
‘ไปรษณีย์เชื่อมสุข’ ขนส่ง ‘สินค้าชุมชน’ สู่ ‘ทุกชีวิต’ ภารกิจเพื่อสังคม มุ่งสร้างความเข้มแข็ง
เสริมแกร่งเศรษฐกิจฐานราก
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 71 | คอลัมน์ All Around Me

‘ส่งทุกความสัมพันธ์ สู่ทุกความสำเร็จ’ แนวคิดอันเป็นพันธกิจหลักในการดำเนินงานของไปรษณีย์ไทยในวันนี้ บ่งชัดถึงความเป็นองค์กรที่อยู่ใกล้ชิดชุมชนและผูกพันกับผู้คนมาทุกยุคทุกสมัยกว่า 140 ปี เห็นได้จากหลากหลายภารกิจที่ลงมือปฏิบัติล้วนมีส่วนร่วมช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในสังคมมาโดยตลอด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือโครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้ชื่อ ‘ไปรษณีย์เพิ่มสุข’ ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 ด้วยความมุ่งมั่นที่จะใช้ศักยภาพด้านการขนส่ง เครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ และการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายเป็นทุนตั้งต้นในการสนับสนุนชุมชนใน 3 มิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ผ่านหลักการทำงาน UpSkill UpScale และ UpGrade เพื่อคัดสรรปั้นผู้ประกอบการชุมชนให้สามารถนำภูมิปัญญาสินค้าท้องถิ่นมาต่อยอด ยกระดับคุณภาพ พัฒนานวัตกรรมจนได้มาตรฐานสามารถส่งจำหน่ายผ่านที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ รวมถึงช่องทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน THAILANDPOSTMART
จากนั้นเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘ไปรษณีย์เชื่อมสุข’ มาปีนี้ล่วงเข้าสู่ปีที่ 8 มีชุมชนจากทั่วทุกภาคของประเทศผ่านเกณฑ์คัดเลือกเข้าสู่กระบวนการพัฒนาสินค้าจำนวน 23 ชุมชน มีผลิตภัณฑ์จากชุมชนภายใต้แบรนด์ต่าง ๆ ส่งเข้าจำหน่ายมากกว่า 40 รายการ สร้างรายได้แก่ชุมชนกว่า 35 ล้านบาท โดยไปรษณีย์ไทยรับหน้าที่ในการ ‘ขนและขาย’ พาสินค้าท้องถิ่นคุณภาพส่งตรงถึงผู้บริโภคทั่วประเทศ ผ่านเครือข่ายที่ทำการไปรษณีย์และจุดให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่กว่า 20,000 แห่ง
ดร.วราภรณ์ ข้องเกี่ยวพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานกลยุทธ์และการขับเคลื่อนองค์กร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ฉายภาพความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมผ่านเครื่องชี้วัดซึ่งระบุว่า การวัดผลความพึงพอใจของชุมชนอยู่ในระดับสูงถึง 90% ขณะที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและหน่วยงานเครือข่ายอยู่ในระดับ 85% ขึ้นไป
“โครงการไปรษณีย์เชื่อมสุข เชื่อมโยงกับนโยบายพัฒนาองค์กรยั่งยืนที่เรียกว่า ESG+E เกี่ยวข้องกับ Environmental ซึ่งเราใส่ปัจจัยเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมเข้าไปในการที่จะพัฒนาชุมชน Social เรื่องชุมชนสังคม ซึ่งเป็นแกนหลัก และ Governance การกำกับดูแลกิจการที่ดีเน้นความพึงพอใจตอบสนองผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ซึ่งชุมชนถือเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญของเรา และสำหรับไปรษณีย์ไทยเองยังเน้นคำว่า Plus E คือ Economy ด้วย เราอยากให้ชุมชนที่มาเป็นเครือข่ายร่วมกับเราเติบโตไปกับเรา และได้ผลลัพธ์ทางธุรกิจร่วมกันด้วยรายได้ที่เพิ่มขึ้นต่อปี ซึ่งความพึงพอใจของโครงการนี้ หากมองกันที่ตัวชี้วัดความสำเร็จก็เป็นไปตามนโยบายทั้งหมด ใครมาจอยกับเราก็จะเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน”
เชื่อมโยงทั้งห่วงโซ่ สร้างความต่างสู่ความสำเร็จ
รูปแบบการทำงานของโครงการ ‘ไปรษณีย์เชื่อมสุข’ ตามที่ ดร.วราภรณ์ได้เล่าให้ฟังยิ่งเห็นชัดว่ามุ่งเน้นการบูรณาการเชื่อมโยงอย่างครบถ้วนทั้งห่วงโซ่จากต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ และถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของความสำเร็จก็ว่าได้
“จากต้นน้ำ เราเริ่มตั้งแต่เข้าไปคัดเลือกชุมชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยมีหลักเกณฑ์เน้นชุมชนที่ต้องการการสนับสนุนอยากให้เราพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเขา โดยเฉพาะวิสาหกิจที่มีศักยภาพแต่ยังขาดโอกาส ผนวกกับกระบวนการคัดเลือกสินค้าผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ น่าสนใจ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อให้เข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้น ส่วนกลางน้ำเข้าไปช่วยสนับสนุนยกระดับพัฒนาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ผ่านหลักการทำงาน 3 Up เริ่มจากการ UpSkill ช่วยสร้างองค์ความรู้ให้กับชุมชนเพื่อที่จะพัฒนาสินค้า จากนั้น UpScale ให้เขาสามารถขยายผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้ด้วยความเชี่ยวชาญของเราในด้านการขนและการขาย และท้ายที่สุด UpGrade ช่วยในการสร้างแบรนด์ให้ผลิตภัณฑ์ ออกแบบแพ็กเกจจิง พร้อมขอมาตรฐานสินค้าเพื่อยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์”
ในกระบวนการพัฒนาสินค้าท้องถิ่นไม่เพียงใช้บุคลากรด้านความยั่งยืนขององค์กรเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชนอย่างใกล้ชิด หากยังเน้นผสานความร่วมมือระหว่างเครือข่ายที่มีศักยภาพทั้งระดับองค์กรรัฐ อาทิ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึงภาคเอกชน เช่น เซ็นทรัลพัฒนา เพื่อต่อยอดภูมิปัญญา พัฒนานวัตกรรม รวมถึงยกระดับสินค้าท้องถิ่นให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานกำหนด
เมื่อกระบวนการล่วงลุมาถึงปลายน้ำ ไปรษณีย์ไทยรับหน้าที่ที่ชำนาญที่สุด นั่นคือเป็น ‘ผู้ขนและขาย’ นำสินค้าชุมชนมาเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสำหรับกระจายสินค้าผ่านเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อจัดส่งตรงถึงมือผู้บริโภคในวงกว้างได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทั้งที่ทำการไปรษณีย์ 1,300 จุด สามารถวางขายสินค้าแบบออฟไลน์ และช่องทาง e-Commerce Platform หรือ e-Marketplace ที่เรียกว่า THAILANDPOSTMART
4 ชุมชนต้นแบบความสำเร็จ
สินค้าท้องถิ่นจาก 23 ชุมชนกับสินค้ากว่า 40 รายการออกมาวางจำหน่าย หลายคนได้เห็นหน้าตาและอาจเคยอุดหนุนกันมาแล้ว เสียงตอบรับต่างไปในทางเดียวกันว่าผลิตภัณฑ์จากโครงการ ‘ไปรษณีย์เชื่อมสุข’ โดดเด่นแตกต่างด้วยชื่อแบรนด์น่าจดจำ สื่อความหมายได้ดี มีเรื่องเล่าเรียกความสนใจ การออกแบบผลิตภัณฑ์สวยงาม ทันสมัย ใช้งานง่าย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีตัวท็อป 4 แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จทั้งในแง่การสร้างแบรนด์และสร้างผลลัพธ์เชิงรายได้ ดร.วราภรณ์ ในฐานะผู้มีส่วนร่วมปลุกปั้นเอ่ยเล่าถึงด้วยความภาคภูมิใจว่า
“ข้าวฮางจากวิสาหกิจชุมชนข้าวฮางทิพย์ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ภายใต้แบรนด์ ‘ข้าวฮางทิพย์’ เป็นพื้นที่แรกที่เราสนับสนุน เป็นภูมิปัญญาการนำข้าวสายพันธุ์ต่าง ๆ ผ่านกระบวนการแช่–นึ่ง–ผึ่ง–สี เน้นวิธีทางธรรมชาติ ตอบโจทย์ผู้รักสุขภาพ ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ดูทันสมัย มีตัวช่วยตวงน้ำสำหรับคนที่หุงข้าวไม่เป็น นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูป อาทิ คุกกี้ข้าวฮาง เค้กกล้วยหอม บราวนี่ ขนมขาไก่ ในปี 2566 มียอดจำหน่ายมากกว่า 1 ล้านบาท”
ปลาส้ม ‘สุขหล่ำ’ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านห้วยหมากหล่ำ จ.อุดรธานี “เราเข้าไปเติมความรู้ให้กลุ่มแม่บ้านเพื่อทำปลาส้มที่ถูกสุขลักษณะ ได้มาตรฐาน ออกแบบแพ็กเกจจิงที่เก็บรักษาปลาส้มให้อยู่ในรูปแบบสุญญากาศ เก็บได้นาน ดูสวยงาม ทันสมัย และ Hygienic มากขึ้น พร้อมทั้งยังประสานขอ อย. ให้ด้วย ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปีก็สามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องจนถึงวันนี้มากกว่า 700,000 บาท”
ไข่เค็ม ‘อสม.ไชยา’ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไข่เค็ม อสม.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี จัดเป็นตัวอย่างของชุมชนเข้มแข็งที่ทำรายได้กว่า 1 ล้านบาทต่อปี ใช้ไข่เป็ดออร์แกนิกในชุมชนที่เลี้ยงแบบธรรมชาติ เสริมด้วยหัวกุ้ง ทำให้ไข่แดงมีสีแดง มัน เค็มกำลังดี “เราขอความร่วมมือจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ สามารถขนส่งผ่านระบบไปรษณีย์ได้โดยไม่แตก นอกจากนี้ยังได้นำความรู้เรื่องทำไข่เค็มถนอมอาหารไปสอนนักเรียนที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนไปรษณีย์ไทยบ้านห้วยหมากหล่ำ อุดรธานี แล้วพัฒนาต่อยอดแตกแบรนด์ ‘ไข่เค็มเด็กน้อย’ สร้างรายได้ให้กับนักเรียนและโรงเรียนต่อไป”
ลำไยอบกึ่งแห้งแบรนด์ ‘ละพูน’ และ ‘CHANA’ (ชนะ) จ.ลำพูน เป็นลำไยที่มีความพิเศษ ถึงแม้เป็นลำไยกึ่งอบแห้ง แต่เมื่อนำมากินแล้วมีรสชาติเหมือนลำไยสด เป็นความร่วมมือกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) คิดค้นนวัตกรรมแปรรูปลำไยสด นำผลผลิตมาเพิ่มมูลค่า เหมือนได้กินลำไยสดใหม่ ปัจจุบันมียอดจำหน่ายมากกว่า 400,000 บาท
“ทั้ง 4 ชุมชนที่กล่าวถึงนี้ ค่อนข้างประสบความสำเร็จ รายได้เติบโตสูงที่สุด โดยปัจจุบันมีรายได้ต่อปี 800,000 ถึง 1ล้านบาท เมื่อวัดผลภาพรวมจากปีที่ผ่านมา รายได้รวมอยู่ที่ประมาณสัก 20 ล้าน ซึ่งตอนนี้เติบโตไปถึง 35 ล้านบาทแล้ว ทำให้เราได้เห็นการ UpScale และศักยภาพที่จะเติบโตไปด้วยกันกับเราอย่างต่อเนื่อง”


ทิศทางเชื่อมสู่วงกว้างของ ‘เชื่อมสุข’
ก้าวต่อไปของ ‘ไปรษณีย์เชื่อมสุข’ ยังคงมุ่งหน้าสานต่อภารกิจเพื่อขยายชุมชนที่ต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติม โดยวางเป้าให้สามารถขยายชุมชนเพิ่มได้อย่างน้อยปีละ 1-2 ชุมชน
“ในปีนี้เราลงไปสำรวจชุมชนน่าสนใจจึงได้เพิ่มมาเป็นอาหารทะเลสดและอาหารทะเลแปรรูป แบรนด์ ‘เลญา’ โดยกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน ต.ท่าซัก จ.นครศรีธรรมราช เนื่องจากตอนนี้เราเปิดบริการใหม่จากบริษัทลูก Fuze Post เป็นการให้บริการขนส่งควบคุมอุณหภูมิหรือขนส่งเย็น ซึ่งมองว่าอาหารทะเลสดและอาหารทะเลแปรรูปเหล่านี้ น่าจะมีโอกาสทางธุรกิจในการขยายช่องทางโดยใช้การขนส่งควบคุมอุณหภูมิ และเท่าที่ดูจากสถิติของลูกค้าทางภาคเหนือ อีสานจะสั่งอาหารทะเลเยอะ มองว่าการกระจายสินค้าจากชุมชนอาหารทะเลไปยังผู้บริโภค น่าจะสามารถขยายได้ด้วยความเชี่ยวชาญในด้านขนส่งแบบเฉพาะ Parcel Centric คือส่งเย็น คิดว่าแบรนด์ ‘เลญา’ ที่จำหน่ายอาหารทะเลสดและแปรรูป มีทั้งกุ้งแห้งหอม กุ้งอาบแดด กุ้งสดชื่น น่าจะเป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งในอนาคตสำหรับปี 2568 ที่จะขยายตัวได้ดี”
ความสำเร็จของ ‘เชื่อมสุข’ สู่ความภาคภูมิใจ
“นอกจากความภาคภูมิใจแล้ว พวกเราประทับใจมาก ๆ ใน Strong Relationship ระหว่างชุมชนกับองค์กร เพราะกลายเป็นความสัมพันธ์ที่มีความใกล้ชิดชุมชน ลูกค้า ประชาชน น้อง ๆ ในทีมลงไปเยี่ยมกันบ่อย ไปดูแลกันอย่างใกล้ชิด อย่างตอนนั้นไปลงพื้นที่ชุมชนบ้านห้วยหมากหล่ำ ได้เจอหน้ากัน พวกแม่ ๆ ก็จะเข้ามากอดแล้วบอกว่า… ไปรษณีย์อย่าทิ้งกันนะ เพราะเราทำให้เขาได้เติบโตขึ้นมา จากเคยจับแค่เงินหลักพัน พอเริ่มทำโครงการในปีแรก ๆ เขาเริ่มได้จับเงินหมื่น เงินแสน ตอนนี้ก็จะเป็นเงินเกือบล้านแล้ว การที่เราไปลงพื้นที่แล้วทำให้ชุมชนตรงนั้นได้พัฒนาขึ้นมาจนเห็นความแตกต่าง ได้เห็นสินค้าของชุมชนที่ดูทันสมัย ดูดีมาก ๆ ก็เป็นความภาคภูมิใจ และจะเห็นเลยว่า เขามีความรักความผูกพันกับเราด้วยความจริงใจ เป็นความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งอาจจะแตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่น เป็นความประทับใจและมองว่าเป็นสัญญาณของความผูกพันที่มันยั่งยืน” ดร.วราภรณ์กล่าว

พัฒนาทุกกลยุทธ์ พร้อมรับมือโลกยุคดิจิทัล
ขณะเดียวกัน ไปรษณีย์ไทยยังวางกลยุทธ์การตลาดและการขาย เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงรุดหน้าอย่างรวดเร็วในโลกยุคดิจิทัลไว้แล้วพร้อมสรรพ
“เรามี e-Marketplace ที่เรียกว่า THAILANDPOSTMART ซึ่งเน้น Local Seller สินค้าชุมชนของดีตัวท็อปจากทั่วประเทศ และได้เลือกสินค้าชุมชนตัวท็อปจาก ‘เชื่อมสุข’ ไปวางจำหน่ายเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นยังมีระบบ CRM ที่ใช้มาตรฐานสากลในรูปแบบ Loyalty Program โดยให้ลูกค้าสมัครสมาชิก Post Family ตอนนี้มีฐานข้อมูลลูกค้าอยู่ประมาณ 1.3 ล้านคน ทำให้เราเห็นพฤติกรรมลูกค้า (Persona) ได้เลยว่าชอบสินค้าประเภทใด จำนวน ความถี่ในการส่ง ยอดใช้จ่ายเท่าไร และสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์คัดเลือกแสวงหาพัฒนาชุมชนใหม่พร้อมกับทำโปรโมชัน เรียกว่าเป็นเครื่องมือสำคัญด้านเทคโนโลยีที่ใช้ทำ Data Analytics”
คงไม่เกินจริง หากจะกล่าวว่า ‘โครงการไปรษณีย์เชื่อมสุข’ เสมือนโครงการต้นแบบที่สามารถบูรณาการระบบออฟไลน์กับออนไลน์ให้เชื่อมต่อกันได้อย่างน่าชื่นชม ส่งผลให้ไปรษณีย์ไทยพร้อมเดินหน้าขยายพันธกิจดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องตามแนวทาง ESG+E ที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม กำกับดูแลกิจการ ซึ่งสะท้อนสู่ด้านเศรษฐกิจ (Economy) ที่มุ่งเปลี่ยนผ่านการดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิมเพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้าน Physical และด้าน Digital ให้ก้าวสู่การเป็น Information Logistics ผ่านโครงการ Postman Cloud ซึ่งใช้ความเชี่ยวชาญของบุรุษไปรษณีย์หรือที่ทุกคนเรียกว่า ‘พี่ไปรฯ’ เกือบ 25,000 คน มาให้บริการแบบ Beyond Logistic นอกเหนือการนำจ่าย อาทิ ส่งบุรุษไปรษณีย์ไปสำรวจทรัพย์สิน NPA (Non-Performing Asset) ให้ธนาคารต่าง ๆ เป็นรายได้ใหม่ที่เกิดขึ้นกับบุรุษไปรษณีย์
ส่วนโครงการ D/ID พัฒนาฐานข้อมูลที่อยู่จาก Physical Address เป็น Digital Address เปลี่ยนที่อยู่ผู้รับผู้ส่งแบบตัวอักษรให้เป็นที่อยู่ดิจิทัล ผ่านรหัส 6 หลักที่เรียกว่า D/ID ซึ่งระบุข้อมูลพิกัดตำแหน่งและข้อมูลบุคคลที่สามารถเปลี่ยนเป็น QR Code ได้ เพื่อความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลบนจ่าหน้าจดหมายและพัสดุ
รวมไปถึงโครงการ Prompt Post ระบบบริหารจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร ตอบโจทย์ความต้องการยุคดิจิทัล มีทั้ง Digital Postbox บริการกล่องไปรษณีย์หรือกล่องจดหมายดิจิทัลช่วยส่งและจัดเก็บเอกสารสำคัญได้อย่างรวดเร็ว น่าเชื่อถือ และ Trust Service บริการรับรองและลงลายมือชื่อบนเอกสารดิจิทัลด้วยใบรับรองดิจิทัลและกุญแจส่วนบุคคล เพื่อยืนยันความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของเอกสาร