รศ.นพ.กัมมาล กุมาร ปาวา ปั้น “รพ.ธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา” สู่ Digital Hospital ต้นแบบ Medical Hub เต็มรูปแบบแห่งแรกของไทย

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 60 | คอลัมน์ People

file

 

 

อีกไม่นาน ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จะมี “โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา” ถือกำเนิดขึ้น ที่นี่ไม่ใช่โรงพยาบาลทั่วไป แต่คือ Digital Hospital ที่จะเข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคม พร้อมยกระดับวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย ตลอดจนอาจเป็นแหล่งสร้างรายได้ใหม่เข้าสู่ประเทศ และที่สำคัญคือ เป็นต้นแบบ Medical Hub ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ที่ทันสมัยเต็มรูปแบบแห่งแรกของประเทศไทย และนี่คือพันธกิจที่ท้าทายของ รศ.นพ.กัมมาล กุมาร ปาวา รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์พัทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

จุดเริ่มต้นแนวคิด Digital Hospital แห่งแรกของไทย

ที่ผ่านมา แม้ประเทศไทยจะมีการยกระดับความพร้อมในด้าน Digital ในหลากหลายแวดวง แต่ก็ยังขาดในเรื่องการออกแบบ “Digital Health” ที่ตอบโจทย์และเชื่อมต่อข้อมูลในระดับบุคคล ชุมชน สังคม และโรงพยาบาลอย่างจริงจัง ประเด็นนี้เองจึงเป็นแรงบันดาลใจอันสำคัญของ รศ.นพ.กัมมาล ซึ่งได้รับประสบการณ์จากการเดินทางไปศึกษาดูงานด้านการแพทย์ที่ประเทศจีน โดยพบว่า โรงพยาบาลของจีนสามารถพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลเชื่อมโยงกับผู้ป่วยได้มีประสิทธิภาพอย่างมาก

“ที่ประเทศจีน คนไข้สามารถทำประวัติและจองคิวได้จากที่บ้าน เมื่อมาถึงที่โรงพยาบาล ก็เพียงแค่แสดงข้อความที่ทางโรงพยาบาลส่งไปเพื่อยืนยันการนัดหมายให้กับเจ้าหน้าที่เท่านั้น หรือเพียงแค่นำโทรศัพท์ไปสแกนกับเครื่องที่จัดตั้งไว้ ระบบก็จะขึ้นคิวให้ทันที รวมถึงการคัดกรองสุขภาพเบื้องต้นก็จะอยู่ในระบบเช่นกัน เพื่อให้ง่ายต่อการส่งผู้ป่วยไปยังแผนกต่างๆ ได้รวดเร็วขึ้น” 

จากต้นแบบของโรงพยาบาลที่มีความพร้อมด้านดิจิทัลนี้เอง รศ.นพ.กัมมาล จึงได้นำมาพัฒนาและต่อยอดให้ดีขึ้น ผ่านแนวคิดการจัดตั้ง “โรงพยาบาลดิจิทัล (Digital Hospital)” ที่มีความแตกต่างจากโรงพยาบาลทั่วไปที่มีอยู่ในปัจจุบัน และยังเป็นการก้าวไปอีกขั้น หลังจากที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประสบความสำเร็จในการจัดตั้ง โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อช่วยเหลือประชาชนไปแล้วก่อนหน้านี้ 

file

แนวคิดการขับเคลื่อนรูปแบบการทำงานของโรงพยาบาลดิจิทัลจึงถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทย บนพื้นที่ด้านหลังของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา กว่า 584 ไร่ ที่ได้รับการจัดตั้งให้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษด้านนวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub-EECmd)

โดยมีขนาดการให้บริการกว่า 300 เตียง ครอบคลุมการดูแลสุขภาพทั้งชุมชน และหากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยาจัดตั้งแล้วเสร็จ นอกจากจะยกระดับวงการแพทย์ไทยและสาธารณสุข ด้วยการใช้ Digital Platform เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการระบบและการรักษาแล้ว ยังจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพของสังคมไทยด้วย

ซึ่งสอดคล้องไปกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ต้องการให้พื้นที่แห่งนี้เป็นเมืองนวัตกรรมแห่งสุขภาพและเวลเนส (Thammasat Pattaya Innopolis) ผ่านการออกแบบระบบดิจิทัล ให้มีการเชื่อมโยง สร้างความสัมพันธ์กันระหว่างชุมชน โรงพยาบาล และระบบเครือข่ายของโรงพยาบาล ตลอดจนสถานีอนามัยข้างเคียงทั้งหมด

บริการทางการแพทย์ด้วยดิจิทัลไทยก้าวล้ำกว่าต้นแบบ

จากต้นแบบที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ได้พัฒนาก้าวล้ำไปอีกขั้น ด้วยการใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยซักประวัติผู้ป่วยเพื่อจำแนกโรคเบื้องต้น ซึ่งนอกจากระบบนี้จะสามารถเป็นผู้ช่วยแพทย์ในโรงพยาบาลได้แล้ว ยังสามารถช่วยสถานีอนามัยขนาดเล็กที่มีบุคลากรทางสาธารณสุขไม่เพียงพอได้อีกด้วย 

นอกจากนี้ ในส่วนของขั้นตอนหลังจากที่แพทย์ได้ทำการตรวจร่างกายและสั่งยาแล้ว ข้อมูลทั้งหมดก็จะถูกบันทึก แล้วจัดส่งไปยังห้องยา โดยใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยในการจัดยา ภายใต้การควบคุมและตรวจสอบโดยเภสัชกร ก่อนส่งมอบให้แก่ผู้ป่วยเป็นขั้นสุดท้าย

“ระบบที่กล่าวมาทั้งหมด จะเข้ามาช่วยลดขั้นตอนในการทำงาน (Lean) และทำให้แต่ละขั้นตอนมีความรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งช่วยตอบโจทย์ให้ทั้งกระบวนการบริการเป็นไปอย่างรวดเร็วแบบไร้รอยต่อ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนและการสิ้นเปลืองทรัพยากรจำพวกกระดาษได้อีกเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบบริการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วย Digital Platform”

file
file

สำหรับระบบ Digital Health ที่ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา กำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้ จะเป็นการเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน ทั้งผู้ป่วย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และโรงพยาบาล เพื่อให้เกิดฐานข้อมูล (Database) ผู้ป่วยทั้งประเทศ เพราะในปัจจุบัน ข้อมูลของผู้ป่วยจะแยกไปตามโรงพยาบาลและใช้ซอฟต์แวร์ในการเก็บข้อมูลที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถนำข้อมูลทั้งหมดมาช่วยในการวิเคราะห์เพื่อวางแผนทางการรักษาให้กับผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องและครอบคลุม ดังนั้น แพลตฟอร์ม Patient Application ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ได้สร้างขึ้น จะเข้ามาช่วยปรับปรุงในส่วนนี้ อีกทั้งผู้ป่วยยังสามารถส่งข้อมูลตั้งแต่อยู่ที่บ้านมาให้โรงพยาบาลได้เลย และแพทย์ก็สามารถที่จะสอบถามผู้ป่วย เพื่อระบุความเสี่ยงของโรคผ่านข้อมูลจากแพลตฟอร์มนี้ รศ.นพ.กัมมาล ขยายภาพให้ชัดเจนขึ้น

หรือหากผู้ป่วยเข้าไปทำการปรึกษาสุขภาพเบื้องต้นกับทาง อสม. หรือ รพ.สต. ที่มีเครื่องมือวัดความดัน ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง หรืออัลตราซาวนด์ ฯลฯ ก็สามารถนำข้อมูลจากเครื่องมือนั้นส่งไปยังศูนย์ข้อมูลของโรงพยาบาล หรือส่งข้อมูลไปปรึกษากับโรงพยาบาลได้ทันทีเช่นกัน ซึ่งจะกลายเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ สำหรับใช้ในการวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

“จากนี้ไป เพียงแค่เราอยู่ที่บ้าน ก็จะสามารถส่งข้อมูลหรือโรคจากบ้านไปให้ทางโรงพยาบาลได้เลย โดยเครื่องมือที่สามารถเชื่อมต่อได้นั้น จะมีตั้งแต่อัตราการเต้นของหัวใจ ไปจนกระทั่งเครื่องอัลตราซาวนด์ และเมื่อข้อมูลเชื่อมถึงกัน นั่นแปลว่า เราจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและช่องว่างในการเข้าถึงการรักษาลงได้”

file

ดึงความร่วมมือภาคเอกชนต่อจิ๊กซอว์ความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม การจะทำให้โรงพยาบาลดิจิทัลเกิดขึ้นได้นั้น รศ.นพ.กัมมาล บอกว่า ต้องอาศัยหลายปัจจัยผนึกเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น การมีซอฟต์แวร์ที่ดี การมีเครื่องมือที่เชื่อมต่อถึงกันได้ การวางเครื่องมือตามการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรม (Architectural Design) และการมีระบบเครือข่าย (Network)

“สิ่งที่เราต้องทำอันดับแรก คือ การมีซอฟต์แวร์ที่ดี โดยซอฟต์แวร์ที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ใช้ คือ Hospital Information System (HIS) หรือระบบสารสนเทศในโรงพยาบาล ซึ่งจะทำให้ทราบข้อมูลแค่ในส่วนของระบบการบริการ แต่ไม่นับรวมถึงการบริหารจัดการด้านอื่นๆ ส่วนซอฟต์แวร์ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เลือกใช้ ก็คือ Hospital Management Information System (HMIS) ซึ่งจะช่วยทำให้ทราบถึงข้อมูลทั้งหมด สำหรับในส่วนของข้อมูลด้านเครื่องมือ พบว่าในประเทศไทย ณ ขณะนี้ยังไม่มีรหัส API (Application Programming Interface) ที่จะทำให้เชื่อมต่อเครื่องมือซึ่งกันและกันได้ ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา จึงใช้ศักยภาพของภาคเอกชนมาช่วยในการเชื่อมต่อเครื่องมือเข้าหากัน แล้วเชื่อมต่อกับซอฟต์แวร์ของโรงพยาบาล และในส่วนของการสร้างระบบเครือข่ายต่างๆ ณ ขณะนี้ เราก็เริ่มออกแบบแผนผังการใช้งานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้นแล้ว”\

ในช่วงปีแรกที่เริ่มสร้างและออกแบบโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ได้ร่วมกับภาคเอกชนในการออกแบบและวางรากฐานของระบบ Digital Platform ทั้งหมด รวมถึงร่วมกับคณะทำงาน EEC เพื่อออกแบบระบบที่เรียกว่า รพ.สต.อัจฉริยะ ที่สามารถส่งข้อมูลทั้งหมดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบบริการดิจิทัลได้ ตลอดจนการวางระบบหุ่นยนต์ AGV หรือ  AGV Robot เพื่อช่วยลดความผิดพลาด และลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย หรือหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการบริการทางการแพทย์ (Autonomous Mobile Robot for Hospital Care Services) ที่จะเข้ามาช่วยในการขนส่งอาหาร อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ยา และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19

file
file

นอกจากนี้ ยังมีอีกระบบหนึ่ง นั่นก็คือ Multifunction เพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงานของหุ่นยนต์ เช่น เมื่อหุ่นยนต์ตัวนี้เคลื่อนที่ ก็จะทำการถ่ายคลิปวิดีโอ หรือทำ Face Recognition ไปด้วยได้ เสมือนเป็นระบบ รปภ. ไปในตัว ซึ่งนี่จะเป็นโปรเจกต์ต่อไป และในอนาคตหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์เหล่านี้ ก็จะพัฒนาไปอีกขั้น จากหุ่นยนต์ที่เดินบนแถบแม่เหล็ก เป็นหุ่นยนต์ที่เคลื่อนที่ได้โดยอิสระด้วยระบบ Laser Guide นำทาง หรืออาจจะพัฒนาไปจนเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยในระดับสากลอย่างหุ่นยนต์ที่สามารถควบคุมด้วยระบบ Natural Navigation ที่สามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้เองโดยอัตโนมัติ

สร้างหลักสูตรพัฒนาบุคลากร ตอบโจทย์โลกดิจิทัล

หลังความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีที่วางไว้เริ่มเห็นภาพชัดขึ้น การเตรียมความพร้อมเพื่อให้บุคลากรสามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีได้อย่างราบรื่นนั้น ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน รศ.นพ.กัมมาล จึงได้เตรียมแผนงานในการผลิตและพัฒนาบุคลากรที่จะเข้ามาทำงานใน Digital Hospital ขึ้น โดยเริ่มจากการพัฒนาหลักสูตร Hospital Hospitality Management ซึ่งเป็นหลักสูตรที่จะช่วยพัฒนาบุคลากรเข้ามาทำงานร่วมกับระบบดิจิทัลและหุ่นยนต์ เพื่อตอบสนองการทำงานในบริบทของ Digital Hospital ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหวังที่จะขยายผลให้เป็นต้นแบบการเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป

“แม้ดิจิทัลจะเข้ามาช่วยลดรอยต่อของการบริการ และหุ่นยนต์จะเข้ามาลดขั้นตอนและเพิ่มความรวดเร็วในการทำงาน แต่จะเป็นการช่วยในลักษณะของการเสริมแรง ดังนั้น ทรัพยากรด้านบุคคลก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญ สำหรับประเทศไทยของเราที่มีความโดดเด่นในเรื่องของระบบการบริการอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องออกแบบระบบให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งหลักสูตร Hospital Hospitality Management ที่ออกแบบขึ้นมาโดยเฉพาะนี้ ก็จะเข้ามาช่วยผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ พร้อมมุ่งเน้นในเรื่องของการทำงานแบบ Multitasking คือ ต้องมีความรู้ในเรื่องภาษา มีความรอบรู้ในเรื่องเทคโนโลยี มีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) และก็ต้องมีความคิดแบบจิตอาสาด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้อาศัยแค่เพียงการบอกกล่าวไม่ได้ แต่ต้องใช้หลักสูตรอบรมที่เราสร้างขึ้นเข้ามาช่วยส่งเสริมและพัฒนา” 

ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้วางแผนในการจัดตั้ง สถาบันนวัตกรรมทางการแพทย์และวิศวกรรม โดยพัฒนาหลักสูตรที่เป็นนวัตกรรม ทั้งนวัตกรรมด้านการศึกษา และตัวนักศึกษา เพื่อผลิตบัณฑิตแห่งอนาคต มารองรับวงการแพทย์ในยุคดิจิทัลอีกด้วย 

file

ก้าวสู่เป้าหมาย Medical Hub เต็มรูปแบบแห่งแรกของไทย

จุดมุ่งหวังของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ศูนย์พัทยา ในการเป็นโรงพยาบาลดิจิทัล ก็คือ การเป็นต้นแบบ Medical Hub ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ที่ทันสมัยเต็มรูปแบบแห่งแรกของประเทศไทย โดยใช้ Sandbox ของ EEC เป็นพื้นที่ทดลอง ซึ่งการเป็น Medical Hub ในนิยามของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยานั้น ประกอบไปด้วย 4 องค์ประกอบ ที่ต้องให้ความสำคัญและดำเนินการไปพร้อมกัน นั่นก็คือ 1.การศึกษา หรือ Academic Hub คือการพัฒนาหลักสูตรต่างๆ 2.การวิจัย หรือ Research Hub ที่มาของการตั้งศูนย์ความเป็นเลิศขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตของประเทศในด้านการแพทย์ 3.ผลิตภัณฑ์ หรือ Product Hub โดยผลผลิตที่ได้จากการวิจัยต้องสามารถนำไปจำหน่ายได้ และ 4.การบริการ หรือ Service Hub 

file

“ตามกำหนดการคาดว่าโรงพยาบาลจะแล้วเสร็จในปี 2567 ซึ่งในระหว่างนี้ท่านอธิการบดีก็ได้อนุมัติให้สร้างโรงพยาบาลขนาดเล็กที่มีความเฉพาะทางขึ้นมาก่อน เช่น โรงพยาบาลประสาท โรงพยาบาลศัลยกรรมกระดูกและข้อ และ Wellness Center เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนรับรู้ว่า โรงพยาบาลใหม่ของธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ที่สร้างขึ้นนั้นให้บริการด้วยแนวคิดแบบไหน และแตกต่างจากโรงพยาบาลทั่วไปอย่างไร ควบคู่ไปกับการพัฒนาชุดดิจิทัลที่ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เป็นผู้ออกแบบทั้งระบบ ส่วนระบบการเชื่อมต่อนั้นภาคเอกชนก็จะเข้ามาช่วยในการดำเนินการให้โดยตรง” 

อุตสาหกรรมการแพทย์ไทยจะเติบโตได้นั้น ต้องสร้างต้นแบบ Medical Hub ให้เกิดขึ้น และใช้งานจริงในพื้นที่ EEC อย่างเป็นรูปธรรมก่อน ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย แต่ด้วยประสบการณ์ในอดีตของ รศ.นพ.กัมมาล ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ นักวิจัย ผู้บริหารของวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ริเริ่มการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ และเป็นคนต้นคิดคลินิก 30 บาท รักษาทุกโรค เป็นคนแรกของประเทศไทย เมื่อปี 2542 ในชื่อศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์คูคต จึงเชื่อมั่นได้ว่า  รศ.นพ.กัมมาลจะเป็นผู้นำพาและผลักดันให้ต้นแบบนี้สำเร็จได้

“ความจริงแล้ว ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่ดี มีแพทย์ที่เก่งมาก รวมถึงพยาบาลไทยก็เป็นที่ต้องการของตลาด เพราะเรามีทักษะในการบริการที่สูง ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์จึงใช้ศักยภาพที่ประเทศไทยมีมาต่อยอด พัฒนา เพื่อสร้าง Medical Hub ให้เกิดขึ้น แม้จะเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ แต่หากเราทำได้สำเร็จ Medical Hub นี้ก็จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาประเทศไทยได้อีกมาก นอกจากจะช่วยสร้างแหล่งรายได้ใหม่ให้เกิดขึ้นภายในประเทศแล้ว ยังจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษา และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทยทุกคนด้วย” รศ.นพ.กัมมาล กล่าวย้ำทิ้งท้าย 

วิสัยทัศน์สร้างเมืองนวัตกรรมสุขภาพบนพื้นที่ EEC

เปิดวิสัยทัศน์ “รศ.เกศินี วิฑูรชาติ” อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับพันธกิจสร้างเมืองนวัตกรรมแห่งสุขภาพและเวลเนส (Thammasat Pattaya Innopolis) ในพื้นที่ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจรธรรมศาสตร์ (พัทยา) หรือ Medical Hub-EECmd

“เรามีนโยบายที่จะสร้าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ให้เป็นเมืองนวัตกรรมแห่งสุขภาพและเวลเนส โดยวางเป้าหมายให้เป็นโรงพยาบาลดิจิทัล ที่รองรับผู้ป่วยได้ 300 เตียง นอกจากนี้ ยังได้จัดสรรพื้นที่เพื่อให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อส่งเสริมทั้งในด้านสาธารณูปโภค รีสอร์ตเพื่อสุขภาพและการดูแลสุขภาพองค์รวม ที่พักผู้สูงอายุ ธุรกิจเกี่ยวกับอาหารแห่งอนาคต และการทำเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) เป็นต้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และยังเป็นฐานความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและนักลงทุนจากต่างประเทศในการเสริมความแข็งแกร่งด้านการแพทย์ครบวงจรอีกด้วย”

file