ทีมแพทย์จุฬาฯ เดินหน้า “แอนติบอดีต้านมะเร็ง (Anti-PD-1)” ความหวังของผู้ป่วยมะเร็งไทยที่ไม่ไกลเกินเอื้อม

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 64 | คอลัมน์ Health Focus

ด้วยความเชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยาต่าง ๆ ของกลุ่มแพทย์จากทั่วโลก ทำให้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการรักษามะเร็งรุดหน้า โดยเฉพาะ “การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)” 3 แบบ คือ การใช้เซลล์บำบัดมะเร็ง (CAR T-cells) วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล (Neoantigen Cancer Vaccine) และการรักษาแบบการใช้ยาแอนติบอดีต้านมะเร็ง (Anti-PD-1) ที่จะเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพการรักษาชีวิตผู้ป่วย และเพิ่มโอกาสการหายขาดจากโรคมะเร็ง

file

 

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น เพื่อให้คนไทยเข้าถึงนวัตกรรมการแพทย์ในราคาที่เอื้อมถึง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงไม่หยุดยั้งที่จะวิจัย และพัฒนาการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดทั้ง 3 แบบ โดยนิตยสาร TRUST เคยนำเสนอความก้าวหน้าของการพัฒนาและวิจัยการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด และวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลไปแล้ว

มาวันนี้ อ.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมแพทย์ผู้ร่วมพัฒนานวัตกรรมการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด มีข่าวดีครั้งใหม่กับความก้าวหน้าของการรักษาแบบการใช้ยาแอนติบอดีต้านมะเร็ง (Anti-PD-1) หนึ่งในวิธีการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดที่ได้ผลลัพธ์ตอบสนองตัวยาในขั้นการทดลองเป็นอย่างดี

“จากการเดินหน้าทดสอบวิจัยและพัฒนายาแอนติบอดีรักษามะเร็ง ควบคู่ไปกับนวัตกรรมอื่น ๆ ของโครงการ โดยได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในสัตว์ทดลองมาตั้งแต่ปลายปี 2565 และเข้าใกล้ในการทดสอบทางคลินิกในผู้ป่วยมะเร็งในปลายปีนี้ ซึ่งหากยาแอนติบอดีประสบผลสำเร็จ ก็จะสามารถใช้การรักษานี้ควบคู่ไปกับ CAR T-cells และวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลได้อีกทางเลือกหนึ่ง” 

“ภูมิคุ้มกันบำบัด” ทางเลือกการรักษามะเร็งอย่างตรงจุด

การรักษาโดยการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง มีเป้าหมายคือช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ป่วยซึ่งมีความสามารถในการต่อต้านมะเร็งอยู่แล้ว ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถทำลายเซลล์มะเร็งที่หลบหลีกภูมิคุ้มกันอยู่ได้อย่างตรงเป้าหมายและเกิดผลข้างเคียงที่น้อยลง จึงเป็นวิธีการที่สถาบันวิจัยมะเร็งชั้นนำของโลกมุ่งให้ความสำคัญอย่างมาก

อ.นพ.ไตรรักษ์ให้ข้อมูลว่า การรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดทั้ง 3 วิธีที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้น มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน แต่มีจุดหมายเดียวกันคือทำให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ เพื่อนำมาเป็นทางเลือกและใช้เสริมประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ 

โดย CAR T-cells เป็นการรักษาเฉพาะบุคคล ด้วยการนำเซลล์เม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยมะเร็งออกมาปรับแต่งให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นแล้วฉีดกลับเข้าไปในตัวผู้ป่วย เพื่อให้เซลล์เม็ดเลือดขาวเข้าไปทำหน้าที่โจมตีเซลล์มะเร็งในร่างกาย ซึ่งวิธีนี้จะใช้ได้กับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ส่วนวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล ใช้หลักการเดียวกับการผลิตวัคซีนโควิด 19 ที่ใช้ชิ้นส่วนเชื้อโรคมาสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายให้รู้จักเชื้อโรคและเกิดการป้องกัน สำหรับวัคซีนรักษามะเร็งเป็นการนำชิ้นเนื้อมะเร็งของผู้ป่วยคนนั้นมาถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อหาการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็ง จากนั้นนำข้อมูลการกลายพันธุ์ดังกล่าวไปผลิตวัคซีนแล้วฉีดกลับเข้าไปในร่างกายผู้ป่วย เพื่อสอนให้ระบบภูมิคุ้มกันหรือเม็ดเลือดขาวรู้จักสิ่งแปลกปลอมและแยกแยะหน้าตาของเซลล์มะเร็ง พร้อมกำจัดได้อย่างถูกต้องโดยไม่ส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติอื่น ๆ

สำหรับวิธีการรักษาของยาแอนติบอดีต้านมะเร็ง เป็นอีกกลไกการรักษาที่สำคัญ เนื่องจากเซลล์มะเร็งจะมีการสร้างโปรตีนที่ชื่อว่า PD-L1 ซึ่งมีความสามารถในการจับกับโปรตีน PD-1 ที่อยู่บนเม็ดเลือดขาว และเมื่อ

file

วิธีการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดในรูปแบบต่างๆ ที่มา: Chen, D.S.,&Mellman,l.(2013)

โปรตีน 2 ตัวนี้ มาจับคู่กันเมื่อไหร่ ก็จะไปหยุดการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่ในการทำลายสิ่งแปลกปลอมในร่างกายทันที ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้ตามปกติ และยังทำให้สองนวัตกรรมข้างต้นอาจรักษาได้ไม่เห็นผลเท่าที่ควร 

“ยาแอนติบอดี” จะเข้าไปขัดขวางการจับกันระหว่างโปรตีน PD-L1 บนเซลล์มะเร็งกับโปรตีน PD-1 บนเม็ดเลือดขาว ทำให้เม็ดเลือดขาวสามารถโจมตีเซลล์มะเร็งได้ตรงจุด หรือเรียกว่าทำให้เม็ดเลือดขาวกลับมามีประสิทธิภาพในการจัดการกับเซลล์มะเร็งได้ตามปกติ โดยปัจจุบันยาแอนติบอดีมีความสําคัญมากในการรักษามะเร็ง และได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ใช้สําหรับรักษามะเร็งมากกว่า 30 ชนิด เช่น มะเร็งผิวหนัง มะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งเต้านม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดนั้น ยังต้องรักษาควบคู่กับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การให้ยาเคมีบำบัดหรือคีโม (Chemotherapy) ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) การผ่าตัด (Surgery) และการฉายรังสี (Radiotherapy) เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพสูงสุด

“การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดหรือรักษาด้วยภูมิต้านทานนี้ ไม่ใช่มาแทนการรักษาใด ๆ แต่เป็นการใช้ร่วมกันในการรักษา เช่น หากคนไข้มีเซลล์มะเร็งเต็มไปหมด นั่นอาจต้องให้เคมีบำบัดช่วยด้วย ภูมิต้านทานช่วยด้วย เพื่อให้ฆ่าข้าศึกลดน้อยลงไปก่อน เราต้องรักษาแบบผสมผสานเพื่อเพิ่มโอกาสการรักษาให้มะเร็งหายขาดต่อไป”

file

3 นวัตกรรม “ภูมิคุ้มกันบำบัด” ได้ผลลัพธ์การทดสอบที่น่าพอใจ

“การทดสอบของสองอันแรกคือ CAR T-cells และวัคซีนรักษามะเร็งได้เริ่มทดสอบในผู้ป่วยแล้ว โครงการนี้เราดำเนินการกันมาหลายปี มีผลลัพธ์ที่ก้าวหน้า อย่างตัว CAR T-cells ซึ่งเป็นงานของ อ.นพ.กรมิษฐ์ ศุภพิพัฒน์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยเซลล์บำบัดมะเร็ง ก็ได้ผลทดสอบเรื่องความปลอดภัยในผู้ป่วยเป็นที่น่าพอใจ และค่อนข้างได้ผลดี ส่วนวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลก็ได้ทำการทดลองระยะที่ 1 แล้ว เพื่อดูความปลอดภัยในผู้ป่วยประมาณ 10 คน ผลคร่าว ๆ ด้านความปลอดภัยเป็นที่น่าพอใจเช่นกัน ขั้นตอนต่อไปต้องดูเรื่องผลในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และในอนาคตก็ต้องดูเรื่องประสิทธิภาพในการจัดการมะเร็ง”

และดังที่ อ.นพ.ไตรรักษ์กล่าวในเบื้องต้นว่า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งยังคงเดินหน้าวิจัยและพัฒนายาแอนติบอดีรักษามะเร็งคู่ขนานไปด้วย แต่ด้วยเป็นนวัตกรรมที่ใช้เวลามากกว่าสองโครงการแรกเพราะต้องผ่านกระบวนการพัฒนายาที่ต้องมีขั้นตอนการผลิตในโรงงาน ต้องควบคุมมาตรฐานที่เป็นมาตรฐานระดับสากล เหตุนี้การเดินหน้างานวิจัยจึงดำเนินไปได้ช้ากว่า 

โดยที่ผ่านมา ยาแอนติบอดีต้านมะเร็งนั้น เรียกได้ว่าเข้าสู่การดำเนินงานระยะที่ 4 แล้ว โดยระยะที่ 1 เป็นการผลิตยาแอนติบอดีต้นแบบจากหนู ระยะที่ 2 ปรับปรุงยาแอนติบอดีีีีต้นแบบที่ได้จากเซลล์เม็ดเลือดขาวของหนูให้มีความเข้ากันได้กับร่างกายของมนุษย์ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของยา ระยะที่ 3  ผลิตแอนติบอดีปริมาณมากในโรงงานผลิตยา และระยะที่ 4 ทดสอบยาในสัตว์ทดลอง ได้แก่ หนูและลิง เพื่อทดสอบคุณภาพและความปลอดภัยของยาก่อนที่จะนำมาทดสอบในมนุษย์ซึ่งถือเป็นระยะที่ 5 ต่อไป ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 20 – 24 เดือน โดยในปัจจุบันได้นำยาต้นแบบมาทดสอบในลิงแล้ว

“ก่อนหน้านี้ เราทดลองในหนูปรากฏว่าผลออกมาน่าพอใจมาก ตัวยาสามารถยับยั้งก้อนมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ ขั้นต่อไปเราเข้าสู่การทดสอบในลิง โดยจะทดสอบ 2 อย่าง คือ เรื่องความปลอดภัย และเรื่องการเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย คือฉีดเข้าไปแล้วยากระจายตัวไปถึงอวัยวะต่าง ๆ อย่างไร โดยในเรื่องความปลอดภัยนั้นทุกอย่างออกมาได้ผลดี กลุ่มทดลองไม่มีอาการพิษต่าง ๆ ตอนนี้กำลังรอผลลัพธ์ด้านเภสัชจลนศาสตร์ ซึ่งเรากำลังวิเคราะห์ในขั้นตอนการทดสอบผลเลือดของลิง ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2 - 3 เดือนจะเริ่มเห็นผลทดสอบ”

ขั้นตอนหลังจากนี้ หากผลการทดลองในลิงออกมาเป็นที่น่าพอใจ ก็จะเข้าสู่กระบวนการสั่งผลิตยาแอนติบอดีเฟสแรกในโรงงานผลิต ซึ่งขั้นตอนการผลิตใช้เวลาประมาณเกือบปี ฉะนั้นถ้าไม่เกิดเหตุติดขัดหรืออุปสรรคปัญหาใด ๆ ที่ทำให้งานวิจัยหยุดชะงัก ทางทีมแพทย์ของโครงการนี้ก็จะเดินหน้าต่อสำหรับการทดสอบในมนุษย์ ซึ่งคุณหมอบอกว่าความเป็นไปได้ที่สุดคือช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 

file
file

ความหวังลดค่าใช้จ่ายการรักษา ให้คนไทยเข้าถึง ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วย

ปัจจุบันการรักษาด้วยยาแอนติบอดีเป็นวิธีการรักษาที่ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยบางโรงพยาบาลในประเทศไทยก็นำนวัตกรรมดังกล่าวเข้ามาใช้กับผู้ป่วยแล้ว เพราะขั้นตอนการรักษาไม่ได้ซับซ้อนมากนัก เพียงแค่ผู้ป่วยเข้าพักที่โรงพยาบาล จากนั้นแพทย์จะให้ยาผ่านเส้นเลือด เหมือนการให้น้ำเกลือในผู้ป่วยโรคทั่วไป

แต่ปัญหาคือในการรักษาด้วยวิธีการนี้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง โดยผู้ป่วย 1 คน จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 220,000 บาท ต่อ 3 สัปดาห์ หรือปีละประมาณ 3.5 ล้านบาท โดยการรักษาต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี เท่ากับว่าผู้ป่วย 1 คน จะต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างน้อยสูงถึง 7 ล้านบาท ถือเป็นตัวเลขค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แต่หากคนไทยสามารถผลิตยาแอนติบอดีได้เอง ก็จะทำให้เราสามารถกำหนดราคาในระดับที่ผู้ป่วยทั่วไปสามารถเข้าถึงได้

นี่จึงเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังคงเร่งเดินหน้าพัฒนาและวิจัยยาแอนติบอดีให้เกิดขึ้นโดยฝีมือคนไทย  

“ถ้าโครงการนี้สำเร็จและใช้ในวงกว้างได้ ช่วงแรก ๆ คงต้องยอมรับว่า ราคาอาจคงยังสูงด้วยเทคโนโลยีและการพัฒนาที่ต้นทุนสูง แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งเราเชื่อมั่นว่าราคาค่ารักษาด้วยนวัตกรรมนี้จะถูกลงสำหรับคนไทยอย่างแน่นอน เพราะเป็นเทคโนโลยีของคนไทย อยู่ในมือคนไทย ไม่ต้องรอซื้อจากต่างประเทศอย่างเดียว และเชื่อว่าการพัฒนาด้านการแพทย์ที่ไม่หยุดยั้ง ในอนาคตนวัตกรรมใหม่ ยาตัวใหม่ อาจถูกพัฒนาต่อยอดจากโครงการนี้ กลายเป็นการรักษาที่เข้าถึงได้ง่ายยิ่งกว่า มีประสิทธิภาพยิ่งกว่า และนั่นคืออีกเป้าหมายสำคัญของโครงการในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์เพื่อคนไทยทุกคน”

 

ร่วมบริจาคสมทบเพื่อสนับสนุนทุนวิจัย และพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ชื่อบัญชี: คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เงินบริจาคเพื่อการวิจัย) เลขที่บัญชี: ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย 045-304669-7 (กระแสรายวัน)

file