
นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร ทิศทางเดินหน้า ‘สมิติเวช’ โรงพยาบาลบนฟ้า-บนดิน-โบยบิน ก้าวสู่
‘โรงพยาบาลแห่งอนาคต’ ของยุคดิจิทัล #เราไม่อยากให้ใครป่วย
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 71 | คอลัมน์ People

‘โรงพยาบาลแห่งอนาคต’ เป็นโรงพยาบาลรูปแบบใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้นในแวดวงการแพทย์ทั่วโลก ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยของโลกยุคใหม่ที่จะทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับ ‘สมิติเวช’ ที่กำลังมุ่งมั่นพัฒนาบริการทางการแพทย์ในประเทศ และเดินหน้าก้าวสู่การเป็นโรงพยาบาลแห่งอนาคตในยุคดิจิทัล โดยได้ประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการพร้อมกันทั้งโรงพยาบาลบนฟ้า โรงพยาบาลบนดิน และโรงพยาบาลโบยบิน ด้วยเทคโนโลยีและระบบ AI อำนวยความสะดวก ดูแลสุขภาพของคนทุกเจเนอเรชัน แก้ทุกปัญหาการพบแพทย์
“เพราะเราไม่อยากให้ใครป่วย ทำอย่างไรให้สุขภาพดี แต่ถ้าป่วยแล้ว…ทำอย่างไรให้หายป่วยเร็วที่สุด โดยหายแล้วไม่ต้องกลับมาหาหมออีก และจากวันนี้การหาหมอไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป และนี่คือหัวใจสำคัญในการเปิดตัวแคมเปญ ‘โรงพยาบาลบนฟ้า โรงพยาบาลบนดิน โรงพยาบาลโบยบิน’ ปีนี้”
นายแพทย์ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวชและโรงพยาบาลบีเอนเอช กล่าวเริ่มต้นถึงเหตุผลแห่งความมุ่งมั่นพัฒนาบริการทางการแพทย์เพื่อเอื้อประโยชน์ด้านสุขภาพที่ดีของทุกคน โดยยังได้เร่งขยายฐานดูแลประชาชนในภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้รับบริการในปัจจุบันและอนาคต
‘โรงพยาบาลบนฟ้า’ บนแอปพลิเคชัน TeleSmartCare
สำหรับความหมาย ‘โรงพยาบาลบนฟ้า โรงพยาบาลบนดิน โรงพยาบาลโบยบิน’ ทางผู้บริหารแห่ง ‘สมิติเวช’ อธิบายความหมายให้เข้าใจมากขึ้น โดยเริ่มจาก ‘โรงพยาบาลบนฟ้า’ ว่าเป็นบริการบน ‘แอปพลิเคชัน TeleSmartCare’
“เป็นแอปพลิเคชันในการให้คำปรึกษา วินิจฉัย และรักษาปัญหาสุขภาพเฉพาะบุคคล ผ่านระบบบริการสุขภาพทางไกลโดยแพทย์เฉพาะทาง รวมทั้งนัดหมายแพทย์ จ่ายเงิน จัดส่งยาถึงบ้าน บริการช่องทางด่วนในการตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีน ช่วยแก้ปัญหาผู้รับบริการที่ไม่อยากมาโรงพยาบาล ไม่อยากรอนาน เน้นผู้รับบริการที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว ผู้รับบริการที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ตอบโจทย์การเข้าถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วยราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้”
นพ.ชัยรัตน์ได้ให้ตัวเลขเบื้องต้นด้วยว่า “ที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการสุขภาพทางไกลมากถึง 246,205 ครั้ง จึงช่วยประหยัดเวลาได้ถึง 80% ลดภาระค่าใช้จ่ายได้ถึง 30% สำหรับในระยะแรก เราเปิดให้บริการในเวลาตั้งแต่ 08.00-20.00 น.”
‘โรงพยาบาลบนดิน’ ลดการรอคอย
ให้บริการอย่างใส่ใจ เสริมศักยภาพด้วยเทคโนโลยี AI
‘โรงพยาบาลบนดิน’ ได้ถูกสร้างและพัฒนาให้เป็นตัวช่วยแก่ผู้รับบริการที่มาโรงพยาบาล ให้ได้รับความสะดวกรวดเร็วทั้งการดูประวัติการรักษา นัดหมายแพทย์ จ่ายเงิน แจ้งเตือนการกินยา ติดตามสถานการณ์การผ่าตัด ติดตามการรักษา เรียกว่าลดการรอคอยและให้บริการอย่างใส่ใจ พร้อมนำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยและการรักษา
“การสร้าง ‘โรงพยาบาลบนดิน’ นั้น ‘สมิติเวช’ มีเครื่องมือสำคัญที่เรียกว่า Smart OPD/ Smart IPD ครบเครื่องที่สุด และในเฟสต่อไปจะมีระบบ AI และอื่น ๆ เข้ามาพัฒนาอีกเยอะ โดยวิธีการที่ค่อยเป็นค่อยไป เพราะว่าระบบ AI จะต้องให้มีความแม่นยำ และ Regulation ต่าง ๆ ต้องผ่านให้เรียบร้อยจึงจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ และหากสำเร็จจะเป็นประโยชน์แก่ผู้คนเป็นอย่างมาก ผมอยากให้ปรับมุมความคิดใหม่ว่า ทุกโรงพยาบาลไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อให้คนมารักษา แต่โรงพยาบาล คือ ศูนย์สุขภาพที่ต้องทำให้คนไม่ป่วย คนไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล ลดการพึ่งพาแพทย์ ผมมองว่า โรงพยาบาลแห่งคุณค่าไม่ใช่มาจากตัวเลขทางการเงิน แต่ต้องเป็นองค์กรที่ช่วยให้คนไม่ป่วย ให้คนมีสุขภาพดี นี่ต่างหาก คือคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ของโรงพยาบาลอย่างแท้จริง”
นพ.ชัยรัตน์กล่าวเสริมว่า “ถ้าเราสร้างคุณค่าก็จะมีการบอกต่อ จากนั้น Volume จะเยอะขึ้นเอง เราจึงเอื้อประโยชน์แก่ประชาชนให้เยอะขึ้น เวลาไม่เกิดการเจ็บป่วยเป็นเรื่องที่ดี แต่สุดท้ายหากอยู่ในสถานการณ์ที่เลี่ยงไม่ได้ อย่างเกิด แก่ เจ็บ ตาย คนไข้ก็จะคิดถึง ‘สมิติเวช’ จากคุณค่าที่เรามี ยกตัวอย่างเช่น บางคนอยู่ดี ๆ เกิดเป็นโรคหัวใจ โดยไม่มีอาการ ซึ่งมีโอกาสเสียชีวิตได้ แต่ที่สมิติเวช เรานำระบบ Smart Care เข้ามาช่วยขยายผลทำให้สามารถตรวจพบโรคหัวใจได้อย่างรวดเร็วทั้งที่ไม่มีอาการ ซึ่งที่ผ่านมาสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยไว้ได้ทั้งหมด 217 ราย คิดดูนะครับ หาก 217 รายนี้ไม่ได้เข้ามาอยู่ในโปรแกรม Digital Risk Score ก็คือสามารถเสียชีวิตอย่างกะทันหันได้ ผมจึงเชื่อว่าใน 217 รายนี้ จะบอกต่อถึงการเอื้อประโยชน์จาก ‘สมิติเวช’ ที่เขาได้รับและบอกต่อเรื่องราวดี ๆ ของเรา ต่อไปเช่นกัน ฉะนั้น การเดินหน้าต่อไปจึงต้องเป็นในลักษณะของการสร้างคุณค่ามากกว่าเรื่องของตัวเลขทางการเงิน”
‘โรงพยาบาลโบยบิน’ บนแอปพลิเคชัน Samitivej@Home
“สำหรับ ‘โรงพยาบาลโบยบิน’ เป็นบริการบน ‘แอปพลิเคชัน Samitivej@Home’ ซึ่งเป็นการนำบริการของโรงพยาบาลไปสู่ผู้รับบริการที่บ้าน เช่น บริการเจาะเลือด บริการล้างแผล เฝ้าไข้ กายภาพบำบัด ดูแลมารดาหลังคลอด ด้วยทีมวิชาชีพของโรงพยาบาล ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาเมื่อผู้รับบริการไม่สะดวกมาโรงพยาบาล โดย ‘โรงพยาบาลโบยบิน’ มีผู้ใช้บริการไปแล้ว 1,200 คน ดูแลสุขภาพคนในชุมชนได้มากกว่า 20 ชุมชน ช่วยฟื้นฟูความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองได้มากกว่า 97% เมื่อทำกายภาพต่อเนื่องที่บ้าน ลดอัตราการกลับมารักษาที่โรงพยาบาลซ้ำได้มากกว่า 95%”
การนำบริการของโรงพยาบาลให้แก่ผู้รับบริการที่บ้าน นพ.ชัยรัตน์ได้เล่าถึงเคสคนไข้ที่ต้องมีระยะเวลาของการเจ็บป่วยและการรักษาที่ต่อเนื่องด้วยว่า “มีบางสถานการณ์ที่เราต้องไปดูแลที่บ้าน ก็จะสามารถเอามาตรฐานทางการแพทย์ในระดับที่สูง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องช่วยหายใจ การจัดเตรียมองค์ประกอบที่บ้าน เตียงต่าง ๆ เพื่อทำให้เกิดความสะดวกสบายและเหมาะสมสำหรับคนไข้แต่ละคน เคสแบบนี้เราก็ทำมาหมดแล้ว”
และการแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัด นพ.ชัยรัตน์เล่าถึงเคสคนไข้รายหนึ่งอย่างน่าสนใจไปด้วยว่า “มี VIP ท่านหนึ่งที่มาผ่าตัดกระดูกสันหลังเสื่อมกับ ‘สมิติเวช’ ปกติแล้วถ้าผ่าแบบนี้ ส่วนใหญ่อยู่โรงพยาบาล 7-10 วัน กว่าจะเริ่มเดิน กว่าจะเริ่มอะไรต่าง ๆ ได้ แต่เราสามารถออกแบบแผนการรักษาให้อยู่โรงพยาบาลกับเราแค่ 3 วัน ที่เหลือกลับไปดูแลที่บ้านได้ คุณหมอของเราตามไปดูแลที่บ้าน ซึ่งการที่คนไข้ได้อยู่บ้านมีความสุขมากกว่าอยู่โรงพยาบาลเสียอีก ไม่ต้องไป ๆ มา ๆ ส่งผลให้คนไข้ฟื้นตัวเร็ว ปรากฏว่าผ่านไปสัปดาห์เดียวก็เดินได้แล้วครับ คนไข้ดีใจมาก ขอบคุณคุณหมอ ขอบคุณระบบของเรา ขอบคุณ Samitivej@Home และปัจจุบัน คนไข้ VIP ของเราท่านนี้ก็ยังใช้บริการแอปฯ นี้อยู่ ท่านเรียกเราไปบริการที่บ้าน และยังแนะนำคุณป้าคนนั้นคนนี้ให้มาใช้บริการ ‘สมิติเวช’ เพราะเราสามารถสร้างความประทับใจในบริการด้านการแพทย์ ที่สำคัญคือ คนไข้ได้ประโยชน์สูงสุดของบริการและการดูแลสุขภาพนั่นเอง
นอกจากนี้ นพ.ชัยรัตน์ยังได้กล่าวย้ำถึงการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยของ ‘สมิติเวช’ มาใช้เป็นสำคัญด้วยว่า เป็นระบบการให้บริการที่ได้นำระบบ AI เข้ามาช่วยมอนิเตอร์ควบคุมโรคของผู้รับบริการได้ดียิ่งขึ้น

‘โรงพยาบาลบนฟ้า โรงพยาบาลบนดิน โรงพยาบาลโบยบิน’
รวมหนึ่งเดียว...ต่อยอดสร้างประโยชน์ระดับชุมชนถึงระดับชาติ
ในด้านการพัฒนาทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นทางภาครัฐและภาคเอกชน ต่างมีเป้าหมายเดียวกันในการบริการประชาชนที่ต้องการให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพียงแต่ว่าโรงพยาบาลรัฐอาจมีประชาชนจำนวนมาก ซึ่งระบบนี้ ผมเชื่อว่าหากนำไปปรับใช้กับโรงพยาบาลรัฐก็จะลดความแอดอัดของคนไข้ได้ รวมถึงระบบการนัดหมอที่มาโรงพยาบาลก็ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการของรัฐบาลด้วยเช่นกัน ผมคิดว่า ทางวงการแพทย์เอง โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข มีแนวคิดในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เพียงแต่ว่าต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะติดทั้งเรื่องงบประมาณ ทั้งระบบ ซึ่งต้องใช้เป็นจำนวนพอสมควรเหมือนกัน แต่เราเป็นเอกชน มีความพร้อมก่อนก็ให้นำร่องไปก่อน เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ว่า ทำแล้วเกิดประโยชน์จริง ๆ”
‘โรงพยาบาลบนฟ้า โรงพยาบาลบนดิน โรงพยาบาลโบยบิน’ เป็นโครงการที่นายแพทย์ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพรมองว่า เป็นโครงการเพื่อชุมชนและเพื่อประเทศชาติที่เห็นผลได้จริง
“ถ้าเราคิดว่า ‘โรงพยาบาลบนฟ้า โรงพยาบาลบนดิน โรงพยาบาลโบยบิน’ รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน และคนสามารถนำสิ่งต่าง ๆ ที่เราได้คิดกันไว้เป็นแห่งแรกของประเทศไทย นำไปขยายผลไม่ว่าจะเป็นเอกชนอื่น ๆ หรือว่าโรงพยาบาลของรัฐบาลอื่น ๆ คิดดูว่า จะทำให้เราไม่จำเป็นต้องมีหมอเยอะ ส่วนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็จะลดลง และเมื่อไหร่ Healthcare Cost ลดลงปุ๊บ ทุกคนก็จะแข็งแรง ส่งผลต่อ GDP ของประเทศที่จะดีขึ้นได้อย่างแน่นอน เรื่องนี้ผมว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด มันเป็นลักษณะของการสร้างคุณค่า ซึ่งโครงการนี้ ‘โรงพยาบาลบนฟ้า โรงพยาบาลบนดิน โรงพยาบาลโบยบิน’ จะเห็นข้างในที่ได้แฝงคำว่า ‘เราไม่อยากให้ใครป่วย’ ซึ่งนี่จะเป็นตัวหลักที่ทำให้คนแข็งแรง ประเทศชาติมีความเจริญ ผมจึงเชื่อในแนวคิดนี้ที่นอกจากเป็นประโยชน์ส่วนหนึ่งของประเทศชาติแล้ว ในส่วนของชุมชนก็ให้ประโยชน์เช่นกัน ใครต่อใครก็มาได้สะดวก หรือไม่ต้องเดินทางมา ตอบโจทย์ให้กับคุณภาพชีวิตของทุกเจเนอเรชันในการที่จะมาหาหมอนั่นเอง”
ขยายบริการทางการแพทย์สู่พื้นที่ภาคตะวันออก
จุดยุทธศาสตร์แห่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
เนื่องจากพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่ผู้บริหารสูงสุดแห่ง ‘สมิติเวช’ ได้กล่าวไว้ในภาพรวมในมิติเศรษฐกิจระดับชาติว่า “พื้นที่ภาคตะวันออกสามารถดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประตูเศรษฐกิจเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC: Eastern Economic Corridor) ด้วยจำนวนประชากรที่มีมากเกือบ 3 ล้านคน มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อตั้งมากขึ้นถึง 2,679 แห่ง ซึ่งเป็นโรงงานที่มีผู้ประกอบการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่น โดยทั้งหมดใช้บริการระบบแพทย์จาก ‘สมิติเวช’ เป็นจำนวนถึง 280 แห่ง ประกอบกับจุดเด่นของทั้งโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีราชา และโรงพยาบาลสมิติเวช ชลบุรี มีแพทย์ ณ ศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ (Occupational Medicine Center) มากที่สุดในโรงพยาบาลภาคเอกชนของไทย มีแพทย์ Board Certified in Occupational Medicine ออกตรวจในโรงพยาบาลทุกวัน”
นอกจากนี้ พยาบาลทุกคนในหน่วยงานของ ‘สมิติเวช’ ยังได้ผ่านการอบรมเฉพาะทางด้านอาชีวอนามัย “นั่นทำให้ดูแลสุขภาพคนทำงานในภาคตะวันออกถึง 246,531 คน รวมทั้งดูแลสุขภาพเชิงป้องกันได้ทุกช่วงวัย (Total Health Solution) อาทิ ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่สำเร็จ 14,384 คน ด้วยการส่องกล้องเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น ผนวกกับ AI Risk Score ของเราเอง รักษาโรคหัวใจเฉียบพลันได้ 98% รวมถึงการผ่าตัดส่องกล้องนรีเวชที่ไม่พบภาวะแทรกซ้อน เรียกว่าเป็นการช่วยตอบโจทย์การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ช่วยลดค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขต่อการพัฒนาเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ”
และทั้ง 3 แนวทางของแคมเปญ ‘โรงพยาบาลบนฟ้า โรงพยาบาลบนดิน โรงพยาบาลโบยบิน’ ถูกนำมาพัฒนาระบบการให้บริการทางการแพทย์ในภูมิภาคตะวันออกของประเทศด้วยเช่นกัน “นับเป็นความน่ายินดีที่ระบบนี้ของ ‘สมิติเวช’ จะถูกพัฒนาไปข้างหน้าของโรงพยาบาลในเครือทั้งหมด เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีสุขภาพที่ดี แต่เหนือสิ่งอื่นใด คุณหมอเกือบทุกคนกล่าวไว้เสมอว่า ‘มีสุขภาพดีจะดีกว่า ไม่ป่วยจะดีกว่า เราไม่อยากให้ใครป่วย แต่ถ้าป่วยแล้วก็ต้องทำให้หายป่วยโดยเร็ว เพื่อไม่ต้องกลับมาหาหมออีก หรือเป็นการลดการพึ่งพาแพทย์’ และนี่ก็เป็นหัวใจของแคมเปญดังที่กล่าวไว้ข้างต้น”

ธุรกิจ Healthcare ไทยก้าวสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ
สำหรับทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจ Healthcare ในประเทศไทยกำลังก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วจากนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการให้บริการทางการแพทย์และสุขภาพ เพื่อนำไปสู่การมี ‘สุขภาพดี’ และช่วยให้ทุกคนเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น โดยโรงพยาบาลไม่จำเป็นต้องเป็นศูนย์กลาง
“ไม่เพียงแค่นวัตกรรมการให้บริการทางการแพทย์และสุขภาพที่พัฒนาไปอย่างก้าวหน้าเท่านั้น แต่ยังได้รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี อาทิ อุปกรณ์ Wearable Devices เช่น นาฬิกาอัจฉริยะ เครื่องวัดสุขภาพ ที่ใช้ตรวจสอบสุขภาพส่วนบุคคลได้แม่นยำ เทคโนโลยีคุยกับแพทย์ได้ทุกที่ทุกเวลาผ่าน Telemedicine หรือการใช้ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญที่ช่วยแพทย์วินิจฉัยโรคได้รวดเร็วและแม่นยำเช่นกัน รวมไปถึงการดูแลสุขภาพแบบ Personalized Medicine อันเป็นการรักษาพยาบาลที่ถูกปรับให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลโดยอาศัยข้อมูลพันธุกรรมและประวัติสุขภาพ เป็นอีกทางเลือกของการแพทย์แบบใหม่ที่นำมาใช้ในโรงพยาบาลและห้องปฏิบัติการชั้นนำของโลกเพื่อช่วยในการวินิจฉัยและวิจัยโรคต่าง ๆ”
‘สมิติเวช’ สู่องค์กรแห่งคุณค่า
สร้างความยั่งยืนให้ทุกชีวิตที่ดีกว่าในโลกใหม่ยุคดิจิทัล
นพ.ชัยรัตน์กล่าวว่า ‘สมิติเวช’ ตั้งเป้าเป็นองค์กรแห่งคุณค่ามากกว่าองค์กรแห่งความสำเร็จ ตอกย้ำนโยบาย ‘เราไม่อยากให้ใครป่วย’ จึงเน้นการดูแลในเรื่อง Prevention ที่นอกจากนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้ในด้านการแพทย์แล้ว ต้องมีความเท่าทันสถานการณ์ การเตรียมพร้อมบุคลากร เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
“การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นด้านระบบการทำงาน ระบบเงิน วิธีคิด เราต้องก้าวข้ามพฤติกรรมของผู้บริโภคหรือที่เรียกว่า ‘Agile’ สมิติเวชต้องปรับตัวให้เร็ว พร้อมสร้างคุณค่า (Value) ในการช่วยชีวิตคน ช่วยให้ทุกคนดูแลตัวเอง ป้องกันโรค ไม่ต้องมาโรงพยาบาล เป็นการเริ่มต้นจาก Disrupt ตัวเองก่อน เพื่อตอกเสาเข็มของสุขภาพให้แข็งแรง บางทีต้องจัดระเบียบใหม่ทั้งหมดด้วยซ้ำ”
สำหรับ Digital Transformation ผู้บริหารแห่งสมิติเวชได้อธิบายว่า เป็นเรื่องราวของการปรับเปลี่ยนความเป็น Leadership, People และ Strategy “ในช่วง 3 ปีแรก สมิติเวชได้มีการทำ Organization Transformation, People Transformation, Leadership Transformation และ Strategic Transformation รวมทั้งสร้างวัฒนธรรมแห่งการเปลี่ยนแปลงควบคู่ไปกับการทำ Digital Transformation สร้างคน-สร้างเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์ได้ทุกโจทย์ บุคลากรของสมิติเวชต้อง Reskill เพื่อเปิดรับทักษะใหม่ ๆ หรือเปลี่ยนทักษะไปจากงานประจำที่ทำเดิม ๆ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาโครงการ Innovation Transformation ที่จะตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในทุกวันนี้ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องรู้เท่าทันความต้องการของผู้รับบริการทั้งปัจจุบันและอนาคต ควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าให้กับผู้รับบริการ ภายใต้คอนเซปต์ดังกล่าวไว้ คือ ‘เราไม่อยากให้ใครป่วย’ ทั้งการทำ Risk-Care, Early Care ได้แก่ Early Detection, Early Screening, Early Prediction จนถึง Self-Care ที่ใช้นวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ผู้รับบริการ ‘รู้เท่าทัน-สกัดกั้น-วางแผนสุขภาพ’ ลดการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการรักษา” ด้านวิสัยทัศน์ใหม่ของการก้าวสู่องค์กรแห่งคุณค่า (Agile Organization of Value) ซึ่ง ‘สมิติเวช’ ได้เดินหน้าความสำเร็จไปแล้วเช่นกัน
“จากนี้ไป ‘ไม่ต้องมี Vision เราเหลือแต่ Dynamic Direction’ เพราะ ‘สมิติเวช’ จะเป็นองค์กรแห่งคุณค่า สร้างความยั่งยืนให้ทุกชีวิตที่ดีกว่า โดยต่อยอดจาก Agile และ Value กลายเป็น Beyond Agile และ Beyond Value ที่ใช้ Purpose และ Passion มาเป็นตัวขับเคลื่อนภายใต้ผู้รับบริการ องค์กร ผู้ถือหุ้น และชุมชน เพื่อนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน เป็นโรงพยาบาลที่จะปกป้องทุกคนจากความเจ็บป่วย และกระตุ้นการดูแลสุขภาพของสังคมไทยไปในทิศทางของการรู้เท่าทันก่อนเกิดโรค ซึ่งนี่จะเป็นแนวทางที่จะทำให้ Healthcare Cost โดยรวมของประเทศลดลงด้วย และเมื่อผู้คนต่างสุขภาพดีขึ้น ก็นำไปสู่ GDP ของประเทศที่สูงขึ้น นั่นหมายถึงมาตรฐานชีวิตของคนไทยสูงขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตอย่างแน่นอน” นพ.ชัยรัตน์กล่าวทิ้งท้าย
