
อติคุณ ทองแตง ผู้สร้าง ‘สมดุล’ สิ่งแวดล้อม ด้วยธุรกิจเพื่อสังคม
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 71 | คอลัมน์ New Generation

พื้นที่สีเขียวราว 15 ไร่ ริมน้ำแม่กลอง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม แวดล้อมด้วยไม้ใหญ่ แปลงผักปลอดสารพิษ และดงดอกไม้เพื่อเป็นอาหารของผึ้งพื้นเมือง โดยมีอีกมุมหนึ่งวางถังแยกขยะพร้อมป้ายอธิบายแบบเข้าใจง่าย ส่วนโซนคาเฟ่มีกาแฟ อาหาร และเมนูซิกเนเจอร์ รังสรรค์ด้วยน้ำผึ้ง พร้อมจำหน่ายผลิตผลเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นอาณาจักรสีเขียวท่ามกลางบรรยากาศสงบเงียบในระบบนิเวศที่สมบูรณ์ชวนให้ผู้มาเยือนได้ปล่อยใจไปกับธรรมชาติ และที่สุดสำหรับคนรักสิ่งแวดล้อมรับรู้ได้เลยว่า นี่คือ ‘ต้นแบบของธุรกิจท่องเที่ยวเชิงนิเวศในฝัน’ ของใครหลายคน ซึ่งทั้งหมดนี้ อยู่ภายใต้การดูแลบริหารของคนหนุ่มหัวใจอนุรักษ์วัย
33 ปี คุณเอี่ยม-อติคุณ ทองแตง CEO แห่งสมดุล อโกรฟอเรสทรี โฮม (Somdul Agroforestry Home)
จากแพสชันรักธรรมชาติสู่ ‘สมดุล” ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
จากความรักความใกล้ชิดกับธรรมชาติที่ติดตัวมาตั้งแต่วัยเด็กจนเข้าสู่วัยรุ่น รวมถึงความหวงแหนในทรัพยากรโลก ล้วนรับอิทธิพลมาจากคุณแม่ (นงลักษณ์ ทองแตง) ผู้มีบ้านเกิดที่สมุทรสงคราม ผนวกกับประสบการณ์ทำงานอาสาชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติช่วงเรียนมหาวิทยาลัยกับผองเพื่อนที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หลอมเป็นแพสชันให้เลือกทำธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) แทนการเข้าบริหารสานต่อธุรกิจมูลค่ามหาศาลของครอบครัว ‘ทองแตง’
“ผมอยากทำงานที่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เรารัก ซึ่งก็คือธรรมชาติ อยากสร้างพื้นสีเขียวโดยรอบ และอยากให้คนอื่น ๆ ที่อยู่ในเมืองได้มารับประสบการณ์เดียวกัน ซึ่งการนำสิ่งแวดล้อมมาเป็นธุรกิจเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ แต่ก็รู้สึกว่า ‘เราไม่ทำไม่ได้’ และด้วยความที่…คือถ้าพูดตรง ๆ เรามีต้นทุนของชีวิตมากกว่าคนอื่น ทำให้สามารถหันกลับมามองได้ว่าจะใช้ชีวิตโดยใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่อย่างพอเพียงของตนเองไปเรื่อย ๆ หรือว่าจะใช้ในการทำประโยชน์อะไรบางอย่างให้กับสังคม โดยส่วนตัวผมรู้สึกว่า นี่ต่างหากที่ให้คุณค่ากับชีวิตมากกว่า”
‘สมดุล อโกรฟอเรสทรี โฮม’ ถือกำเนิดเมื่อ 6 ปีที่แล้ว โดยมุ่งหวังให้ผู้คนได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติและมีส่วนร่วมดูแลระบบนิเวศของโลกใบนี้ไปด้วยกัน ตามเป้าประสงค์หลักที่วางไว้ ‘We aim to reconnect people with nature’ ผ่านการเรียนรู้ ลองผิดลองถูก และศึกษาข้อมูลเรียนรู้เพิ่มเติมมาตลอดทาง ก่อนเรียกตัวเองว่าเป็นธุรกิจท่องเที่ยวเชิงนิเวศในท้ายที่สุด


“ช่วง 3 ปีแรกเริ่มต้นจากทำเกษตรอย่างเดียว คิดง่าย ๆ แบบคนเมืองว่า ทำยังไงให้มีพื้นที่สีเขียวรอบ ๆ จนมาเจอสิ่งที่เรียกว่า ‘วนเกษตร’ จากการไปเข้าคอร์สศูนย์กสิกรรมธรรมชาติของอาจารย์ยักษ์–วิวัฒน์ ศัลยกำธร แล้วต่อยอดไปศึกษาด้านวนเกษตร ใช้ชีวิตอยู่กับปราชญ์ชาวบ้านจากพ่อเลี่ยม (เลี่ยม บุตรจันทา บ้านสวนออนซอน จังหวัดฉะเชิงเทรา) ซึ่งผมนับถือเหมือนเป็นพ่ออีกคนเลย ได้เรียนรู้ว่า หากเราสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ขึ้นมา เราจะได้พื้นที่เกษตรเป็นผลพลอยได้ ซึ่งตรงกับเป้าหมายและสิ่งที่ชอบก็เลยปรับพื้นที่มาทำเกษตรร่วมกับป่า เป็นที่มาของชื่อ ‘สมดุล อโกรฟอเรสทรี โฮม’ ในหลักการพื้นฐาน คือ เคารพธรรมชาติแล้วปรับตัวไปตามระบบนิเวศของพื้นที่นั้น ๆ โดยเรามีผึ้งชันโรงซึ่งเป็นผึ้งพื้นเมืองเจอได้ตามเสาบ้าน ผึ้งชนิดนี้เป็นหนึ่งในนักฟื้นฟูระบบนิเวศด้วยความสามารถผสมเกสรได้หลากหลาย รวมไปกับ ‘กาแฟ’ ที่เรารู้ว่าสามารถเติบโตได้ดีใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ ก็นำมาปรับใช้กับพื้นที่ตัวเอง ด้วยระบบนิเวศที่ดีต่อยอดให้ที่นี่กลายเป็น Tourism Destination เพื่อให้คนได้กลับมาเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ตอนนี้ 40% เป็นลูกค้าที่มาแล้ว มาซ้ำ และบอกต่อคนอื่นให้ชวนกันมาที่นี่”
หากจำเป็นต้องมองหาตัวอย่างธุรกิจรักษ์โลกที่ตอบทุกโจทย์เกือบครบวงจร ที่แห่งนี้คือคำตอบ เพราะประกอบไปด้วยธุรกิจอาหารเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ (Natural Product) ที่ต่อยอดมาจากผลผลิตท้องถิ่น รวมถึงชันจากผึ้งชันโรง (Stingless Bee’s Propolis) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากผึ้งอีกชนิด และผลิตภัณฑ์เมล็ดกาแฟคุณภาพดีที่มาจากระบบ Shade-Grown Coffee ปลูกใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ โดยไฮไลต์หรือพระเอกของที่นี่ คุณเอี่ยมบอกว่า คือ น้ำผึ้งเกรดการแพทย์ (Medical Grade) แบรนด์บีแชงค์ (BEESANC) เนื่องจากได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ผ่านการอนุรักษ์ผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร ขณะเดียวกันยังเปิดกว้างเป็น Activity Space สำหรับจัดกิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
“คนรักสัตว์สามารถพาสัตว์เลี้ยงมาเอนจอยได้โดยพวกเรามีน้องบัฟเฟิ้ลกับน้องบานอฟฟีที่มีดีกรีเป็นสุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทย (Therapy Dog Thailand) เป็นเจ้าบ้านรอต้อนรับครับ”
นอกจากนี้ ยังเปิดให้ผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาดูงานด้านการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน เนื่องจาก CEO หนุ่มหัวใจสีเขียว จบหลักสูตรด้าน Business Sustainability จากเคมบริดจ์ และฮาเวิร์ด “เราวางสมดุลฯ ให้เป็นต้นแบบในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ต้องการทำทุกอย่าง เพื่อให้คนที่เข้ามาเยี่ยมชม ได้หยิบจุดที่น่าสนใจไปปรับใช้ เช่น วิธีบริหารร้านอาหาร วิธีการคัดแยกขยะ Road to Zero Waste และการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่นี่ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ดังนั้น ถ้าใครอยากนำไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงปรับใช้กับพื้นที่ของตัวเองก็ได้เลย เพียงแค่นี้ ผมก็ถือว่าประสบความสำเร็จในมุมมองของสมดุลแล้ว”
หัวใจสำคัญ ‘สานธุรกิจเพื่อสังคมให้ยั่งยืน’
เพราะการเริ่มคิดที่จะสานฝันกิจการสายกรีนของตัวเองร่วมกับคู่ชีวิตและผองเพื่อนหัวใจอนุรักษ์ รูปแบบของธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Social Enterprise: SE) แบบไม่ปันผลกำไรให้ผู้ถือหุ้น ถูกมองเป็นทางเลือกตั้งแต่เริ่มต้น “สิ่งที่ธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต้องมีไม่แตกต่างจากธุรกิจอื่น ๆ คือ เป้าหมายหลักของธุรกิจที่ไม่ใช่แค่ด้านไฟแนนเชียลอย่างเดียว เพราะถ้าไม่มีเป้าหมาย ทิศทางที่จะไปต่อก็ยาก โดยเฉพาะเมื่อลงมาทำธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม ผมมองว่าเป้าหมายเป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่ท้อไปก่อน ทั้ง ๆ ที่ต้องเจอปัญหามากมาย และไม่ง่ายเลยกับเส้นทางของธุรกิจนี้”
ส่วนเหตุผลรองลงมา คุณเอี่ยมบอกว่า “เป็นการประกอบกันของหลาย ๆ ส่วน ซึ่ง ‘เครือข่ายที่ดี’ ก็เป็นหนึ่งในนั้น เนื่องด้วยธุรกิจเพื่อสังคมเป็นธุรกิจที่ถ้าเดินไปคนเดียว มันก็ไม่ใช่เพื่อสังคม การมีพาร์ตเนอร์หรือมีเน็ตเวิร์กที่มีความตั้งใจเดียวกันในเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อม ก็จะช่วยผลักดันกันไปได้เยอะ สำหรับผมมองว่าการที่เราทำ Collaborate กับเพื่อนร่วมวงการเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันได้เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก ซึ่งเป็นแนวคิดหนึ่งที่ได้มาจากคุณพ่อ คือถ้าเรามองทุกคนที่ทำธุรกิจเหมือนกันเป็นคู่แข่งก็ต้องแข่งกับเขาทั้งหมด แล้วจะเติบโตได้ยากมาก แต่ถ้าเรามองในเชิงเครือข่าย ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันเพื่อผลประโยชน์ของสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่ทำเหมือนกับเรา ก็สามารถเป็นเพื่อนกันได้ อุดหนุนกัน และส่งเสริมกันได้”
เป้าหมายถัดไป...ยกระดับน้ำผึ้งเมดิคัลไทยสู่วงกว้าง
ระหว่างการเติบโตในเส้นทางธุรกิจสายสิ่งแวดล้อมชักนำให้กัลยาณมิตรมากมายมาให้ได้ทำความรู้จักจนเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย นำไปสู่ช่องทางโอกาสใหม่ ๆ ในการขยายงาน ซึ่งหนึ่งในพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ได้แก่ ศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ราชบุรี (มจธ.ราชบุรี)
ในปีนี้ ‘สมดุลฯ’ ได้ขยับสู่ก้าวสำคัญในการจับมือกับ มจธ.ราชบุรี เพื่อสร้างแบรนด์และจำหน่ายน้ำผึ้งคุณภาพสูง BEESANC ที่ได้ชื่อมาจากคำว่า ‘Bee Sanctuary’ ซึ่งเป็นแนวคิดในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยหรือสร้างบ้านให้ผึ้งสามารถดำรงอยู่ได้ให้เพิ่มมากที่สุด และกระจายไปทั่วประเทศให้ได้มากที่สุด โดยต้องเป็นพื้นที่สีเขียวที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์ ประกอบไปด้วยความหลากหลายทางอาหารและปลอดภัย ไม่มีสารเคมี เพื่อให้ผึ้งขยายเผ่าพันธุ์ของตัวเองได้ต่อไป
“มันยากมากที่จะเจอโปรดักต์หนึ่งที่วิน-วินตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งน้ำผึ้งเป็นหนึ่งในโปรดักต์นั้น ผลพลอยได้ที่เกษตรกรได้รับจะช่วยสร้างอิมแพ็กได้อีกมหาศาล เพราะถ้าระบบนิเวศดี ผลผลิตทางการเกษตรก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย และน้ำผึ้งที่ได้มา เรากล้าพูดได้ว่าคุณภาพสูงที่สุดในประเทศไทยตอนนี้ เทียบเท่าระดับโลกอย่างมานูก้า UMF 20+ แสดงว่าระบบนิเวศต้องสมบูรณ์มาก ๆ และเรามีเกษตรกรที่พร้อมจะพัฒนาน้ำผึ้ง พัฒนาคุณภาพพื้นที่ตัวเอง ถ้าตรวจแล้วผ่านเกณฑ์ก็จะรับซื้อในราคาสูงพอที่เขาไม่ต้องขายเอง แค่ทำผลิตภัณฑ์ออกมาให้ดีที่สุด เดี๋ยวเราดูแลต่อให้ เพราะทางฝั่งของ ‘สมดุลฯ’ เข้าไปอยู่ในพาร์ตธุรกิจเพื่อให้สามารถขยายสเกลได้ ทำให้เรารับซื้อน้ำผึ้งจากเกษตรกรต้นทางได้มากขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณโปรดักต์ นำไปสู่การกระจายสินค้าผ่านโมเดิร์นเทรดหรือช่องทางต่าง ๆ ได้มากขึ้น โดยเริ่มต้นในปีนี้น่าจะได้เห็นวางในเลมอน ฟาร์มในบางสาขา และในเชิงธุรกิจหากไปได้ดีอีก 2-3 ปีข้างหน้าน่าจะทำรีแบรนดิ้ง”
หากเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ Model Business นี้จะกลายมาเป็นรายได้หลักของบริษัทฯ นำไปสู่ความยั่งยืนของการทำธุรกิจเพื่อสังคม ถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญที่ท้าทาย โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารกับคนภายนอกเพื่อสร้างความเข้าใจในผลิตภัณฑ์

‘สุข สงบ สร้างสมดุลระบบนิเวศโลก’ ภาพฝันที่อยากเห็น
“ในเชิงธุรกิจก็อยากเห็นสมดุลฯ เป็นธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์ทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อมได้จริง ๆ ไม่ใช่แค่ทำดีแล้วจบ ธุรกิจอยู่ได้ส่วนหนึ่งแล้ว กำไรที่ได้ เราจะวนกลับไปลงทุนเพิ่มในส่วนของการดำเนินธุรกิจให้เกิดอิมแพ็กมากขึ้น ส่วนตัว ผมอยากเห็นสมดุลฯ สร้างความสมดุลให้ระบบนิเวศของโลก มองว่าระบบนิเวศของโลกใบนี้มันเชื่อมต่อกัน เป็นไปไม่ได้ที่เราทำอะไรในจุดหนึ่งแล้ว มันจะไม่กระทบจุดอื่น จึงต้องการสร้างอิมแพ็กในสเกลใหญ่ให้ได้มากที่สุดเท่าที่กำลังของเราจะทำได้”
ในขณะที่เป้าหมายส่วนตัวคุณเอี่ยมกล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมอยากใช้ชีวิตอย่างสงบสุขท่ามกลางสิ่งแวดล้อมนี้ เราเริ่มต้นจากอยากมี Environmental Peacefulness ผมอยากไปถึงจุดที่เราอยากอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดี สงบได้โดยที่ไม่มีใครมาทำให้มันปนเปื้อนอีก ด้วยเป้าหมายนี้ เราจึงต้องทำไปเรื่อย ๆ เท่าที่จะทำได้ ถ้าหากวันหนึ่งสิ่งแวดล้อมจะพังพินาศ มนุษย์อยู่ไม่ได้ อย่างน้อยก็ได้ชื่อว่าเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่เป็นส่วนหนึ่งของคนที่พยายามแก้ปัญหาอย่างสุดความสามารถ”