มอง Upside ตลาดหุ้นไทยจำกัด แนะเลือกลงทุนรายตัว

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 66 | คอลัมน์ Investment Strategy

file

ระวังเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะขยับสูงขึ้นอีกใน Q4

หลังจากที่เงินเฟ้อสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม กลับมาปรับตัวขึ้น 2 เดือนติดและเร่งตัวขึ้นจากจุดต่ำ +3.0% YoY, +0.2% MoM ในเดือนมิถุนายน เป็น +3.2% YoY, +0.2% MoM ในเดือนกรกฎาคม และ +3.7% YoY, +0.6% MoM ในเดือนสิงหาคม หลัก ๆ จากเงินเฟ้อที่ลดลงจากฐานราคาที่สูงในปีก่อนเริ่มหมดไป  เราได้จำลองอัตราเงินเฟ้อในกรณีต่าง ๆ (+0.0% ถึง +0.5% MoM) พบว่าในกรณีฐาน คือ อัตราเงินเฟ้อหากยังขยายตัวเฉลี่ยเดือนละ 0.2 - 0.3% MoM เท่ากับค่าเฉลี่ยล่าสุดในช่วง 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา CPI สหรัฐฯ จะขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4% ในช่วงสิ้นปีนี้ ผสานกับแนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นทุกเดือนในช่วงไตรมาส 3/2023 แตะระดับสูงสุดใหม่ของปีนี้ มีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะตรึงดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงนานกว่าเดิม (ตอกย้ำวลี “Higher for Longer”) หนุน Bond Yields และ US Dollar Index ทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป ถือเป็นปัจจัยลบต่อกระแสเงินทุนต่างประเทศ 

file

ลางร้าย! BOJ ส่งสัญญาณเตรียมยุตินโยบาย
อัตราดอกเบี้ยติดลบ

นาย Kazuo Ueda ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ระบุว่าอาจจะยุติการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ปัจจุบันอยู่ที่ -0.1% เมื่ออัตราเงินเฟ้ออยู่ระดับเป้าหมายที่ 2% โดยทางนาย Ueda คาดว่า BoJ จะมีข้อมูลเพียงพอภายในสิ้นปีนี้เพื่อพิจารณาว่าจะสามารถยุติอัตราดอกเบี้ยติดลบได้หรือไม่ ซึ่งหากตัวเลขค่าจ้างเติบโตขึ้น รวมถึงอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง อาจส่งผลต่อการเติบโตของเงินเฟ้อที่ยั่งยืน ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นอยู่เหนือระดับ 2% มานานมากกว่า 1 ปี  อิงจากคาดการณ์ล่าสุดของตลาดเริ่มมีการประเมินกันว่า BoJ อาจยุติมาตรการ Yield Curve Control (YCC) อย่างเร็ว คือ ในการประชุมเดือนตุลาคมนี้ (เร็วกว่าเดิมที่คาดจะยุติ YCC ในช่วงเดือนเมษายนปีหน้า) และจะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจุบันที่ -0.1% เป็น 0% และ 0.1% ในช่วงต้นปีและกลางปีหน้าตามลำดับ (เร็วกว่าเดิมที่คาดจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า)

file
file
file

หาก BoJ เริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินไปในทางที่เข้มงวดขึ้น (Hawkish) คาดจะทำให้มีการดึงเงินลงทุนกลับ-คืนเงินกู้ หลังจากที่ต้นทุนการกู้ยืมเงินเยนราคาถูกจากญี่ปุ่นเริ่มหมดไป (Yen Carry Trade Unwind) น่าจะเป็นปัจจัยหนุน Bond Yields โลกปรับตัวขึ้น สร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้น DM ที่ปรับตัวขึ้นมาพอสมควรแล้วในปีนี้  

ห่วงงบประมาณล่าช้า จะกระทบเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยเหมือนช่วงปลายปี 2019…

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ : ถึงแม้เราได้รัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจเต็มเข้ามาบริหารประเทศแล้วในช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่งบประมาณปี FY2024 ที่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เรามองจะมีความล่าช้าแน่นอนอย่างน้อย ๆ 3 เดือน จากการประเมินของ TISCO Economic Strategy Unit (TISCO ESU) งบประมาณที่ล่าช้าประมาณ 3 เดือน จะกระทบต่อเศรษฐกิจราว 0.2 - 0.8% การประเมินข้างต้นสอดคล้องกับข้อมูลในอดีตที่งบประมาณปี FY2020 มีความล่าช้า 5 เดือนจากการเลือกตั้งในปี 2019 (ตุลาคม 2019-กุมภาพันธ์ 2020) ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จ่ายด้านการลงทุน ทำให้โมเมนตัมเศรษฐกิจไทย (GDP Growth) เริ่มโตแผ่วลงเทียบ QoQ ตั้งแต่ช่วง 2Q19-3Q19 จากสุญญากาศทางการเมืองในช่วงที่มีการเลือกตั้ง-การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า และในช่วง 4Q19 ต่อเนื่องถึง 1Q20 ที่งบประมาณมีความล่าช้า GDP เทียบ QoQ พลิกติดลบ 2 ไตรมาสซ้อน อนึ่งสำหรับ 2Q20 ที่ GDP ติดลบหนักต่อเนื่องเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้มีการล็อกดาวน์ประเทศ

ผลกระทบต่อตลาดหุ้น : เราเคยกล่าวไว้ใน TRUST ฉบับที่แล้วว่า ในช่วงที่งบประมาณปี FY2020 มีความล่าช้า SET Index แกว่งไซด์เวย์ดาวน์ 5 เดือนติดต่อกันรวม -18.1% หรือเฉลี่ย -3.8% ต่อเดือน โดยหากตัดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เริ่มอุบัติขึ้นในช่วงปลายเดือนมกราคม 2020 SET Index จะให้ผลตอบแทนติดลบ -7.5% หรือเฉลี่ย -1.9% ต่อเดือน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวในทิศทางที่ดีกว่าตลาด (Outperform) และเราชอบในเชิงของปัจจัยพื้นฐาน คือ กลุ่ม HEALTH และ FOOD เนื่องจากเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะยังมีแนวโน้มที่ดีในช่วงที่เหลือของปีนี้ นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งจำเป็น น่าจะทนทานต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศได้

file

ขณะที่การดำเนินการนโยบายสำคัญ ๆ ของรัฐบาลใหม่ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์อีกสักระยะ

โดยภาพรวมนโยบายของรัฐบาลใหม่ส่งผลดีต่อการเติบโตเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ต้องติดตามผลงานในเชิงประจักษ์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์อีกสักระยะ ถึงแม้รัฐบาลใหม่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ แต่ไม่ได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน สส. ทั้งหมด ทำให้ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนก่อน อาจทำให้การทำงานไม่ประสบผลสำเร็จมากเหมือนในอดีต

มุมมองของเราสอดคล้องกับข้อมูลที่เราได้รับจากการจัดงาน Jefferies Asia Forum ที่ฮ่องกงในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาพบว่า นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่แม้มีมุมมองเชิงบวกต่อความคืบหน้าทางการเมืองไทย แต่ยังต้องรอพิจารณานโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐก่อนที่จะเข้าลงทุนในระยะกลาง-ยาว โดยเฉพาะความกังวลด้านการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินและฐานะการคลัง นอกจากนี้ นโยบายการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลและค่าไฟฟ้า ซึ่งกระทบต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน ทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจรอความชัดเจนของนโยบายต่าง ๆ ให้มากขึ้นก่อน ประกอบกับในการประเมินมูลค่าหุ้นไทยในปัจจุบันสำหรับ SET Index ที่มากกว่าระดับ 1500 จุดไม่ได้ถือว่าถูก ทำให้ยังไม่น่าสนใจเท่ากับตลาดหุ้นอินโดนีเซียและเวียดนามที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนกว่า

file

หุ้นเด่นแนะนำในไตรมาส 4/2023 – BBL, BDMS, CENTEL, CPALL และ NSL

จากความล่าช้าของงบประมาณที่คาดจะกระทบต่อโมเมนตัมทางเศรษฐกิจมากสุดในไตรมาสนี้ และแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่มีความเสี่ยงด้านสูง ทำให้เรามองตลาดหุ้นไทยมี Upside จำกัด เราจึงใช้กลยุทธ์เลือกซื้อเป็นรายตัว (Selective Buy) ในหุ้นที่คาดว่ากำไร 3Q23F จะเติบโต YoY หุ้นเด่นที่เราแนะนำในไตรมาส 4/2023 คือ BBL, BDMS, CENTEL, CPALL และ NSL

BBL – ดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์แบบครบวงจรและมีเครือข่ายในต่างประเทศ, มองแนวโน้มกำไร 3Q23F ในเชิงบวก ยกระดับแตะระดับ 1 หมื่นล้านบาทต่อเนื่อง หลังจากที่รายงานกำไร 2Q23 อยู่ที่ 1.12 หมื่นลบ. +62% YoY, +12% QoQ ดีกว่าเราและตลาดคาดราว 13% อานิสงส์ NIM ขยายตัวดี และการเติบโตของสินเชื่อเร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะจากธุรกิจของ Permata, คุณภาพสินทรัพย์ดี NPL ขั้นต้น -5% QoQ ทำให้ NPL Ratio ลดลงเป็น 3.46%, การประเมินมูลค่าหุ้นยังถูก PBV 0.6x, ROE 6.5%, Div. Yield 3% ต่อปี, เป้าพื้นฐาน 173 บาท

BDMS – ประกอบธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ของประเทศ โดยมีโรงพยาบาลเครือข่ายในไทยและกัมพูชา, คาดกำไร 3Q23F จะเติบโตทั้ง YoY, QoQ เข้าสู่ช่วงฤดูฝนและผู้ป่วยตะวันออกกลางมีความต้องการสูงหลังสิ้นสุดรอมฎอน รวมทั้ง EBITDA margin คาดจะปรับเพิ่มขึ้นต่อ เนื่องจากต้นทุนในการขยายสาขาโรงพยาบาลลดลง และการเริ่มรับรู้รายได้จากโรงพยาบาลเปิดใหม่ (รพ.กรุงเทพปลวกแดง), ได้ประโยชน์จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องและแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภาครัฐ, เป้าพื้นฐาน 36 บาท

CENTEL – แบ่งเป็น 2 ธุรกิจหลัก คือ 1. ธุรกิจโรงแรมในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้แบรนด์ของตนเอง เซ็นทารา 2. ธุรกิจอาหารจานด่วนในประเทศไทย, เรามอง CENTEL เป็นหุ้นเด่นที่สุดในกลุ่ม TOURISM, ราคาหุ้นที่ปรับลงในช่วง 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา สะท้อนการดำเนินงาน Maldives ที่แย่ไปแล้ว แนวโน้มค่อย ๆ ฟื้นตัว ได้แรงหนุนจากปัจจัยฤดูกาล, การเปิดให้บริการ Centara Grand Osaka ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นมา ที่เริ่มมีรายได้เข้ามาชดเชยค่าใช้จ่ายล่วงหน้าก่อนหน้านี้ และรัฐเตรียมให้ Free Visa นักท่องเที่ยวจีนด้วย, เป้าพื้นฐาน 59 บาท

CPALL – ดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า 7-Eleven รวมถึงการลงทุนในธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าแบบชำระเงินสดและบริการตนเองภายใต้ชื่อ "แม็คโคร", CPALL เป็นหุ้นเด่นในกลุ่ม COMM จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและการท่องเที่ยว, ได้ประโยชน์จากนโยบายภาครัฐหลายนโยบาย อาทิ การพักหนี้, การลดค่าไฟฟ้า, การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท และการส่งเสริมการท่องเที่ยว, เป้าพื้นฐาน 76 บาท

NSL – เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าเบเกอรี อาหารรองท้อง และขนมขบเคี้ยว เราเริ่มต้นวิเคราะห์หุ้น NSL ด้วยคำแนะนำ “ซื้อ” เนื่องจาก 1. กระแสเงินสดแข็งแกร่ง ได้รับการสนับสนุนจากแบรนด์แซนด์วิชที่มีชื่อเสียง (EZY TASTE) 2. ออกผลิตภัณฑ์ใหม่เจาะตลาดส่งออกและเพิ่มรายได้แบรนด์ของตนเอง 3. ได้ประโยชน์จากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นและเติบโตไปกับการขยายสาขาของ 7-Eleven, คาดกำไรปี 2023-25F จะโตเฉลี่ยปีละ 15%, เป้าพื้นฐาน 28.75 บาท