ขีดเขียนความสุขหลังเกษียณ สไตล์ “ไมตรี ลิมปิชาติ”

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 59 | คอลัมน์ Moment of Happiness

file

ชื่อของ “ไมตรี ลิมปิชาติ” เป็นที่รู้จักกันดีในยุคหนึ่ง ในฐานะนักเขียนมือทองแห่งโลกวรรณกรรมของไทย แต่ในช่วงที่ไมตรีเข้าสู่วัยเกษียณ เทคโนโลยีดิจิทัลได้เปลี่ยนโลก พลิกผันชีวิตชนิดเกินคาด ทว่าเขายังคงสัมผัสกับความสุขได้ง่ายๆ ด้วยพื้นฐานของการเป็นคนอารมณ์ดีและมองโลกในแง่บวก ทั้งยังเริ่มต้นเรียนรู้และลงมือทำกิจกรรมต่างๆ โดยที่ตัวเลขอายุที่เพิ่มขึ้นมิได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด

ปัจจุบันไมตรีในวัย 80 ปียังคงแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ เขาย้อนความหลังให้เราฟังว่า ก่อนเกษียณเขาเคยตั้งใจไว้ว่าจะใช้เวลาที่มีอย่างเหลือเฟือไปกับการเขียนหนังสือ เพราะในหัวเต็มไปด้วยพล็อตเรื่องมากมาย แต่เมื่อประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว โลกการพิมพ์ที่เคยเฟื่องฟูกลับถูกดิสรัป หลายสำนักพิมพ์ต่างพากันปิดตัว รวมถึงสิ่งพิมพ์ชื่อดังหลายฉบับก็ไม่สามารถที่จะไปต่อในธุรกิจนี้ได้ ตลอดจนร้านหนังสือก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ก้าวต่อไป

“ความรู้สึกของคนเขียนหนังสืออย่างผม คือรู้สึกใจหายและเสียดายมาก เคยมีคิดไว้แล้วว่าวันหนึ่งโลกของหนังสือก็ต้องเปลี่ยนไป แต่พอเกิดขึ้นจริงๆ เราก็ตั้งตัวไม่ทันเหมือนกัน จากอดีตที่ผมเคยเขียนคอลัมน์ราว 20 ที่ ก็เหลือเพียง 2 ที่เท่านั้น ซึ่งสิ่งที่ทำให้เราผ่านพ้นมาได้ คือการยอมรับ เข้าใจ และคิดในเชิงบวกว่าเป้าหมายที่เราตั้งใจไว้ว่าอยากจะเป็นนักเขียนที่มีผลงานเป็นที่รู้จัก ก็สำเร็จไปแล้ว และคุ้มค่ามากแล้วกับการได้ทำอาชีพนี้ ตอนนี้ก็คงถึงเวลาของยุคใหม่ที่เราก็ต้องเรียนรู้และปรับตัวกันต่อไป”

เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยเกษียณ ไมตรีได้เริ่มต้นกับการเขียนภาพอีกครั้งตอนอายุ 60 ปี ซึ่งจริงๆ แล้วเขามีใจชอบมาก่อนการเขียนหนังสือเสียอีก ด้วยความฝันสมัยเด็กที่อยากจะเป็นจิตรกร แต่ครอบครัวไม่สนับสนุนจึงต้องพับความฝันเก็บไว้ และก็นับเป็นความโชคดีที่โลกแห่งวรรณกรรมได้อ้าแขนรับเขาไว้ เพราะไม่ว่าเขาจะส่งเรื่องสั้นหรือนวนิยายไปที่ไหน หนังสือหัวดังๆ ของยุคนั้น เช่น ฟ้าเมืองไทย ชาวกรุง สตรีสาร สกุลไทย ฯลฯ ต่างก็นำไปตีพิมพ์ให้หมด ทำให้เขาลืมเรื่องการเขียนภาพไปอย่างสนิทใจ จนกระทั่งเกษียณแล้ว ถึงได้กลับมาทำในสิ่งที่รักและทิ้งร้างมานานอีกครั้ง จากการชักชวนของเพื่อนผู้มีประสบการณ์ บวกกับความกล้าในการลงมือทำของไมตรี จึงช่วยผลักดันให้เขาทำงานศิลปะออกมาได้สำเร็จ 

 

“ผมค้นพบว่า แค่ผมได้ลงมือเขียนภาพ ผมก็มีความสุขแล้ว ผมรู้สึกว่าสมาธิทุกอย่างของเราโฟกัสไปกับการเขียนภาพ จนเหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในอีกโลกใบหนึ่ง เพราะมันคงเป็นสิ่งที่เราชอบและอยากที่จะทำจริงๆและด้วยวัยที่ค่อนข้างมากแล้ว ผมจึงเลือกเขียนภาพที่เป็นแนวนามธรรม (Abstract) ด้วยประสบการณ์ในชีวิตและการเขียนหนังสือที่ผ่านมา น่าจะทำให้เราหยิบยกมาใช้กับภาพแนวนี้ได้ดี แต่ถ้าเป็นภาพเหมือน ที่เราต้องพยายามเขียนให้เหมือน อาจจะเครียดเกินไป และเมื่อถูกทักว่าภาพไม่เห็นเหมือนเลยอาจจะทำให้เราใจฝ่อและหมดสนุกเอาได้ ซึ่งสิ่งสำคัญของการเขียนภาพคือ อารมณ์และจินตนาการ ดังนั้น ภาพแนวนามธรรม เราจะลงสีหรือเขียนอะไรก็ได้ไม่มีใครว่า เพราะศิลปะไม่มีถูก ไม่มีผิด อย่างภาพเมื่อไม่นานมานี้ ผมก็เขียนไปตามอารมณ์ สุดท้ายผลงานออกมากลับไปเหมือนบ่อปลาคาร์ฟในบ้านที่เลี้ยงโดยไม่รู้ตัว” 

การเขียนภาพด้วยสีอะคริลิกจึงถือเป็นการพักผ่อนและฝึกสมาธิของไมตรี ซึ่งเขามองว่ากิจกรรมการเขียนภาพนี้เป็นสิ่งที่เหมาะสำหรับคนรุ่นเขาเป็นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่ไมตรีมักจะทำงานศิลปะในช่วงบ่าย หลังจากการทำกิจกรรมในช่วงเช้า ทั้งให้อาหารนก เลี้ยงปลาคาร์ฟ นั่งเล่นไลน์ พิมพ์ข้อคิดส่งให้เพื่อนๆ เสร็จ ก็จะมานั่งโต๊ะเขียนหนังสือหรือเก็บรายละเอียดภาพที่เขียนไว้

ไมตรีเผยว่า เวลาที่เขาเห็นสี เขาก็อยากจะนำมาลงอะไรที่เป็นสีขาวให้มีสีสัน บางครั้งก็นำไม้ ฟองน้ำ หรือมือของเขาเองมาช่วยในการเขียน เพื่อให้ภาพมีเท็กซ์เจอร์ที่หลากหลายและดูมีมิติมากขึ้น ซึ่งวันไหนที่อารมณ์ศิลปินเข้าสิง เขาสามารถเขียนภาพได้มากถึง 4 ภาพเลยทีเดียว มาถึงวันนี้ร่วม 20 ปี ภาพที่เขียนโดยไมตรีก็มีมากเป็นร้อยๆ รูปแล้ว

file

นอกจากนี้ เขายังมีความสุขกับการแบ่งปันรูปที่เขียนเสร็จแล้วให้กับเพื่อนๆ ในเฟซบุ๊ก รวมทั้งหาสถานที่ เช่น ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในการจัดแสดงภาพเขียน ซึ่งปรากฏว่ามีคนสนใจซื้อภาพและให้ราคาสูง ทั้งที่ตอนนั้นเขายังเป็นเพียงแค่นักวาดมือใหม่ จนปัจจุบันงานอดิเรกดังกล่าวได้กลายเป็นหนึ่งในอาชีพเล็กๆ ของเขาไปแล้ว ขณะเดียวกันไมตรียังหันมาเขียนเรื่องสั้น 3 บรรทัดจบ โดยได้ไอเดียมาจากการอ่านหนังสือ แล้วพบว่ามีชาวต่างชาติเขียนบันทึกทุกวัน ก่อนจะนำมาพิมพ์เป็นหนังสือ อีกอย่างเขาสังเกตว่าปัจจุบันคนไม่ค่อยชอบอ่านเรื่องอะไรยาวๆ จึงลองเขียนเรื่องสั้น โดยใช้หัวข้อ “บันทึกความสุข” และโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก maitree.limpichart.writer มาได้ร่วมปีแล้ว

“ผมเขียนเรื่องราวแบบง่ายๆ ที่ใครๆ ก็อ่านได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุมมองที่เราพบเจอในชีวิตประจำวัน เช่น วันนี้ผมออกไปข้างนอกซื้ออาหารมาให้ปลา จำเป็นต้องไปซื้อให้ เพราะปลาไปซื้อเองไม่เป็น โดยเขียนสรุปสั้นๆ อย่างมากก็ไม่เกิน 5 บรรทัด แล้วผมเป็นคนที่มีอารมณ์ขันอยู่แล้ว จึงใส่ส่วนนี้เข้าไปในเรื่องราวเหล่านั้น”

และอีกกิจกรรมที่ไมตรีเริ่มทำตอนเกษียณ ก็คือการปลูกต้นไม้ ทุกเย็นเวลาของเขาจะหมดไปกับการรดน้ำต้นไม้ พรวนดิน และเปลี่ยนกระถาง ซึ่งทำให้ดาดฟ้าและหน้าบ้านของเขาเต็มไปด้วยพืชผักสวนครัวที่ปลูกแบบไร้สารเคมี ไม่ว่าจะเป็น วอเตอร์เครส กะเพรา ชะอม ต้นหอม มะกรูด พริกแดง แต่ผักที่ชอบปลูกมากที่สุดตอนนี้คือ ผักบุ้งงอก โดยทุกอย่างที่ปลูกนั้นล้วนถูกนำมาปรุงเป็นอาหารรับประทานในบ้าน ซึ่งไมตรีบอกว่าเขามีความสุขมากกว่าการไปซื้อมาทำหลายเท่าตัว เพราะเขาได้ทั้งลงมือปลูกเอง และได้ถ่ายรูปเอาไปโพสต์บนเฟซบุ๊กด้วย ยิ่งพอมีเพื่อนทักมาถาม นำไปปลูกตามก็ยิ่งมีความสุข

file

“ในมุมมองของผมความสุขที่แท้จริงในวัยเกษียณก็คือ การค้นพบตัวเองและทำให้ตัวเองมีความสุขได้ ซึ่งสำหรับผมถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพราะได้ทำในสิ่งที่ชอบ และสิ่งที่ชอบก็ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนหรือทำให้เราเสียสุขภาพ ส่วนใครที่ยังไม่เกษียณ นอกจากจะต้องเริ่มค้นหาสิ่งที่ชอบและรีบลงมือทำแล้ว ก็ต้องเตรียมวางแผนเรื่องการเงินไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าถึงตอนนั้นเราจะเอาเงินส่วนไหนมาใช้มาทำกิจกรรมต่างๆ ต้องรู้จักเก็บเงินเก็บทอง อย่าชะล่าใจแบบผมที่คิดว่าเราสามารถเขียนหนังสือได้เรื่อยๆ ก็สามารถมีเงินพอเลี้ยงตัวเองไปได้ตลอด โดยไม่ได้คาดว่าเราจะต้องมาเจอเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเช่นนี้”

เมื่อถามถึงสิ่งที่ไมตรีอยากจะทำอีกในอนาคต เขาบอกว่าเขาตั้งใจจะเขียนภาพให้ได้มากที่สุด และเมื่อไหร่ที่สถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้นแล้ว ก็มีแผนที่จะจัดแสดงภาพของตัวเอง แต่การที่เขาจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ก็จำเป็นที่จะต้องมีสุขภาพที่ดี ซึ่งไมตรีบอกว่าทุกวันนี้เขาอยู่กินกับโรคมะเร็งและโรคหัวใจ แต่ก็พยายามดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ โดยทุกเช้าจะใช้วิธีสูดหายใจลึกๆ และเหยียบไม้ไผ่เพื่อผ่อนคลาย ดัดตัวอีกนิดหน่อยประมาณครึ่งชั่วโมง และจะออกกำลังกายอีกทีในช่วงเย็น ด้วยการทำสวนเดินเล่นแถวๆ บ้าน

“สิ่งสำคัญที่สุดคือ อารมณ์ ผมเป็นคนอารมณ์ดี โกรธคนอื่นไม่เป็น นอกจากโกรธตัวเอง พอไม่โกรธ อารมณ์ก็ดีเป็นธรรมชาติ บางทีมีคนส่งอะไรมาให้ทางไลน์ ถ้าเราไม่ชอบ ก็เฉยเสีย ไม่โต้ตอบ หรือบางคนส่งมาบอก…สวัสดีวันพฤหัส เราก็แค่พิมพ์กลับไปว่า...สวัสดี พรุ่งนี้วันศุกร์! คือเราอย่าไปมีความทุกข์กับใคร เมื่อคิดบวก อารมณ์ขันก็จะมา”

และนี่เป็นการขีดเขียนความสุขในชีวิตสไตล์ “ไมตรี” ที่ไม่ว่าใครก็สามารถทำตามอย่างได้สบายๆ

ไมตรี ลิมปิชาติ

อดีตนักบาสทีมชาติไทย อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย นักเขียนอาวุโสเจ้าของฉายานักเขียนอารมณ์ดี ผลงานเด่น อาทิ รวมเรื่องสั้นชุด “คนอยู่วัด” นิยาย “ดอกเตอร์ครก” และ “ความรักของคุณฉุย” ฯลฯ