CTEMED ศูนย์ผลิตเซลล์บำบัดขั้นสูงเผยความสำเร็จ ‘สเต็มเซลล์รักษากระดูกหัก’ พร้อมไปต่อ..
ไม่หยุดยั้ง! เล็งต่อยอดสู่การไขปัญหาโรคแก้ยากอื่น ๆ

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 71 | คอลัมน์ Health Focus

8.6 scaled

สเต็มเซลล์ (Stem Cell) หรือเซลล์ต้นกำเนิด ได้รับการศึกษาและพัฒนาจนนำมาใช้รักษาโรคได้จริงแล้วในระดับสากล ถือเป็นหนึ่งในความหวังทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติทั่วโลกให้ดียิ่งขึ้น และประเทศไทยเองก็ได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ ศึกษา และพัฒนาการใช้สเต็มเซลล์เพื่อการรักษาโรคมาระยะหนึ่ง กระทั่งนำมาใช้ได้ผลจริงกับผู้ป่วยเช่นกัน โดยเฉพาะโรคกระดูกหักที่รักษายากในผู้ป่วยสูงวัย แน่นอนว่า การศึกษาและพัฒนาไม่หยุดเพียงเท่านี้ ยังคงก้าวต่อไปเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วยทุกเพศทุกวัยในวงกว้างขึ้น

8 1

ผลสำเร็จแห่งแรกของประเทศไทย ใช้สเต็มเซลล์รักษากระดูกหัก

      ศูนย์ผลิตเซลล์บำบัดขั้นสูงและเครื่องมือชีวการแพทย์ (Advanced Cell Therapy and Biomedical Device Manufacturing Center: CTEMED) สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ประสบความสำเร็จในการนำสเต็มเซลล์จากข้อมือมารักษากระดูกให้คนไทยเป็นแห่งแรกของประเทศ โดย ศ. นพ. มล.ชาครีย์ กิติยากร รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมและคู่ความร่วมมือ และหัวหน้าศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ (ศูนย์ MIND) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงความสำเร็จนี้ว่า ได้พัฒนาสเต็มเซลล์จากไขกระดูกของตัวผู้ป่วยเอง นำมาฉีด Bone Marrow-Derived Stem cell ให้แก่คนไข้กระดูกหักที่มีแผลขนาดใหญ่ ซึ่งวินิจฉัยแล้วว่า หากรักษาแบบเดิมจะเชื่อมกระดูกไม่ติด ซึ่งจะทำให้อวัยวะผิดรูป มีผลต่อการใช้ชีวิต แต่ด้วยประสิทธิภาพของสเต็มเซลล์ทำให้กระดูกงอกเชื่อมติดกันได้ 

      “อาจารย์นักวิทยาศาสตร์ของเรา คือ รศ. ดร. นพ.ตุลยพฤกษ์        ถาวรสวัสดิรักษ์ จากแผนก Orthopedics ได้ทำเรื่องนี้มาเป็นสิบปีแล้ว จากการได้ไปศึกษาและวิจัย Facility ที่สก็อตแลนด์ ที่ทำโคลนนิ่งแกะดอลลี่ นับเป็นระดับท็อปของโลก ได้นำความรู้นี้กลับมาประเทศไทยและพัฒนาต่อ รวมทั้งได้ร่วมมือกับคณะเทคนิคการแพทย์ของมหิดล เริ่มจากทำวิจัยในกระต่าย สัตว์ทดลอง ต่อมาพัฒนาขึ้น เมื่อมีความมั่นใจว่าทำได้จริงและปลอดภัย จึงใช้รักษาคนไข้ภายใต้การกำกับดูแลของโรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งแต่ปลายปี 2022 ถึงปัจจุบันให้การรักษาด้วยวิธีนี้ไปแล้ว 7 ราย แต่เนื่องจากมีขั้นตอนมาก จึงมักเลือกใช้รักษาโรคที่รักษายาก รักษาด้วยวิธีปกติไม่ได้” 

ทำความรู้จัก Mesenchymal Stem Cells

      ส่วนสเต็มเซลล์ที่ใช้ในการรักษานี้ ศ. นพ. มล.ชาครีย์ให้คำอธิบายเพิ่มเติม โดยเรียว่า Mesenchymal Stem Cells (MSCs) ซึ่งตามนิยามหมายถึงเซลล์ต้นกำเนิดที่เลี้ยงจะสามารถแปลงเป็นเซลล์ได้หลายชนิด โดยกระบวนการทำงานคือ ตัวเซลล์ที่แปลงไป สามารถทดแทนเซลล์หรืออวัยวะที่เสื่อมไปได้ หรือสามารถสร้างสารซึ่งไปกระตุ้นให้เกิดการสร้างใหม่ของเนื้อเยื่อในพื้นที่ตรงนั้น “ตัวสเต็มเซลล์เองสามารถมาจากหลายแหล่งในร่างกาย ที่ใช้กันบ่อยคือสเต็มเซลล์ไขกระดูก คือ Bone Marrow-Derived Mesenchymal Stem Cells เป็นคนละแบบกับสเต็มเซลล์โรคเลือดที่ปลูกถ่ายกัน สเต็มเซลล์นี้นำมาจากไขกระดูก แล้วค่อย ๆ เพาะเลี้ยงเพื่อใช้ในการซ่อมแซมร่างกาย นอกจากนี้ ยังมีสเต็มเซลล์ที่มาจากแหล่งอื่น เช่น เซลล์ไขมัน รกเด็ก สายสะดือ 

แนะนำการทำงานของศูนย์ CTEMED

      ศ. นพ. มล.ชาครีย์ กิติยากร ยังได้เล่าถึงศูนย์ CTEMED ซึ่งวันนี้มี อ. ดร.ณัฐนรี ศิริวัน เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ ด้วยว่า ที่นี่มีรูปแบบการทำงานของศูนย์ที่เริ่มจากการนำสเต็มเซลล์จากไขกระดูกมาเพาะแยก เพื่อให้เติบโตขึ้นภายใต้กระบวนการที่เป็นมาตรฐาน GMP ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตอย่างมีคุณภาพและคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุด เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์สูงที่สุด ผ่านการทดลองอย่างชัดเจนถึงประสิทธิภาพ จนสามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยอย่างได้ผล 

      “เราอาจจะเคยได้ยินเรื่องการใช้สเต็มเซลล์ในเมืองไทยมานาน ซึ่งส่วนใหญ่ที่ผ่านมาไม่ได้มีการควบคุมมาตรฐาน และเซลล์ที่ใช้อยู่ ก็ไม่รู้จริง ๆ ว่ามีเซลล์จริงไหม เป็นเซลล์อะไร หรือเป็นแค่น้ำเปล่า ฉะนั้นประสิทธิภาพเวลามาฉีดก็ไม่ได้ชัดเจน เพราะเราไม่มีการควบคุมในด้านของกระบวนการ สิ่งที่ต่างสำหรับ Facility นี้ คือจะเป็น Facility ที่ผลิตสเต็มเซลล์ซึ่งได้รับมาตรฐาน GMP สำหรับผลิตยาจาก อย. ประเทศไทย อาจจะเป็นระดับต้น ๆ ของประเทศที่จะมี Facility แบบนี้ เราจะเน้นเรื่องการทำมาตรฐาน เพื่อมีความเชื่อใจในผลิตภัณฑ์มากขึ้น” 

8.5 scaled

ต่อยอดจากกระดูกสู่การรักษาโรคอื่น ๆ

      หลังจากประสบความสำเร็จและพิสูจน์ความสำเร็จในการรักษากระดูกแล้ว แผนต่อไปคือจะผลิตสเต็มเซลล์จากกระดูก เพื่อรักษาโรคกระดูก ในเบื้องต้นเพื่อรักษาโรคคล้าย ๆ กัน เพื่อพิสูจน์ว่าทางศูนย์ฯ สามารถพัฒนาสิ่งนี้ได้ และนำมาผลิตในมาตรฐานที่ดีขึ้น ปัจจุบัน ศูนย์ CTEMED เป็นสถานที่ผลิตยาที่ได้รับมาตรฐาน GMP จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว และกำลังพัฒนาสถานที่ที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์เพิ่มเติม โดยได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และมูลนิธิรามาธิบดี รวมแล้วจำนวน 100 ล้านบาท มาจัดซื้ออุปกรณ์และสร้างห้องได้สำเร็จ 

      อย่างไรก็ตาม งานวิจัยและพัฒนาต่อไปยังต้องการงบประมาณสนับสนุนอีกเป็นจำนวนมาก เพราะงานที่ต้องทำต่อไปคือ การหาแนวทางรักษาโรคอื่น ๆ ซึ่งไม่มีวิธีการรักษาได้ ทั้งยังเป็นการผลักดันให้ประเทศไทยมีการรักษาด้วยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ที่กระบวนการนำเข้ายังมีขีดจำกัดจากการไม่อนุญาตให้นำเข้า และเมื่อทางศูนย์ฯ ทำสำเร็จ จะเป็นการยกระดับการรักษาได้เทียบเคียงต่างประเทศที่พัฒนาเซลล์เหล่านี้ในมิติต่าง ๆ 

      “ผมดูแลเรื่องศูนย์นวัตกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อผลักดันนวัตกรรมที่เกิดขึ้นภายในโรงพยาบาลรามาฯ เข้าร่วมงานนี้เพื่อต่อยอดงานของอาจารย์ (รศ. ดร. นพ.ตุลยพฤกษ์) ซึ่งเป็นช่วงกำลังจะรักษาคนไข้เคสแรก แต่มีข้อมูลด้านสัตว์ทดลองที่ดี สามารถไปต่อได้ ซึ่งต้องมีสถานที่ผลิต หลังจากคุยกัน ได้ช่วยกันเขียนขอทุนไป เราต้องเริ่มจากแชมป์เปี้ยนคือคนที่สนใจก่อน และการสร้าง Facility สิ่งที่เราจะทำภายในเวลาอันสั้น คือ ชวนนักวิจัยจากส่วนอื่นมาร่วมกันทำการวิจัยเรื่องตัวสเต็มเซลล์จะมีประโยชน์อะไรกับโรคต่าง ๆ ซึ่งก็เริ่มมีข้อมูลจากต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ครับ

8.3
8.4

รองรับสังคมสูงวัย ช่วยผู้ป่วยกระดูกหักรอดภาวะติดเตียง

       สำหรับโรคกระดูกนั้นมีมิติที่อาจต่อยอดได้คือ สามารถรักษาโรคกระดูกอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น กระดูกหลังหัก หรือกระดูกส่วนอื่นหัก ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญของผู้ป่วยสูงอายุที่มีเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย โดยหลายรายเมื่อหักแล้วไม่เชื่อม ซึ่งการที่ผู้ป่วยสูงอายุหกล้ม กระดูกหัก อันเป็นปัจจัยที่ทำให้ติดเตียง ในที่สุดจะมีปัญหาโรคแทรกซ้อนและเสียชีวิตขึ้น ต่อไปจะสามารถรักษาด้วยการฉีดสเต็มเซลล์เข้าไปจะเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมกระดูก  

      ปัจจุบัน ผู้สูงอายุในประเทศมีโรคกระดูกบาง โดยเฉพาะผู้หญิงหลังวัยทอง กระดูกจะบางไปเรื่อย ๆ ซึ่งอาจจะหักได้ในระยะยาว ดังนั้น หากสามารถรักษาโดยฉีดสเต็มเซลล์เข้าไปแล้วป้องกันการเสื่อมของกระดูก จะเป็นแนวทางป้องกันการเกิดกระดูกหักหรือกระดูกบางได้ต่อไปเช่นกัน และนี่ก็เป็นทิศทางที่ทางศูนย์ฯ พัฒนาต่อไปในอนาคต ซึ่งการมีวิธีการรักษาใหม่ ๆ จะช่วยดูแลผู้ป่วย ทำให้ผู้สูงอายุแข็งแรงขึ้น ดูแลตัวเองได้ดีขึ้น ทั้งยังลดค่าใช้จ่ายของสังคมที่ต้องดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วย เพิ่มคุณภาพชีวิตแก่คุณพ่อคุณแม่ ปู่ย่าตายายของเรา 

       นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ ยังพัฒนาสเต็มเซลล์อื่น ๆ ไปใช้เรื่องอื่น ทั้งเซลล์จากกระดูก เซลล์จากไขมันที่หามาได้ง่ายกว่า จากการเจาะที่ทำได้ง่ายกว่าเจาะไขกระดูก เรากำลังพัฒนากระบวนการเหล่านี้ เซลล์เหล่านี้อาจจะมีความสามารถในการรักษาหลายโรค รวมทั้งโรคผิวหนัง โรคแผลที่ไม่เชื่อม คนเป็นโรคเบาหวานอาจมีแผลซึ่งไม่หาย การรักษาคนไข้ผมร่วง รวมถึงการเริ่มทำในโรคอื่น เช่น คนไข้มีอุบัติเหตุ และมี Spinal Injury กระดูกสันหลังมีปัญหาและเดินไม่ได้ จากการไม่เชื่อม การศึกษาเรื่องนี้จะช่วยคนไข้อุบัติเหตุที่มีปัญหานี้ให้ฟื้นขึ้นมาได้ใหม่ ตลอดจนการศึกษาโรคไต ที่มีคนต้องฟอกไตมากมายในประเทศไทย

ข้อจำกัด: ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

      อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยสเต็มเซลล์ยังมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง หลักหมื่นหรือแสนบาท และไม่สามารถเบิกได้ การรักษาจึงเลือกกรณีที่เห็นว่าได้ประโยชน์มาก ๆ จากโรคที่เป็น และคาดหวังจะเริ่มนำมาใช้ในโรคอื่น ๆ มากขึ้น ซึ่งวัตถุประสงค์ในฐานะโรงเรียนแพทย์ต้องพิจารณาความเหมาะสมว่า ควรใช้เมื่อไร ไม่ได้ใช้ทุกเคสแต่ต้องเป็นสิ่งที่ดี จากนั้นจึงพร้อมจะผลิตเพิ่มสำหรับรักษาโรคเหล่านั้น 

       ส่วนการเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ของผู้ป่วยอื่น ๆ ในอนาคต ศ. นพ. มล.ชาครีย์มองว่ามีทางเป็นไปได้ เพราะกระบวนการที่มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก คือ ค่าก่อสร้างอาคาร ค่าพื้นที่ ค่าจัดตั้งดำเนินการ ซึ่งได้ทำมามากแล้ว หลังจากนี้ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จะเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง และวัตถุประสงค์ของโครงการต้องการให้คนไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ 

เปิดรับการสนับสนุนทุนวิจัย

       จากจุดเริ่มต้นที่เรื่องสเต็มเซลล์ ทางศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ (ศูนย์ MIND) ยังกำลังพัฒนา Extracellular Vesicles ซึ่งเป็นสารที่ผลิตมาจากสเต็มเซลล์ ในเบื้องต้นมีประสิทธิภาพที่ดีในสัตว์ทดลอง เรื่องรักษาโรคข้อ ข้ออักเสบ หนูทดลองหายจากการอักเสบ จึงต้องการพัฒนาต่อเป็นยาหรืออื่น ๆ ต่อไป  

       “นอกจากนี้ เรายังมองเซลล์ชนิดอื่นที่สามารถพัฒนาสู่โปรดักต์อื่น ๆ และยังทำเครื่องมือแพทย์ โดยใช้พวกเครื่องพิมพ์ 3มิติมาร่วมกับสเต็มเซลล์ ให้กลายเป็นมิติใหม่ในการรักษาคนไข้ และเป็นการผลักดันการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เป็นประโยชน์สำหรับคนไทย” 

         เส้นทางงานวิจัยนี้ยังอยู่อีกยาวไกล ทางศูนย์ฯ จึงเปิดรับการสนับสนุนเงินทุนจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป เพราะยิ่งงานวิจัยและพัฒนาสเต็มเซลล์ประสบผลสำเร็จขยายวงกว้างมากขึ้น สามารถรักษาโรคได้หลากหลายทัดเทียมระดับสากลมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งสร้างคุณประโยชน์แก่ชีวิตคนโดยไม่จำกัดเพศ วัย สถานภาพ และยังจะเป็นส่วนร่วมเสริมศักยภาพการเป็น Hub ด้านการแพทย์ให้แก่ประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย 

8.7
Scroll to Top
ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น และนำเสนอโฆษณาที่เกี่ยวข้องและตรงกับความสนใจของท่าน โดยท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก นโยบายการใช้คุกกี้ กรุณากดยอมรับเพื่อยินยอมให้เราใช้คุกกี้

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้ที่จำเป็น

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า