What’s Your Sleep Like? นอนได้ นอนดี หรือนอนอย่างมีคุณภาพ

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 63 | คอลัมน์ Moment of Happiness

file

“การนอน” ก็เหมือนกับเรื่องสำคัญอีกหลายเรื่องในชีวิต ที่ควรเน้น “คุณภาพ” มากกว่า “ปริมาณ” ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นความสุขบนความเสี่ยงได้ 

การนอนหลับที่ดี ต้องได้ทั้งชั่วโมงการนอนและคุณภาพการหลับ ดังนั้น ความผิดปกติใดที่เกิดจากการนอน เช่น การนอนหลับ ๆ ตื่น ๆ หรือการนอนกรนที่รุนแรง จึงเป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจเสี่ยงต่อชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

                แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่า ขณะนอนหลับนั้นการทำงานของร่างกายเป็นอย่างไร

                คำตอบคือ ขั้นตอนทางการแพทย์อย่าง “Sleep Test” สามารถบอกคุณได้อย่างแม่นยำ

การนอนของคุณเป็นอย่างไร เข้าข่ายหรือไม่กับการทำ Sleep Test

Sleep Test หรือ Polysomnography คือการตรวจวินิจฉัยภาวะการนอนหลับ ด้วยเครื่องมือที่มีความแม่นยำสูง เพื่อสังเกตการทำงานของร่างกายขณะนอนหลับ โดยการวิเคราะห์ระบบการหายใจ ระดับออกซิเจนในเลือด การทำงานของคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และกล้ามเนื้อ ซึ่งผลจากการแยกความผิดปกติจะช่วยวินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของโรค รวมทั้งให้แพทย์สามารถวางแผนหรือติดตามการรักษาได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม เราสามารถประเมินตัวเองว่า ควรเข้ารับการตรวจ Sleep Test หรือไม่ โดยสังเกตจากอาการผิดปกติเหล่านี้

นอนไม่หลับ: ใช้เวลานานกว่าจะหลับ ตื่นบ่อย สะดุ้งตื่น จนทำให้ชั่วโมงการนอนน้อยเกินไป

นอนหลับเกินปกติ: รู้สึกนอนไม่เต็มอิ่มและง่วงนอนมากตอนกลางวัน แม้จะนอนอย่างเพียงพอ

พฤติกรรมขณะหลับผิดปกติ: นอนกัดฟัน นอนละเมอพูด นอนกระตุก ชกต่อย เตะขา

นอนกรน: แม้การกรนจะเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยที่สุด แต่แท้จริงแล้ว “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ” (Sleep Apnea) ที่แฝงอยู่ในการกรน คือตัวการร้ายที่ทำให้ร่างกายพัง หากอยากทราบว่าคุณคือกลุ่มเสี่ยงภาวะดังกล่าวหรือไม่ ลองเช็กดูว่าคุณนอนกรนเสียงดังไหม กำลังรักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคกรดไหลย้อน โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะอยู่หรือไม่ มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 35 kg/m2 ใช่ไหม เป็นเพศชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป หรือมีเส้นรอบคอมากกว่า 40 เซนติเมตรขึ้นไปหรือเปล่า หากเข้าข่ายมากกว่า 3 ข้อขึ้นไป นับว่าคุณมีความเสี่ยงเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับ 

การกรนเกิดจากอะไร และอันตรายแค่ไหน หากมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

อาการกรนเกิดจากการที่ทางเดินหายใจตีบแคบขณะหลับ จากการหย่อนลงของกล้ามเนื้อทั้งหมดในร่างกาย รวมทั้งกล้ามเนื้อคอหอยและกล้ามเนื้อโคนลิ้น ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อรอบ ๆ บริเวณคอหอย เกิดเป็นเสียงกรนขึ้น โดยปกติระบบทางเดินหายใจจะควบคุมการหายใจให้เป็นปกติขณะหลับ ทำให้ไม่เกิดการหยุดหายใจขณะหลับมากเกินไป แต่ในบางภาวะ เช่น อายุที่มากขึ้น มีการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อมากขึ้น หรือภาวะโรคอ้วน รวมทั้งในบุคคลบางกลุ่มที่มีโครงสร้างใบหน้าหรือโครงสร้างคางที่สั้นและเล็ก ล้วนส่งผลให้เกิดการตีบแคบของทางเดินหายใจขณะหลับมากยิ่งขึ้น

ส่วนภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เกิดจากการที่มีทางเดินหายใจแคบมากในเวลาหลับ โดยที่เมื่อยังหลับไม่สนิท จะยังเป็นการกรนที่สม่ำเสมอ แต่เมื่อหลับสนิทจะเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ และจะมีช่วงหยุดกรนไปชั่วระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการหยุดหายใจ มีลักษณะคล้ายกับการกลั้นหายใจนั่นเอง

ช่วงที่หยุดหายใจอาจทำให้เกิดอันตรายได้ เนื่องจากระดับออกซิเจนในเลือดแดงจะลดต่ำลงอย่างมาก ทำให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เช่น หัวใจ ปอด และสมอง ซึ่งร่างกายจะมีกลไกตอบสนองต่อภาวะนี้ โดยสมองจะถูกปลุกหรือกระตุ้นให้ตื่นขึ้น ทำให้การหลับถูกรบกวน เราต้องตื่นขึ้นเพื่อหายใจใหม่ สังเกตได้จากอาการสะดุ้งตื่น หรืออาการคล้ายกับกำลังสำลักน้ำลายตนเอง ในบางคนอาจมีอาการหายใจอย่างแรงเหมือนขาดอากาศ

อาการตอบสนองเหล่านี้เป็นไปเพื่อทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนอีกครั้ง แต่หลังจากนั้นไม่นาน สมองจะเริ่มหลับอีก และเกิดภาวะขาดอากาศซ้ำแล้วซ้ำเล่า วนเวียนเป็นจำนวนหลายครั้งในแต่ละคืน ซึ่งยิ่งหยุดหายใจมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งส่งผลให้รู้สึกง่วงและเพลียในช่วงเวลากลางวันมากเท่านั้น

หากไม่รักษา ในระยะสั้นจะทำให้นอนหลับไม่ลึก ง่วงระหว่างวัน ความจำไม่ดี สมองไม่ปลอดโปร่ง หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน และในระยะยาวจะทำให้หัวใจ-ปอดทำงานหนักขึ้น มีภาวะความดันโลหิตสูงในอนาคต หรือควบคุมความดันโลหิตได้ยากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมองตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ และภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น 

Sleep Test ตรวจอย่างไร ประเภทไหนเหมาะกับคุณ

file

การตรวจ Sleep Test แบบคร่าว ๆ ในเบื้องต้น คือ Home Sleep Apnea Test หรือการตรวจโดยนำอุปกรณ์ไปติดตั้งที่บ้านหนึ่งคืน เพื่อตรวจลมหายใจ การเคลื่อนไหวของหน้าอกและหน้าท้อง วัดระดับออกซิเจนในเลือด วัดระดับเสียงกรน และอาจมีการวัดคลื่นหัวใจร่วมด้วย ขณะที่การตรวจ Sleep Test อย่างละเอียด ซึ่งต้องเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลเท่านั้น มีดังนี้ 

1. การตรวจการนอนหลับแบบสมบูรณ์ (Comprehensive Technician-Attended Polysomnography) มีความแม่นยำสูงสุด และมีเจ้าหน้าที่เฝ้าสังเกตตลอดทั้งคืน โดยจะตรวจการนอนหลับทั้ง 7 ช่องสัญญาณ ได้แก่ คลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อลูกตา คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อใต้คาง คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อขา ตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด และตรวจวัดลมหายใจ ซึ่งการตรวจประเภทนี้สามารถแยกย่อยได้เป็น 2 แบบ คือ

Full Night Sleep Test เพื่อวินิจฉัยกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ และโรคที่มีความผิดปกติในขณะหลับอื่น ๆ โดยเป็นการตรวจทั้งคืน

Split Night Sleep Test การแบ่งตรวจเป็นสองส่วนภายในหนึ่งคืน โดยครึ่งแรกตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับการนอนหลับ และครึ่งหลังเป็นการรักษาแบบใช้เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก CPAP (Continuous Positive Airway Pressure) หรือ BiPAP (Bi-level Positive Airway Pressure) แล้วแต่ความเหมาะสม เพื่อขยายจุดตีบแคบในคอหอยให้โล่งขึ้น ทำให้หายใจได้อย่างราบรื่น ไม่มีเสียงกรน ไม่มีการหยุดหายใจระหว่างการนอนหลับหรือมีน้อยที่สุด 

2. การตรวจสอบความง่วงนอน (Multiple Sleep Latency Test: MSLT) ในกรณีที่การตรวจ Sleep Test ช่วงกลางคืนไม่พบความผิดปกติ แพทย์อาจให้เข้ารับการตรวจ MSLT โดยให้ผู้ป่วยทดลองนอนหลับ 5 รอบ ระหว่างเวลา 08.00 - 16.00 น. เพื่อประเมินความง่วงนอนผิดปกติที่เกิดขึ้นระหว่างวัน โดยเฉพาะในรายที่มีอาการง่วงนอนอย่างมากในช่วงเวลากลางวัน มักผล็อยหลับหรือสัปหงกเป็นพัก ๆ ไม่มีสมาธิ ปวดศีรษะ มีอาการ “โรคลมหลับ” (Narcolepsy) หรือมีอาการคล้ายการหลับ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง คอตก อันนำไปสู่อันตรายได้ หากเกิดในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม อย่างเช่นขณะขับรถ

ทั้งนี้ งานวิจัยจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institutes of Health: NIH) ระบุว่า หากมนุษย์มีอายุเฉลี่ย 79 ปี การนอนคือกิจกรรมที่เราใช้เวลาไปกว่า 1 ใน 3 ของชีวิต โดยอยู่บนเตียงนอนรวม 33 ปี แบ่งเป็นการนอนหลับ 26 ปี และอีก 7 ปีหมดไปกับการพยายามข่มตานอน

ดังนั้น อยู่ที่คุณแล้วว่า จะทำให้ช่วงเวลาอันมีค่าถึง 1 ใน 3 นี้ เต็มไปด้วยความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร  

ขอบคุณข้อมูลจาก : 

นพ.เกษียรสม วีรานุวัตติ์ อายุรแพทย์ ด้านสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์

file