
เมื่อ ‘Optimistic Nihilism’ ตีความใหม่ในโลกยุคใหม่ นำสู่วิถีชีวิต-ความสำเร็จที่เป็นนิยามเฉพาะตัว
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 71 | คอลัมน์ Global Trend

‘สุญนิยม’ หรือ ‘Nihilism’ เป็นแนวคิดทางปรัชญาที่มีมาหลายศตวรรษ หลักการสำคัญ คือ การมองว่าชีวิตไม่มีความหมาย จุดมุ่งหมาย หรือคุณค่าที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ในอดีตแนวคิดดังกล่าวมักนำไปสู่ความสิ้นหวังหรือการมองโลกในแง่ร้าย เพราะหากทุกสิ่งล้วนแต่ไร้ความหมาย แล้วคนเราจะใส่ใจกับการให้คุณค่าสิ่งต่าง ๆ เพื่ออะไร แต่น่าสนใจว่า...ในปัจจุบันปรัชญาแขนงนี้ได้วิวัฒน์ไปสู่มุมมองที่ส่งเสริมชีวิตในด้านบวกมากขึ้น นั่นคือ ‘การมองโลกในแง่ดีท่ามกลางความว่างเปล่า’ หรือ ‘Optimistic Nihilism’ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินวิถีชีวิตของคนหลากหลายกลุ่มในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มเจนซี (Generation Z หรือคนที่เกิดระหว่างปี 1997-2012)
การตีความดังกล่าวได้ปรับมุมมองต่อปรัชญาที่มืดหม่นให้กลายเป็นพลังในการดำรงชีวิตเมื่อยอมรับว่า ‘ชีวิตไม่มีความหมายโดยธรรมชาติ’ นั่นหมายความว่า ทุกคนย่อมมีอิสระที่จะสร้างความหมายเฉพาะตัว ทำให้เกิดวิถีชีวิตที่แตกต่างอย่างชัดเจนจากเส้นทางแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็น การเรียนมหาวิทยาลัย อาชีพที่ (แลดู) มั่นคง การซื้อบ้าน การแต่งงาน ฯลฯ ทั้งหมดนี้ จึงไม่ได้สื่อถึงชีวิตที่ประสบความสำเร็จสำหรับทุกคนอีกต่อไป เพราะความสำเร็จไม่ได้วัดด้วยค่ามาตรฐานดั้งเดิม แต่เป็นการให้ความสำคัญหรือให้คุณค่ากับสิ่งเหล่านี้มากกว่า คือ…
- ‘สมดุลของชีวิตการทำงาน’ มากกว่าความก้าวหน้าในอาชีพ
- ‘ความยืดหยุ่นของการดำเนินชีวิต’ มากกว่าความมั่นคง
- ‘การเติบโตส่วนบุคคล’ มากกว่าการสะสมวัตถุ
- ‘ความสุขในปัจจุบัน’ มากกว่าการกังวลกับการวางแผนอนาคต
- ‘คุณค่าที่เกิดจากประสบการณ์ที่แท้จริง’ มากกว่าการครอบครองทรัพย์สิน
- ‘เส้นทางที่ตัวเองเชื่อมั่น’ มากกว่าเป้าหมายที่สังคมกำหนดไว้
ผู้คนที่โอบรับแนวคิดนี้ไม่ได้ปฏิเสธความหมายทั้งหมด แต่เลือกที่จะนิยามความหมายด้วยตัวเอง เพื่อพร้อมรับความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดของชีวิต โดยปราศจากภาระของความคาดหวังที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้ามาหลายต่อหลายยุคสมัย ‘เมื่อยอมรับว่าชีวิตไม่มีความหมายโดยธรรมชาติ จึงนำไปสู่การเผชิญชีวิตด้วยมุมที่แข็งแกร่งมากขึ้น’ นั่นเอง
ชีวิตรูปแบบใหม่ในโลกที่อะไรก็ไม่แน่นอน
ความเป็นอิสระจากพันธนาการความหมายในแง่มุมต่าง ๆ และทัศนคติที่ว่า ความไม่แน่นอนเป็นโอกาสที่จะได้ทดลองและสร้างประสบการณ์ใหม่ มากกว่าที่จะเป็นภัยคุกคามความก้าวหน้า จึงก่อให้เกิดความยืดหยุ่นในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการสร้างค่านิยมส่วนตัวที่เป็นอิสระจากกรอบแบบดั้งเดิม การยึดถือแนวทางที่ตนให้คุณค่าแม้ไม่ใช่เส้นทางสายหลักของสังคม แต่เป็นการโอบรับอิสระในการบุกเบิกเส้นทางที่เป็นเอกลักษณ์ก็สามารถพบเจอความสุขระหว่างทางได้ โดยไม่ต้องกังวลกับการวางเป้าหมายในระยะไกล
ดังนั้น หนึ่งในแง่มุมที่โดดเด่นที่สุดของ ‘Optimistic Nihilism จึงเป็นการให้ความสำคัญกับปัจจุบัน’ กลุ่มคน Gen Z จึงลงทุนกับการสร้างประสบการณ์ที่ตนพึงใจ สร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่มีความหมายต่อตนเองโดยปราศจากความคาดหวังที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า ประกอบอาชีพหรือทำงานที่สอดคล้องกับคุณค่าที่ตนยึดถือ และต้องการที่จะค้นพบตัวเอง สร้างการเติบโตในทิศทางที่มีความหมายต่อตนเอง
ขณะที่หลาย ๆ คนอาจมองว่า คนรุ่น Gen Z ดูราวกับไม่ใส่ใจการวางแผนแบบดั้งเดิม แต่ที่จริงแล้วพวกเขากลับมีนวัตกรรมต่อการดำเนินชีวิต พวกเขาให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวเองเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอน หลายคนกำลังบุกเบิกวิธีการทำงาน และการใช้ชีวิตแบบใหม่ที่ไม่ขัดต่อความเชื่อและค่านิยมส่วนบุคคล เกิดการพัฒนาแนวทางใหม่ ๆ ในการเดินทางสู่เป้าหมายที่วางไว้ โดยไม่ยึดติดกับความคาดหวังของสังคม พวกเขาจึงเรียนรู้ที่จะยอมรับวิถีการดำเนินชีวิตที่แตกต่าง รวมถึงรับรู้และต่างก็สนับสนุนเส้นทางสู่ความสำเร็จเฉพาะตัวของกันและกัน

แม้ไร้ความหมายแต่ไม่ใช่เรื่องผิวเผิน
สิ่งเหล่านี้อาจดูเหมือนการแยกตัวจากค่านิยมดั้งเดิม แต่เมื่อพิจารณาลึกลงไป แนวคิดนี้สะท้อนแง่มุมที่มีต่อชีวิตอย่างลึกซึ้ง ผู้ที่ยึดถือปรัชญานี้แสดงให้เห็นถึงความกล้าที่จะตั้งคำถามกับบรรทัดฐานที่มีอยู่ รวมถึงการริเริ่มสร้างสรรค์การสร้างค่านิยมส่วนตัว ความกล้าที่จะเผชิญความไม่แน่นอน และการสร้างความสุขที่ไร้กรอบจำกัด โดยไม่จำเป็นต้องมีเงื่อนไขว่าต้องเดินตามขั้นตอนต่าง ๆ จนบรรลุสู่จุดที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จของตนเอง เมื่อนั้นจึงจะมีความสุข
การเติบโตของแนวคิด ‘Optimistic Nihilism’ ในหมู่คน Gen Z จึงไม่ใช่การปฏิเสธความหมายแบบขวางโลก แต่เป็นการสร้างนิยามใหม่ต่อวิธีการสร้างความหมายและการรับรู้ของสังคม แม้วิธีการเหล่านี้จะแตกต่างจากเส้นทางแบบดั้งเดิม แต่ผลลัพธ์ก็ล้วนมุ่งไปสู่การแสวงหาความสมบูรณ์และความพึงพอใจในชีวิต ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ไม่แตกต่างกันของผู้คนทุกยุคสมัย
กุญแจสำคัญจึงอยู่ที่การเปิดรับและทำความเข้าใจว่า แม้มีวิธีการที่แตกต่างในการค้นหาความหมาย แต่คนทุกรุ่นทุกชีวิต ก็สามารถอยู่ร่วมกันและช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยปรัชญาชีวิตเหล่านี้ได้เกิดจากการตีความเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่านนั้น อาจนำพาเราไปค้นพบ ‘อิสรภาพในการสร้างสรรค์คุณค่าเฉพาะตัว เพื่อก้าวสู่ชีวิตที่สมบูรณ์และแท้จริงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นไหนก็ตาม’