Dubai, a Futuristic City of World Records

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 61 | คอลัมน์ Horizon

file

 

ไม่ว่าโลกจะกำลังเดินหน้าสู่ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างไร แต่ “ดูไบ” ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไม่เคยหยุดตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของโลก ด้วยการสร้างสรรค์จุดหมายปลายทางแห่งใหม่ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ที่สุด” ออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อดึงดูดบรรดานักท่องเที่ยว

ความเป็นที่สุดเหล่านี้เอง ได้กลายเป็นมนตร์เสน่ห์และจุดขายสำคัญของดูไบ ซึ่งแปรเปลี่ยนเป็นเม็ดเงินการท่องเที่ยวได้อย่างมหาศาลในแต่ละปี ลองมาดูกันว่าในระยะเวลาเพียงหนึ่งปีเศษที่ผ่านมา ดูไบเนรมิตความเป็น “ครั้งแรก” และความเป็น “ที่สุด” อะไรให้โลกเราอีกแล้วบ้าง

Museum of the Future พิพิธภัณฑ์แห่งอนาคต กับโครงสร้างซับซ้อนที่สุดที่เคยมีมา

เริ่มต้นออกเดินทางสู่โลกอนาคตไปด้วยกันที่ มิวเซียม ออฟ เดอะ ฟิวเจอร์ (Museum of the Future) พิพิธภัณฑ์แห่งอนาคตบนเนื้อที่ 30,000 ตารางเมตร ที่ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 6 ปี ที่นี่คือแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของนครดูไบที่ควรค่าแก่การไปเยือนอย่างที่สุด เพราะรับรองว่าจะเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมอีกแห่งของโลกในไม่ช้า โดยความพิเศษของพิพิธภัณฑ์เริ่มตั้งแต่การสร้างการจดจำด้วยวันเดือนปีที่เปิดตัว คือเมื่อวันที่ 22.02.2022 ซึ่งเป็นชุดตัวเลขพาลินโดรม (Palindrome) ที่ไม่ว่าจะอ่านสลับจากซ้ายไปขวาหรือขวาไปซ้าย ก็ได้ผลลัพธ์ที่เหมือนกัน

เมื่อมองจากภายนอก รูปทรงของพิพิธภัณฑ์แห่งอนาคตดูแปลกล้ำสมชื่อ ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ก้าวไปอีกขั้น ด้วยการเป็นอาคาร 7 ชั้น สูง 77 เมตร ที่ไม่มีมุมและปราศจากเสาตลอดตัวอาคาร ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของ Shaun Killa ดีไซน์ไดเร็กเตอร์จากบริษัท Killa Design ที่ได้ผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีขั้นสูงกับงานศิลปะแบบดั้งเดิมของชาวอาหรับ เพื่อเชื่อมโยงอดีตกับอนาคตเข้าไว้ด้วยกัน โดยโครงสร้างพิพิธภัณฑ์นั้นใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และแนวคิดความยั่งยืนจากพลังงานแสงอาทิตย์ ขณะที่ความมนของอาคารสื่อถึงความเป็นมนุษย์ เนินดินสีเขียวหมายความถึงโลกใบนี้ ส่วนช่องว่างที่อยู่ตรงกลาง คือสัญลักษณ์ของอนาคตที่ยังไม่มีใครล่วงรู้

งานออกแบบภายนอกที่สวยงามสะดุดตา ได้รับการประดับประดาด้วยหน้าต่างอักขระอาหรับวิจิตรที่กระจายอยู่ทั่วทั้งอาคาร สามารถมองเห็นทั้งในยามกลางวัน และโดดเด่นยิ่งขึ้นด้วยแสงไฟ LED ในยามค่ำคืน เขียนโดยศิลปิน Mattar Bin Lahej ที่หยิบยกสามถ้อยคำของ ชีค มุฮัมมัด บิน รอชิด อาล มักตูม (Sheikh Mohammed bin Rashid Al Maktoum) รองประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และผู้ปกครองดูไบ มาจารึกไว้ อันได้แก่ “เราอาจมีชีวิตไม่ถึงร้อยปี แต่สิ่งที่เราสร้างสรรค์จะกลายเป็นมรดกที่คงอยู่อีกหลายร้อยปี” “อนาคตเป็นของผู้ที่สามารถจินตนาการ ออกแบบ และก่อร่างสร้างขึ้นมาได้ แต่อนาคตรอไม่ได้ เราจึงต้องสร้างมันวันนี้” และ “ความลับของการฟื้นคืนชีวิต การพัฒนาอารยธรรม และความก้าวหน้าของมนุษยชาติ รวมอยู่ในคำเดียว: นวัตกรรม”

เมื่อเดินเข้ามาภายในอาคารรูปไข่ จะพบกับคอนเซ็ปต์หลักของพิพิธภัณฑ์นั่นคือ การเชิญชวนให้เราจินตนาการถึงโลกในวันข้างหน้า พร้อมสัมผัสกับบรรยากาศการจำลองนครดูไบในปี 2071 หรืออีก 49 ปีต่อจากนี้ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม นวัตกรรม ไปจนถึงการท่องอวกาศ ซึ่งปีดังกล่าวเป็นปีที่ครบรอบ 100 ปีของการจัดตั้งประเทศใหม่ในชื่อสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นั่นเอง 

file

ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของพิพิธภัณฑ์แห่งอนาคตคือ ผู้เข้าชมสามารถมีส่วนร่วมและโต้ตอบกับนิทรรศการในแต่ละชั้นผ่านเทคโนโลยีเสมือนจริง สำหรับไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาด คือ การขึ้นยาน “OSS Hope” ที่จะพาเราจำลองการเดินทางสู่ห้วงอวกาศที่อยู่เหนือพื้นโลก 600 กิโลเมตร และ “Heal Institute” ซึ่งเผยให้เห็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และระบบนิเวศวิทยาในป่าฝนแอมะซอน เพื่อให้เราตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นพิพิธภัณฑ์น้องใหม่ แต่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก (National Geographic) ได้ยกให้มิวเซียม ออฟ เดอะ ฟิวเจอร์ เป็น 1 ใน 14 พิพิธภัณฑ์ที่สวยที่สุดในโลกเรียบร้อยแล้ว 

Mohammed Bin Rashid Library ครั้งแรกของห้องสมุดแห่งตะวันออกกลาง ที่ให้บริการด้วยระบบ AI และหุ่นยนต์

หลังจากเปิดตัวพิพิธภัณฑ์แห่งอนาคตได้เพียง 4 เดือน กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ดูไบได้ตอกย้ำจุดยืนของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในฐานะเมืองหลวงทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ของภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเปิดให้บริการศูนย์การเรียนรู้และห้องสมุดขนาดใหญ่ มุฮัมมัด บิน รอชิด ไลบรารี (Mohammed Bin Rashid Library) อาคารรูปทรงหนังสือที่บรรจุหนังสือไว้ถึง 1.5 ล้านเล่ม รวมกว่า 30 ภาษา บนพื้นที่ 54,000 ตารางเมตร กับมูลค่าการลงทุนสูงลิ่วถึง 1 หมื่นล้านบาท 

file

ภายในอาคารความสูง 7 ชั้น ประกอบด้วยห้องสมุดเฉพาะทางที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่ ห้องสมุดอาหรับเอมิเรตส์ ห้องสมุดธุรกิจ ห้องสมุดทั่วไป ห้องสมุดวารสาร ห้องสมุดเด็ก ห้องสมุดรวมแผนที่ ห้องสมุดสื่อศิลปะ ห้องสมุดสำหรับวัยหนุ่มสาว ห้องสมุดคอลเล็กชันพิเศษ ซึ่งนอกจากกองทัพหนังสือปกอ่อนแล้ว ยังมีบริการ e-book และสื่อดิจิทัลอื่น ๆ ให้เราสามารถเข้าถึงหนังสือและแหล่งข้อมูลอีกนับล้านจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น วิทยานิพนธ์อีกกว่า 6 ล้านเล่ม บทเพลง 73,000 รายการ ของสะสมหายาก 500 รายการ ตลอดจนคลังข้อมูลที่ครอบคลุมไปถึง 325 ปี อย่างไรก็ตาม ความพิเศษยังไม่หมดเพียงเท่านี้ มุฮัมมัด บิน รอชิด ไลบรารี ยังมีบริการจัดหา-ยืม-คืนหนังสือด้วยเทคโนโลยี AI สุดล้ำ ซึ่งจะทำหน้าที่สั่งการไปยังหุ่นยนต์ให้ค้นหาหนังสือเล่มที่ผู้อ่านต้องการ และนำส่งตรงถึงมือผู้อ่านไม่ว่าจะอยู่ชั้นใด

Deep Dive Dubai สระดำน้ำในร่มลึกที่สุดในโลก

เต็มอิ่มกับความรู้แล้ว มุ่งสู่กิจกรรมสนุก ๆ กันบ้าง หากคุณนึกอยากดำน้ำโดยไม่ต้องเช็กสภาพดินฟ้าอากาศ ห้ามพลาดไปเปิดประสบการณ์ที่ ดีป ไดฟ์ ดูไบ (Deep Dive Dubai) ศูนย์ดำน้ำในร่มแห่งใหม่ขนาดพื้นที่ 1,500 ตารางเมตร ซึ่งตั้งอยู่ภายในอาคารรูปทรงหอยนางรมที่พร้อมสรรพด้วยหลักสูตรสำหรับนักดำน้ำทั้งมือใหม่และมืออาชีพ 

หลังจากเปิดให้บริการเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ดีป ไดฟ์ ดูไบก็ได้รับการบันทึกจากกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ดว่า เป็นสระดำน้ำที่ลึกที่สุดในโลก กับความลึกถึง 60 เมตร ที่บรรจุน้ำมากถึง 14 ล้านลิตร หรือเทียบเท่าสระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิกจำนวน 6 สระ และมีความลึกมากกว่าสระดำน้ำทั่วโลก 15 เมตร แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นไม่แพ้กันคือ บรรยากาศภายในสระว่ายน้ำที่ได้รับการออกแบบให้เป็นเหมือนเมืองร้างที่จมอยู่ใต้มหาสมุทร ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังดำน้ำผจญภัยอยู่ในโลกอีกใบ เพื่อค้นหาปริศนาที่ซ่อนไว้ใต้บาดาล และที่สนุกไปกว่านั้นคือ ระหว่างดำน้ำ เราสามารถเล่นและโต้ตอบกับอุปกรณ์ประกอบฉากต่าง ๆ ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น จักรยาน ตู้โทรศัพท์ โต๊ะพูล กระดานหมากรุก และอื่น ๆ ส่วนใครที่กลัวจะหนาวสั่นก็หมดห่วงได้ เพราะที่นี่เป็นน้ำอุ่นสบายที่อุณหภูมิควบคุม 30 องศาเซลเซียส ซึ่งแค่สวมใส่เว็ตสูท (Wetsuit) ปกติก็เพียงพอแล้ว

file

อีกเรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ ระบบดูแลความปลอดภัย เพราะเขาติดตั้งกล้องใต้สระน้ำเพื่อดูแลนักดำน้ำไว้ถึง 56 ตัว รวมทั้งมีห้องไฮเปอร์แบริก (Hyperbaric Chamber) หรืออุโมงค์ออกซิเจนอันล้ำสมัย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยรักษาพยาบาลด้วยการให้ออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% และเป็นนวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้รักษาอาการขาดออกซิเจนของนักดำน้ำโดยเฉพาะ และสำหรับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงที่มาเที่ยวแต่ไม่ได้ลงน้ำ สามารถไปยืนโบกมือทักทายนักดำน้ำผ่านหน้าต่างบานใหญ่ หรือจะร่วมลุ้นจากจอโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดสัญญาณภาพออกมาก็เพลิดเพลินไม่ต่างกัน

file
file

Dubai Eye ชิงช้าสวรรค์สูงที่สุดแห่งใหม่ของโลก

หลังจากแหวกว่ายสู่ความเวิ้งว้างใต้เมืองบาดาลอันไกลโพ้น เปลี่ยนโหมดไปท่องเที่ยวบนท้องฟ้าเพื่อชมทัศนียภาพตระการตา 360 องศากับ ดูไบ อาย (Dubai Eye) หรือ Ain Dubai ชิงช้าสวรรค์แห่งใหม่ที่สูงที่สุดของโลก ซึ่งสูงถึง 250 เมตรจากพื้นดิน และมีขนาดมหึมาที่ไม่ว่าอยู่ไหนก็สามารถมองเห็น

หากสงสัยว่าชิงช้าสวรรค์ที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาจะยิ่งใหญ่สักแค่ไหน ให้ลองนึกถึงความสูงขนาดเกือบสองเท่าของชิงช้าสวรรค์ระดับตำนานอย่างลอนดอน อาย (London Eye) ประเทศอังกฤษ แถมยังอลังการกว่าเหล็กของหอไอเฟล (La Tour Eiffel) ประเทศฝรั่งเศส เพราะใช้เหล็กรวมถึง 9,000 ตัน หรือมากกว่าเหล็กทั้งหมดของหอไอเฟลราว 25% และแน่นอนว่าเมื่อขึ้นมาอยู่อันดับหนึ่ง ดูไบ อาย ก็ได้เบียดแซงชิงช้าสวรรค์อันดับต้น ๆ ของโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ไฮโรลเลอร์ (High Roller) 168 เมตร ที่ลาสเวกัสของสหรัฐฯ สิงคโปร์ ฟลายเออร์ (Singapore Flyer) 165 เมตร ของสิงคโปร์ สตาร์ ออฟ หนานฉาง (Star of Nanchang) 160 เมตร ประเทศจีน และดันลอนดอน อายกับความสูง 135 เมตร ให้ไปอยู่ลำดับที่ 5 ในทันที

ดูไบ อายตั้งอยู่บนเกาะเทียมบลูวอเตอร์ส (Bluewaters Island) และสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ถึง 1,750 คน ต่อการหมุนรอบละประมาณ 30 นาที ในส่วนของวงล้อชิงช้าสวรรค์นั้น ประกอบด้วยแคปซูลโดยสารหรูหราที่แตกต่างกัน 48 ห้อง ซึ่งสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 10 - 12 คนต่อห้องเพื่อความปลอดภัย ซึ่งเราสามารถเลือกได้ว่าอยากเข้าห้องสังเกตการณ์ (Observation Cabins) หรือห้องโซเชียล (Social Cabins) ที่มีบาร์อยู่ข้างใน นอกจากนี้ยังมีห้องโดยสารส่วนตัวที่สามารถจับจองสำหรับจัดกิจกรรมพิเศษได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี แนะนำให้มาเที่ยวทั้งช่วงเวลากลางวันและกลางคืน เพื่อที่จะได้เก็บเกี่ยวความงดงามของดูไบให้ครบถ้วนในทุกอารมณ์

 

file

The Storm Coaster รถไฟเหาะในอาคารแห่งแรกของโลก

ตื่นเต้นกันต่อกับ เดอะ สตอร์ม โคสเตอร์ (The Storm Coaster) รถไฟเหาะในร่มที่ยาวคดเคี้ยวอยู่ภายในโครงสร้างของอาคารแห่งแรกของโลก ซึ่งในที่นี้ก็คือ ดูไบ ฮิลส์ มอลล์ (Dubai Hills Mall) ห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

เดอะ สตอร์ม โคสเตอร์ มีความยาว 670 เมตร ได้รับการออกแบบโดย Cundall บริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมชื่อดังของโลก ที่พร้อมพาเราก้าวข้ามขีดจำกัดของงานออกแบบทางวิศวกรรมในทุกด้าน ทั้งยังท้าทายให้เรากล้าเผชิญหน้ากับการกรีดร้องไล่ล่าพายุท่ามกลางแสงสีที่น่าตื่นเต้น ด้วยช่วงทิ้งดิ่ง 50 เมตร ภายใน 5 วินาที พร้อมอัตราเร่ง 77 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รับรองว่าทั้ง 12 ที่นั่งบนรถไฟเหาะจะต้องจดจำช่วงเวลาแห่งความเร้าใจของ “The Perfect Storm” ลูกนี้ไปอีกนานแสนนาน

file
file

Inside Burj Al Arab ครั้งแรกกับโปรแกรมทัวร์ตึกเรือใบ

พักให้หายเหนื่อยสักนิด แล้วชวนกันไปชิลที่แลนด์มาร์กสุดหรูและคลาสสิก เบิร์จ อัล อาหรับ (Burj Al Arab) โรงแรมระดับ 7 ดาวที่ไม่ใช่ว่าใครจะเดินเข้าไปก็ได้ แต่อย่าเพิ่งแปลกใจว่าโรงแรมรูปทรงเรือใบที่ตกแต่งด้วยทองคำ 24K สัญลักษณ์แห่งความทะเยอทะยานของดูไบที่มีอายุกว่า 20 ปีแห่งนี้ จะมีอะไรดึงดูดใจนักท่องเที่ยวขาประจำของดูไบได้อีก คำตอบก็คือ นับตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อปี 2542 เป็นต้นมา นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เบิร์จ อัล อาหรับ มีโปรแกรมทัวร์ “อินไซด์ เบิร์จ อัล อาหรับ” (Inside Burj Al Arab) ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนจากทั่วโลกได้เข้ามาสัมผัสกับพื้นที่เอ็กซ์คลูซีฟและความอัศจรรย์ ผ่านการเดินชมอันน่าตื่นตาตื่นใจ โดยมีไกด์นำทัวร์เป็นบัตเลอร์ตลอด 90 นาที

ประตูโปรแกรมทัวร์ครั้งนี้เปิดให้เข้าเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งระหว่างเดินสำรวจสิ่งที่น่าสนใจอย่างใกล้ชิด เราจะได้รับฟังเรื่องราวอินไซด์ของโรงแรมที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อน ตั้งแต่เรื่องงานดีไซน์ การเลือกสี ภาพสเก็ตช์แผ่นแรก ไปจนถึงเบื้องหลังความกล้าได้กล้าเสีย วิสัยทัศน์ และ “ต้นกำเนิดของความหรูหรามั่งคั่ง” แห่งอาหรับ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่หาฟังได้ยากยิ่ง นอกจากนี้ อินไซด์ เบิร์จ อัล อาหรับก็ไม่ลืมที่จะเปิดประตูให้เราเยี่ยมชมห้อง Royal Suite อันโด่งดัง และห้อง Experience Suite พร้อมด้วยสื่อดิจิทัลอินเทอร์แอคทีฟที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของโรงแรมและสถาปัตยกรรมตั้งแต่แรกเริ่มก่อสร้าง

ปิดท้ายความเหนือระดับที่เลาจน์กลางแจ้ง UMA เพื่อรับประทานอาหารและเครื่องดื่มสูตรพิเศษของโรงแรม พลางชื่นชมวิวทะเลสีฟ้าครามที่ส่องประกายระยิบระยับ กับวิวพระอาทิตย์ที่กำลังลาลับตกดิน

file
file

Travel’s Guide

  • ตามมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามายังดูไบ จะต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม หรือผลตรวจ PCR ไม่เกิน 48 ชั่วโมงก่อนเดินทาง หรือหลักฐานว่าหายป่วยจากโรค COVID-19 ภายใน 1 เดือนนับจากวันที่หายป่วยถึงวันที่เดินทางถึงดูไบ ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.emirates.com
  • ช่วงเวลาที่เหมาะกับการไปเที่ยวดูไบคือ เดือนตุลาคม - เมษายน ซึ่งอากาศกำลังดี โดยอุณหภูมิเฉลี่ยจะอยู่ที่ 25 องศาเซลเซียส
  • แม้จะเป็นเมืองระดับโลกที่มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ดูไบก็มีกฎและมารยาทต่าง ๆ ที่ผู้มาเยือนควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด อาทิ แต่งกายให้ปกปิดทุกส่วนตั้งแต่ไหล่ลงมาถึงหัวเข่า ห้ามถ่ายภาพสตรีท้องถิ่นเว้นแต่ว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าตัวก่อน การดื่มน้ำและรับประทานอาหารในที่สาธารณะช่วงรอมฎอน แม้จะไม่ใช่ผู้นับถือศาสนาอิสลาม ก็ถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย เป็นต้น