มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ดัน Sea (ประเทศไทย) ยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจดิจิทัลไทย

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 59 | คอลัมน์ People

file

 

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา วิกฤต COVID-19 ทำให้การก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัล (Digitalisation) ของคนไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่คนรุ่นใหม่เท่านั้นที่ใช้เวลาอยู่กับเทคโนโลยี เพราะแม้แต่คนรุ่น Baby Boomers ก็หันมาใช้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็น การ Shopping from Anywhere, Anytime การเสพความบันเทิง หรือการเล่นเกมออนไลน์ เรียกได้ว่าเทคโนโลยีนั้นสำคัญมากกับการใช้ชีวิตประจำวันกับคนทุกๆ วัยอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ทำให้บรรดายักษ์ใหญ่แพลตฟอร์มต่างๆ ก้าวเข้ามามีบทบาทในตลาดนี้มากขึ้น

หนึ่งในนั้นคือ Sea (Group) เจ้าของ การีนา (Garena) เกมออนไลน์ชั้นนำระดับโลกอย่าง RoV และ Free Fire ช้อปปี้ (Shopee) แพลตฟอร์มซื้อของออนไลน์อันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน รวมถึงซีมันนี่ (SeaMoney) บริการดิจิทัลเพย์เมนต์ และดิจิทัลไฟแนนซ์รวมอยู่ด้วย TRUST ฉบับนี้ จึงจะพาทุกท่านไปพูดคุยกับ คุณมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) เพื่อฉายภาพให้เห็นถึงการเติบโตอย่างโดดเด่นของธุรกิจ E-commerce และ Esports พร้อมทิศทางการเติบโตในอนาคตภายใต้การกุมบังเหียนของ CEO หญิงเก่งแห่ง Sea ประเทศไทย 

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและเกมออนไลน์โตโดดเด่น

คุณมณีรัตน์ เริ่มฉายภาพว่า ในช่วง 1 - 2 ปีที่ผ่านมา ผู้คนหันมาใช้จ่ายและเสพความบันเทิงผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ส่งผลให้ 3 ธุรกิจหลักของ Sea (ประเทศไทย) เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง 

นำโดยธุรกิจเกมออนไลน์อย่าง Garena ที่มีความแข็งแกร่งที่สุดของ Sea เพราะเป็นธุรกิจที่ดำเนินการมายาวนานที่สุด และมีศักยภาพในการสร้างรายได้ดีที่สุด โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 Garena มีฐานผู้เล่นกว่า 729 ล้านคนในกว่า 130 ตลาดทั่วโลก โดยเฉพาะเกม Garena Free Fire ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด มียอดดาวน์โหลดทะลุ 1 พันล้านครั้ง บน Google Play และเป็นเกมมือถือที่ได้รับการจัดอันดับจาก App Annie ว่ามียอดดาวน์โหลดสูงสุดของโลกต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2562 - 2563

ขณะที่ Shopee เป็นธุรกิจที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุด โดยในไตรมาส 3 ของปี 2564 Shopee มียอดสั่งซื้อกว่า 1.7 พันล้านรายการ เติบโตราว 123.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนส่วน SeaMoney ก็เป็นอีกธุรกิจที่เติบโตได้ดีเช่นกัน โดยมีผู้ใช้งาน 39.3 ล้านคน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีมูลค่าธุรกรรมในไตรมาส 3 ของปี 2564 ราว 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ราว 111% 

file
file

โดยเธอประเมินว่า ในปี 2564 อุตสาหกรรมเกมออนไลน์และ Esports ในประเทศไทย จะมีการเติบโตราว 14% จากปี 2563 ที่มีมูลค่า 28,900 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าตลาด E-commerce ไทยนั้น คาดว่าจะเติบโตจาก 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564 ไปสู่ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2568 ดังนั้น เธอจึงเชื่อว่าอุตสาหกรรม E-commerce รวมถึงเกมออนไลน์ และ Esports จะยังมีการเติบโตที่แข็งแกร่งและต่อเนื่องอีกมากในอนาคต

“ประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วนลูกค้าดิจิทัลหน้าใหม่เข้ามาใช้จ่ายบนโลกออนไลน์มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังมีแนวโน้มการใช้บริการบนดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผู้ใช้งานหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มจะมีการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ของความถี่และมูลค่า และยิ่งเมื่อลูกค้าเคยชินกับวิถีชีวิตแบบใหม่ที่สะดวกสบายแล้ว ก็ยิ่งมีแนวโน้มสูงที่จะใช้งานต่อในระยะยาว ซึ่งนี่เป็นโอกาสให้ธุรกิจของ Sea เติบโตได้อีกมาก”

ผนึกครอบครัวดิจิทัลแพลตฟอร์มมัดใจลูกค้า 

การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นตัวเร่งให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตและการทำงานของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และพร้อมปรับตัวให้สอดรับกับกระแสดิจิทัลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คุณมณีรัตน์คาดการณ์ว่า ในอนาคตการใช้ชีวิตของผู้คนจะมีความเป็น Hybrid มากขึ้น และการทำธุรกิจต่างๆ ก็จะมีความเป็น Omnichannel มากขึ้น เพื่อเชื่อมโยงทุกช่องทางการติดต่อสื่อสาร ซื้อ-ขาย ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ไว้เป็นหนึ่งเดียว และสามารถส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าได้แบบไร้รอยต่อ (Seamless)

“แนวโน้มนี้ไม่ใช่แค่การสร้างโอกาส แต่กำลังท้าทายต่อการปรับปรุงระบบการทำงานหลังบ้าน เพื่อรองรับผู้ใช้งานที่มีจำนวนมากขึ้นด้วย” เธอจึงใช้จุดแข็งของการเป็นครอบครัวดิจิทัลแพลตฟอร์ม เข้ามาตอบโจทย์วิถีชีวิตของผู้บริโภคให้ครอบคลุมรอบด้านยิ่งขึ้น ด้วยการการผนึกกำลังของทั้ง 3 แพลตฟอร์ม เพื่อให้เอื้อต่อการสนับสนุนกันอย่างเต็มที่ พร้อมรองรับการเติบโตและสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้งาน

“เชื่อว่าการผนึกกำลังของทั้ง 3 แพลตฟอร์มจะช่วยทำให้การบริหารงานและประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น ยกตัวอย่าง การใช้ SeaMoney สำหรับเป็น FinancialArm ที่ช่วยให้การชำระเงินบน Shopee และเกมของ Garena มีความง่าย สะดวกสบาย และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คนในยุคปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น  ในขณะที่การบริหารจัดการหลังบ้านก็ทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน”

นอกจากนี้ ยังได้นำ Data และ Insight ที่มีเข้ามาช่วยวิเคราะห์ในการทำการตลาดแบบ Predictive & Contextual Marketing หรือ การทำนายพฤติกรรมผู้บริโภคล่วงหน้า พร้อมศึกษาบริบทโดยรอบ เพื่อให้แผนการตลาดที่วางไว้สามารถใช้ในการขยายฐานและเพิ่มความถี่ในการใช้งานของผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น อาทิ การนำ Data มาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคแบบรายบุคคล เพื่อให้สามารถนำเสนอข้อมูลสินค้าที่ตรงใจให้กับผู้บริโภคได้ตามความชื่นชอบ ซึ่งจะก่อให้เกิดความพึงพอใจและการใช้เวลาบนแพลตฟอร์มที่นานมากขึ้น รวมถึงเกิดความรู้สึกที่อยากจะกลับเข้ามาใช้งานซ้ำๆ อยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะในยุคของการค้าเชิงประสบการณ์ (Experiential Com-merce) ที่ Shopee จะให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจเฉพาะบุคคลเป็นพิเศษ (Personalized Experience)

file

“ในปี 2564 เกมต่างๆ ที่อยู่ภายใน Shopee และ Shopee Live ค่อนข้างมาแรงและได้รับการตอบรับที่ดีมาก อย่างในช่วงมหกรรม Shopee 11.11 Big Sale พบว่า มีการเล่นเกมรวมกันมากกว่า 400 ล้านครั้ง บน Shopee Prizes ซึ่งการผสาน Gamificaiton เข้ามาใน Shopee ถือเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของเรา ในการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคและเชื่อมโยงผู้บริโภคกับ Shopee ให้มีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น พร้อมสร้างประสบการณ์ที่ดีและตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มองหาความบันเทิงที่มาพร้อมกับของรางวัลพิเศษได้เป็นอย่างดี ที่ผ่านมาเราจึงมีเกมต่างๆ เช่น Shopee Shake หรือ Shopee Prizes ออกมาให้ผู้ใช้งานได้เข้ามาร่วมสนุกกัน แม้จะไม่ได้ซื้อของก็ตาม เพราะเราไม่อยากให้ผู้ใช้งานนึกถึงเรา แค่เวลาที่ต้องการซื้อของ แต่เราอยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันเสมือนเป็นเพื่อนคู่ใจของลูกค้าทุกคน”

จับตามองกระแส Metaverse ต่อยอดธุรกิจ

คุณมณีรัตน์ ยังมองถึงกระแส Metaverse ว่า ในประเทศไทยเริ่มเห็นสัญญาณการปรับตัวเข้าสู่โลก Metaverse แล้ว โดยในปี 2564 ผู้บริโภคชาวไทยได้ใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนอย่าง Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) ที่ก้าวเข้ามาอยู่ในโลกแห่งความจริงมากขึ้น แต่เนื่องด้วยต้องนำเข้าฮาร์ดแวร์ (Hardware) เป็นส่วนใหญ่จึงมีราคาสูงมากและกลายเป็นข้อจำกัดของประเทศไทย ทำให้ยังมีผู้ใช้งานที่ค่อนข้างจำกัด ขณะเดียวกันก็ต้องให้เวลากับผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาขีดความสามารถในการสร้าง Metaverse Feature เข้าไปใน Digital Product ต่างๆ เพื่อสร้างรายได้และกำไรให้เทียบเท่าตลาดชั้นนำของโลกด้วย

file

 

“ยอมรับเลยว่า กระแส Metaverse เป็นเทรนด์ที่มาแรงและน่าจับตาเป็นอย่างมาก แต่การจะนำมาปรับใช้กับธุรกิจในทันทีนั้น คงยังต้องให้เวลาในการศึกษาสักระยะ ว่าจะนำมาปรับใช้อย่างไรให้เหมาะสม และเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด รวมถึงต้องศึกษาความพร้อมของผู้ใช้งานด้วย เพราะการจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใส่ในแต่ละธุรกิจ จะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มและเติมเต็มความต้องการของผู้ใช้งานได้ดีกว่าเดิม หรือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจได้จริงด้วย เพราะรากฐานที่ Sea ยึดถือมาตลอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ก็คือ 1.ตอบโจทย์ความต้องการที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในใจของผู้บริโภค (Unmet Needs) ได้ 2.สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน (User Experience) และ 3.เหมาะสมและตรงใจของผู้ใช้งานแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง (Deep Localization)”

ในอนาคตสำหรับการนำเสนอบริการใหม่ๆ ของ Sea เธอต้องการที่จะปิดช่องว่างการทำธุรกิจ เพื่อการบริการที่ดียิ่งขึ้นสำหรับผู้ใช้งานหรือพาร์ทเนอร์ เช่น การนำธุรกิจ Logistic อย่าง Shopee Express เข้ามาเสริมบริการให้ครอบคลุมมากขึ้น ในส่วนที่ธุรกิจตัวกลางหรือ Third Party ยังไม่ครอบคลุม ซึ่งเธอยืนยันว่าไม่ใช่การเข้ามาทำธุรกิจตัวกลางเหล่านั้นเสียเอง และในส่วนของ Garena นั้น เธอจะมุ่งตอบโจทย์รสนิยม (Taste) ในการเล่มเกมที่มีความหลากหลายและยังไม่ได้รับการเติมเต็มให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ด้วยการนำเข้าเกมคุณภาพจากผู้พัฒนาระดับโลก รวมถึงการพัฒนาสร้างสรรค์เกมใหม่ขึ้นมาเอง โดยเฉพาะEsports ที่กำลังได้รับความนิยมจากทั่วโลก 

ส่งมอบคุณค่า Digital Nation สร้างความยั่งยืนสู่ประเทศไทย

หลักสูตรของ School of Global Health แบ่งตามศาสตร์ทางการแพทย์และการสาธารณสุข ได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1.กลุ่มโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคเขตร้อน (Emerging Infectious Diseases and Tropical Medicine) 2.กลุ่มโรคไม่ติดต่อ (Non-communicable Diseases) และ 3.กลุ่มนโยบายสาธารณสุข (Health Policy Systems) มีทั้งหลักสูตรปริญญาโท-เอก และหลักสูตรประกาศนียบัตร โดยเพิ่งเปิดรับ “รุ่นแรก” เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกิดอาชีพใหม่ๆ อาทิ การใช้ความเชี่ยวชาญของ Garena ซึ่งเป็น Digital Entertainment เข้ามาจัดทำโครงการ Garena Academy เพื่อให้ความรู้ด้านอาชีพในวงการเกม Esports และ Digital Content โดยให้เกมเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงคนรุ่นใหม่เข้ากับทักษะที่ส่งเสริมอาชีพในความสนใจของเขา ซึ่งทักษะเหล่านี้จะเป็นทักษะ Transferable Skills ที่่ติดตัวไปใช้ประกอบอาชีพอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับ Digital Content ได้ด้วย ขณะเดียวกันยังมุ่งสร้าง Digital Literacy ให้เกิดขึ้นกับสังคมในวงกว้าง เพื่อให้การใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลมีความปลอดภัย และส่งเสริมให้สังคมดิจิทัลเป็นสังคมที่น่าอยู่ยิ่งขึ้นและอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญที่คุณมณีรัตน์ตั้งไว้ ก็คือ การผลักดันให้ Sea (ประเทศไทย) เป็น Tech Company ที่มอบคุณค่าและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนด้วยเทคโนโลยีอย่างแท้จริง “ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย เราจึงต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันประเทศไทยสู่ Digital Nation อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ผ่าน 3 ธุรกิจหลักของเรา ที่จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย และโครงการต่างๆ ที่จะช่วยสร้างแรงงานดิจิทัลคุณภาพให้กับสังคมไทย เพื่อเตรียมความพร้อมให้คนไทยทุกคนสามารถใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลได้อย่างราบรื่น”

file

ในฐานะซีอีโอ คุณมณีรัตน์มองว่า แม้ Sea (ประเทศไทย) จะอยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลาและมีการแข่งขันที่รุนแรง แต่การจะนำพาธุรกิจให้วิ่งไปได้อย่างรวดเร็วและมั่นคงนั้น “คน” ก็คือฟันเฟืองที่สำคัญ ดังนั้น การหาคนที่ใช่เข้ามาร่วมทีมจึงเป็นสิ่งที่เธอให้ความสำคัญมาก ซึ่งผู้ที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อน Sea (ประเทศไทย) ไปด้วยกันจะต้องมีคุณสมบัติที่สอดคล้องไปกับวัฒนธรรมการทำงานภายในองค์กร 5 ประการ คือ 1.การมีใจบริการ (We Serve) 2.ก้าวไม่หยุด (We Run) 3.พร้อมปรับตัว (We adapt) 4.ทำเต็มที่ (We Commit) และ 5.ไม่ลืมตน (We Stay Humble) และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ Sea เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีความพร้อมจะขับเคลื่อนบริษัทและเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนให้มีความสะดวกผ่านโลกของเทคโนโลยี 

file

นอกจากการหา “คนที่ใช่” เข้ามาร่วมทีมแล้ว คุณมณีรัตน์ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรอยู่เสมอ พร้อมสร้างความเชื่อใจและไว้วางใจ (Trust)  ในการทำงาน ด้วยการการกระจายอำนาจการตัดสินใจควบคู่ไปกับการเปิดกว้างในเรื่องการสื่อสารระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง ที่สามารถเข้ามาขอคำปรึกษาได้อยู่เสมอ ตลอดจนการให้พื้นที่ในการแสดงความคิดสร้างสรรค์ และได้เรียนรู้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ เพราะเธอเชื่อในเรื่องของการให้โอกาส สำหรับการเรียนรู้ความผิดพลาดหรือล้มเหลวที่เกิดขึ้นจะช่วยหล่อหลอมประสบการณ์การทำงานให้เข้มข้นและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

“จากวันแรกที่ธุรกิจของเราได้เริ่มต้นจากการเป็นบริษัทสตาร์ทอัพและเกิดขึ้นได้จากคนเพียงไม่กี่คน ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ซึ่งแม้จะล้มสักกี่ครั้ง แต่พวกเราก็พร้อมที่ลุกขึ้นใหม่อยู่เสมอ จนทำให้เติบโตเป็น Sea (ประเทศไทย) ได้อย่างทุกวันนี้ และประสบการณ์ที่ผ่านมานั้น ก็ยิ่งทำให้รู้ว่าความสำเร็จไม่มีที่สิ้นสุด ต่อให้วันนี้เรามาได้ไกลแค่ไหน แต่อย่างไรก็ยังคงมีพื้นที่ให้เราต้องเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพ เพื่อเติบโตในก้าวต่อๆ ไปอีกอยู่เสมอ” คุณมณีรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย