วางแผนเกษียณแบบล้ำๆ จากแนวคิด Megatrends

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 59 | คอลัมน์ Holistic Financial Advisory

file

 

จากข้อมูลของ TAT Review นิตยสารออนไลน์  ฉบับเดือน ม.ค.- มี.ค. 2020 ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ระบุถึง 8 เทรนด์ท่องเที่ยวมาแรง หนึ่งในนั้นคือ เทรนด์นักท่องเที่ยววัยเกษียณที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากธีม World is going to be “Grey”. ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ World Bank ที่ได้เก็บข้อมูลจำนวนผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2010 - 2020 ไว้และพบว่าจำนวนผู้สูงอายุมีการเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งปีละ 3.27% ขณะที่ช่วงปี 1960 - 2020 มีการเพิ่มขึ้นเพียงปีละ 2.65% เท่านั้น

ดังนั้น การวางแผนเกษียณในอนาคตนอกเหนือจากการกำหนดเงินที่จะใช้จ่ายเพื่อการเกษียณเป็นจำนวนคงที่ต่อปีแล้ว อาจต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ของช่วงแรกที่จะเกิดขึ้นจาก Lifestyle ของวัยเกษียณด้วย ไม่เช่นนั้น แผนเกษียณที่วางไว้อาจผิดพลาดได้ ซึ่งวิธีการปรับแผนเกษียณเพื่อลดข้อผิดพลาดข้างต้น สามารถทำได้โดยแยกเป้าหมายให้ชัดเจนระหว่าง Needs หรือ Wants เพื่อกำหนดกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับเป้าหมาย

สำหรับ Needs หรือสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการดำรงชีวิตของคนวัยเกษียณ เช่น ค่าใช้จ่ายประจำส่วนตัว ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมของ Needs ต้องให้ความสำคัญกับการรักษาเงินต้น คือ ผลิตภัณฑ์ประกันภัย เพื่อสร้างหลักประกันในแผนการเงินว่า ส่วนของ Needs จะไม่หายไปจากการลงทุนที่ผิดพลาดแน่นอน

ส่วน Wants หรือความปรารถนา จะต่างจาก Needs ตรงที่ Wants สามารถยืดหยุ่นได้บ้าง เพราะหากไม่มีเงินทุนตามเป้าหมาย Wants ก็ยังไม่มีผลต่อการดำรงชีวิต เช่น เงินที่ใช้เพื่อสันทนาการ การท่องเที่ยว หรือเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ รวมถึงค่าใช้จ่ายทางสังคมต่างๆ เป็นต้น ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมสำหรับการบริหาร Wants คือ การลงทุนในทรัพย์สินที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น เช่น หุ้น กองทุนรวมหุ้น หรือสินทรัพย์ทางเลือกอื่น เป็นต้น

ในปัจจุบันสิ่งที่ผิดพลาดของแผนเกษียณทั่วไปมักรวมเป้าหมาย Needs และ Wants เป็นเงินก้อนเดียวและเฉลี่ยเป็นค่าใช้จ่ายต่อปี อย่างไรก็ตาม หากพฤติกรรมการใช้เงินในปีแรกๆ หลังเกษียณได้ถูกใช้ไปกับการท่องเที่ยว หรือการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยเพื่อสร้างความสุขให้ตนเองที่มากเกินความจำเป็นนั้น ก็อาจทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งที่แผนเกษียณจะคลาดเคลื่อนจนเงินเกษียณหมดก่อนอายุขัยที่ตั้งสมมติฐานไว้ได้

ตัวอย่างเช่น นาย A อายุ 40 ปี กำหนดเป้าหมายทางการเงินเพื่อการเกษียณไว้ว่า หลังเกษียณจะต้องการเงินทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเดือนละ 50,000 บาท หรือปีละ 600,000 บาท ในมูลค่าปัจจุบัน โดยไม่ได้วางเป้าหมายให้ละเอียดว่าต้องการเตรียมเงินไปใช้กับอะไรบ้าง หากสมมติให้มีอายุขัยที่ 90 ปี ผลตอบแทนจากการลงทุนสุทธิหลังเกษียณที่ 4% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อที่ 3% ต่อปี จะต้องเตรียมเงินเพื่อใช้จ่าย ณ วันเกษียณ หรือ อายุ 60 ปีประมาณ 28,359,000 บาท โดยมูลค่าของเงินก้อนแรกที่สามารถถอนได้เมื่ออายุ 60 ปี จะเท่ากับ 1,084,000 บาท ต่อปี หรือราว 90,300 บาทต่อเดือน

อย่างไรก็ดี หากเดือนไหนมีการใช้เงินเพิ่มเพื่อท่องเที่ยวโดยดึงเงินจากอนาคตมาราว 20% เป็น 1,300,400 บาท ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้เงินเกษียณหมดก่อนถึงอายุขัย 1.5 ปี หากมีการดึงเงินออกมาใช้เรื่อยๆอีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างค่ารักษาพยาบาลที่จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้แผนเกษียณผิดพลาดไปโดยไม่รู้ตัว

ซึ่งหากเราใช้ตัวอย่างเดิม แต่จำแนกเป้าหมาย Needs และ Wants ให้ชัดเจน เช่น ในค่าใช้จ่ายหลังเกษียณต่อปี 1,084,000 บาท อาจกำหนดเป็น Needs 80% หรือปีละ 867,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวและค่ารักษาพยาบาล โดยค่าใช้จ่ายส่วนตัวเราจะเลือกใช้ประกันบำนาญเป็นเครื่องมือในการวางแผน เพราะมีรูปแบบกระแสเงินสดต่อปีที่แน่นอน เช่น เราประเมินว่าค่าใช้จ่ายส่วนตัวราว 70% หรือ 600,000 บาท ประกันบำนาญที่เน้น Living Benefit สูง อย่าง TISCO My Wish Pension 99.60 จะใช้เงินเพื่อชำระเบี้ยปีละ 454,000 บาทหรือทั้งหมด 9.07 ล้านบาท จึงจะสามารถจ่ายเงินบำนาญเป็นจำนวนดังกล่าวต่อปีได้

แต่หากเราลงทุนเองจะต้องแสวงหาผลตอบแทนก่อนเกษียณให้ได้ปีละประมาณ 7.3% เพื่อให้ได้มูลค่าเท่ากัน แต่ก็มีความเสี่ยงจากการลงทุนที่ตามมา และในส่วนของค่ารักษาพยาบาลให้เลือกซื้อประกันสุขภาพที่สามารถต่ออายุช่วงหลังเกษียณได้นานเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะผู้สูงอายุมีโอกาสที่จะเป็นโรคจนต้องรักษาในโรงพยาบาลมากกว่าวัยอื่น ขณะที่ค่าเบี้ยประกันสุขภาพหลังเกษียณของ TISCO My Care Smart BDMS ที่รับประกันภัยโดยบริษัท วิริยะประกันภัย เริ่มต้นเพียงปีละ 79,000 บาท ในวัย 66 ปีเป็นต้นไป แต่ได้วงเงินความคุ้มครองในการเข้ารักษาเป็นผู้ป่วยใน (IPD) ในกลุ่มโรงพยาบาล BDMS สูงถึง 5,000,000 บาทต่อครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นวงเงินที่เพียงพอต่อการรักษาโรคที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ยังมีเงินส่วนที่เหลือจากแผนนี้อยู่บ้าง ทำให้สามารถพิจารณาซื้อประกันสุขภาพหรือประกันบำนาญเพิ่มเติมได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคน

ในส่วน Wants อีก 30% หากเราพิจารณาว่า ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้สม่ำเสมอ เราสามารถเริ่มจัดพอร์ตการลงทุนที่มีความเสี่ยงตั้งแต่ก่อนเกษียณได้และสามารถคงเงินลงทุนไว้ต่อเนื่องโดยไม่จำเป็นต้องลดความเสี่ยงทันทีเมื่อเกษียณเพื่อหวังสร้างผลตอบแทนสูงในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง เช่น วางแผนจะใช้เงินส่วนนี้ตอนอายุ 70 - 80 ปี หลังจากที่เกษียณก็คงการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่อไปจนกว่าจะถึงเวลาที่ต้องการได้ โดยไม่ถูกจำกัดว่าคนหลังเกษียณต้องจัดพอร์ตความเสี่ยงต่ำเสมอไป

ซึ่งหากคัดเลือกกองทุนที่เน้นลงทุนในบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์กระแสของโลกในระยะยาว หรือ Megatrends เช่น แนวโน้มสังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) อย่างกลุ่มหุ้น Healthcare และ Biotechnology หรือ กลุ่มเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคต (The Future Trend of Technology) ที่มีระดับการเติบโตของตลาดและรายได้โดดเด่น เช่น กลุ่ม Esports, Social Media, Cloud Computing และ Cyber Security ที่มีค่าเฉลี่ยการเติบโตถึงปีละกว่า 20% หากอ้างอิงจากข้อมูลของ Global X Asset Management ณ วันที่ 31 ต.ค. 2021 ก็มีโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ดีในระยะยาวแม้ในยามเกษียณอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า การวางแผนเกษียณหลังจากนี้ไปต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อให้ผู้ที่กำลังเกษียณมั่นใจได้ว่าจะมีเงินทุนเพื่อนำไปใช้หลังเกษียณอย่างเพียงพอ และในขณะเดียวกันก็ไม่ควรตีกรอบการลงทุนสำหรับกลุ่มคนที่ยังสามารถคาดหวังผลตอบแทนระดับสูงในการลงทุน ซึ่งหากแบ่งเป้าหมายเกษียณให้ชัดเจนว่าอะไรเป็น Needs หรือ Wants นั้น จะช่วยให้แผนเกษียณมีความยืดหยุ่น โดยเสริม Lifestyle ให้คนเกษียณมีคุณภาพชีวิตที่เลือกเองได้ ตามกระแสของโลกที่กำลังเข้าสู่ยุคใหม่ทั้งสังคมผู้สูงอายุและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างแท้จริง  

ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจรายละเอียดความคุ้มครองและเงื่อนไข ก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ บริษัท ทิสโก้ อินชัวรันส์ โซลูชั่น จำกัด เป็นเพียงนายหน้าประกันภัย เท่านั้น