อัตราดอกเบี้ยในทศวรรษหน้า

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 69 | คอลัมน์ Asset Allocation

file

    การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ปี 2022 มีจุดประสงค์เพื่อสกัดเงินเฟ้อไม่ให้เพิ่มขึ้นแรง ซึ่งในขณะเดียวกันควรส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงพร้อมกัน แต่เศรษฐกิจกลับยังเติบโตได้ดี สูงกว่าระดับศักยภาพ ถึงแม้ธนาคารกลาง (Fed) จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเกินกว่า 5% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบเกือบ 20 ปี  

ปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมต่อเศรษฐกิจระยะยาว (R-Star)

    ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมต่อเศรษฐกิจในระยะยาว หรือที่เรียกกันว่า R-Star คือ อัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตที่ระดับศักยภาพ (Potential GDP) การจ้างงานเต็มที่ และเงินเฟ้อคงที่ เป็นจุดดุลยภาพ (Equilibrium) ระหว่าง Supply กับ Demand ของการออม (Saving) กับการลงทุน (Investment) ในระบบเศรษฐกิจ ยิ่งออมเยอะ ลงทุนน้อย Potential GDP ลดลง R-Star จะลดต่ำลง ในทางกลับกัน ยิ่งออมน้อย ลงทุนมาก Potential GDP เพิ่มขึ้น R-Star ก็จะปรับขึ้น

    ก่อนหน้านี้ R-Star อยู่ในระดับที่ต่ำมาก เนื่องจากผลของวิกฤตเศรษฐกิจ Subprime ในปี 2008 ธนาคารกลางมีการใช้นโยบายการเงินเชิงปริมาณ ร่วมกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมในตลาดลงจนต่ำเป็นประวัติการณ์ จนก่อให้เกิดบริษัทซอมบี้ (Zombie Firms) หรือบริษัทที่ไม่มีความสามารถในการทำกำไร แต่ก็ยังสามารถบริหารจัดการให้อยู่รอดได้ ประกอบกับความพยายามลดสัดส่วนหนี้ (Deleveraging) ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของวิกฤต ทำให้การลงทุนลดลง ในขณะที่การออมเพิ่มขึ้น ตามโครงสร้างประชากรซึ่งมีสัดส่วนประชากรวัยทำงานออมเงินเพื่อเตรียมเกษียณมากขึ้น R-Star ลดต่ำลง

    อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้า ประชากรจะเข้าสู่วัยเกษียณมากขึ้น และนำเงินเก็บออกมาใช้จ่าย ในขณะที่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยโครงสร้างทางเศรษฐกิจเริ่มเปลี่ยนไป มีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาปรับใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงานมากขึ้น ประกอบกับกระแสลดการพึ่งพาประเทศอื่น (Deglobalization) และพลังงานสะอาด (Green Energy) ทำให้รัฐบาลสนับสนุนการผลิตภายในประเทศ (Nearshoring / Reshoring) มีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้ R-Star มีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะข้างหน้า 

file

ผลกระทบต่อการลงทุน

    อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือที่ Fed ใช้ในการควบคุมเศรษฐกิจ เมื่อต้องการดำเนินนโยบายแบบตึงตัว (Contractionary) Fed จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมต่อเศรษฐกิจระยะยาว (R-Star) เป็นการกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อลง ในทางกลับกัน เมื่อดำเนินนโยบายแบบขยายตัว (Expansionary) Fed จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่ำกว่า R-Star เพื่อผลักดันให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจและหนุนเงินเฟ้อ

    R-Star ที่สูงขึ้น หมายความว่า Fed จำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้ได้ระดับความเข้มงวดเท่าเดิม ในทางกลับกัน Fed ก็ไม่จำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปต่ำเท่าเดิม เพื่อให้ภาวะการเงินผ่อนคลายลง

    Bond Yield ระยะยาว ซึ่งเปรียบเสมือนค่าเฉลี่ยระยะยาวของขาขึ้นและลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จึงมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับสูงกว่าวัฏจักรดอกเบี้ยในรอบก่อน ๆ กลยุทธ์การลงทุนในภาวะดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งนักลงทุนคุ้นเคยกันตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อาจไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวังในระยะข้างหน้า ในภาวะปัจจุบันซึ่งเป็นช่วงต้นของวัฏจักรดอกเบี้ยสูง จึงมีความไม่แน่นอนอยู่มาก แนะนำให้กระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว  

file
file