file
file

“การให้ความรู้ทางการเงิน” พันธกิจที่หยุดไม่ได้ แม้ช่วง COVID-19

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 55 | คอลัมน์ Giving

นอกเหนือจากพันธกิจในการให้คำปรึกษาทางการเงินแก่ลูกค้าในเชิงธุรกิจแล้ว ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO ยังมีปณิธานที่จะเป็นผู้แนะนำทางการเงินแก่สังคมไปพร้อมกัน ด้วยความเชื่อที่ว่า การจัดการทางการเงินที่ดีย่อมนำไปสู่การมีชีวิตที่ดี และการมีแผนทางการเงินที่สมดุลจะช่วยลดความเสี่ยงในการดำรงชีวิตและสร้างความมั่นคงให้กับครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน มาถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 8 ปี ที่ทิสโก้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการถ่ายทอดความรู้ทางการเงินเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคม ผ่านหลากหลายโครงการและกิจกรรม

แม้แต่ในปีที่เกิดวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ซึ่งกลายมาเป็นอุปสรรคสำคัญในการจัดกิจกรรมทุกประเภท ธนาคารทิสโก้ก็ยังไม่หยุดความพยายามในการขยายความรู้ทางการเงินออกไปสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง โดยได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบในการถ่ายทอดความรู้ให้สอดคล้องกับแนวทางการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ขณะเดียวกันก็ “การ์ดไม่ตก” ในการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้คนไทย เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนของสังคมไทย

“ขาดทักษะทางการเงิน” วาระเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข

“จริงๆ ทิสโก้ให้ความสำคัญกับเรื่องความรู้ทางการเงิน มาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท และในช่วงปี 2555-2556 ปัญหาการขาดความรู้ทางการเงินของคนไทยถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติ เพราะตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่สูงและขยายตัวเพิ่มขึ้น ผู้บริหารทิสโก้จึงหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นโจทย์ใหญ่ โดยให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาช่วยกันคิดว่าจะเข้าไปช่วยเพิ่มทักษะตรงนี้แก่คนไทยทั่วประเทศอย่างไร ในที่สุดก็ตกผลึกเป็นโปรแกรมอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ขึ้นมา” คุณสุภานี แก้วกลม หัวหน้าหน่วยงานความรับผิดชอบต่อสังคมกล่าว “ค่ายการเงินทิสโก้” โปรแกรม Workshop แรกที่เจาะกลุ่มเป้าหมายเยาวชนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 หรือเทียบเท่า มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติได้จริง และเป็น “แบบอย่าง” ให้กับคนใกล้ตัว ตลอดจนสามารถส่งต่อและต่อยอดองค์ความรู้ไปสู่ชุมชนในภูมิลำเนาของตน และทิสโก้ยังจัด “หลักสูตรคู่ขนาน” ให้กับครูที่ปรึกษาของทีมที่มาเข้าค่ายฯ เพื่อเสริมศักยภาพในการทำให้โมเดลส่งต่อความรู้สู่ชุมชนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ต่อมาในปี 2557 ทิสโก้ขยายขอบเขตการให้ความรู้ทางการเงินไปสู่ชุมชน ด้วยการจัดโปรแกรม “ฉลาดเก็บ ฉลาดใช้” ซึ่งเป็นกิจกรรมการลงพื้นที่ไปให้ความรู้แก่ลูกค้าและประชาชนในชุมชน จัดโดยเจ้าหน้าที่สาขาของทิสโก้ที่มีอยู่ทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นเนื้อหาใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ เก็บก่อนใช้ มีวินัยเข้าใจหนี้ รู้ทันภัยการเงิน และป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน เพื่อสร้างความตระหนักในการใช้จ่ายที่เหมาะสมตามความจำเป็น สร้างวินัยทางการเงิน และสามารถบริหารจัดการหนี้ บริหารการเงินของตนเองและของครอบครัวได้

file

มุ่งเสริมทักษะ เพื่อนำไปปรับใช้ได้จริง

คุณสุภานีกล่าวว่า ภายใต้แผนงาน 5 ปี ตั้งเป้ากระจายความรู้ทางการเงินไปยังโรงเรียนและชุมชนให้ครบทั้ง 77 จังหวัด ซึ่งไม่เพียงบรรลุตามแผน แต่มาถึงปัจจุบันนี้ ได้ให้ความรู้แก่ประชาชนผ่านกระบวนการ Workshop ทั้ง 2 โปรแกรม มากกว่า 7 แสนคน พร้อมกับได้สร้าง “ออมไอดอล” หรือเยาวชนอาสาเผยแพร่ความรู้ทางการเงิน กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศด้วย

“จำนวน 7 แสนกว่าคน ถือว่าไม่น้อย แต่สิ่งที่เราดีใจก็คือการได้เห็นน้องๆ เก็บเงินได้จริง น้องบางคนทำให้พ่อแม่ปลดหนี้ มีเงินเก็บ ทำให้คนข้างบ้านเริ่มเก็บเงินได้ด้วยการลดการซื้อหวย หรือการที่น้องๆ ไปแนะนำผู้ใหญ่ในชุมชนจดบันทึกบัญชีครัวเรือน บางคนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปเลือกใช้ผลิตภัณฑ์การเงินที่เหมาะสมกับตนเองได้ด้วย ฯลฯ ผลลัพธ์เหล่านี้ทำให้รู้สึกภูมิใจ เพราะจริงๆ แล้ว การให้ความรู้ทางการเงิน ไม่ได้ยาก แต่การทำให้ตระหนัก รู้ได้ว่าสิ่งนี้สำคัญ และเปลี่ยนพฤติกรรม ทัศนคติทางการเงิน นี่ต่างหากที่ยากกว่า” คุณสุภานีเล่าพร้อมรอยยิ้ม

สำหรับคุณกิตติมา อัศวเรืองชัย เจ้าหน้าที่หน่วยงานความรับผิดชอบต่อสังคม ในฐานะผู้ดำเนินงานกิจกรรม “ฉลาดเก็บ ฉลาดใช้” เล่าว่า สิ่งที่ทำให้เธอรู้สึกประทับใจคือ การได้เห็นแววตาเป็นประกายของชาวบ้านที่เข้าร่วมอบรม มาบอกเล่าประสบการณ์ หลังจากที่พวกเขาได้นำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันและทำการจดบัญชีรายรับรายจ่ายตามที่ทีมงานทิสโก้ได้สอนไป

“หลายคนที่เขาไปทำจริง พอออกมาเล่า เรารับรู้ได้ว่าเขาเรียนรู้ด้วยตัวเองว่าที่ผ่านมา การใช้จ่ายของเขาผิดพลาดตรงไหน ทำไมเขาถึงไม่เหลือเงินเก็บ อะไรคือค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ค่าใช้จ่ายอะไรที่ลดได้ ฯลฯ หลายคนพูดว่ารู้อย่างนี้จดบัญชีรายรับรายจ่ายมาตั้งนานแล้ว บางคนบอกว่าเหมือนมีรายได้เพิ่มขึ้นแค่ปรับพฤติกรรมการใช้เงินก็เก็บเงินได้ จริงๆ แค่พวกเขาลงมือทำแล้วเกิดผลดีกับตัวเอง เราก็พอใจแล้ว และยิ่งเขาเอาผลลัพธ์มาแชร์ มันก็ทำให้คนทำงานชื่นใจ”

จากปีแรกที่มีคณะทำงานเป็นพนักงานจิตอาสาราว 10 กว่าคน มาถึงวันนี้ โครงการให้ความรู้ทางการเงินเพื่อสังคมมีพนักงานจิตอาสาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการฯ มากกว่า 100 คน

ด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้คนไทย ในช่วง 3-4 ปีหลังมานี้ ทิสโก้ได้ขยายขอบเขตการให้ความรู้ไปสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ ได้แก่ กลุ่มลูกค้ารายย่อย โดยในปีนี้ ทิสโก้ได้จัดทำใบปลิว (Leaflet) “รู้ไว้เข้าใจหนี้” ซึ่งเป็นการสรุปความรู้เกี่ยวกับ “หนี้ดี” และ “หนี้พึงระวัง” แจกให้กับลูกค้าที่เข้ามาสอบถามผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่สาขา เพื่อจะได้ทบทวนตนเองก่อนตัดสินใจเป็นหนี้

นอกจากนี้ ยังให้ความร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทยจัดทำโครงการ “คนไทยยุคใหม่ใส่ใจเรื่องเงิน” ด้วยการส่งวิทยากรอาสาเข้าไปร่วมให้ความรู้ทางการเงินแก่นิสิตนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ แต่เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 การอบรมในปีนี้จึงถูกปรับเป็นรูปแบบ Virtual Education Training ซึ่งตลอดทั้งปี ทิสโก้ได้จัดอบรมทางออนไลน์ให้แก่นักศึกษารวมทั้งสิ้น 484 คน

ยิ่งมี “วิกฤต” ความรู้ทางการเงินยิ่งจำเป็น

ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด COVID-19 ส่งผลให้ตลอดทั้งปี 2563 ทิสโก้ต้องงดการจัดค่ายการเงินเยาวชน และการลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ชุมชนของกิจกรรม “ฉลาดเก็บ ฉลาดใช้” ในรูปแบบเดิมจากนั้นเปลี่ยนมาสู่การให้ความรู้ทางการเงินในรูปแบบละครสั้นซิทคอม โดยนำเสนอผ่านแอปพลิเคชันไลน์ “Line@สมหวังเงินสั่งได้” ซึ่งมีฐานผู้ติดตามค่อนข้างมาก

คุณสุภานี เล่าถึง ความท้าทายของการยกเอากิจกรรมการให้ความรู้ทางการเงินขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ว่า เนื่องจากสื่อออนไลน์มีคอนเทนต์หลากหลาย การจะทำให้สาระความรู้ทางการเงินได้รับความสนใจจากผู้ชมจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยเหตุนี้ ทิสโก้จึงเลือกใช้ทีมโปรดักชั่นมืออาชีพมาช่วยเขียนบทให้มีความน่าสนใจ สนุกสนาน และเข้าใจง่าย โดยสอดแทรกเนื้อหาจากหลักสูตร “ฉลาดเก็บ ฉลาดใช้” ที่เป็นการวางแผนการเงินส่วนบุคคลเบื้องต้น โดยใช้ชื่อซีรีส์ว่า “ชุมชนสมหวังหมู่ 8” พร้อมกับใช้นักแสดงมืออาชีพ นำทีมโดย “เด่นคุณ งามเนตร” และนักแสดงรับเชิญชื่อดังอีกหลายท่าน

file

“สิ่งที่ท้าทายยิ่งกว่าการปรับเนื้อหา คือการวัดผลสัมฤทธิ์ของกิจกรรม หรือผลลัพธ์ที่จะเกิดกับสังคมจริงๆ เพราะเราไม่รู้เลยว่า สิ่งที่เราถ่ายทอดไป เขาเข้าใจหรือไม่ เพราะจากเดิมในแบบ Face-to-Face เรายังได้เห็นสีหน้า ได้มองตา รับรู้ว่าเขาเข้าใจหรือไม่ ทำให้ทีมงานต้องไปคิดต่อว่าจะทำคอนเทนต์อย่างไรให้ผู้ชมเข้าใจ และสามารถนำไปปรับใช้ได้ โดยยังมีวิธีการวัดผลที่สะท้อนถึงพฤติกรรมและวินัยทางการเงินได้” คุณกิตติมาเสริม

แม้การดำเนินกิจกรรมการให้ความรู้ในช่วงวิกฤต COVID-19 จะเพิ่มความท้าทายและความยุ่งยากให้กับทีมงาน แต่ทิสโก้ไม่อาจหยุดให้ความรู้ทางการเงินได้เลย เพราะวิกฤต COVID-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่มิติทางด้านสุขภาพ แต่ยังกระทบกับรายได้และรายจ่ายของประชาชน ซึ่งอาจนำไปสู่วิกฤตทางการเงินของบุคคลและครัวเรือน และอาจก่อให้เกิดวิกฤตหนี้ครัวเรือนในระดับประเทศได้ในที่สุด

“ยิ่งมีวิกฤต ก็ยิ่งเป็นอันตรายกับวินัยทางการเงินของคน ถ้าประชาชนไม่มีความรู้ในการเตรียมตัวรับมือกับวิกฤต หรือไม่ได้วางแผนมาก่อน ก็จะก่อให้เกิดวิกฤตทางการเงินของตนเองและครอบครัว อีกประเด็นที่มองข้ามไม่ได้ คือการที่วิกฤต COVID-19 เป็นตัวเร่งให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้นในทุกมิติ นั่นแปลว่าการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันจะยิ่งง่ายทำให้เราอาจเผลอใช้เงินโดยไม่รู้ตัวว่าเงินในบัญชีหมดไปเรื่อยๆ ดังนั้น ถ้าเราทิ้งไปเลย ไม่ให้ความรู้ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแบบนี้ โอกาสที่คนจะสูญเสียวินัยทางการเงินก็มากขึ้น การให้ความรู้ต่อเนื่อง อย่างน้อยมันก็เป็นการเตือนสติ เตือนภัย และทำให้เขาฉุกคิดก่อนกดสั่งซื้อของต่างๆ” คุณสุภานีกล่าว

“Next Normal” ของโครงการความรู้ทางการเงินเพื่อสังคม

คุณสุภานีกล่าวว่า แม้วิกฤต COVID-19 จะเป็นอุปสรรคในการทำกิจกรรมการให้ความรู้รูปแบบดั้งเดิมของทิสโก้ แต่ในเวลาเดียวกัน วิกฤต COVID-19 ก็เป็น “ตัวเร่ง” ให้เกิดการเรียนรู้และทดลองกิจกรรมรูปแบบใหม่เพื่อข้ามไปอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งถือเป็น “ภาวะปกติใหม่ (New Normal)” ของทุกกิจกรรมที่ต้องปรับตัวเป็นรูปแบบออนไลน์มากขึ้น

“แม้การให้ความรู้ทางการเงินผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ อาจยังไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการปรับพฤติกรรมได้จริง ไม่เหมือนการทำ Workshop หรือการลงพื้นที่ แต่ด้วยข้อดีของสื่อดิจิทัลในแง่ของการกระจายความรู้ไปในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว ก็เท่ากับเป็นการสร้างกระแสให้สังคมรับรู้ได้ว่าความรู้ทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น ทีมก็จะกลับมาดูว่า แพลตฟอร์มออนไลน์มีข้อได้เปรียบและข้อเสียเปรียบตรงไหน เพื่อพัฒนาให้การเรียนรู้บนแพลตฟอร์มนี้สมบูรณ์มากขึ้น เพราะเมื่อวิกฤตนี้ผ่านพ้นไป ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีวิกฤตใหม่เกิดขึ้นมา ฉะนั้น ในอนาคตจากนี้ไป กิจกรรมการให้ความรู้ทางการเงินของทิสโก้คงจะต้องทำผสมผสานทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ไปพร้อมกัน”

ไม่เพียงการพัฒนากิจกรรมการให้ความรู้ไปสู่รูปแบบดิจิทัลมากขึ้น คุณกิตติมากล่าวว่า “Next Normal” ในส่วนของเนื้อหาก็มีการปรับให้สอดรับกับสถานการณ์และตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มมากยิ่งขึ้นด้วย

file

สุดท้ายนี้ คุณศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ ย้ำว่า เป้าหมายสูงสุดในการให้ความรู้ทางการเงินและการบ่มเพาะทักษะทางการเงินให้กับกลุ่มเป้าหมายกลุ่มต่างๆ ว่า ทิสโก้มุ่งหวังอยากเห็นคนไทยสามารถอยู่ได้อย่างมั่นคงท่ามกลางวิกฤต และสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระยะยาว โดยไม่มีปัจจัยปัญหาทางการเงินมาทำให้ชีวิตต้องกระเบียดกระเสียร ซึ่งนั่นย่อมสะท้อนถึงความยั่งยืนของสังคมไทย

“ความรู้ทางการเงินเป็นหัวใจสำคัญในการใช้ชีวิต เพราะทำให้คนเรามีความสามารถในการบริหารจัดการเรื่องเงิน และมีสติในการใช้เงิน โดยเฉพาะสถานการณ์ตอนนี้ การมี “ทักษะทางการเงินที่ดี” จะเป็นภูมิคุ้มกันที่ช่วยให้เราอยู่รอดได้ในระยะยาว ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะผันผวนแค่ไหนก็ตาม เมื่อคนไทยมีความรู้และทักษะทางการเงินที่ดี ก็จะมีวินัยในการเก็บเงินและมีการวางแผนการเงินที่ดี นำไปสู่การสร้างความมั่งคั่งและมั่นคงในชีวิต ส่งผลไปถึงความยั่งยืนของสังคม เมื่อลูกค้าและสังคมยั่งยืน ธุรกิจของทิสโก้ก็ย่อมยั่งยืน ฉะนั้น การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับธุรกิจกับการนำความเชี่ยวชาญของเราไปช่วยเหลือสังคมให้มีความรู้ทักษะทางการเงินที่ดี จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน”