โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผลกระทบต่อสุขภาพและการเงิน

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 64 | คอลัมน์ Health Protection Advisory

file

“โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด” หรือที่เราเรียกทั่วไปว่า หัวใจวายเฉียบพลัน เป็นโรคที่มีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งโรคนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยหลายล้านรายทั่วโลกในแต่ละปี ดังนั้น ความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุ อาการ และแนวทางการรักษาจึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรค และรับมือกับโรคได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ เรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เราต้องคำนึงถึงในระยะยาวด้วยเช่นกัน

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งด้วยวิธีต่าง ๆ จะขึ้นกับชนิดของมะเร็งที่ต้องการคัดกรอง นอกจากนี้ ยังควรคำนึงถึงปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น อายุ เพศ ประวัติครอบครัว ความเสี่ยง และความจำเป็นตามมาตรฐานทางการแพทย์ ดังนั้น จึงแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เมื่อต้องการตรวจ หรือเมื่อมีอาการผิดปกติ สำหรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่พบบ่อย มีดังนี้

มะเร็งลำไส้ใหญ่ แนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป หรือมีอาการผิดปกติ หรือหากมีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้แนะนำให้ตรวจเร็วขึ้น การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถทำโดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ทุก 5 ถึง 10 ปี ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจคัดกรองโดยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Colonoscopy) หรือการตรวจอุจจาระหาเลือดที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (Fecal Occult Blood Test) ได้เช่นกัน ขึ้นกับความเหมาะสม

 

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดคืออะไร ?

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเกิดขึ้นจากเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจไม่สามารถไหลได้ตามปกติ ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือมีคราบตะกรัน (Plaque) ในหลอดเลือดหัวใจ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดก๊าซออกซิเจน หากไม่สามารถรักษาอย่างทันท่วงที กล้ามเนื้อหัวใจจะเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงทำให้เกิดผลทางสุขภาพต่าง ๆ หรือกระทั่งการเสียชีวิต

อาการของโรค

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมีอาการได้หลายแบบขึ้นกับแต่ละบุคคล แต่อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ อาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม เหงื่อแตก และใจสั่น เป็นต้น สำหรับอาการเจ็บแน่นหน้าอกที่มีแนวโน้มสูงว่าอาจเกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมักมีลักษณะเหมือนมีของหนักมาทับหน้าอก รู้สึกแน่น ๆ หนัก ๆ บางครั้งอาจมีอาการร้าวไปที่แขน คอ หรือหลัง ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ จำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาทันที อย่างไรก็ตาม อาการของโรคนี้ในผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคประจำตัว บางครั้งอาจระบุได้ยากและไม่ชัดเจน ดังนั้น หากมีอาการที่สงสัยหรือไม่แน่ใจจึงแนะนำให้พบแพทย์โดยทันทีเช่นกัน

file
file

ปัจจัยเสี่ยงของโรค

ปัจจัยเสี่ยงของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมีหลายกลุ่ม ทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ในกลุ่มที่ควบคุมได้ ได้แก่ การสูบบุหรี่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง และภาวะอ้วน นอกจากนี้ ยังรวมถึงการไม่ออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ส่วนความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ ได้แก่ อายุที่เพิ่มมากขึ้น หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเราทราบปัจจัยเสี่ยงแล้ว ควรปรับการใช้ชีวิตเพื่อลดโอกาสเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เช่น การลดพฤติกรรมเสี่ยงและการควบคุมโรคประจำตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี

การรักษาโรค

วิธีการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมีหลายวิธีขึ้นกับความรุนแรง ระยะเวลาการเกิดโรค และความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ในกรณีที่เพิ่งมีอาการเฉียบพลัน อาจใช้การให้ยาสลายลิ่มเลือด การสวนหลอดเลือดหัวใจ การใส่ขดลวดเพื่อขยายหลอดเลือด หรือการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น ส่วนกรณีที่เป็นโรคมาระยะหนึ่งแล้ว การรักษาจะมุ่งเน้นการปรับพฤติกรรมและการให้ยาต่าง ๆ เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดซ้ำในอนาคต รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

file

ค่าใช้จ่ายการรักษา

เนื่องจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาอย่างทันที ณ โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด อาจทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูงได้ จากข้อมูลของกรุงเทพประกันชีวิตพบว่าค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนอาจสูงกว่า 1.3 ล้านบาทต่อครั้ง ซึ่งหากไม่มีการเตรียมการเรื่องการจัดการความเสี่ยง อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินของผู้ป่วยและครอบครัวอย่างรุนแรงไม่น้อยกว่าความรุนแรงของโรค นอกจากการรักษาในระยะแรกแล้ว ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจำเป็นต้องได้รับการรักษาและติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง

ลดความเสี่ยงทางการเงินโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบที่ช่วยลดภาระและผลกระทบด้านการเงินของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เช่น ประกันสุขภาพ หรือประกันโรคร้ายแรง ซึ่งโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมักเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคร้ายแรงที่แบบประกันโรคร้ายแรงให้ความคุ้มครอง ซึ่งผู้ที่ต้องการจัดการความเสี่ยงสามารถเลือกให้เหมาะสมกับตนเองได้

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบที่ช่วยลดภาระและผลกระทบด้านการเงินของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เช่น ประกันสุขภาพ หรือประกันโรคร้ายแรง ซึ่งโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมักเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคร้ายแรงที่แบบประกันโรคร้ายแรงให้ความคุ้มครอง ซึ่งผู้ที่ต้องการจัดการความเสี่ยงสามารถเลือกให้เหมาะสมกับตนเองได้

โดยสรุปแล้ว โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ถือเป็นโรคร้ายแรงที่ส่งผลกระทบอย่างยิ่งทั้งด้านสุขภาพและด้านความมั่นคงทางการเงิน ดังนั้น ความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง อาการ และผลกระทบต่าง ๆ จะช่วยให้เราสามารถปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ หรือเมื่อเกิดโรคขึ้นแล้วก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที และหากมีการจัดการความเสี่ยงด้านการเงิน เช่น การมีประกันโรคร้ายแรง จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเราและครอบครัวได้เป็นอย่างดี

ที่มา https://my.clevelandclinic.org/health/treatments/22066-percutaneous-coronary-intervention