ส่องภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2024

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 67 | คอลัมน์ Smart Investing

file

คาดว่าเศรษฐกิจในปี 2024F จะขยายตัวที่ 3.5% โดยองค์ประกอบหลักจะกลับมาช่วยกันประคับประคองขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้ง ซึ่งรวมไปถึงการส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายภาครัฐ ที่ในปี 2023 เป็นปัจจัยฉุดต่อเศรษฐกิจ โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

file ที่มา: NESDC, TISCO Economic Strategy Unit (TISCO ESU)

 

  • การส่งออกสินค้านั้นคาดว่าจะเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ตั้งแต่ไตรมาสสี่ของปี 2023F และจะกลับมาขยายตัวได้ในปี 2024F แต่คาดว่าจะยังเติบโตได้ในระดับต่ำ (คาดขยายตัว 5%) จากแนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้าที่น่าจะยังได้รับแรงกดดันจากภาวะอัตราดอกเบี้ยสูงที่กดดันกำลังซื้อ
file ที่มา: CEIC, Bloomberg, MoTS, TISCO Economic Strategy Unit (TISCO ESU)

 

  • ขณะที่ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวแม้ว่าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์กราดยิงในห้างสรรพสินค้าที่น่าจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว (โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน) อีกทั้งคาดว่าเม็ดเงินการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวอาจยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยเราคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 35 ล้านคน ยังต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 และเป็นการขยายตัวในอัตราชะลอลง แม้นับว่ายังเติบโตในระดับสูงจากช่วงเดียวกันกับปีก่อน (YoY)
  • ทางด้านภัยแล้ง คาดว่าจะกระทบต่อรายได้เกษตรกร (คาดรายได้เกษตรกรหดตัว -4% YoY) เนื่องจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าเกษตรอาจไม่เพียงพอที่จะชดเชยความเสียหายของผลผลิตการเกษตร นอกจากนี้ ภาระดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้นตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนให้ชัดเจนมากขึ้น ทำให้ประเมินว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวในอัตราชะลอลง
  • สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐยังมีบทบาทได้ไม่เต็มที่นักในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 2024F เนื่องจากร่างงบประมาณ FY2024 (ตุลาคม 2023 - กันยายน 2024) ยังไม่ได้รับการอนุมัติ แต่คาดว่าการเบิกจ่ายงบประมาณจะเร่งตัวขึ้นมากในอัตราเร่ง หลังร่างงบประมาณฯ ได้รับการอนุมัติให้มีผลบังคับใช้ (คาดว่าในเดือนพฤษภาคม) ดังเช่นเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันในปีงบประมาณ FY2020 (ตุลาคม2019 - กันยายน 2020) ขณะที่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการ Digital Wallet วงเงิน 5 แสนล้านบาท ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะสามารถดำเนินการได้ ซึ่งเรายังคงไม่ได้รวมไว้ในประมาณการกรณีฐาน และเรามองว่าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวอาจไม่ได้ส่งผลบวกมากนักต่อ GDP (คาดผลบวกจากโครงการ Digital Wallet ราว 0.8% ของ GDP) และกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
file
file

หมายเหตุ: 1\ A limited amount of the previous fiscal year’s budget can be used for current and already-obligated capital expenditures during the approval delay period. Changes to ceiling conditions depend on Budget Bureau Director’s consideration and approval by the prime minister. 

file ที่มา: FPO, TISCO Economic Strategy Unit (TISCO ESU)

 

  • ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เราคาดว่าอยู่ที่ระดับ 2.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดแล้วภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจาก กนง. น่าจะยังอยากรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงกว่าเงินเฟ้อ (เราคาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยที่ 2.0% ในปี 2024F) อย่างไรก็ดี หากเงินเฟ้อชะลอตัวลงกว่าที่คาด (เนื่องจากแรงกดดันที่ลดลงจากฝั่งต้นทุน และ/หรือ ฝั่งอุปสงค์) เรามองว่าความเสี่ยงด้านต่ำของเงินเฟ้อดังกล่าวสามารถนำไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในปีหน้า
  • สำหรับค่าเงินบาท เราคาดเฉลี่ยอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของดุลบัญชีเดินสะพัด ตามการฟื้นตัวดีขึ้นของการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี เรามองว่าความไม่แน่นอนของดุลบัญชีทุนอาจทำให้ค่าเงินยังมีความผันผวนอยู่สูงมาก เนื่องด้วยปัจจัยทั้งนอกและในประเทศ อาทิ สถานการณ์ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (เช่น สงครามอิสราเอล-ฮามาส) นโยบายระหว่างประเทศระหว่างสหรัฐฯ และจีน การลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินของญี่ปุ่น รวมถึงเสถียรภาพการคลังและการผลักดันนโยบายกระตุ้นเพิ่มเติมในประเทศ เป็นต้น
file

    ทั้งนี้ เรามองว่าปัจจัยเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญต่อเศรษฐกิจ ได้แก่ ความอ่อนแอของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักที่แย่กว่าคาด เช่น ภาวะเศรษฐกิจถดถอย การกลับมาเร่งตัวของสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งจากปัญหาภัยแล้งและความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่กระทบต่อราคาพลังงาน ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อกลับมาเร่งตัวขึ้น รวมถึงนโยบายการเงินที่จะต้องเข้มงวดมากขึ้น และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน ภายใต้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่สูงและดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงด้านสูงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจ ได้แก่ เศรษฐกิจโลกที่แข็งแรงกว่าที่คาด การเร่งอนุมัติร่างงบประมาณ FY2024 และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐได้เร็วกว่าที่คาด รวมทั้งการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้สำเร็จ โดยเฉพาะโครงการ Digital Wallet

file