหลายรูปแบบ หลายความคุ้มครอง ตามความต้องการของผู้เอาประกัน ซึ่งเมื่อตรวจพบโรคมะเร็ง  แม้จะพบจากการตรวจคัดกรองก็ตาม ก็สามารถรับความคุ้มครองได้ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ที่กำหนด ช่วยให้ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดสามารถมุ่งมั่นกับกระบวนการรักษาได้อย่างเต็มที่ และประกันโรคร้ายแรงช่วยบรรเทาผลกระทบด้านการเงิน

โดยสรุปแล้ว การรับมือกับโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ แบ่งเป็นสองด้าน คือด้านโรค สามารถใช้การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเพื่อให้พบความผิดปกติเร็วขึ้นและผลการรักษาที่ดีขึ้น ส่วนด้านการเงิน สามารถใช้การทำประกันโรคร้ายแรงช่วยคุ้มครองบรรเทาผลกระทบด้านการเงิน

file

-----

อ้างอิงข้อมูลจาก:

● www.chulacancer.net

● www.mayoclinic.org

● สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ