เตรียมปรับการลงทุน รับภาวะ Stagflation

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 66 | คอลัมน์ Asset Allocation

file

เรามองตลาดกำลังเปลี่ยนเข้าสู่ภาวะ Stagflation

ในภาวะปัจจุบันที่อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เศรษฐกิจไม่ได้ชะลอตัวลงแรง ถึงแม้นโยบายการเงินจะเข้มงวดขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งดูจะเป็นไปตามจุดมุ่งหมายของธนาคารกลาง ทำให้ตลาดคาดหวังว่าหากพัฒนาการเศรษฐกิจยังเป็นไปในทิศทางนี้ ธนาคารกลางอาจไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดอีกต่อไป อยู่ในภาวะที่เรียกว่า Goldilocks ซึ่งเป็นบวกต่อราคาสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตลาดหุ้นซึ่งปรับตัวขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี  

อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่าตลาดกำลังเปลี่ยนเข้าสู่ภาวะ Stagflation ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อ จากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และปรากฏการณ์ El Nino ในขณะที่เศรษฐกิจน่าจะชะลอลงต่อเนื่อง ตามผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังที่หมดลง และผลลบจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นอาจเริ่มกลับตัวลงในช่วงที่เหลือของปี

file

แรงหนุนเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

อัตราเงินเฟ้ออาจปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่ตลาดคาดในช่วงที่เหลือของปี ท่ามกลางแรงกดดันที่สูงขึ้น จากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ราคาน้ำมัน (WTI) ที่ปรับขึ้นสู่ระดับ 84 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สูงสุดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022 ราคาข้าวที่ปรับสูงขึ้นจากการประกาศห้ามส่งออกข้าวเกือบทุกประเภทในอินเดีย ประกอบกับภาวะแห้งแล้ง ตามปรากฏการณ์ El Nino ที่จะทำให้ผลผลิตลดลง เป็นปัจจัยบวกต่อราคาสินค้าเกษตร ซึ่งน่าจะทำให้ประเด็นเงินเฟ้อสูงกลับมาเป็นปัจจัยที่ตลาดกังวลอีกครั้ง 

file

เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากภาคบริการ

เศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาถูกหนุนโดยภาคบริการที่ยังโตแข็งแกร่ง ที่ถึงแม้ดอกเบี้ยจะถูกปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ดัชนีผลสำรวจผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Services PMI) ยังคงอยู่เหนือ 50 จุด ซึ่งเป็นเกณฑ์ขยายตัว สวนทางกับดัชนีภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ซึ่งลดลงต่อเนื่องจนเข้าสู่เกณฑ์หดตัว (ต่ำกว่า 50 จุด)

เราประเมินว่าสาเหตุที่ภาคบริการยังโตดี มาจากเงินออมส่วนเกิน (Excess savings) จากมาตรการช่วยเหลือภาครัฐในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 เช่น การแจกเงินให้เปล่ากับประชาชน จ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ว่างงาน ซึ่งมีมูลค่ารวมสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนถึง 10% ของ GDP ทำให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้เศรษฐกิจจะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูง ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นมาก แต่เงินออมสะสมที่มากกว่าปกติ ทำให้การใช้จ่ายยังคงขยายตัวดี ประชาชนมีกำลังซื้ออย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี เงินออมส่วนเกินนั้น เริ่มลดลงแล้ว และหากเทียบกับแนวโน้มเงินออมในระหว่างปี 2017 - 2019 ซึ่งเป็นระดับปกติก่อนการระบาดของ COVID-19 เงินออมส่วนเกินนั้นก็น่าจะหมดลงภายในช่วงไตรมาส 3 นี้  

นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ จะเริ่มกลับมาเก็บหนี้เพื่อการศึกษา (Student loan) ในเดือนตุลาคมนี้ หลังจากที่หยุดพักการผ่อนชำระมาตั้งแต่เกิดการระบาดของ COVID-19 ใน 3 ปีก่อน และเป็นหนึ่งในไม่กี่มาตรการบรรเทาผลกระทบที่ยังหลงเหลืออยู่หลังการระบาด การกลับมาเก็บหนี้เพื่อการศึกษา อาจกระทบการบริโภคค่อนข้างมาก เนื่องจากมีประชากรถึง 43 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 13% ของประชากรทั้งประเทศที่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ ในขณะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลง ประชาชนน่าจะเลือกที่จะลดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยแทนการลดเงินออม เป็นปัจจัยฉุดภาคการบริโภค รวมถึงภาคบริการ ทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะข้างหน้า

file

ทองคำ น้ำมัน และหุ้นกลุ่ม Defensive ให้ผลตอบแทนเป็นบวกในภาวะ Stagflation

หากพัฒนาการทางเศรษฐกิจเป็นไปตามที่เราคาด ตลาดจะเปลี่ยนเข้าสู่ภาวะ Stagflation ซึ่งถึงแม้จะไม่รุนแรง แต่จะส่งผลต่อทิศทางราคาสินทรัพย์ โดยเมื่อเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ในภาวะต่าง ๆ พบว่า ตลาดหุ้น (S&P500) ในภาวะ Stagflation มักจะให้ผลตอบแทนเป็นลบ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวตามภาวะเศรษฐกิจ (Cyclical) ได้แก่ Consumer Discretionary และ Industrials แต่ยังมีบางกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก ได้แก่ กลุ่ม Energy และกลุ่มที่มีผลการดำเนินงานสม่ำเสมอ ไม่เปลี่ยนตามภาวะเศรษฐกิจ (Defensive) ได้แก่ กลุ่ม Utilities, Consumer Staples และ Healthcare

เมื่อเปรียบเทียบเป็นรายสินทรัพย์ พบว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ได้แก่ ราคาน้ำมัน และราคาทองคำมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง สวนทางกับตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets: EM)   

ด้าน Valuation หุ้นในกลุ่ม Defensive มีค่า Forward P/E ต่ำกว่ากลุ่ม Cyclical เช่น Utilities (16x) และ Healthcare (18x) ซึ่งต่ำกว่า Consumer Discretionary (24x) และ Industrial (19x) และมีการเคลื่อนไหวที่ Laggard กว่าตลาดหุ้นกลุ่มอื่นมาตั้งแต่ต้นปี

ดังนั้น เราแนะนำให้เลือกเพิ่มน้ำหนักหุ้นเป็นราย Sector ในกลุ่ม Defensive เช่น Healthcare ซึ่งน่าจะให้ผลตอบแทนเป็นบวก และ Outperform หุ้นกลุ่มอื่นในระยะข้างหน้า และกระจายน้ำหนักการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน และทองคำเพิ่มขึ้น

file
file